เลดี้ กาก้า นักร้องเจ้าของอัลบั้มซิงเกิลที่ขายได้ทั่วโลกมากกว่า 100 ล้านอัลบั้ม, แอนดี วอร์ฮอล ศิลปินชื่อก้องโลก ผู้นำกลุ่มศิลปะแนวป็อปอาร์ต, จอห์น ดี. ร็อกเกอะเฟลเลอร์ บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประวัติศาสตร์, และ นายพลจอร์จ แพตตัน สุดยอดผู้นำในสงครามโลกครั้งที่ 2

คนเหล่านี้ หากเราดูเผินๆ จะรู้สึกว่าพวกเขาไม่มีอะไรเหมือนกันเลย เกิดกันคนละยุค อยู่กันคนละรัฐ ทำงานคนละสายงาน และมีแนวทางการดำเนินชีวิตต่างกัน

แต่หากเรามีโอกาสศึกษาประวัติพวกเขา เราจะพบว่าคนกลุ่มนี้มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน

สิ่งนั้นคือ นิสัยการจดบันทึกประจำวัน

จดบันทึกประจำวันดีอย่างไร

มาร์ก ทเวน นักเขียนและนักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน
จะมีสมุดโน้ตในมือเสมอไม่ว่าจะไปไหน
เพราะเขากลัวว่าหากไอเดียโผล่ขึ้นมาและไม่มีที่จด ไอเดียดีๆ จะถูกลืม

1) ลิ้นชักกักเก็บไอเดีย

ศิลปิน เช่น เลดี้ กาก้า และคนในสายครีเอทีฟ มักเป็นบุคคลที่เต็มไปด้วยจินตนาการ ชอบอยู่กับความคิดตัวเอง มักทำงานตามลำพัง และบางครั้งถูกมองว่ามีโลกส่วนตัวสูง

‘คนมีโลกส่วนตัว’ เป็นประโยคที่เราใช้อธิบายคนที่มีพฤติกรรมอยู่กับความคิดและจินตนาการของตัวเองมาก และเรามักเจอคนที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ในสายงานครีเอทีฟ ซึ่งเป็นสายงานที่ต้องทำงานกับจินตนาการและความคิดเป็นหลัก

‘ความคิด’ ซึ่งเป็นฐานการสร้างโลกส่วนตัว เป็นวัตถุดิบมีมูลค่า และก็เป็นวัตถุดิบพื้นฐานที่สุดในกระบวนการการสร้างสรรค์งานศิลปะและสินค้ามากมาย นำไปสู่อาณาจักรธุรกิจมูลค่านับล้าน เช่น ดิสนีย์แลนด์ หนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ และอัลบั้มเพลง สิ่งที่ทำให้ความคิดเป็นวัตถุดิบที่แตกต่างจากวัตถุดิบอื่น เช่น ทองคำ และทำงานด้วยยาก นั่นเพราะความคิดเป็นวัตถุดิบที่จับต้องไม่ได้ เป็นสิ่งที่เราเห็นเพียงคนเดียวในหัว และจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ อย่างระหว่างอาบน้ำ และหายไปได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

ดังนั้นคนที่ทำงานกับความคิดและจินตนาการจึงนิยมพกสมุดโน้ตและปากกา เพื่อแก้ปัญหาไอเดียสูญหาย มาร์ก ทเวน นักเขียนและนักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน จะมีสมุดโน้ตในมือเสมอไม่ว่าจะไปไหน เพราะเขากลัวว่าหากไอเดียโผล่ขึ้นมาและไม่มีที่จด ไอเดียดีๆ จะถูกลืม การเขียนบรรยาย การจดบันทึก และการวาด จึงเป็นกระบวนการพื้นฐานของคนที่ใช้ไอเดียและความคิดเป็นวัตถุดิบหลักในการสร้างสรรค์งาน ต่อมาเมื่อความคิดถูกถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือหรือภาพบนกระดาษ จึงจะเปลี่ยนสภาพเป็นสิ่งที่มองเห็น จับต้องได้ สามารถนำไปเสนอให้ทีมงาน ให้สำนักพิมพ์ นำไปถ่ายทอดให้องค์กร และมีสิทธิเอาไปพัฒนาต่อได้ให้ออกมาเป็นสินค้าและผลงานที่น่าชื่นชม

