เขาว่ากระแสโซเชียลมีเดียมักมาเร็วไปเร็ว แต่อะไรก็มาขวางธรรมชาติไม่ได้ ความกลัดกลุ้มของคนกรุงเทพฯ ในเรื่องฝุ่นขนาดจิ๋วอย่าง PM2.5 ดูจะหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ เพราะอากาศยังคงทะมึนต่อเนื่องจนเหมือนว่าเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในดิสโทเปีย นั่นทำให้เรื่องปัญหามลพิษทางอากาศอบอวลอยู่รอบตัวเราต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์แล้ว ที่น่าห่วงคือ ตลอดระยะเวลาที่เรื่องนี้อินเทรนด์ เราไม่ได้ทำอะไรไปมากกว่าบ่นกันในประเด็นเดิมๆ โดยยังไม่สามารถขยับไปแก้ไขที่ต้นตอปัญหา

ขณะที่อีกเรื่องที่อยู่ในกระแสไม่ขาดตอน (อาจมีแผ่วไปบ้าง) คือเรื่องนาฬิกาหรูบนข้อมือของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณจำนวน 25 เรือนที่ไม่พบในบัญชีทรัพย์สิน สัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสยังไม่ตก เพราะมีข่าวรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาสอนมารยาทการเมือง แต่ตอนจบจะเป็นอย่างไร ต้องไปติดตาม

อีกเรื่องที่ดึงสติคนไทยให้ต้องฉุกคิดดีๆ และทำให้ได้ฝึกฝนระบบการแยกแยะเหตุและผล คือข่าวเมื่อต้นสัปดาห์ที่นายกฯ ออกมาประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ ในสัปดาห์เดียวกัน เรายังมีเรื่องราวที่รัฐบาลไทยส่งตัวชาวกัมพูชาที่กำลังยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองกลับคืนกัมพูชา และมีเรื่องการแจ้งข้อหาผู้ชุมนุมในคดีการเมืองเซ็ตที่สองเพิ่มอีก 43 คน

อย่างไรก็ดี อย่าลืมว่า ตอนนี้เราก็กำลังอยู่ในวาระแห่งชาติว่าด้วย ‘สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ นะจ๊ะ

เหมือนเคยทุกสัปดาห์ The Momentum รวบรวมสิบเรื่องติดเทรนด์มาให้อ่านกัน

1. ฝุ่น PM2.5 อากาศมัว แต่บางอย่างชัดเจน

เรื่องฝุ่นๆ ดูเหมือนจะไม่พัดจากไปง่ายๆ มองไปรอบตัวก็ยังมองเห็นได้ว่าบรรยากาศไม่ปกติ หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า ต่อจากนี้ต้องทำตัวอย่างไร ก็รู้แล้วว่ามันอันตราย แต่ต้องทำอย่างไรต่อ

และคำถามที่ใหญ่กว่านั้นก็คือ หน่วยงานรัฐจะรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นกรมควบคุมมลพิษหรือกระทรวงสาธารณสุข ที่ดูจะเป็นตัวละครหลักที่มีหน้าที่จัดการเรื่องแบบนี้โดยเฉพาะ

ตัดภาพไปที่นายกรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 13 ก.พ. 61 ได้ออกมาบอกว่า เรื่องหมอกควันในขณะนี้ ไม่อยากให้ประชาชนวิตกกังวลมากเกินไป กำลังจะให้ทำฝนเทียมเพื่อให้ตกลงมาลดฝุ่นละออง และยังบอกว่า ไม่ใช่แค่ประเทศไทยหรอกที่เจอปัญหานี้ เมืองใหญ่ที่อื่นก็เจอ แถมยังเสริมว่าผู้ประกอบการก็เป็นสาเหตุ การเผาไฟ ซังข้าว ตอข้าว ก็สร้างปัญหาหมอกควันมาโดยตลอด

ฟังๆ แล้วก็เหมือนว่า ยังหวังพึ่งมาตรการใดๆ ไม่ได้ คงจะต้องรอคอยฝนเทียมกันเพียงอย่างเดียว เพราะฝุ่นพวกนี้ ไม่ใช่ความผิดรัฐบาลสักกะหน่อย

