ไม่ใช่แค่ที่กรุงเทพฯ ที่รถยนต์หนาแน่นเท่านั้นที่จะมีปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 และมันก็ไม่ใช่แค่ฝันร้ายในหน้าหนาว แต่อาจเป็นฝันร้ายของคนในพื้นที่ใดๆ ที่เป็นปลายทางของแหล่งกำเนิดฝุ่นในทุกฤดูกาล เพราะหากเราเปิดแอปวัดดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ลองเช็คพื้นที่อื่นๆ ในประเทศจากจะพบว่ามีสีแดง-สีเหลืองเช่นเดียวกัน
ไม่ว่าฝุ่นนั้นจะอยู่ในรัศมีเพียงหนึ่งจังหวัดหรือมาไกลจากนอกประเทศ ระยะทางเพียงไม่กี่ร้อยกิโลเมตร ไม่ได้เป็นอุปสรรคกับฝุ่นจิ๋วเหล่านี้สักเท่าไร และที่พูดนี้ ไม่ใช่เพื่อให้ตื่นตูมหรือรีบโบ้ยความผิดให้เพื่อนบ้าน แต่จะบอกว่ามันเป็นไปได้
อีกทั้งนี่ยังเป็นประเด็นที่นักวิชาการนานาชาติต่างเริ่มตระหนักและหาทางพูดคุยกัน เพราะบางครั้งพลเมืองในประเทศเราคือผู้สูดอากาศพิษจากต่างแดนนั้น หรือบางครั้งก็เป็นประเทศเราเองที่สร้างฝุ่นให้พัดพาไปสู่ประเทศอื่นๆ ที่สำคัญคือ เรารู้หรือไม่ว่ามันมาจากไหน และจะจัดการอย่างไร
ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ จากสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยนเรศวร บอกว่า นี่คือปัญหา ‘มลพิษข้ามพรมแดน’ พร้อมยกตัวอย่างงานวิจัยที่เขาทำอยู่ คือการศึกษาผลกระทบจากโรงไฟฟ้าหงสาในประเทศลาว ที่อาจพัดสารปรอทมากับ PM 10 และ PM 2.5 เข้ามาตกในฝั่งจังหวัดน่าน ประเทศไทย
“โรงไฟฟ้าหงสาอยู่ใกล้ๆ กับชายแดนไทย ถ้าเป็นบ้านเราก็ใกล้มากแบบยังไม่ข้ามจังหวัดเลย แต่มันมีพรมแดนกั้นอยู่ มันจะมีลม 4 เดือนที่พัดจากโรงไฟฟ้ามาฝั่งไทย และคนที่ไปลงทุนก็คือคนไทย แต่เวลาไปตั้งก็ไม่ได้คำนึงถึงมลพิษที่มาที่นี่ เพราะว่ามันไม่มีกฎหมายในประเทศเขาบอกให้ทำ และปรอทก็เป็นมลพิษที่เคลื่อนที่ข้ามพรมแดนได้สบายๆ”
ระหว่างที่เรากำลังโทษตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตมลพิษในกรุงเทพฯ และยอมทนใส่หน้ากากไป ผศ.ดร.ธนพล บอกว่า ต้นตอแหล่งกำเนิดอาจมาจากรถยนต์ในกรุงเทพฯ หรือมาจากที่อื่นก็ได้
แต่จุดอ่อนของเราในการแก้ปัญหาตอนนี้ก็คือ เราไม่มีข้อมูลเพียงพอ และไม่เคยประเมินแหล่งกำเนิดมลพิษอย่างเป็นระบบ
PM2.5 เพิ่งจะมาเป็นปัญหาในช่วงนี้ หรือเป็นปัญหามานั้นแล้ว แต่คนเพิ่งรู้ตัว
มันมีหลายปัจจัยประกอบกันครับ เรียกว่าความเหมาะเจาะทำให้มันเป็นประเด็นสำคัญในตอนนี้ แต่ถ้าจะถามว่าเป็นประเด็นมาก่อนหน้านี้หรือเปล่า ถ้าเราไปค้นข่าวย้อนหลัง เขาจะใช้คำว่า ‘ฝุ่น’ เฉยๆ ก็มีเรื่องนี้มาทุกปีเลย คือบอกว่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน เขตโน้นเขตนี้มาเรื่อยๆ แล้วก็มีงานวิจัยหนึ่งที่เขาให้ดูว่ามันมีแนวโน้มฝุ่นที่เพิ่มขึ้นจากอดีต
เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นปัญหาที่สะสมเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ เพียงแต่ว่าปัญหาฝุ่นคือ มันปลดปล่อยตลอดเวลาทุกฤดู เพียงแต่ในช่วงมกราคม-มีนาคมเป็นช่วงที่อากาศปิด แทนที่มลพิษจะฟุ้งขึ้นไป มันก็กักอยู่ในบริเวณอากาศด้านล่างซึ่งเรารับสัมผัสอยู่ เลยทำให้เราได้เห็นผลกระทบนี้ชัดๆ คือจะรู้สึกมากกว่าช่วงเวลาอื่น อันนั้นคือปัจจัยหนึ่ง
อีกพวกหนึ่งคือการเกษตร อันนั้นก็เหมาะเจาะพอดี ถ้าอีกสักพัก ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 เป็นต้นไป ทางเหนือก็จะเริ่มเผา ก็มาทางนี้ได้เหมือนกัน เรียกว่าปัจจัยทั้งหลายมันประดัง ทำให้ช่วงนี้สามารถเห็นผลกระทบได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงอื่นๆ ของปี
