ในขณะที่ทั่วโลกรณรงค์การแบนถุงพลาสติก รวมไปถึงแพ็กเกจจิ้งหรือหีบห่อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นพลาสติก รวมไปถึงประเทศไทย โดยเฉพาะหีบห่อพลาสติกในร้านค้า เพื่อลดโลกร้อน ลดการเกิดขึ้นของขยะพลาสติก หรือลดการสร้างก๊าซเรือนกระจก แต่ผลลัพธ์ที่เกิดจากการที่ต้องใช้ผลิตภัณ์อื่นทดแทน อาจจะสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการใช้พลาสติกเสียอีก 

โดยรายงานนี้มาจากกลุ่มภาคีสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมในรัฐสภาอังกฤษ ซึ่งกล่าวว่าในขณะที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวเรื่องการแบนหีบห่อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำมาจากพลาสติก อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ขยะพลาสติกหลุดรอดลงไปสู้ท้องทะเลและมหาสมุทรเป็นจำนวนมาก สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศและสัตว์น้ำ และหันมาใช้ผลิตภัณฑ์อื่นทดแทน เมื่อคิดคำนวณถึงเรื่องรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) ที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ถือเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมเท่าที่คิด เพราะผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ต้องผลิตขึ้นหรือขนส่งเพื่อนำไปใช้นั้น สร้างรอยเท้าคาร์บอนมากกว่า

เช่น ขวดแก้ว ซึ่งมีน้ำหนักและขนาดมากกว่าพลาสติก และเมื่อต้องขนส่งจึงมีความจำเป็นที่ต้องใช้ปริมาณการขนส่งทั้งพื้นที่และจำนวนรอบในการขนส่งมากกว่าพลาสติก จึงทำให้เกิดรอยเท้าคาร์บอนมากกว่า ยังไม่นับรวมถึงการผลิตขวดแก้วที่อาจใช้พลังงานฟอสซิล ซึ่งเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย หรือแม้แต่ถุงกระดาษ หากเปรียบเทียบกันแล้วสร้างรอยเท้าคาร์บอนมากกว่าถุงพลาสติกเสียอีก อีกทั้งยังไม่สามารถใช้ซ้ำได้ 

ไม่เพียงแค่นั้น ยังรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้ชื่อว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (ทั้งที่ใช้คำว่า Biodegradable หรือ Compostable) ซึ่งที่จริงแล้ว จะย่อยสลายได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมเท่านั้น และบางอย่างก็ไม่สามารถย่อยสลายได้หมดอีกด้วย ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคในอังกฤษกว่า 80% เข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ที่เรียกตัวเองว่าเป็น Biodegradable หรือ Compostable นั้นเป็นมิตรต่อธรรมชาติอย่างแท้จริง

เช่นเดียวกับแก้วกระดาษเคลือบ ที่นำมาใช้ในการเสิร์ฟเครื่องดื่ม และเริ่มได้รับความนิยม เนื่องจากได้รับข้อมูลว่ามันสามารถ ‘รีไซเคิล’ ได้ โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ แต่ที่จริงแล้วจากข้อมูลในรายงานชิ้นนี้กล่าวว่า อังกฤษมีความสามารถในการรีไซเคิลแก้วกระดาษเคลือบได้เพียง 1 ใน 3 ของจำนวนแก้วกระดาษเคลือบที่ถูกนำมาใช้เท่านั้น 

รัฐบาลอังกฤษแก้ปัญหานี้ ด้วยการออกแนวนโยบายการจัดการขยะมาในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีแนวปฏิบัติสามประการก็คือ 1. ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ต่างๆ 2. สร้างและแนะนำระบบการคืนเงินมัดจำสำหรับเครื่องดื่มแบบขวดให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดระบบการหมุนเวียนของการรีไซเคิล 3. สร้างระบบที่มีความสอดคล้องกันมากขึ้นสำหรับการรีไซเคิล การจัดเก็บและคัดแยกขยะ

โดยในข้อแรกนั้นหมายถึงภาคธุรกิจจะต้องจ่ายเงิน 100% ของค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดการกับวัสดุนั้นๆ ที่ตนเองผลิตเมื่อมันกลายเป็นขยะ โดยในปัจจุบันนี้จ่ายเพียง10% การเพิ่มขอบข่ายความรับผิดชอบนี้ก็เพื่อให้ภาคธุรกิจจัดการเพื่อไม่ให้เกิดขยะจากผลิตภัณฑ์ที่ตนเองผลิต แต่ถึงอย่างไรจะมีการหารือกับภาคธุรกิจต่างๆ รวมไปถึงการสร้างระบบทั้งสามข้อว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะระบบการคืนเงินมัดจำภาชนะต่างๆ 

แต่ถึงแม้จะมีรายงานฉบับนี้ ผลิตภัณฑ์บางอย่างก็ยังคงมีการแบนต่อไปทั้ง ไมโครบีดส์ หลอดพลาสติก คอตตอนบัดส์ ส่วนการแบนผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโพลีสไตรีน ยังมีการโต้แย้งกันอยู่ว่าจะมีการแบนหรือไม่ นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังอาจจะเพิ่มภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ไม่ได้อยู่ในหมวดหมู่พลาสติกที่รีไซเคิลได้อย่างน้อยอีก 30%

อ้างอิง

https://www.bbc.com/news/science-environment-51040155

https://www.bmmagazine.co.uk/news/plastic-packaging-ban-could-actually-be-harming-environment/

https://www.newfoodmagazine.com/news/101951/plastic-ban-could-be-further-damaging-to-the-environment-says-report/

ภาพ : Lisi Niesner/REUTERS

Tags: , , ,