ต่อมาในวันที่ 16 ก.พ. กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเตรียมการจะปฏิบัติภารกิจทำฝนเทียมอย่างที่ว่า แต่ปรากฏว่าค่าความชื้นสัมพัทธ์ในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น (ไม่ถึง 60 เปอร์เซ็นต์) จึงยังไม่สามารถทำฝนเทียมลดฝุ่นได้

หลังจากมีคำวิจารณ์การทำงานอย่างหนาหู กรมควบคุมมลพิษก็เริ่มแอคทีฟ ให้ข้อมูลประชาชนทางเฟซบุ๊กเป็นระยะ ใส่เครื่องหมาย +,- เพื่อแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบันดีหรือแย่ลง เป็นกำลังใจว่าพรุ่งนี้ฟ้าที่สดใสจะกลับมาแล้วจ้า

ที่น่าเศร้าก็คือ ต่อให้เรารู้ข้อมูลมากแค่ไหน รู้ว่าฝุ่นในอากาศมากมายเท่าใด ในบริเวณไหน หรือกระทั่งรู้ทั้งรู้ว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากอะไร แต่ก็ดูเหมือนปัญหาต้นตอของเรื่องก็ยากจะเยียวยา เช่น ปัญหาปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนตัวจำนวนมาก ที่ก็เกิดขึ้นคู่ขนานไปกับระบบการขนส่งสาธารณะที่ไม่มีคุณภาพ มาตรการกำกับควบคุมการปล่อยมลพิษที่ไม่จริงจัง

และดูเหมือนเราเองได้แต่ก้มหน้าก้มตา หายใจผ่านหน้ากากกันต่อไป

จนกว่าลมจะพัดพา ‘ฝุ่นนิ่ง’ ไม่พึงประสงค์เหล่านี้ออกไปเสียที

(อ่านเรื่องฝุ่น PM2.5 เพิ่มเติมได้ที่บทความ วิกฤตฝุ่นขนาดเล็กในกรุงเทพฯ: อีกหนึ่งบทสะท้อนว่า เมืองไทยไม่พร้อมจัดการมลพิษ)

2. นายกฯ ประกาศ ‘สิทธิมนุษยชน’ เป็น ‘วาระแห่งชาติ’

วันแรกของสัปดาห์ คนไทยจำนวนหนึ่งคงเกาหัวกับข่าวการเป็นประธานงานวันสิทธิมนุษยชนสากลของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยไฮไลต์ของงานในวันนั้นคือการกล่าวปาฐกถาพิเศษของ พล.อ.ประยุทธ์เพื่อประกาศ ‘วาระแห่งชาติ: สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’

ตอนหนึ่งของปาฐกถา พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “เรื่องการมีสิทธิเสรีภาพ เราจะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ถือเป็นเรื่องสำคัญ จะต้องคำนึงถึงหลักปฏิญญาสากลสิทธิมนุษยชน ในฐานะที่เราเป็นสมาชิกภาคีขององค์การสหประชาชาติ โดยเรามีสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมารัฐบาลปัจจุบันไม่เคยละเลยการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งรัฐธรรมนูญก็มีการกล่าวไว้อย่างชัดเจน”

ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบและประกาศวาระแห่งชาติ ‘สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2560

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 ก.พ. รัฐบาลไทยเพิ่งส่งตัวแซม โสกา ผู้ต้องหาคดีดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ในฐานะที่เป็นผู้บันทึกและเผยแพร่วิดีโอที่เธอขว้างรองเท้าใส่ภาพของนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ กลับกัมพูชา แม้ว่าเธอจะยื่นเรื่องขอสถานะผู้ลี้ภัยกับ UNHCR ประจำประเทศไทยเอาไว้แล้ว ซึ่งทำให้สหรัฐฯ และองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนทั้งฮิวแมนไรท์วอทช์และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประณามความร่วมมือของทั้งสองประเทศที่ส่งตัวเธอกลับไปยังกัมพูชา