ปัจจัยเสริมก็คือการเข้าถึงแอปพลิเคชัน เริ่มมีการใส่ PM 2.5 เข้าไปใน AQI ของกรมควบคุมมลพิษประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2561 พอใส่ปุ๊บ จากที่เคยเหลือง มันจะเริ่มแดง จริงๆ มันควรจะแดงนานแล้ว แต่เขาแค่ไม่ได้ใส่ตัวนี้เข้ามา เพราะพอมันเตือนขึ้นมาให้แอปฯ คนก็ตกใจ ผมเชื่อว่า AQI ที่เพิ่งรวม PM 2.5 เข้ามานี้เป็นปัจจัยหนึ่ง
ที่กรุงเทพฯ เราพูดถึงคำว่า PM 2.5 ล้วนๆ นะ แต่ที่จริงแล้ว PM 2.5 มันพาสารอื่นๆ มาด้วย งานวิจัยที่น่าน เราเน้นไปที่ปรอทที่มากับ PM 2.5 และ PM 10 เพราะเรารู้ว่าโรงไฟฟ้าหงสาไม่มีระบบจับปรอทโดยเฉพาะ เราจึงทำการติดตามการสะสมของปรอทในปลาบริเวณดังกล่าว ที่อาจเกิดจากการตกสะสมของปรอทจากอากาศและฝุ่น
PM 2.5 มีองค์ประกอบของสารพิษหลายๆ อย่างติดกับมันได้ ไม่ได้แปลว่ามันเป็นปรอท 100% แต่เป็นฝุ่นที่มีองค์ประกอบมากมายก่ายกอง มันเกิดจากการเผาที่ทุกอย่างจะกลายเป็นแก๊ส แล้วกลับมารวมตัวกัน เป็นอนุภาคแขวนลอย ที่แน่ๆ มี Polycyclic aromatic hydrocarbon ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ส่วนโลหะหนัก จะมีเยอะหรือน้อยขึ้นอยู่กับแหล่งกำเนิด
ซึ่งสารพวกนี้ก็เกาะกับ PM10 ได้
ก็ได้ แต่มักจะอยู่ในฝุ่นเล็กๆ มากกว่า เพราะเวลาเกิดการเผา ถ้าเผาหมดจริงๆ มันจะกลายเป็นแก๊ส กระทั่งโลหะหนักก็กลายเป็นแก๊สได้ และแก๊สกับควันไม่เหมือนกัน เมื่อเผาปุ๊บ มันจะมีส่วนที่เป็นควันซึ่งมักจะเป็น PM 10 และส่วนที่เป็นแก๊สที่จะกลับมาควบแน่น (condense) กัน กลายเป็นฝุ่นเล็กๆ หรือกลายเป็น PM2.5
อย่างโรงโม่ ส่วนใหญ่จะเป็น PM 10 แต่ถ้าเผาขยะ มันเกิดการเผาจนสลาย ก็สร้าง PM 2.5 ขึ้นมา เขาเรียกว่า nucleation
ทั้งที่มันส่งผลกระทบต่อร่างกายเยอะมาก แต่ทำไมกรมควบคุมมลพิษถึงไม่ใส่มาในการคำนวณ AQI ก่อนหน้านั้น
ผมว่า คพ. (กรมควบคุมมลพิษ) รู้ดีเรื่อง PM 2.5 แต่ก็รู้ดีอีกเช่นกันว่า เราไม่ได้มีกฎหมายในการควบคุมปลายปล่องของโรงงาน ใส่ไปปุ๊บ เชื่อว่าเขารู้ว่ามันจะขึ้นสูง แต่เวลาถามว่าใครทำ? มันจะจับมือใครดมไม่ได้ เพราะว่ากฎหมายไม่ได้คุม ต่างจากมลพิษตัวอื่นที่มี inventory วัดปลายปล่อง
ก่อนหน้านี้ที่มีปัญหาเรื่องฝุ่น เขาพูดถึงฝุ่นโดยรวม ไม่ได้เจาะจงว่าเป็น PM 10 หรือ PM 2.5
ใช่ ซึ่งจริงๆ แล้วพูดแบบนี้มันไม่ถูก ความเป็นพิษมันไม่เท่ากัน การเข้าไปถึงปอดหรือเข้าไปถึงระบบเส้นเลือดมันไม่เท่ากัน ต้องแยกเป็น PM 2.5 และ PM 10 ถูกแล้ว
ที่ผ่านมาเหมือนเราเพิกเฉยต่อ PM 2.5 มาเยอะมาก ทั้งที่จริงแล้วมันใกล้กับเรามากกว่า ทุกกิจกรรมที่เราทำ การเผาของรถ โรงไฟฟ้า โรงงานขยะ โรงงานอุตสาหกรรม ปิ้งย่างก็ด้วย ใช่ อย่างที่เขาว่า
ก่อนมาแตะเรื่อง PM 2.5 อาจารย์ทำอะไร
จริงๆ ผมทำเรื่องการฟื้นฟูน้ำใต้ดินเป็นงานหลัก เช่น พื้นที่ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม เช่น กรณีหนองแหน พนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มีการลักลอบทิ้งแล้วชาวบ้านไปล้อมจับ ผู้ใหญ่บ้านโดนยิงเสียชีวิต เป็นกรณีศึกษาของประเทศ แล้วก็ยังมีอีกหลายกรณีที่ทำทั้งงานวิจัยและก็การดำเนินการฟื้นฟูการปนเปื้อนในพื้นที่จริงๆ เช่น การปนเปื้อนในมาบตาพุด จ.ระยอง กรณีลำห้วยคลิตี้ จ.กาญจนบุรี กรณีเหมืองทองคำ จ. พิจิตร เหมืองทองคำ จ.เลย กรณีข้าวปนเปื้อนแคดเมียม อ.แม่สอด จ.ตาก
แต่ว่าช่วงหลังๆ มันเริ่มมีเรื่องมลพิษข้ามพรมแดน เราก็เลยไปเก็บฝุ่น วัดปรอท เริ่มมีเรื่องโรงไฟฟ้าที่มวกเหล็ก ที่ชาวบ้านออกมาคัดค้านเพราะกังวลว่าการมีโรงไฟฟ้จะทำให้มีการสะสมของปรอทในนมโค เราก็วิเคราะห์อีกว่าที่เพิ่มไนโตรเจนไดออกไซด์ที่โรงไฟฟ้าปล่อยมา อาจจะทำให้วัวตายมากขึ้น กฎหมายไม่เคยดูว่า ถ้าไนโตรเจนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะทำให้วัวตายกี่เปอร์เซนต์ในกี่วัน แต่ในฐานวิชาการนานาชาติมันมีประเด็นนี้ เราก็เลยทำเรื่องที่เกี่ยวกับอากาศมาเรื่อยๆ