การเขียนความคิดต่างๆ ที่โผล่ขึ้นมาใส่ในสมุดโน้ตแต่ละวัน
จึงมีประโยชน์สำหรับการจัดระเบียบความคิด
เหมือนการสร้างฐานข้อมูล
ให้สามารถเปิดดู ค้นหา และจัดระเบียบเมื่อต้องการใช้งาน

2) จัดระเบียบความคิด

นอกจากความคิดของเราจะเป็นวัตถุดิบที่จับต้องไม่ได้ และต้องการการกักเก็บ ความคิดยังเป็นสิ่งที่ผุดขึ้นมาอย่างไม่มีระเบียบอีกด้วย หากเรามีโอกาสได้ฝึกเจริญสติด้วยวิธีกำหนดจิตให้เฝ้ามองความคิดตัวเอง เราจะเห็นทันทีว่า ความคิดที่เกิดขึ้นมาในแต่ละวินาทีนั้นช่างกระจัดกระจาย เรานั่งคุยงานอยู่ เผลอแป๊บเดียวก็เริ่มมองและคิดถึงอาหารโต๊ะข้างๆ พอจะหันกลับมาต่อเรื่องงาน เห็นคู่รักเดินผ่าน ก็เริ่มคิดถึงคนรักที่บ้านต่อ

วิธีการทำงานของสมองที่เชื่อมโยงความคิดข้ามไปมาอย่างรวดเร็วและตลอดเวลานี้มีข้อดีมากมาย แต่ก็มีข้อเสียเช่นกัน เพราะความคิดที่ผสมผสานข้ามไปมาทำให้เราไม่สามารถจัดเรียงลำดับความสำคัญของเหตุการณ์ได้ง่าย บางครั้งมองปัญหาได้ไม่ชัดเจน และไม่สามารถสร้างกลยุทธ์ในการทำงาน

คนที่เป็นนักคิดและประสบความสำเร็จ จึงมักเป็นบุคคลที่นอกจากจะสร้างสรรค์ ยังมีวิธีใช้เครื่องมือช่วยให้พวกเขาทำงานกับความคิดของตนได้อย่างมีระเบียบแบบแผน เมื่อมีไอเดียดีๆ ก็กักเก็บไว้ไม่ให้หายไป และมองหาขั้นตอนการทำงาน เพื่อที่จะผนวกไอเดียเข้าไปกับขั้นตอนที่เป็นระเบียบและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

จอร์จ สมิธ แพตตัน ปัจจุบันคือนายพลที่ได้รางวัลอันทรงเกียรติมากมาย ในอดีตเคยสอบตกวิชาคณิตศาสตร์และต้องต่อสู้กับโรคดิสเล็กเซีย ขณะเป็นนักเรียนปีหนึ่งในโรงเรียนทหาร แม้จะยังอายุน้อย แพตตันก็มีความมุ่งมั่นว่าวันหนึ่งเขาจะต้องได้ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารที่เยี่ยมยอดให้ได้ เพื่อทำเป้าหมายให้เป็นจริง แพตตันเริ่มเขียนบันทึกและจดโน้ตสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน สมุดโน้ตของเขาเต็มไปด้วยข้อความที่สะท้อนการทำงานของสมองเราทุกคน นั่นคือวกวน มีหัวข้อสลับกันไปมาหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นไอเดียที่เขามีเกี่ยวกับการเป็นผู้นำ กลยุทธ์สงคราม ภาพวาดสถาปัตยกรรมที่สวยงาม และบทกลอนรัก