และล่าสุดเมื่อ 16 ก.พ. กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้ง ที่ชุมนุมกันบริเวณอนุสารีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันเสาร์ที่ 10 ก.พ. จำนวน 43 คน ก็ถูกตัวแทนของคสช.แจ้งข้อหา ฐานชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองเกิน 5 คน เป็นลิสต์รายชื่อเซ็ตที่สอง หลังจากเมื่อต้นเดือนตั้งข้อหาไปแล้ว 39 คน

ขณะที่เมื่อเดือน มี.ค. ปีที่แล้ว UNHCR ก็เพิ่งรายงานผลประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย โดยแสดงความเป็นห่วงว่าไทยกำลังอยู่ในวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชนหลายประเด็น ตั้งแต่การละเมิดเสรีภาพในการแสดงความเห็น การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ไปจนถึงการค้ามนุษย์

ต่อจากนี้ก็คงต้องเกาหัวกันต่อไปว่าเมื่อกลายเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ สิทธิมนุษยชนจะถูกใช้ขับเคลื่อน ‘Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ ในรูปแบบใด

3. กราดยิงในโรงเรียนที่ฟลอริดา

มันควรจะเป็นวาเลนไทน์แสนหวาน แต่เมื่อบ่ายสามของวันที่ 14 ก.พ. เกิดเหตุกราดยิงในโรงเรียนมัธยมปลายสโตนแมน ดักลาส ในรัฐฟลอริดา จนมีผู้เสียชีวิต 17 ราย

ผู้ก่อเหตุเป็นอดีตนักเรียนที่นี่ เด็กๆ ที่รู้จักกับมือปืนวัย 19 ปี ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า เขาสะสมปืนไว้ที่บ้าน เคยข่มขู่คนอื่น เป็นคนที่ถูกคนอื่นๆ มองว่าเป็นคนแปลก  

เป็นเรื่องน่าหดหู่ เพราะพาดหัวข่าวการกราดยิงในโรงเรียนที่สหรัฐอเมริกา กลายเป็นเรื่องพบเห็นบ่อยเกินไป ลำพังแค่สองเดือนแรกของปีนี้ ก็เกิดเหตุยิงกันในโรงเรียนไปแล้ว 18 ครั้ง

รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ถือว่าการครอบครองอาวุธปืนเป็นสิทธิของพลเมือง แต่จากเหตุร้ายจำนวนมาก ทำให้มีความพยายามป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงจากการใช้ปืน ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่สังคมอเมริกันมีความเห็นแย้งกันสูงมาก ตัวแทนพรรครีพับลิกันเสนอว่าให้ “ใช้ความคิดและสวดภาวนา” ฟากพรรคเดโมแครตเรียกร้องให้ผ่านร่างกฎหมายควบคุมอาวุธปืนที่เข้มงวด ซึ่งแทบไม่มีโอกาสจะผ่านได้เลย ที่ทำได้ก็แค่เพียงพยายามเพิ่มเงื่อนไขให้การถือครองปืนทำได้ยากขึ้น

การล็อบบี้ของกลุ่มผู้สนับสนุนการพกอาวุธปืนอย่างถูกกฎหมาย เป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญต่อกระบวนการออกกฎหมายควบคุมอาวุธปืนที่เข้มงวดนี้ กลุ่มที่สนับสนุนอาวุธปืน อีดฉีดเงินล็อบบี้ผ่านทางพรรครีพับลิกัน โดยสมาคมปืนยาวแห่งชาติ (NRA) และผู้สนับสนุน จ่ายเงินกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อช่วยฝั่งรีพับลิกันหาเสียง และยังบริจาคเงินหลายล้านเหรียญไปที่นักการเมืองในสภาคองเกรสโดยตรงอีกด้วย

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยและปฏิกิริยาที่ตามมาแบบเดิมๆ ทำให้ดูเหมือนว่าการก่อเหตุยิงในโรงเรียนกลายเป็นเรื่องปกติในอเมริกาไปแล้ว

4. ธปท. ห้ามแบงก์ทำธุรกรรม ‘เงินดิจิทัล’

