พลาสติกตกเป็นผู้ร้ายอีกครั้งช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังพบซากกวางป่าเพศผู้อายุมากกว่า 10-15 ปี ในพื้นที่ระหว่างที่ทำการอุทยานแห่งชาติขุนสถานกับสถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน .นาน้อย .น่าน ซึ่งเป็นเขตป่าอุดมสมบูรณ์

 สัตวแพทย์ตรวจพิสูจน์ซากพบขยะพลาสติก เช่น ซองกาแฟ ถุงพลาสติก ซองเครื่องปรุงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เชือกฟาง และขยะอื่นๆ เช่น ผ้าเช็ดมือ กางเกงใน น้ำหนักรวม 7 กิโลกรัมในกระเพาะอาหาร สันนิษฐานเบื้องต้นว่า ขยะพวกนี้ทำให้ทางเดินอาหารอุดตัน กระทั่งเป็นสาเหตุการตาย

 นี่ไม่ใช่กวางเคราะห์ร้ายตัวแรก เมื่อเดือนสิงหาคม 62 ก็มีกวางป่าตายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพราะกลืนขยะพลาสติกน้ำหนักรวมไม่ต่ำกว่า 3 กิโลกรัม และน่าจะมีความตายลักษณะเดียวกันในพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ อีกที่ไม่ปรากฏเป็นข่าว

 แม้แต่พื้นที่ของอุทยานแห่งชาติขุนสถานเองก็เคยพบกวางตายด้วยสาเหตุนี้มาแล้วเมื่อประมาณสามปีก่อน นำมาซึ่งความพยายามรณรงค์เก็บขยะอย่างต่อเนื่องในเส้นทางของนักท่องเที่ยวและชุมชนโดยรอบอุทยานแห่งชาติขุนสถาน เช่นเดียวกับการพบขยะพลาสติกปะปนอยู่ในมูลช้างบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เมื่อปลายปี 2561 ทำให้ถังขยะที่นั่นต้องมีฝาปิดมิดชิดเพื่อป้องกันสัตว์ป่าคุ้ยเขี่ย พร้อมกับขอความร่วมมือให้นักท่องเที่ยวนำขยะกลับออกมาทิ้งด้านล่าง

 ครั้นสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจึงพบว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มิได้นิ่งนอนใจ ออกประกาศตั้งแต่เมื่อ 16 กรกฎาคม 2561  ‘ห้ามนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติซึ่งบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งที่กรมอุทยานฯ กำหนดในประกาศข้อห้าม ได้แก่ กล่องพลาสติกบรรจุอาหาร จานพลาสติก ถุงพลาสติกหูหิ้ว และขวดน้ำที่มีพลาสติกหุ้มฝาขวด โดยระบุว่าผู้ฝ่าฝืนจะมีความผิด โทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 ทว่าหลังจากนั้นไม่ถึงเดือน กรมอุทยานฯ พิจารณากำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งใหม่ ด้วยการยกเลิกประกาศห้ามฉบับวันที่ 16 กรกฎาคม 2561 และออกประกาศรณรงค์ไม่นำพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติในวันที่ 9 สิงหาคม 61 โดยขอความร่วมมือไม่นำภาชนะพลาสติกบรรจุอาหาร ช้อนส้อมพลาสติก ขวดน้ำที่มีพลาสติกหุ้มฝาขวด หลอดพลาสติก และถุงพลาสติกหูหิ้ว เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ มาตรการขอความร่วมมือดังกล่าวดำเนินไปพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 154 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงชุมชนรอบอุทยาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2561

 จากห้ามลดดีกรีเป็นขอความร่วมมืออาจเพราะกรมอุทยานฯ ต้องการให้นักท่องเที่ยวมีเวลาปรับตัวกับมาตรการไม้นวมเสียก่อน ซึ่งเอาเข้าจริงเราก็ไม่แน่ใจว่านักท่องเที่ยวรับรู้และตระหนักถึงการขอความร่วมมือในช่วงขวบปีแรกเพียงใด เพราะการแวะกางเต๊นท์นอนหนึ่งคืนในอุทยานแห่งชาติทางบกแห่งหนึ่งเมื่อกลางเดือนตุลาคม 62 เรายังพบเจอถุงพลาสติกหูหิ้วและบรรจุภัณฑ์พลาสติกใส่อาหารในถังขยะจำนวนพอควร เมื่อเทียบกับจำนวนเต๊นท์ที่กางกันเต็มลานกว้าง ขณะเดียวกันก็รับรู้มาว่า อุทยานแห่งชาติทางทะเลบางแห่งดำเนินการห้ามนำภาชนะโฟมบรรจุอาหารและถุงพลาสติกหูหิ้วเข้าพื้นที่แล้วอย่างเข้มข้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

 หลังเกิดเหตุกวางป่าตายที่อุทยานแห่งชาติขุนสถานครั้งล่าสุด วราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศเอาจริงเรื่องขยะพลาสติกอีกครั้ง โดยจะให้นักท่องเที่ยวเก็บขยะของตัวเองใส่ถุงดำออกมาจากอุทยานแห่งชาติและส่งให้เจ้าหน้าที่ เพื่อนับจำนวนเก็บสถิติและขายขยะเพื่อนำเงินเข้ากองทุนอุทยาน

