ร่างทรง หมอผี กุมารให้โชค และอื่นๆ อีกมากมาย ต่างกลายเป็นจุดสนใจของผู้คนในสังคมไทยตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ด้วยการแสดงอภินิหารเหนือธรรมชาติ ยกยอตนว่า ‘ศักดิ์สิทธิ์’ เหนือสิ่งอื่นใด โดยอาศัยความเชื่อเกี่ยวกับพลังงานลึกลับ หรือที่เรียกว่า ‘ผี’ คู่ไปกับหลักธรรมคำสอนของ ‘ศาสนาพุทธ’ มาอ้างอิงได้อย่างแนบเนียน
อย่างไรก็ดี เรื่องของศาสนาพุทธกับการนับถือภูตผีวิญญาณ ต่างเป็นความเชื่ออันผิดแปลก แท้จริงบนโลกนี้มีนิยามของคติความเชื่ออย่างหลังแบบเป็นทางการว่า ‘ศาสนาผี’ หรือ ‘Animism’ ซึ่งเป็นศาสนาที่มีอายุหลายพันปี เก่าแก่ที่สุดในโลก และยังมีอิทธิพลคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะกับประเทศไทย
มิใช่แค่ชนชั้นล่างหรือชนชั้นกลาง เรื่องของศาสนาผียังแทรกซึมไปถึงระดับชนชั้นปกครองและพระมหากษัตริย์ เห็นได้ชัดจากพิธีกรรมสำคัญอย่างพิธีโล้ชิงช้า พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีรากเหง้าความเชื่อมาจากศาสนาผี ก่อนผสมปนเปกับศาสนาพุทธ ลามไปถึงศาสนาพราหมณ์และฮินดู จนกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน
ทว่าความเชื่อเรื่องของศาสนาผีที่แอบซ่อนอยู่ภายใต้พระพุทธศาสนา ได้ค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา พร้อมกับถูกชำระล้างให้เป็น ‘พุทธบริสุทธิ์’ แต่ขณะเดียวกันก็ยังหลงเหลือความเชื่อและพิธีกรรมบางอย่างตามวิถีชีวิตชาวบ้าน เช่น บายศรีสู่ขวัญ โกนจุก ผูกข้อมือ ฯลฯ
เพื่อคลายข้อสงสัยว่าเหตุใดความเชื่อเรื่องของศาสนาผีจึงสามารถสอดแสรกอยู่ในคติความเชื่อของศาสนาพุทธได้อย่างแนบเนียนมายาวนานหลายร้อยปี ท่ามกลางโลกยุคที่วิทยาศาสตร์เป็นตัวแปรสำคัญ แต่เรื่องของหมอผี คนทรงเจ้า หรือแม้แต่เจ้าลัทธิ กลับยังมีคนเชื่ออย่างสนิทใจ Ways of Being Wild EP6 จะขอพาย้อนรอยความเชื่อของทั้งสองศาสนา ในหัวข้อ The Animism in Thai Buddhism – ‘ผี’ กับความเชื่อที่แฝงอยู่ในพุทธศาสนาแบบไทย