เมื่อวันจันทร์ที่ 12 ก.พ. 2561 ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกหนังสือเวียนขอความร่วมมือสถาบันการเงินไม่ให้ทำธุรกรรมหรือมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการทำธุรกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสกุลเงินดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการรับแลกเปลี่ยน ลงทุนเอง หรือให้ลูกค้าลงทุน ห้ามให้คำปรึกษาการลงทุน ห้ามลูกค้าใช้บัตรเครดิตซื้อ โดยย้ำว่า เงินสกุลดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ไม่ใช่เงินที่ชำระหนี้ตามกฎหมาย และเสี่ยงต่อการนำไปใช้ทางอาชญากรรม

โดยระบุชัดเจน 5 ข้อที่ขอความร่วมมือได้แก่

  1. การเข้าไปลงทุนหรือซื้อขายในคริปโตเคอเรนซี เพื่อผลประโยชน์ของสถาบันการเงินเองหรือผลประโยชน์ของลูกค้า
  2. การให้บริการรับแลกเปลี่ยนคริปโตเคอเรนซีผ่านช่องทางให้บริการของสถาบันการเงิน
  3. การสร้างแพลตฟอร์ม (Platform) เพื่อเป็นสื่อกลางให้ลูกค้าเข้าไปทำธุรกรรมเกี่ยวกับคริปโตเคอเรนซีระหว่างกัน
  4. การให้ลูกค้าใช้บัตรเครดิตในการซื้อคริปโตเคอเรนซี
  5. การสนับสนุนหรือให้คำปรึกษากับลูกค้าเกี่ยวกับการลงทุนหรือการแลกเปลี่ยนคริปโตเคอเรนซี

ธปท. ยังขอให้สถาบันการเงินทุกแห่งเพิ่มความระมัดระวังในการให้บริการด้านเงินฝาก สินเชื่อ หรือการเปิดบัญชี และใช้บัญชีที่อาจนำไปสู่การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินดิจิทัล โดยขอให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติในเรื่องการรู้จักตัวตนของลูกค้า (KYC) อย่างเคร่งครัดตามกฎหมาย ตลอดจนแนวปฏิบัติที่ทางการอาจกำหนดเพิ่มเติมต่อไป รวมทั้งร่วมกันป้องกันไม่ให้การทำธุรกรรมดังกล่าวถูกใช้เป็นช่องทางในการกระทำผิดกฎหมาย

5. ‘ใจเพชร’ บทเพลงส่งกำลังใจจากนายกฯ กับยอดดิสไลก์ถล่มทลาย

นับตั้งแต่บทเพลง ‘คืนความสุขให้ประเทศไทย’ ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้เวลาแต่งเพียง 1 ชั่วโมง กลายเป็นเพลงฮิตมาตั้งแต่สมัยรัฐประหาร เพลงอื่นๆ ของหัวหน้าคสช.กลับไม่เป็นที่จดจำเท่าไรนัก จนกระทั่งวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา บทเพลงจากหัวหน้าคสช.ก็กลายเป็นกระแสอีกครั้ง

‘ใจเพชร’ คือผลงานประพันธ์คำร้องชิ้นใหม่เอี่ยมของพลเอกประยุทธ์ เรียบเรียงโดย วิเชียร ตันติวิมลพันธ์ ขับร้องโดย จ่าสิบเอกพงศธร พอจิต โดยมีคำอธิบายประกอบว่า แต่งขึ้นเพื่อ “เป็นกำลังใจให้คนที่เสียสละ ทำความดี เพื่อประโยชน์สังคมและประเทศ เปรียบ “เพชรแท้” ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟ ไม่ไหม้…”

เพลงมาในจังหวะครึกครื้นติดหู และมีเนื้อหาชวนให้ตีความ เช่นว่า “ความฝันที่ใจเราต้องการ” คืออะไร แล้วอะไรคือ “อุปสรรค” ที่ต้องฟันฝ่าไปด้วยกัน?