 ฟังแล้วเหมือนจะเข้าที แต่ก็กังขาเล็กน้อย เพราะถ้าทิ้งขยะรวมมาในถุงเดียวโดยไม่แยกประเภทและไม่ทำความสะอาด กลุ่มบรรจุภัณฑ์อาหารย่อมจะบูดเน่าส่งกลิ่นเหม็น พลอยทำให้ขยะที่มีราคาสกปรกไปด้วย ไม่น่าจะเหมาะกับการขายเพื่อรีไซเคิลเท่าใดนัก และอาจเพิ่มภาระการจัดการขยะของเจ้าหน้าที่

 อย่างไรก็ตามยังมีข่าวน่ายินดี เมื่อกรมอุทยานฯ รณรงค์ให้หน่วยงานดูแลป่าอนุรักษ์ในสังกัด ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า วนอุทยาน สวนรุกขชาติ และสวนพฤกษศาสตร์ ลดและเลิกใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ภายใต้โรดแม็ปการจัดการขยะพลาสติก .. 2561-2573 โดยจะเริ่มใช้มาตรการนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป

 ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊กเพจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชก็เร่งย้ำอย่างต่อเนื่อง ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวงดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยจะเริ่มพร้อมกันทุกเขตอุทยานแห่งชาติในวันที่ 1 มกราคม 2563 แต่บางป้ายประชาสัมพันธ์ก็เขียนว่าห้ามนำถุงพลาสติกหูหิ้วและพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเข้าในเขตอุทยานแห่งชาติ เห็นแล้วก็รู้สึกลังเล ไม่รู้จะห้ามเด็ดขาดหรือขอความร่วมมือกันแน่

 กรณีแค่ขอความร่วมมือ ถ้ามีความพยายามสร้างความเข้าใจในสังคมอย่างจริงจัง กลุ่มนักท่องเที่ยวซึ่งสนใจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมน่าจะยินดีปฏิบัติตาม แต่กลุ่มที่เข้าไปกางเต๊นท์ในอุทยานฯ เพียงเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศที่นอนหรือกินข้าว ก็อาจต้องใช้เวลาสักหน่อย

 แต่หากเป็นการห้าม ก็มีคำถามว่า จะห้ามนำถุงพลาสติกหูหิ้วเข้าอุทยานในทุกกรณีหรือไม่ ถ้าเป็นถุงพลาสติกใส่เสื้อผ้าหรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่มีแนวโน้มจะใส่กลับสิ่งนั้นกลับออกมาด้วยจะนำเข้าอุทยานฯ ได้ไหม แล้วกรณีอาหารในบรรจุภัณฑ์พลาสติกหรือวัสดุผสม เช่น ลูกอม เครื่องดื่มชง ขนมขบเคี้ยว มันฝรั่งแผ่น ฯลฯ จะโดนห้ามด้วยหรือไม่ แถมยังอยากรู้ต่อว่า กรมอุทยานฯ จะออกมาตรการตรวจสอบการนำถุงพลาสติกหูหิ้วและพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเข้าเขตอุทยานแห่งชาติอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลวันหยุดที่นักท่องเที่ยวหนาแน่น

 ไม่ว่าจะขอความร่วมมือหรือห้าม ช่วงเวลานี้กระแสสังคมกำลังมา น่าจะจุดติดได้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องยืนยันให้ชัดเจนและปฏิบัติต่อเนื่อง และถ้าเป็นไปได้ อยากให้การห้ามหรือขอความร่วมมือนั้นครอบคลุมไปถึงเจ้าหน้าที่และร้านค้าสวัสดิการภายในอุทยานด้วย ซึ่งอาจเพิ่มความยุ่งยาก แต่ถ้าเริ่มวันนี้ก็น่าจะเห็นผลบวกในระยะยาว

 แม้จะไม่ค่อยเห็นด้วยกับการมองพลาสติกเป็นผู้ร้ายตลอดเวลา เพราะพวกเราต่างหากที่เป็นคนใช้งานและได้รับความสะดวกจากมัน จึงควรช่วยกันลงมือจัดการขยะพลาสติกอย่างเต็มที่

 มนุษย์เมืองทุกคนคุ้นเคยกับถุงพลาสติกหูหิ้วและพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นอย่างดี แต่ในพื้นที่อนุรักษ์ นี่คือสิ่งแปลกปลอม ไม่มีสัตว์ตัวไหนแยกแยะได้หรอกว่า พลาสติกที่มีกลิ่นอาหารติดอยู่ไม่ใช่อาหาร ถ้ากินมันเข้าไปมากๆ ก็จะเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิต บนโลกใบนี้ก็มีแต่มนุษย์เราเท่านั้นแหละที่รู้ว่าพลาสติกกินไม่ได้

 ดังนั้น ต่อให้ต้องวางแผนหรือใช้เวลามากขึ้นเพื่อจัดการข้าวของสำหรับการเที่ยวและพักค้างในอุทยานฯ เราก็ยินดีจะปฏิบัติตามคำขอความร่วมมือหรือข้อห้ามของกรมอุทยานฯ เพราะขยะพลาสติกในพื้นที่อนุรักษ์เป็นปัญหาสะสมมานาน มันถึงเวลาต้องลงมืออะไรสักอย่าง ช่วงแรกๆ คงไม่ชินเท่าไหร่ แต่ไม่น่ายากเกินเอาน่า ทำซ้ำครั้งที่สอง สาม สี่ เดี๋ยวก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาไปเอง

Tags: ,