แต่เพราะมีสมุดโน้ตที่เป็นสื่อแปลสภาพความคิดให้ออกมาเป็นตัวหนังสือ ทำให้แพตตันสามารถเรียบเรียงและแยกแยะข้อมูลแต่ละหัวข้อได้ เมื่อเขาเปิดกลับมาอ่านภายหลัง ในปี 1921 แพตตันได้เรียบเรียงโน้ตของเขาออกมาเป็นสมุดซึ่งเต็มไปด้วยกลยุทธ์ทางการทหารและหลักคิดผู้นำที่เขาคิดขึ้นระหว่างหลายปีที่ผ่านมา

การเขียนความคิดต่างๆ ที่โผล่ขึ้นมาใส่ในสมุดโน้ตแต่ละวัน จึงมีประโยชน์สำหรับการจัดระเบียบความคิด เหมือนการสร้างฐานข้อมูล ให้สามารถเปิดดู ค้นหา และจัดระเบียบเมื่อต้องการใช้งาน สามารถนำไอเดียไปพัฒนาต่อและใช้ประโยชน์ในอนาคตได้อย่างสะดวกนั่นเอง

การเก็บบันทึกสิ่งเล็กน้อยที่เราทำได้ดีในแต่ละวัน
จะช่วยให้เราไม่มองข้ามความก้าวหน้าแต่ละก้าวของตนเอง
โดยไม่ต้องรอให้เจ้านายหรือคนรอบตัวมาวิจารณ์และตั้งข้อสังเกต

3) กระจกสะท้อนความก้าวหน้า

ผลการสำรวจคนจำนวน 200 คน ที่มีพฤติกรรมจดบันทึกประจำวัน พบว่าปัจจัยสำคัญที่สุดในการสร้างพลังใจและแรงขับให้คนเหล่านี้ตั้งใจทำงานของตัวเอง กลับไม่ใช่การได้รับคำชมจากผู้อื่น ไม่ใช่การได้เลื่อนตำแหน่งในองค์กร แต่คือการได้เห็นตัวเองมีการพัฒนาและก้าวหน้าในสิ่งที่มีความหมายต่อพวกเขา

เบนจามิน แฟรงคลิน เป็นหนึ่งในคนกลุ่มนี้ เมื่อเขาอายุ 20 ปี ได้ตั้งใจว่าจะเปลี่ยนตัวเองให้เป็นสุภาพชนที่ใช้ชีวิตตามจริยธรรมที่ถูกต้อง แฟรงคลินได้คิดวิธีการพัฒนาตนเองให้เป็นคนที่ดีขึ้นโดยสัญญากับตัวเองว่าจะใช้ชีวิตโดยมีจริยธรรม 13 ข้อเป็นแนวทาง (คล้ายกับคนที่ตั้งใจใช้ชีวิตตามศีล 5) เขานำสมุดโน้ตที่พกติดตัวไว้มาตีตารางเป็น 13 ช่อง สำหรับจริยธรรม 13 ข้อ และแต่ละวัน เขาจะประเมินผลว่าวันนี้ตัวเองได้ละเมิดกฎจริยธรรมข้อไหนบ้าง หากพบว่าตัวเองมีการละเมิด จะระบายสีเป็นจุดดำไว้ในตารางนั้น เป้าหมายของแฟรงคลิน คือการใช้ชีวิตแต่ละวันโดยไม่มีจุดดำบนสมุดโน้ตเลย

แม้ว่าผลสุดท้ายแฟรงคลินจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของเขาและใช้ชีวิตได้อย่างใสสะอาด ไร้จุดด่างพร้อย แต่เขาก็รู้สึกว่าอย่างน้อยเขาได้พัฒนาตนเองและกลายเป็นคนที่ดีขึ้น เมื่อแฟรงคลินอายุ 79 เขาเขียนบันทึกในสมุดโน้ตว่า ‘ผมติดหนี้สมุดโน้ตของผม เพราะสมุดโน้ตทำให้ผมสามารถใช้ชีวิตที่ผ่านมาตลอดได้อย่างมีความสุข’