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องการจัดการมากกว่า มันไม่ใช่เรื่อง PM อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องมลพิษทั้งหมด จริงๆ แล้วการจัดการของมันควรจะทำตั้งแต่การประเมิน EIA (การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม) และ EHIA (การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ)
ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าถ้าผมมีพื้นที่ว่างๆ ผมจะตั้งโรงงานสักโรงหนึ่ง ก็ประเมินผลกระทบจากโรงงานนี้ แต่ถ้าผมจะตั้งโรงที่ 2 โรงที่ 3 โรงที่ 4 หรือจะสร้างถนน เราต้องรู้ว่าทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นมันทำให้เกิด PM และมลพิษในอากาศเท่าไร และพื้นที่ที่มีนั้นมีความสามารถในการรับหรือสลายมลพิษนี้ได้มากแค่ไหน ซึ่งประเทศนี้ไม่เคยทำแบบนี้เลย เราทำแยกทีละโรง เหมือนว่ามีโรงเดียวในพื้นที่ พอโรงที่ 2 มาตั้ง ก็ประเมินแค่โรงที่ 2 มีถนนมาตั้ง ก็ไม่ได้คำนวณรวมไปด้วย
ถ้าสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ทำอย่างเป็นระบบ คล้ายๆ กับที่อเมริกาทำ เราจะบอกได้เลยว่าจะเกิด PM เมื่อไร และรู้ด้วยว่ามาจากใคร
ที่มา: https://gispub.epa.gov
แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ในทางวิศวกรรมมันทำได้หมด แต่ว่า สผ. ไม่ได้ทำและไม่ได้ออกกฎหมายเพื่อทำ กฎหมายมันสำคัญตรงนี้ และควรมีการแก้ให้เป็นระบบมากกว่าการมาพ่นน้ำแบบนี้
มันชั่วคราว
มันยิ่งกว่าชั่วคราวอีกครับ คือคุณทำอะไรไม่ได้แล้ว ไร้ทางเลือกแล้ว จริงๆ แล้วมันสามารถออกกฎหมายเลยว่าต้องวัด PM 2.5 ที่ปลายปล่องทุกปล่อง ทุกกิจกรรมที่เกิด ทำแบบจำลองถนนได้เลย ว่าจะเกิดฝุ่นเท่าไร จะวิ่งหนาแน่นเมื่อไร ตรงไหนจะโดนเยอะในช่วงเวลาไหน กิจกรรมอะไรต้องลดบ้างเพื่อให้ฝุ่นต่ำลง
แต่พอมันเกิดวิกฤตขึ้นมาแบบนี้ ก็บอกไม่ได้ว่าใครปล่อยออกมาเท่าไร และใครต้องหยุดทำอะไร
ถูกต้อง ที่เราไม่รู้เพราะเราไม่มีเครื่องมือวัด จริงๆ แล้วเราสามารถทำแบบจำลองคอมพิวเตอร์ได้ เช่นอันนี้ เป็นแบบจำลองสเกล 50 x 50 km ถือเป็นพื้นที่เล็กๆ ซึ่งจริงๆ เราสามารถทำคลุมพื้นที่ทั้งประเทศได้เลย คลุมอาเซียนก็ยังได้ เพียงใส่แหล่งกำเนิดให้ครบ แล้วจะรู้ว่า PM 2.5 มาจากไหน
ยกตัวอย่างเช่น แบบจำลองที่มวกเหล็ก วันที่ 1 สิงหาคม 2013 ผลจากกงานวิจัยของ ผมและ ดร.วิน ไตรวิทยานุรักษ์ ซึ่งเรามีข้อมูลลมย้อนหลัง เขาจะมีกฎที่ว่า ถ้าใช้ข้อมูลลมย้อนหลัง 5 ปี เราจะสามารถทำนายอนาคตได้ 5 ปี
ในภาพนี้ สีต่างๆ แทนค่าความเข้มข้นของฝุ่น หน่วยไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถ้าเป็นสีม่วงคือความเข้มข้นต่ำ สีเขียวความเข้มข้นสูง สีแดงความเข้มข้นสูงสุด คลิปนี้คือการจำลองฝุ่นในแต่ละชั่วโมง แบบจำลองอากาศที่ว่านี้จะเป็นมลพิษอะไรก็ได้นะครับ จะเป็น PM 2.5, PM 10 ปรอท ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ฯลฯ ก็ได้
คำถามแรกที่อยากให้คิดก็คือ “ฝุ่นมาจากไหน?” ถ้าดูรูปนี้ เราบอกได้แค่ว่า จุดไหนจะโดนฝุ่นมากน้อยแค่ไหน เหมือนกับเราไปตั้งวัดสถานีแล้ววัด AQI ออกมา ก็รู้แค่ว่าตรงนั้น AQI เขียว เหลือง แดง แต่บอกได้ไหมว่าใครเป็นคนปล่อย? บอกไม่ได้นะ
ประเด็นก็คือ จริงๆ แล้ว ในการอนุมัติหรืออนุญาตโครงการใดๆ เช่น เราจะสร้างถนนใหม่ขึ้นมาพื้นที่เดิม เราสามารถทำนายได้เลยว่าอีก 5 ปีจะเป็นอย่างไร อันนี้เป็นศาสตร์ที่นานาชาติยอมรับ แปลว่าไม่ต้องรอให้เกิดฝุ่น แล้วค่อยมาบอกว่ามันเกิด เราบอกได้เลยว่า มกราคม-มีนาคม ยังไงก็เกิดทุกปี ถ้าอิงกับข้อมูลย้อนหลัง บอกได้ด้วยซ้ำว่าวันไหนจะเกิดฝุ่นสูงสุดที่บริเวณไหน คือเหมือนกรมอุตุฯ ทำนายฝน