ด้วยเหตุผิดพลาดใดอันไม่ทราบ ทำให้ในคลิปวิดิโอเพลงถูกกดดิสไลค์เป็นจำนวนมากในสัดส่วนที่น่าตกใจ โดยคลิปที่เผยแพร่ผ่านแอคเคาน์ยูทูบ TV5HD ของกองทัพบก มีจำนวนดิสไลค์พุ่งไปถึง 39k โดยที่ยอดไลค์ 2k ต้านไม่อยู่ ขณะที่ยอดเข้าชมอยู่ที่ 190,976 ครั้ง ณ เวลา 01.00 วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ผู้โพสต์ตัดสินใจไม่ผิดที่ปิดช่องแสดงความเห็น แต่ซ้ำร้าย มีคนนำไปมิกซ์ใหม่เข้ากับเพลง ‘คุ้กกี้เสี่ยงทาย’ ของ BNK48 จนกลายเป็นเรื่องขำเหมือนที่เคยเป็นเสมอมา

ผลตอบรับที่เห็น สะท้อนภาพค่อนข้างชัดเกี่ยวกับความต้องการของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลชุดนี้ ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลจะพยายามใช้สื่อต่างๆ เข้าถึงประชาชน เช่น รายการหกโมงเย็น บทเพลงติดหู หรืออินโฟกราฟิกที่เป็นมิตร เข้าถึงง่าย แต่ผลงานของรัฐบาลเองก็เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวไทยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และที่สำคัญ สิ่งที่หลายคนเฝ้ารออาจเป็นการเลือกตั้ง มากกว่าบทเพลงป๊อปร็อคส่งกำลังใจ

6. สมัครบาริสตา ไม่รับแล้วยังมาดูถูกกัน

มากันที่ข่าวเล็กๆ แต่ปลุกความหัวร้อนในตัวคุณ กับกรณีนักศึกษาปี 4 ในจังหวัดเชียงใหม่ ส่งอีเมลไปสมัครทำงานเป็นบาริสตาในร้านกาแฟแห่งหนึ่ง​ เมื่อวันที่ 13 ก.พ. แต่ดูเหมือนว่าคุณสมบัติยังไม่เข้าตานายจ้าง

เรื่องนี้ถ้าเจ้าของร้านเพียงแค่ตอบปฏิเสธ เราคงคิดว่า​ โอย ธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดาเพราะนอกจากจะไม่รับเข้าทำงานแล้ว ยังตอบอีเมลแบบแสบๆ กลับไปว่า ถ้ารับมาทำงานคงต้องให้ไปเป็น ‘ผู้ช่วยพนักงานทำความสะอาด’ แถมยังบอกว่า มาทำงานแล้ว ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายให้ทางร้านวันละ 350 บาท บวกค่าอาหารอีก 50 บาท… แน่นอนว่าประชด เพราะใจความหลักคือไม่จ้าง

และกล่าวทิ้งท้ายว่าน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 8 ปี ถึงจะเรียนรู้เพื่อเริ่มตำแหน่ง Junior Barista ได้ พร้อมข้อความในวงเล็บกำกับย้ำให้ช้ำว่า “ทำกาแฟให้คนในร้านกินได้ แต่เอาไปขายไม่ได้”

หากลองไปนั่งในใจนักศึกษาคนนั้นที่กำลังเปิดอีเมลอ่าน ก็คงพอจินตนาการความรู้สึกรุ่มๆ ร้อนๆ ในหัวได้ แต่ที่ทำให้ถึงกับเดือด ก็เพราะว่าเจ้าของร้านแคปหน้าจออีเมลฉบับนี้ไปเผยแพร่ต่อในเพจร้านด้วย

ผลกลายเป็นว่ากระแสโซเชียลตีกลับ ไม่ได้เข้าข้าง แถมยังวิจารณ์เจ้าของร้านดุเดือด จนสุดท้ายต้องปิดเพจหนีไป แต่ก่อนหน้านั้นได้ปะทะคารมกับผู้วิจารณ์ว่า “…ขอบคุณครับ ที่ไม่กลับมาอีก เรายินดีอย่างยิ่ง ทางร้านเรา ยินดีต้อนรับลูกค้าทุกเชื้อชาติ ทุกกลุ่ม แต่ต้องขอโทษด้วยครับ ที่เรายินดีต้อนรับเฉพาะลูกค้าที่มีมารยาททางสังคมดี และพูดจาให้เกียรติกับพนักงานเราเท่านั้น ขอบคุณมากครับ…”