ดังนั้นข้อสุดท้ายและข้อสำคัญที่สุดในการจดบันทึกประจำวัน ก็คือการใช้สมุดโน้ตเพื่อบันทึกความก้าวหน้าหรือผลงานที่เราภูมิใจในแต่ละวัน แม้ว่าสิ่งนั้นจะดูเล็กน้อย เพราะหากเราเป็นคนหนึ่งที่มีการสร้างแรงขับและความสุขจากการเห็นว่าตัวเองเป็นคนที่เก่งขึ้น หรือมีการพัฒนามากขึ้น การเก็บบันทึกสิ่งเล็กน้อยที่เราทำได้ดีในแต่ละวัน จะช่วยให้เราไม่มองข้ามความก้าวหน้าแต่ละก้าวของตนเอง โดยไม่ต้องรอให้เจ้านายหรือคนรอบตัวมาวิจารณ์และตั้งข้อสังเกต ผลลัพธ์ก็คือเราสามารถสร้างความกระตือรือร้นให้ตัวเองก้าวไปข้างหน้า และใช้ชีวิตอยู่บนวงจรที่สร้างสรรค์นั่นเอง

เราสามารถเรียนรู้จากคนเหล่านี้ และเริ่มจดบันทึกของเราเองอย่างไร เพื่อได้ประโยชน์สูงสุด

อย่างแรก คือการจดอย่างสม่ำเสมอ เพราะสมุดบันทึกจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อเราคุยกับเขาบ่อยๆ เริ่มต้นเราอาจจะซื้อสมุดโน้ตเล่มบาง ไม่หนัก พกง่าย สบายมือ และสัญญากับตัวเองว่าจะให้เวลา 10 นาที ในแต่ละวัน เพื่อเขียนอะไรก็ได้ที่แวบเข้ามาในหัวติดต่อกันเป็นเวลา 2 อาทิตย์ และหากเราไม่แน่ใจว่าจะเริ่มเขียนเรื่องอะไร ลองเลือกเขียนสักหนึ่งหรือสองจาก 5 หัวข้อดังต่อไปนี้:

  • ความสำเร็จเล็กๆ ที่เราภูมิใจวันนี้
  • คนที่ช่วยเหลือเราให้พัฒนาตน หรือคนที่เป็นอุปสรรคในการทำงานของเรา
  • สิ่งที่เราคาดหวังสำหรับอนาคตของเรา ณ จุดนี้
  • สิ่งที่เราตั้งใจว่าต้องทำให้เสร็จภายในวันนี้
  • ความคิด ไอเดีย หรือวาดภาพอะไรก็ได้ ที่โผล่ขึ้นมาในหัวเราวันนี้

หัวข้อ 5 ข้อนี้ อาจจะเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถคุยกับคนทั่วไปได้ตลอดเวลา แต่ว่าเราสามารถคุยอย่างเป็นการส่วนตัวกับสมุดเราได้เสมอ หากเราเคยสับสนกับความต้องการของตนเอง มีคำถามเกี่ยวกับตนเองที่ยังตอบไม่ได้ แนะนำให้ลองหาสมุดเล่มเล็กจดบันทึกประจำวัน วันหนึ่งสมุดเล่มนี้อาจจะกลายเป็นกระจกวิเศษ ช่วยสะท้อนความคิดที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

และช่วยให้เราค้นพบว่าชีวิตกำลังพยายามบอกอะไรเรา

ภาพประกอบ: eddy chang

อ้างอิง:

  • Amabile, Teresa M., and Steven J. Kramer. The Progress Principle: Using Small Wins to Ignite Joy, Engagement, and Creativity at Work. Harvard Business Review Press, 2011.
Tags: ,