แต่สิ่งที่ทำให้เราทำนายไม่ได้ก็คือ เราไม่รู้แหล่งกำเนิดแต่ละแหล่ง (จุดสีแดง) อย่างเหมือง โรงงาน ถนน เราก็ไม่รู้และโทษใครไม่ได้ จับไม่ถูก แต่กลับไปโทษหมูกระท้งหมูกระทะ
นี่คือภาพจำลองถนนอย่างเดียว (เปิดแบบจำลอง) ลายสีแดงทั้งหมดนี้ พอมีรถวิ่งผ่าน มันก็จะปล่อย PM 2.5 และมลพิษอื่นๆ ตอนสร้างถนนสามารถทำแบบจำลองได้เลยว่า ถนนเท่านี้ เมื่อมีรถวิ่งด้วยอัตราความเร็วเท่านี้ จะเกิดฝุ่นมากน้อยแค่ไหนในแต่ละฤดูกาล และก่อนที่จะมีการสร้าง เราสามารถประเมินได้อยู่แล้วว่าถนนเส้นนี้จะมีรถแล่นผ่านกี่คัน
ถ้าเป็นอย่างอื่น เช่น ถ้าเป็นโรงงาน เช่น โรงงานแห่งหนึ่งในภาพนี้ ออกจากจุดนี้จุดเดียว เราบอกได้เลยว่าฝุ่นที่มาถึงพื้นที่ตรงนั้น มาจากส่วนของโรงงานนี้เท่าไร และมาจากถนนเส้นนี้เท่าไร ไม่มีอะไรที่คำนวณไม่ได้ แต่ถ้าไม่เชื่อการคำนวณก็ต้องไปวัดปลายปล่อง ซึ่งกฎหมายเราไม่มีการวัด PM 2.5 หรือกระทั่งถนน ก็ไม่เคยวัดนะว่ามันจะปล่อย PM 2.5 ไปกระทบบ้านใครบ้าง จริงๆ มันมีผลกระทบตามมาเสมอ
งานวิจัยที่น่าน เราทำแบบจำลอง จากนั้นก็ไปเก็บตัวอย่างปรอทไว้แล้วว่ามันมีฝุ่น PM 2.5 ที่มีปรอทสูงเคลื่อนเข้ามาแล้วก็จะตกลงมาสะสมที่บริเวณห้วยโกร๋น สอดคล้องกับแบบจำลองที่เราทำว่า ถ้าโรงไฟฟ้าที่หงสาปล่อยปรอทมาเท่านี้ มันจะตกแถวๆ แหล่งปะทะเขา เจอเขาปุ๊บมันก็ตก เราก็เก็บฝุ่นตรงนั้น ค่าปรอทมันก็จะค่อนข้างสูง นี่เป็นมิติของ PM ที่ไม่ใช่แค่สูดเข้าไปแล้วอันตราย แต่มันมีโลหะหนักติดมาด้วย
ต้นทุนในการวัดมันสูงหรือเปล่า
ไม่ครับ! แบบจำลองนี่ทำง่ายมากเลย ไม่ได้ใช้อะไรเลยนะ มีอีกหลายคนในประเทศที่ทำแบบจำลองแบบนี้ได้
ก่อนอนุมัติโครงการอะไร เราต้องรู้ว่าเขาปล่อยอะไรเท่าไร ต้องมีการทำ EIA หรือ EHIA แค่ต้องเอาข้อมูลตรงนั้นมาลงในแบบจำลอง แต่ว่าพอทำขึ้นมาแล้ว มันจะเห็นเลยครับว่าหลายๆ โรงงานมันจะเกิดไม่ได้ ถนนหลายสายจะเกิดไม่ได้ รถไม่ควรจะมีขนาดนี้ ปล่อยให้กรุงเทพฯ มีรถเป็นล้านคันแบบนี้ไม่ได้หรอก มันไม่ปลอดภัยอยู่แล้ว ด้วยสภาพที่วางแผนโดยไม่เคยประเมินเลย จับมือใครดมไม่ได้ด้วย
แต่มันก็คงไปกระทบธุรกิจหลายอย่าง และคงทำให้คนที่กำกับดูแล ต้องมีความรับผิดชอบ ต้องไปชี้ความผิดที่ใคร ตอนนี้มันเป็นลักษณะ วันหนึ่งก็โทษหมูกระทะ วันหนึ่งก็บอกว่าก่อสร้าง วันหนึ่งก็บอกว่ารถยนต์ เหมือนกับโบ้ยไปในสิ่งที่ประชาชนต้องยอมรับ ต้องจำใจอยู่กับมัน เช่น รถไฟฟ้าก็สร้างให้เรา อย่างนี้
ถ้าทำโมเดลเป็นระบบ จะบอกได้ง่ายเลยว่าฝุ่นที่เกินในแต่ละที่มันมาจากที่ไหน ปิ้งย่างมีอิทธิพลจริงไหม ผมเชื่อว่าไม่จริง และฝุ่นก่อสร้างก็ไม่จริง เพราะไม่ได้มีสัดส่วนของ PM 2.5 เยอะ แต่มี PM 10 สูง อันนี้มีรายงานอยู่ แต่เป็นไปได้ว่าการก่อสร้างทำให้รถติด จึงทำให้เกิดการเผาไหม้บริเวณนั้น
สผ. ควรจะต้องทำการประเมินแบบสะสมไปเรื่อยๆ ต้องประเมินผล PM ทั้งสองอย่าง และมลพิษอื่นๆ จากโรงงานทั้งหมด แต่ตอนนี้ สผ. เลือกประเมินทีละโรงงาน เสมือนว่าอีก 10 โรงงานในพื้นที่นั้นไม่มีตัวตน มันก็เลยผ่านตลอด
พูดถึงกรุงเทพฯ เท่าที่มีข้อมูล PM 2.5 มาจากควันรถเป็นส่วนใหญ่หรือเปล่า
มันมีงานวิจัยอยู่นะ แต่ว่าสู้แบบจำลองเมื่อกี้ไม่ได้เลย เพราะวัดแค่ 3 จุด แล้วก็มาวัดองค์ประกอบของฝุ่น ว่าฝุ่นนี้มีองค์ประกอบเป็นดีเซลเท่าไร จากดินเท่าไร มาจากการเผาชีวมวลในที่เปิดเท่าไร เชื้อเพลิงจากโรงงานเท่าไร ทำแค่ 3 จุดแล้วก็สรุปออกมาทั้งที่กรุงเทพฯ กว้างมาก มันยังไม่น่าเชื่อถือ
งานวิจัยนี้ที่บอกว่าลักษณะทางเคมีเป็นยังไง บอกได้ว่าเป็นสารประเภทไหน น่าสนใจ แต่ว่ามาใช้ในลักษณะการจัดการไม่ได้เลย เพราะบอกไม่ได้ว่ามาจากที่ไหน เช่น ดีเซลมาจากถนนตรงไหน ใช่ถนนตรงที่วัดหรือเปล่า อาจจะมาจากที่ไกลๆ ที่พามาตกตรงนี้
ถ้าทำแบบจำลองแล้วมองเห็นว่าฝุ่นตรงนี้มาจากใคร ก็วิ่งไปจัดการได้เลย เราอาจไม่ต้องโทษหมูกระทะ อาจจะมีคนอื่นด้วยก็ได้ มันสำคัญเพราะว่าเราออกมาตรการจัดการได้
แต่พื้นที่ที่หนาแน่นอย่างกรุงเทพฯ คงมีตัวการมากมายที่ปล่อย PM 2.5 ข้อมูลมันคงมหาศาล
เขาก็จำลองทั้งโลกมาแล้ว มันก็แค่ว่าเราจะใส่ข้อมูลเหล่านั้นลงไปหรือเปล่า ในต่างประเทศ อย่างอเมริกา เขามีมาตรฐานคุณภาพอากาศเหมือนที่เรามี แต่ถ้าเมื่อไรที่รัฐไหนที่ AQI ไม่ผ่าน เขาจะมี non-attainment area เป็นพื้นที่พิเศษ คล้ายๆ เป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษ การที่จะมีแหล่งกำเนิดมาตั้งใหม่หรือสร้างถนนเส้นใหม่ เขาต้องประเมินก่อนว่าถ้าจะยอมให้สร้าง จะต้องไปลดอันอื่นเท่าไหร่ เพื่อให้คุณภาพอากาศยังผ่าน เขาทำแบบจำลองอย่างที่เราทำ และใส่ทุกแหล่งกำเนิดเข้าไป
โดยสรุปคือ แบบจำลองจะคำนวณนานจริง แต่ก็ยังสามารถทำได้ ทุกโครงการใหญ่ๆ ที่ สผ. อนุมัติ มันมีข้อมูลอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเราจะนำเอาข้อมูลเข้ามาหรือเปล่า
แต่กรุงเทพฯ ไม่ได้มีแค่โรงงาน
ถนนทำได้ ปิ้งย่างอาจจะต้องสมมติขึ้นมาว่าตลาดนี้จะมีปิ้งย่างเท่าไร คิดเป็นก้อนไปเลยว่าโซนนี้เป็นตลาด น่าจะมีปิ้งย่างเท่านี้ ขายช่วงเวลาไหน แต่มันก็จะเป็นงานอีกก้อนหนึ่ง ถ้าทำจริงๆ แน่นอนว่าต้องใช้งบประมาณและใช้เวลา แล้วถ้าไม่มีกฎหมายรองรับ มันก็จะเป็นแค่อีกงานวิจัยหนึ่งที่ออกมาแล้วราชการไม่ได้เอาไปใช้ทำอะไร
แล้วเป็นไปได้ไหมว่ามันจะมาจากจังหวัดอื่น
เป็นไปได้ครับ มันเป็นมลพิษที่เรียกว่า มลพิษข้ามพรมแดน ถ้าดูตรงนี้จะชัดหน่อย อย่าว่าแต่ข้ามจังหวัดเลย ข้ามรัฐ ข้ามประเทศ เป็นเรื่องเล็กๆ
ตอนนี้ก็โบ้ยไปลงที่เวียดนามเสียเยอะ เพราะเวียดนามมีการเผาหนักจริงๆ หากใช้เซ็นเซอร์ความร้อนดู เขาเผาเตรียมที่ดินกันเต็มเลย และลมจากเวียดนามก็พัดมาอยู่แล้วในช่วงนี้
ฝุ่น PM 2.5 เคลื่อนที่อยู่ในอากาศได้ 1 ล้านเมตร หรือเท่ากับ 10,000 กิโลเมตร เพราะฉะนั้นการเดินทางข้ามประเทศมันยิ่งกว่าเป็นไปได้ อย่างตอนที่เขาเผาป่ากันที่อินโดนีเซีย มันก็มาถึงเรา
แต่คำว่าอากาศนิ่ง หมายความว่าไม่มีลมพัดอะไรมาจากที่อื่นหรือเเปล่า
ไม่ครับ นิ่งหมายถึงไม่ disperse หรือไม่ผสมกระจายออกทางแนวตั้ง
ลมเคลื่อนไปอย่างนี้ (ทำมือขนานกันในแนวนอน) ถ้าเกิดการผสมกันก็ทำให้บานออกในทางแนวตั้ง ถ้าบานอย่างนี้ มลพิษจะต่ำ แต่ถ้ามันไม่บาน มันก็จะเคลื่อนที่ไปในแนวราบ แต่กักอยู่ในชั้นนี้ ชั้นที่เราสูดกัน แต่ถ้าเป็นหน้าร้อน หรือหลังจากมีนาคมไป อากาศมันเปิด มันเกิด turbulence (อากาศปั่นป่วน) อากาศมันจะผสมกัน
เพราะฉะนั้นคำว่าอากาศนิ่ง ไม่ได้หมายความว่าลมไม่พัด ลมพัด แต่ว่ามันไม่ได้เคลื่อนที่ในทิศทาง Z ส่วนสิ่งที่ทำให้มันเคลื่อนที่ในทิศทาง Z คือความต่างความกดอากาศ ถ้ามันไม่กดเยอะเกิน มันจะมิกซ์กันได้ อากาศร้อนๆ ลอยขึ้น อากาศข้างบนก็จะเข้ามาผสมกันได้
เคยมีเหตุในลอนดอนเมื่อหลายปีก่อน ที่อากาศไม่ฟุ้งแล้วยังตลบกลับพาฝุ่นลงมาข้างล่าง ตายกันเพียบ (The Great Smog ปี 1952) แม่เมาะก็เคยมีฝุ่นตลบกลับ เขาเรียกว่า inversion
เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องปกติ ช่วงนี้เป็นไปได้ว่ามีการก่อสร้างเยอะขึ้น และคนเข้าถึงแอปดู AQI มากขึ้น มันก็เกิดความตระหนักด้วย
ในเมื่อแบบจำลองสามารถตอบคำถามได้ เรายังจำเป็นต้องเอาเครื่องวัดไปติดที่โรงงานอีกไหม
จำเป็น เพราะแม้เราสามารถคำนวณจาก ‘ข้อมูลที่เขาบอกในรายงาน’ ที่ส่งต่อ สผ. ว่าจะปล่อยออกมาเท่าไร แต่ถ้าเขาผลิตมากกว่านั้น ก็อาจจะปล่อยมากกว่านั้นก็ได้ บางโรงงานมีระบบดักจับฝุ่น PM 2.5 ในคำขออนุญาต แต่ถ้าดำเนินงานจริงแล้วไม่ดักจับ เพราะมันแพงล่ะ มันก็เลยต้องมีเซ็นเซอร์
ต้นทุนการติดตั้งแพงไหม
ก็แพงครับ เท่าที่ดูก็หลายล้าน แต่ตอนนี้ไม่มีใครติดเลยเพราะกฎหมายไม่บังคับ แต่ว่าติดได้ ตอนนี้มีแต่การติดเซนเซอร์วัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) แต่ PM2.5 ไม่บังคับ ก็เลยไม่มีใครติด
ผมว่าพวกแหล่งกำเนิดเล็กๆ อย่างปิ้งย่างอย่างนี้ไม่ต้องติด เราใช้การคำนวณเอาว่าเขาน่าจะขายเท่านี้ แต่โรงงานมากกว่าที่เป็นแหล่งใหญ่ๆ ซึ่งสามารถจะปล่อยมากปล่อยน้อยได้ เขาอาจจะบอกว่าปล่อยน้อย แต่ถึงเวลาอยากประหยัดเงิน เขาก็ปล่อยเยอะได้
เมื่อกี้เราพูดถึงความกดอากาศ เป็นไปได้ไหมว่า PM 2.5 มันเกิดขึ้นเฉพาะฤดูกาล เราไม่ต้องไปแก้ไขอะไรหรอก แค่รอเวลาให้เข้าสู่ฤดูถัดไป
คนมักจะคิดแบบนี้ ฤดูกาลเป็นปัจจัยสำคัญ ปีหน้ายังไงก็เกิด เพียงแต่จะบอกว่าไม่ต้องจัดการก็ไม่ได้ เพราะจริงๆ แล้วปัญหาพวกนี้ พอเกิดขึ้นมาแล้วมัน ‘จัดการได้’ เช่น ขอให้แหล่งกำเนิดนั้นหยุดปล่อยหรือหยุดผลิตก่อนในช่วงนี้ หรือขอให้ติดระบบจับฝุ่นที่มากขึ้น
ปัญหาคือฝุ่นมันเกินมาในหน้านี้ ทำไมต้องให้คนทนกันไปตั้ง 3 เดือน ระยะเวลา 3 เดือนตลอดชีวิตของคุณอาจจะเป็นมะเร็งไปแล้วก็ได้ เพราะความเสี่ยงคือ ยิ่งรับนานยิ่งมีโอกาสเป็นมะเร็ง ทำไมเราต้องมาทนถึง 1 ใน 4 ของปี ตลอดทุกปี ตลอดชีวิต ราคาความเสี่ยงมูลค่ามหาศาล
ทำไมเราต้องทน ในเมื่อเราจัดการได้ ในเมื่อรู้ว่าแหล่งไหนปล่อย และมันจะเกินในช่วงนี้ เราก็บอกให้เขาติดระบบดักจับฝุ่นหรือหยุดผลิต ยังไงเขาก็ต้องเลือกติดระบบ
หรืออย่างถนน รถใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งปล่อย PM 2.5 อยู่แล้ว เราก็ต้องรับผลักเป็นรถไฟฟ้าให้ไว เราไม่ควรต้องทน เพราะเรามีทางเลือกอื่น และรัฐบาลประเทศอื่นเขาก็จัดการได้ นี่คือประเด็นของผม
ถ้าเมื่อไรเราคิดแค่ว่ามันเป็นปัญหาเฉพาะฤดูกาล เราทนได้ ก็จะไม่เกิดการพัฒนาไปในทางที่ดีกว่าหรือสะอาดกว่าเลย ระหว่างที่เราทน เราก็มีค่าใช้จ่ายต่อสุขภาพอยู่นะ PM 2.5 มันอาจจะมีปรอทหรือตะกั่วอยู่ด้วย แปลว่าการที่เราทนแล้วรอให้ฤดูกาลผ่านไป มันก็เกิดความเสียหายกับสุขภาพแล้ว
การจัดการที่ดีกว่า จะทำให้เราไม่ต้องทนกับปัญหาพวกนี้ เรียกว่าเป็น external cost หรือต้นทุนภาระภายนอกที่เราถูกผลักออกมา รัฐบาลบอกว่าก็ไปซื้อหน้ากากมาใส่ เราก็ต้องเป็นคนเสียเงินซื้อหน้ากากมา ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นรัฐหรือหน่วยงานที่อนุมัติให้สร้างถนน ที่ต้องจัดการแก้ปัญหาเหล่านี้ เขาพยายามจะโทษว่าพวกคุณขับรถกันเยอะ แต่ตอนที่อนุมัติให้สร้างถนนล่ะ ทำไมคุณไม่ประเมินว่ามันจะเกิดฝุ่นมากน้อยแค่ไหน แล้วใครจะโดนบ้าง
แต่ที่เขาไม่นำมาตรวจวัด อาจเป็นเพราะว่าภาคส่วนต่างๆ คงจะกระทบ ไม่ว่าจะบริษัทรถยนต์เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือโครงการสร้างถนนต่างๆ
การใส่หน้ากากไม่ใช่วิธีแก้ไขนะครับ อันนี้เรียกว่า วิธีเอาตัวรอด ให้ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพน้อยที่สุด ไม่ตาย ไม่แสบจมูก เรียกว่า adaptation แต่การป้องกัน หรือ prevention จริงๆ คืออีกอย่างหนึ่ง
การพ่นน้ำก็เป็นปัญหาที่ปลายเหตุ เทคนิคการใช้น้ำจับนั้น หรือ waste scrubber ใช้กับ PM2.5 แล้วประสิทธิภาพต่ำมาก เขาถึงใช้วิธีที่เรียกว่า electrostatic precipitator หรือการใช้ไฟฟ้าสถิตในการจับฝุ่น เป็นเพลตที่ติดไว้ตามปล่องโรงไฟฟ้าเพื่อดักฝุ่น เมื่อฝุ่นวิ่งผ่านก็จะวิ่งไปหาประจุต่างๆ นี่คือวิธีจัดการ PM 2.5 จริงๆ ซึ่งไม่สามารถมาทำที่กรุงเทพฯ ได้ เครื่องพวกนี้ควรไปติดที่โรงงานเลย เพราะการเก็บที่แหล่งกำเนิด มันง่ายที่สุด ผลกระทบต่ำสุด การปล่อยกระจายออกมาแล้วมาเก็บที่หลัง ราคามันมหาศาล
การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุก็คือต้องติดเครื่องตรวจวัดให้หมด ต้องทำตั้งแต่วันนี้ โครงการทั้งหลาย ถนน อะไรที่ทำให้เกิด PM 2.5 ได้ ทำแบบจำลองให้หมดเลย ก่อนที่มันจะกระจายออกไป
อย่างรถยนต์ มีเครื่องดักฝุ่น PM 2.5 อย่างนี้ติดไว้ไหม
มีครับ รถที่พัฒนาตามมาตรฐาน Euro 6 ในหลายๆประเทศจะมีระบบกรองฝุ่นขนาดเล็กแล้ว แต่พอดีของไทยยังอยู่ที่มาตรฐาน Euro 4 (หมายเหตุกองบรรณาธิการ: แก้ไขคำตอบเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562)
แต่เรื่องการติดเซ็นเซอร์ที่ปากปล่อง หรือการทำแบบจำลองก่อนอนุมัติโครงการ ก็ต้องรอออกกฎหมาย มีอะไรที่เราแก้ได้ตอนนี้เลยไหม
ไม่มีเลยครับ ไม่มี
แล้วตัวเราทำอะไรได้บ้าง ที่จะควบคุมบรรยากาศรอบตัว
ถ้าเราจะรับภาระนั้นเอง ก็ต้องใช้ขนส่งมวลชนให้มากขึ้น ปลูกต้นไม้ให้มากขึ้น จะดูโลกสวยประมาณนั้น แต่ผมว่าไม่ตรงจุด และมันมีคนที่จะต้องทำหน้าที่นั้นอยู่ คือรัฐ ซึ่งใช้เงินภาษีเราอยู่แล้วในการจัดการ หรือรัฐเองซึ่งเป็นคนที่อนุมัติการก่อสร้างถนน โรงงาน ตลาด ต่างๆ แต่ไม่เคยประเมินเลยว่ามันทำให้เกิดมลพิษมากน้อยแค่ไหน
หรือการเปิดแอร์อยู่ในบ้าน ก็เป็นต้นทุนที่ถูกผลักมาอีก ผมไม่เห็นด้วยกับการผลักภาระ เราเอาชีวิตรอดในแต่ละครั้งที่เกิดเหตุ แต่ในครั้งหน้า พวกที่มีหน้าที่ ควรจะต้องออกมาจัดการได้แล้ว ไม่ควรจะมาผลักภาระให้เรารอไปก่อน ไปหาซื้อหน้ากากมาใส่เอง
เป็นไปได้ไหมที่แต่ละท้องถิ่นจะออกกฎหมายมาควบคุมกันเอง
เป็นไปได้ครับ มี 141 ประเภทกิจการ ที่ท้องถิ่นสามารถคุมได้ เช่น เล้าหมู โรงงานทั้งหลาย ฯลฯ เขามีกฎหมาย พ.ร.บ. สาธารณสุขมารองรับ แต่ปกติแล้วท้องถิ่นแทบไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่ค่อยได้ริเริ่มใช้มาตรการอะไรเพื่อปกป้องตัวเอง เขาจะรอส่วนกลางบอกแล้วค่อยทำตาม แต่จริงๆ แล้ว ท้องถิ่นมีอำนาจของตัวเอง
อันนี้เป็นประเด็นที่ดีนะ เพราะตอนนี้ทุกคนพยายามบังคับ สผ. หรือส่วนกลางให้ทำ ตอนอนุมัติ EIA ไม่ค่อยมีใครมองไปที่ท้องถิ่น ว่าตัวเขาเองมีอำนาจจัดการได้ เขาสามารถมาเพิ่มมาตรการเองได้ เท่าที่คุยกับอาจารย์หลายท่าน เขาบอกว่าได้พยายามสะท้อนประเด็นเรื่องการทำแบบประเมินให้ครอบคลุมทุกแหล่งกำเนิดนี้กับ สผ. แล้ว แต่ว่าเขาไม่สนใจที่จะทำ รู้ว่าทำปุ๊บ หลายโครงการไม่เกิด แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าท้องถิ่นจะทำเองไม่ได้
แต่ถ้าเกิดการอ้างว่า โรงงานนี้ต้องสร้าง เพื่อให้เศรษฐกิจมันเติบโต มันพัฒนา
ใช่ๆ ผมว่าประเด็นคือไม่ใช่ว่าอย่าสร้างโรงงาน ผมว่าโรงงานต้องสร้าง ถนนต้องมี แต่ว่าการดำเนินกิจกรรมพวกนี้ ต้องไม่ผลักภาระให้คนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาระที่คนอื่นไม่เต็มใจรับ คุณต้องควบคุม ต้องยอมลงทุนเสียค่าใช้จ่ายในการลดมลพิษปลายปล่อง ถ้าลดไม่ได้ ก็ต้องประกันมูลค่าความเสียหาย ประกันสุขภาพ ประกันภาระเหล่านี้ให้กับประเทศ ให้กับสังคมโดยรวม ไม่ใช่อย่างตอนนี้ ปล่อยแล้วไม่รู้มาจากไหน ก็โทษไปทางนั้นทีทางนี้ที แต่ไม่มีใครรับผิดชอบเลย
ทำไมโรงไฟฟ้านี้ผลิตไฟฟ้าขายได้ แต่คนที่รับผลกระทบค่าใช้จ่ายคือประชาชน หรือเกษตรกร ควรมีการประกันความเสี่ยง เริ่มจากยอมรับก่อนว่าคนคนนั้นทำให้คนอื่นเสียหาย แล้วคนที่เสียหายจะยอมรับการประกันความเสี่ยงนี้ไหม กลายเป็นการรับความเสี่ยงอย่างสมัครใจ คือรู้และรับผิดชอบ
ตอนนี้เขาจะโบ้ยว่า ก็เพราะสร้างรถไฟฟ้าให้คุณไง คุณก็ต้องยอมรับ แต่ตอนที่จะสร้าง เราได้รับรู้ความเสี่ยงนั้นไหมว่ามันจะมีมลพิษอะไรบ้าง กลไกแบบนี้มันเป็นกลไกที่ไม่รับผิดชอบ
การประกันนี้ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย ไม่ควรจะเอาเงินภาษีมาใช้แก้ปัญหา เอาเงินมาซื้อหน้ากากแจกนี่ไม่ถูกนะ เพราะผู้ก่อมลพิษต้องเป็นคนจ่าย หรือจะบอกว่าเกิดจากรถยนต์ คนที่ขายรถ ขายน้ำมัน เขาได้กำไรไปเท่าไหร่แล้ว ทำไมสุดท้ายต้องมาตกที่เงินภาษี คุณควรจะคุมการขายรถยนต์ การขายน้ำมันให้มันน้อยกว่านี้หรือเปล่า พัฒนาขนส่งมวลขนมากกว่านี้หรือเปล่า
ตอนนี้เราเหมือนถูกทำให้เชื่อว่าเราไม่มีทางเลือกน่ะครับ ถูกปิดปากด้วยหมูกระทะ รถไฟฟ้า ฯลฯ ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาและต้องทนอยู่กับมันให้ได้
ถ้าการประเมินนั้นเป็นระบบ คนอาจจะมีสิทธิบอกว่าผมไม่เอาก็ได้นะถนนนี้ ถ้าผมต้องตายเร็วเท่านี้ อันนี้เป็นสิทธิที่ประชาชนเลือกได้เมื่อได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนแล้ว มันไม่ใช่แค่สิทธิของนักการเมืองหรอก
แต่พอเราได้รับข้อมูลแค่นี้ คนก็จะคิดว่าไม่เกี่ยวกับเราหรอก จริงๆ เกี่ยวกับเราหมดแหละ โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศ เลือกไม่หายใจก็ไม่ได้
ผมไม่อยากให้เราติดกับการปรับตัวไปเรื่อยๆ ประเทศเราติดกับนี้จนทำให้หลายอย่างที่ควรไปสู่การปฏิวัติจริงๆ ในระบบ มันไม่ไป ทำได้แค่หวังว่าสักวันจะมีใครสักคนเข้ามาล้างระบบแล้วก็ทำให้มันดีขึ้นมา
ถ้าเกิดในกรุงเทพฯ หรือในประเทศ เรายังควบคุมได้ แต่ในกรณีที่มันพัดมาจากประเทศอื่นจริงๆ เราจะควบคุมอย่างไร
อันนี้จะเป็นเรื่องมลพิษข้ามพรมแดน ซึ่งก็ต้องคุยกันแบบในยุโรป เพราะบางช่วงเขาพัดมาหาเรา แต่บางช่วงก็เป็นเราที่พัดไปหาเขา มันก็ต้องมีการเจรจาในอาเซียน
คิดว่าไหนๆ ไทยเราเป็นผู้นำอาเซียนทั้งที ทำไมเราจะไม่พูดถึงความปลอดภัยด้านนี้ ซึ่งเป็นความปลอดภัยของมวลมนุษย์ในอาเซียนเลยนะ เรื่องอากาศเนี่ย ถ้าเราสามารถสร้างกฎหมายที่ควบคุมกันข้ามพรมแดน เราก็คงสามารถจัดการได้
ตอนนี้เรามีข้อมูลมากแค่ไหนที่จะรู้ว่าแหล่งกำเนิดอยู่ที่ไหน
เรามีข้อมูลเรดาร์ว่าใครเผาบ้าง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่การออกกฎควบคุมยังเป็นไปได้ยาก มันก็ต้องทำให้ประเทศต่างๆ เห็น อย่างงานชิ้นนี้ เป็นแบบจำลองที่เน้นไปที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ตั้งในประเทศต่างๆ ในอาเซียนจะทำให้เกิด PM2.5 และโอโซนที่จะทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศอื่นๆ แค่ไหน
พอเราเห็นว่า เราสร้างผลกระทบให้กันและกันแค่ไหน ก็อาจจะทำให้คิดว่า เราควรมาคุยเรื่องการจัดการกันดีไหม ไม่อย่างนั้นก็จะมีการย้ายถ่านหินที่นี่ไปผลิตที่โน่น แต่สุดท้ายก็พัดมาหาเราอยู่ดี เราน่าจะคุยกันในระดับภูมิภาคอาเซียน ให้เห็นว่า soft law มันอาจจะไม่พอ ทำอย่างไรให้มันคุมกันได้มากขึ้น ลดตัวเลขพวกนี้ออกไปให้น้อยที่สุด มันหนีไม่พ้น
แต่เราก็อาจต้องเริ่มจากในประเทศเราก่อน จะบอกว่าทางโน้นทำอย่างเดียวก็คงไม่ใช่
Fact Box
- ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยนเรศวร เคยได้รับรางวัล 2018 TRF-OHEC-Scopus Young Researcher Awards และเป็นหนึ่งในนักวิจัยที่มีผลงานโดดเด่น 10 คน ปี 2561 จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
- ศึกษางานวิจัยอื่นๆ ของ ผศ.ดร.ธนพล ได้ที่ http://web.eng.nu.ac.th/eng2012/enmis/profile_detail_all.php?UN=50