ชาวเชียงใหม่ และอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือต้องเผชิญกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สะสมมานานหลายสัปดาห์ โดยเฉพาะเชียงใหม่เข้าขั้นวิกฤต จากข้อมูลแอปพลิเคชั่น AirVisual ซึ่งวัดคุณภาพอากาศทั่วโลก เชียงใหม่มีปริมาณค่าฝุ่นละอองสะสมมากที่สุดในโลกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงมีนาคมติดต่อกันอย่างน้อย 6 วัน และติดอยู่ในลำดับที่ 1 ในอีกหลายวัน ค่าฝุ่น PM2.5 ของเชียงใหม่พุ่งสูงถึง 404 เมื่อวันที่ 24 มีนาคมถือว่ามากเป็นอันดับ 1 ของโลก
ปัญหาฝุ่นละอองอยู่คู่กับจังหวัดเชียงใหม่มานานหลายปี จนยอดดอยสุเทพกลายเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดคุณภาพอากาศในแต่ละวัน ในปีนี้ นับตั้งแต่ปัญหาเริ่มทวีความรุนแรง ประชาชนไม่เพียงแต่สะท้อนความรุนแรงของปัญหาที่เผชิญอยู่ผ่านโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเกิดแฮชแท็ก #วิกฤตฝุ่นเชียงใหม่ ทั้งยังให้ข้อเสนอแนะต่อผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ประกาศให้เชียงใหม่เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ เพื่อจะได้มีงบประมาณมาแก้ปัญหาได้ทันที อย่างไรก็ตาม ขณะที่ประชาชนมองว่า ผู้ว่าฯ หายไป และเหตุที่ผู้ว่าฯ ไม่ยอมประกาศให้เชียงใหม่เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติเพราะกลัวว่าจะสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว ผู้ว่าฯ ก็ได้ออกมาให้เหตุผลว่าติดขัดระเบียบบางประการ
สำหรับที่มาของฝุ่นละอองขนาดเล็ก ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสดาระบุว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดเป็นจุดความร้อนส่วนใหญ่มาจากการเผาเพื่อกำจัดวัชพืช สำหรับการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก และการหาของป่า เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบแนวโน้มจุดความร้อนสะสม 9 จังหวัดภาคเหนือกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2561 พบว่าจุดความร้อนปีนี้สูงกว่าปีที่แล้วกว่า 2,000 จุด และคาดว่าอาจจะสูงกว่านี้อีก
ความไม่พอใจที่สะสมมานานนับเดือนทำให้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2562 มีผู้ริเริ่มแคมเปญ “ร่วมลงชื่อขอเปลี่ยนผู้ว่าฯเชียงใหม่ ไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาฝุ่นควัน” ในเว็บไซต์ Change.org โดยให้เหตุผลว่า ศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่คนปัจจุบันไร้ประสิทธิภาพในการทำหน้าที่แก้ปัญหาฝุ่นควันพิษ PM2.5 ตั้งแต่ไม่แจ้งเตือนให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายต่อสุขภาพ ปิดบังข้อมูล รวมทั้งตำหนิการเคลื่อนไหวของประชาชน ทั้งที่ประชาชนส่วนหนึ่งระดมความคิดเห็นและยื่นข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างละเอียด ทั้งระยะสั้นและระยะยาว จนถึงวันที่ 26 มีนาคม มีผู้ลงชื่อแล้วเกือบ 38,000 คน
วันเดียวกันนี้เองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้เดินแจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้กับประชาชนที่ผ่านไปมา บริเวณประตูท่าแพ แต่ก็ถูกวิพาษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า หน้ากากที่นำมาแจกเป็นหน้ากากอนามัยธรรมดาไม่สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้
วิกฤตฝุ่นละอองถูกตอกย้ำให้เห็นว่าปัญหายังไม่คลี่คลาย เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 หลังจากองอาจ เดชา ชาวอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โพสต์ภาพลูกชาย 4 ขวบที่ป่วยเป็นปอดอักเสบ เลือดกำเดาไหลไม่หยุดบนเฟซบุ๊กของตนเอง จนทำให้ตัดสินใจย้ายออกจากพื้นที่ ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกประกาศ เรื่องมาตรการ 5 ข้อในการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก และการดูแลสุขภาพของประชาชน
เป็นเวลานับเดือนกว่าที่ผู้ว่าฯ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหานี้ วันที่ 26 มีนาคม นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงผลการประชุมว่า ผู้ว่าฯ จะตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยหลายภาคส่วน เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งจะมีการจัดตั้งศูนย์วิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางวิชาการ ในการแก้ปัญหาระยะสั้นจะจัดให้มีพื้นที่สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง หลบพักในช่วงที่ค่าปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 สูงในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพขึ้นไป โดยในเริ่มต้นจะใช้ศูนย์ประชุมนานาชาติ รวมถึงจะปรับปรุงการสื่อสารเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบทางสุขภาพอย่างทั่วถึง
ที่มา:
https://news.thaipbs.or.th/content/278686
https://www.facebook.com/gistda/videos/2307313532817627/
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10206040836216370
https://news.thaipbs.or.th/content/278767
https://news.thaipbs.or.th/content/278674