เบื้องต้น หลายฝ่ายให้กำลังใจนักศึกษาหนุ่มจนมีกำลังใจดี รวมทั้งแนะนำให้ไปแจ้งความเอาเรื่อง แต่นักศึกษาคนดังกล่าวมองว่าไม่ติดใจ เก็บไว้เป็นบทเรียนพัฒนาตัวเองต่อไปดีกว่า

7. หมอธีระเกียรติสอนมารยาทนักการเมืองปมนาฬิกาหรู แต่ลงท้ายที่ต้องไปขอขมา

“ถ้าผมถูกเปิดโปง เรือนแรก ผมก็ออกแล้ว”

จากคำพูดประโยคนี้ของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่เอ่ยขึ้นแบบไม่เป็นทางการในงานเลี้ยงรับรองนักเรียนและนักธุรกิจไทยที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 9 ก.พ. กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตบานปลายกันไป เมื่อเป็นข่าวในบีบีซีไทย

หมอธีระเกียรติ พูดเรื่องหลักนิติธรรมกับการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทย ว่ายังแตกต่างจากสหราชอาณาจักร เพราะที่นั่น สมาชิกสภามาประชุมสายก็เกิดความละอายใจจะขอลาออกแล้ว ในคำพูดติดตลกตอนหนึ่ง หมอธีระเกียรติบอกว่า “เมืองไทย มีนาฬิกาใส่ 25 เรือนยังไม่เป็นไร”

จากนั้น เขาก็พูดให้บีบีซีไทยฟังด้วยว่า ไม่มีทางที่จะเห็นนักการเมืองไทยลาออกเพราะมาสาย เพราะมันเป็นความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ซึ่งในกรณีนาฬิกาหรู หมอธีระเกียรติพูดว่า “เรื่องนาฬิกา ผมถูกเปิดโปงเรือนแรกผมก็ออกแล้ว”

นักข่าวได้ยินแบบนั้นก็ถามว่า พูดแบบนี้แล้วไม่กลัวเหรอ นพ.ธีระเกียรติก็ก็บอกว่า “กลัวอะไร ทำไม พูดแล้วมันจะมาไล่ผมออกหรือ”

เรื่องนี้กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ เพราะบีบีซีไทยเผยแพร่ข่าวเมื่อวันที่ 12 ก.พ. ทำให้เห็นว่า แม้แต่รัฐมนตรีในรัฐบาลคสช.เอง ยังมองว่าปมนาฬิกาหรูกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินของพลเอกประวิตรนั้นเป็นเรื่องมีนัยยะสำคัญและก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นกลิ่นตุๆ แต่อีกด้านก็แย้งว่า ขณะที่หมอธีระเกียรติพูดเรื่องมารยาทของนักการเมืองเมืองผู้ดี แต่การออกมาพูดทั้งที่ข้อเท็จจริงยังสอบสวนไม่ถึงที่สุดนี้ ก็เป็นการเสียมารยาทเช่นกัน

ต่อมา เมื่อหมอธีระเกียรติกลับมาถึงเมืองไทย วันที่ 13 ก.พ. ก็ต้องไปพบนายกฯ ที่ทำเนียบเพื่อชี้แจง แล้วก็มีข่าวลือออกมาจากพี่ชายของทีมที่ปรึกษารัฐมนตรีที่ออกมาว่า รัฐมนตรีกระทรวงศึกษายื่นหนังสือลาออกแล้ว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ท้องเรื่องนี้ถือว่าแซ่บ ครบองค์ประกอบดราม่าเด่นที่กลายเป็นว่าคนวิจารณ์อยู่ไม่รอดใน ครม.นี้

แต่ข่าวการลาออกก็แพร่อยู่ในอากาศได้เพียงครึ่งชั่วโมง หมอธีระเกียรติก็ออกมาแถลงข่าว แจ้งผลหลังเข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรี และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้าคสช. และรองนายกฯ ว่า ได้ขอโทษพลเอกประวิตรแล้วที่เสียมารยาท ซึ่งพลเอกประวิตรก็ได้พยักหน้ารับ

หมอธีระเกียรติแจ้งเพิ่มเติมว่า คำพูดที่ออกมาเป็นข่าว เกิดขึ้นขณะที่คุยกับนักข่าวภายหลังการบรรยาย เขาบอกว่าเขาไม่รู้ว่านักข่าวบันทึกเทปเสียงอยู่ ถือว่าเป็นการแอบอัดเทประหว่างคุยกัน แต่ก็ยอมรับว่า ได้พูดเช่นนั้นจริงๆ

ทั้งนี้ หมอธีระเกียรติระบุว่า ยังยืนยันมั่นใจที่จะทำงานในคณะรัฐมนตรีชุดนี้ หากนายกฯ ยังมีความมั่นใจในตัวเขา

ด้านฝ่ายสื่อสารองค์กรของบีบีซีระบุว่า รัฐมนตรีตกลงให้ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ และผู้สื่อข่าวก็บันทึกการสัมภาษณ์โดยใช้โทรศัพท์มือถืออัดเสียงอย่างเปิดเผย

8. นักล่าสัตว์สิ้นชื่อ ถูกสิงโตขย้ำเหลือแต่หัวที่แอฟริกาใต้

ที่แอฟริกาใต้ พบซากของนักล่าสัตว์ที่เหลือแต่หัวและอวัยวะบางส่วนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ แอฟริกาใต้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจคาดว่า พรานคนดังกล่าวจะแอบลักลอบเข้ามาเพื่อล่าสิงโต แต่พลาดท่าถูกสิงโตล่าแทน

โมอัตเช เอ็นโกเอเป โฆษกตำรวจ จังหวัดลิมโปโป ทางตอนเหนือของแอฟริกาใต้ แถลงว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจพบซากศพบริเวณพุ่มไม้ที่อุทยานสัตว์ป่าเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา บริเวณใกล้เคียงพบปืนไรเฟิลล่าสัตว์ตกอยู่หนึ่งกระบอกที่บรรจุกระสุนแล้ว และกระสุนที่เหลืออีกมากมาย คาดว่านักล่าคนนี้คงจะเข้ามาเพื่อล่าสิงโต แต่กลับถูกฝูงเจ้าป่าจู่โจมทำร้ายอย่างรวดเร็ว

เจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่า นี่เป็นการลักลอบเข้ามาล่าสัตว์อย่างผิดกฎหมาย คาดว่ามีนักล่าทั้งหมดสามคน โดยอีกสองคนน่าจะหลบหนีไปได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังเร่งติดตามตัว ส่วนผู้ที่เสียชีวิตยังไม่สามารถระบุอัตลักษณ์ได้ว่าเป็นใคร

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในจังหวัดลิมโปโปมีการลักลอบล่าสิงโตมากขึ้นเพื่อเอาชิ้นส่วนหรืออวัยวะไปเป็นยาแผนโบราณส่งขายในทวีปแอฟริกาและภูมิภาคอื่นๆ รวมทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น จีน เวียดนาม ฯลฯ

9. ตำรวจบอกรู้แล้ว ใครเป็นเจ้าของหวย 30 ล้าน

หลังจากลากยาวมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ก่อนการประชุมคดีหวย 30 ล้าน ซึ่งมี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เป็นประธานการประชุม พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวก่อนเข้าประชุมว่า การสอบสวนหาพยานหลักฐานของกองบังคับการสอบสวนกลางร่วมกับกองบังคับการปราบปรามมีความคืบหน้าจนได้พยานหลักฐานพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นเจ้าของลอตเตอรี่ตัวจริงแล้ว

ต่อมา วันที่ 15 ก.พ. เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามก็เชิญตัว พล.ต.ต.สุทธิ พวงพิกุล ผบก.ภ.จว.กาญจนบุรี ตำรวจ สภ.เมืองกาญจนบุรีสี่นาย นางรัตนาพร สุภาทิพย์ หรือเจ๊บ้าบิ่น นางพัชริดา พรมตา หรือเจ๊พัช และนายแผน ไม่ทราบนามสกุล พยานปากสำคัญฝ่ายครูปรีชา โดย พล.ต.ท.ฐิติราช สอบสวนด้วยตัวเองเป็นเวลาเกือบ 12 ชั่วโมง

ทางด้านนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมก็โพสต์ข้อความผ่านเพจ ‘ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม’ เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ว่า “อีกไม่นานจะรู้ความจริง ใครคือเจ้าของหวย 30 ล้าน” อีกทั้งแสดงความมั่นใจว่า “ครูปรีชาไม่ใช่เจ้าของลอตเตอรี่ 100 เปอร์เซ็นต์”

ส่วนนายปรีชา ใคร่ครวญ ก็ยังคงยืนยันว่ามีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่จะนำไปต่อสู้กับคู่กรณีในชั้นศาลได้

เรื่องนี้จะจบแบบไหน อีกไม่นานคงรู้กัน   

10. ความฉาวของ Oxfam ลงพื้นที่ช่วยเหลือ แต่ดันซื้อบริการทางเพศ

ดูเหมือนว่าข่าวฉาวเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ (exploitation) ในวงการต่างๆ จะถูกเปิดโปงขึ้นมาไม่หยุดหย่อน และอีกหนึ่งข่าวชวนช็อคในสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือกรณีฉาวของ อ็อกแฟม (Oxfam) ที่ทำให้ เพนนี ลอว์เรนซ์ รองประธานบริหารต้องลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

อ็อกแฟมคือองค์กรรัฐวิสาหกิจเก่าแก่ของอังกฤษที่มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาความยากจน และช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัย แต่กลับมีรายงานจากหนังสือพิมพ์ The Times ว่า เมื่อปี 2011 ผู้บริหารระดับสูงของอ็อกแฟมซื้อบริการทางเพศระหว่างลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่ประเทศเฮติ และอ็อกแฟมก็จงใจปกปิดเรื่องนี้เอาไว้

ฝ่ายมาร์ค โกลด์ริง ผู้บริหารคนปัจจุบันของอ็อกแฟมออกมาขอโทษและยอมรับว่า องค์กรทำผิดพลาดจริง แต่ขอบเขตของการวิจารณ์ก็ออกจะมากเกินไปหน่อย ทั้งยังกลายเป็นเครื่องมือของความคิดที่จะล้มเลิกการอุปถัมภ์ช่วยเหลือ (anti-aid agenda) เนื่องจากปีที่ผ่านมา อ็อกแฟมได้รับเงินสนับสนุนจากทางรัฐกว่าหนึ่งพันสามร้อยล้านบาท รวมถึงเงินบริจาคอีกเป็นจำนวนมาก

ซึ่งข่าวฉาวที่เผยแพร่ออกไปก็ทำให้ภาพลักษณ์ของอ็อกแฟมพังพินาศ และประชาชนก็ขุ่นมัวกับจำนวนเงินที่องค์กรนี้ได้รับไปไม่น้อยทีเดียว

ล่าสุดข่าวจากรอยเตอร์ระบุว่า ทางอ็อกแฟมจะไม่เข้าขอรับเงินสนันสนุนจากรัฐ จนกว่ารัฐบาลจะกลับมาพึงพอใจในมาตรฐานการทำงานของทางองค์กรอีกครั้ง และเว็บไซต์ oxfam.org ก็ได้ขี้นแท็บข่าวชี้แจงกรณีดังกล่าวบนหน้าแรก ให้คนได้อ่านโดยทั่วกันว่า อ็อกแฟมจะกวดขันนโยบายสิบข้อ ทั้งหมดก็เพื่อกำจัดการแสวงหาผลประโยชน์ การข่มเหง และการคุกคามทางเพศให้หมดไปจากองค์กร

ก็นับเป็นคำมั่นสัญญาที่ต้องติดตามผลกันต่อไป

Tags: , , , , , , , ,