หากลองสังเกตช่วงเวลาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา มีหลายประเทศบนโลกที่ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ ขาดสภาพคล่องจนถึงขั้นล้มละลาย เช่น ประเทศเวเนซุเอลา เมื่อปี 2015 ที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงถึง 112 เปอร์เซ็นต์

และแม้จะก้าวเข้าสู่ปี 2022 เวเนซุเอลาก็ยังตกอยู่ในสภาพลูกผีลูกคน หลังค่าอัตราเงินเฟ้อยังทะยานพุ่งสูงถึง 13,864 เปอร์เซ็นต์ ตามรายงานข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ส่งผลให้สกุลเงินโบลิวาร์เวเนซุเอลา (VEF) แทบมีค่าไม่ต่างจากเศษกระดาษ ประชากรในประเทศล้วนอดอยาก แบกรับหนี้สินล้นตัว

ฝั่งประเทศแถบเอเชียก็น่าวิตกไม่น้อยกว่ากัน เพราะเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา (2022) ประเทศศรีลังกา ต้องตกอยู่ในความเลวร้ายสุดขั้ว ชาวศรีลังกาออกมาเบียดเสียดต่อคิวรอซื้อน้ำมันที่ปั๊ม แต่กลับไม่มีเหลือให้ใช้สักหยด ทั้งไฟฟ้าครัวเรือนยังถูกตัดนานกว่า 12 ชั่วโมง สาเหตุเพราะอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นรวดเดียว 30 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเดือนเมษายน และเพิ่มขึ้นถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน

วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศศรีลังกาเริ่มลุกลามกลายเป็นข่าวใหญ่โตไปทั่วโลก และสุดท้ายประธานาธิบดี โกตาบายา ราชปักษา (Gotabaya Rajapaksa) ถูกประชาชนรวมตัวจุดไฟเผาบ้านพัก พร้อมขับไล่ออกจากประเทศเพราะไม่สามารถหาทางออกให้กับปัญหาได้

ล่าสุด ประเทศลาว เพื่อนบ้านอาเซียนของไทยก็กำลังอยู่ในสภาวะย่ำแย่ ด้วยอัตราเงินเฟ้อสูงถึง 25.6 เปอร์เซ็นต์ มากที่สุดในรอบ 22 ปี หรือคิดง่ายๆ 100 บาท สามารถแลกเป็นสกุลเงินกีบได้ถึง 51,000 กีบ ต่างจากเดิมที่ได้ประมาณ 26,000 กีบ

เพื่อคลายความสงสัยว่าปัจจัยใดทำให้หลายประเทศข้างต้นต้องตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว และประเทศไทยจะมีสิทธิ์เกิดสถานการณ์รูปแบบคล้ายกันเหมือนวิกฤตต้มยํากุ้ง ปี 2540 หรือไม่ Way of Being Wilds EP นี้ ชวนมาร่วมไขคำตอบ

Tags: