ถึงนาทีนี้ มีใครไม่รู้จักไมโครบีดส์บ้าง…อธิบายแบบสั้นกระชับ มันคือพลาสติกเม็ดกลมไซส์จิ๋ว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 0.5 มิลลิเมตรและเล็กลงไปจนถึงระดับไมครอนซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
กระบวนการผลิตโพลีเมอร์ทรงกลมจิ๋วนี้ถูกคิดค้นขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 1970 โดย ดร. จอห์น ยูเกลสตาด (John Ugelstad) วิศวกรเคมีชาวนอร์เวย์และศาสตราจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีแห่งนอร์เวย์ ผลสำเร็จดังกล่าวนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงมหาศาล
ในทางการแพทย์ ไมโครบีดส์เป็นปัจจัยสำคัญของความก้าวหน้าด้านการรักษาผู้ป่วยมะเร็งไขกระดูก ช่วยพัฒนากระบวนการศึกษาวิจัยสารพันธุกรรม โรคเอดส์ และแบคทีเรียวิทยา แม้แต่ชุดทดสอบการตั้งครรภ์แบบตรวจเองที่บ้านบางรุ่นซึ่งใช้งานกันในปัจจุบันก็ยังมีเม็ดบีดส์ที่ผลิตจากยางสังเคราะห์เป็นส่วนประกอบพื้นฐานด้วยนะ
ปลายทศวรรษ 1990 ไมโครบีดส์กลายเป็นที่รู้จักวงกว้างขึ้น เมื่อปรากฏตัวในฐานะส่วนผสมของโฟมล้างหน้า เจลอาบน้ำ ยาสีฟัน เพราะผู้ผลิตต้องการให้มันทำหน้าที่ขจัดเซลล์ผิวเก่าและขัดถูกคราบสกปรกบนผิวฟัน
ด้วยต้นทุนถูกกว่าและมีให้ใช้เหลือเฟือ จึงเข้าแทนที่สครับจากวัตถุดิบธรรมชาติอย่างรวดเร็ว ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผสมไมโครบีดส์ (บางยี่ห้อเรียก ‘เม็ดบีดส์’ หรือ ‘ไมโครสครับ’) ก้าวสู่กระแสความนิยมในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ตอนนั้นเราก็ซื้อสบู่เหลวและโฟมล้างหน้าผสมไมโครบีดส์มาใช้เหมือนกัน
กระทั่งราวๆ ปี 2012 เริ่มมีงานวิจัยหลายชิ้นฟ้องว่า เจ้าไมโครบีดส์จำนวนมากตกค้างในแหล่งน้ำและกำลังสร้างความปั่นป่วนต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
ไมโครบีดส์ส่วนใหญ่เป็นพลาสติกกลุ่มโพลีเอทิลีน (Polyethylene หรือ PE) แต่ก็มีที่ผลิตจากโพลีโพรพิลีน (Polypropylene หรือ PP) โพลีเอทิลีน เทเรฟทาเลต (Polyethylene Terephthalate หรือ PET) โพลีเมทิล เมธาคริเลตด (Polymethyl methacrylate หรือ PMMA) หรือโพลิแลกติกแอซิด (polylactic acid หรือ PLA) ด้วยเช่นกัน
แต่ไม่ว่ากำเนิดจากโพลีเมอร์สังเคราะห์สายพันธุ์ไหน เราขอจัดทั้งหมดรวมอยู่ในกลุ่ม ‘พลาสติกชีวิตเดียว’ (single-use plastic) เพราะมันขัดถูผิวหนังหรือฟันของพวกเราแค่ครั้งเดียว พอล้างตัวหรือบ้วนปาก ไมโครบีดส์จะไหลลงท่อระบายน้ำ จากบ้านเรือนสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย
ด้วยขนาดจิ๋วหลิว มันสามารถเล็ดลอดผ่านตัวกรองของระบบบำบัดออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้สบายๆ ทั้งยังทำตัวเหมือนฟองน้ำ ดูดซับสารเคมีเป็นพิษต่างๆ ที่ปะปนในน้ำไว้กับตัวเองได้ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อไหลไปถึงปลายทางอย่างแม่น้ำ ทะเลสาบ และมหาสมุทร ตัวมันเองก็มักจะมีระดับความเป็นพิษสูงกว่าน้ำที่อยู่แวดล้อม
และด้วยคุณสมบัติคงทนเหมือนพลาสติกทั่วไป มันก็จะยังเป็นเม็ดกลมกิ๊กสภาพเดียวกับตอนที่ยังไม่ผ่านการใช้งาน ดูคล้ายไข่ปลาหรือแพลงก์ตอนบางชนิด ทำให้บรรดาสัตว์น้ำขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็น กุ้ง ปู ปลา ฯลฯ หลงกินไมโครบีดส์เพราะคิดว่าเป็นอาหาร
เมื่อเข้าสู่ท้องสัตว์ทะเล ความเป็นพิษของพลาสติกแปลกปลอมจะสะสมอยู่ในชั้นไขมันของพวกมัน และส่งต่อเป็นทอดๆ ตามลำดับขั้นการกิน…คงไม่ต้องบอกเนอะว่า ใครที่อ้าปากรออยู่ตำแหน่งปลายสุดของห่วงโซ่อาหาร
ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เราเลิกใช้สบู่เหลวและโฟมล้างหน้าผสมไมโครบีดส์ และเขียนถึงประเด็นผลกระทบของไมโครบีดส์ครั้งแรกเมื่อหกปีก่อน จำได้ว่าตอนนั้นเกิดกระแสต่อต้านการใช้ไมโครบีดส์ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งกลุ่มบริษัทผู้ผลิตส่วนใหญ่ในบ้านเขาแสดงท่าทีตอบรับเชิงบวกว่าจะเลิกใช้ บางรายก็ขอเวลาสำหรับการปรับเปลี่ยนอย่างน้อย 3-4 ปี แต่ช่วงเวลาเดียวกัน ในบ้านเรายังเงียบๆ ไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรเลย จึงทำได้แค่ให้ข้อมูลและชักชวนผู้บริโภคเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของไมโครบีดส์
กลางปี 2015 แคนาดาเป็นประเทศแรกของโลกที่ประกาศห้ามผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายใช้ไมโครบีดส์เป็นส่วนผสม และปีถัดมาก็เพิ่มไมโครบีดส์ลงในบัญชีรายชื่อสารพิษภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งแวดล้อม…เรียกได้ว่า แอ็กทีฟสุดแล้วในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
หลังจากนั้นก็มีอีกหลายประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ สหรัฐฯ ไอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฯลฯ ที่ทยอยแบนการใช้ไมโครบีดส์ พร้อมๆ กับสถานการณ์ปัญหาไมโครพลาสติกที่สาหัสขึ้นเรื่อยๆ ดังปรากฏหลักฐานการพบไมโครพลาสติกปนเปื้อนในเกลือทะเล ในอึมนุษย์ และล่าสุดเดือนกันยายนที่ผ่านมาก็พบไมโครพลาสติกในกระเพาะปลาทูไทยเฉลี่ย 78 ชิ้นต่อตัว!!
อ๊ะ อ๊ะ…อย่าสับสนระหว่างไมโครพลาสติกกับไมโครบีดส์นะจ๊ะ
เพราะไมโครพลาสติกหมายถึงพลาสติกขนาดจิ๋วมากๆ ระดับนาโนเมตรจนถึงชิ้นขนาด 5 มิลลิเมตร ทั้งที่ถูกผลิตให้เล็กตั้งแต่แรกอย่างไมโครบีดส์ และที่ผลิตเป็นชิ้นใหญ่มาก่อนแล้วแตกกร่อนจากคลื่นลม แสงแดด หรือแรงกระแทก จนกลายเป็นพลาสติกชิ้นเล็กๆ รูปร่างหลากหลายไร้แพทเทิร์น
พูดให้เข้าใจง่าย…ไมโครบีดส์เป็นแค่ส่วนหนึ่งของไมโครพลาสติกจำนวนนับไม่ถ้วนที่กำลังเพ่นพ่านทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างโรดแม็พการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2562 ส่งผลให้ไมโครบีดส์เป็น 1 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ต้องเลิกใช้ภายในปีนี้…ถือเป็นข่าวดี แม้จะมาช้ากว่าประเทศอื่นๆ ก็ยังดีกว่าไม่มาเนอะ
และนั่นทำให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมออกนโยบายห้ามใช้พลาสติกไมโครบีดส์ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว (rinse off products) คาดว่าจะบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
จึงไม่น่าแปลกใจที่การเดินสำรวจซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อเมื่อสองสัปดาห์ก่อน เราจะพบผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวเพียง 3 รายการที่ยังผสมไมโครบีดส์หรือเม็ดบีดส์ เพราะส่วนใหญ่เปลี่ยนไปใช้สครับจากวัตถุดิบธรรมชาติกันแล้ว เช่น เมล็ดแอปริคอทบดละเอียด เปลือกวอลนัทบดละเอียด เกลือ ข้าวโอ๊ต ฯลฯ
บางผลิตภัณฑ์ระบุบนฉลาก ‘ไม่มีส่วนผสมของเม็ดบีดส์พลาสติก’ ขณะที่บางผลิตภัณฑ์บอกว่าใช้ ‘Biodegradable Beads’ ซึ่งเราไม่แน่ใจว่ามันทำมาจากอะไรกันแน่
เท่าที่เคยอ่านข้อมูลผ่านตา สัก 2-3 ปีที่แล้วทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบาธในประเทศอังกฤษประสบความสำเร็จในการพัฒนากระบวนการผลิตไมโครบีดส์จากเซลลูโลสพืช (เขาเรียกมันว่า ‘Biodegradable Microbeads’) เพื่อใช้เป็นทางเลือกทดแทนไมโครบีดส์พลาสติกแบบเดิมๆ สามารถย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์ในระบบบำบัดน้ำเสียหรือในแหล่งน้ำทั่วไป ซึ่งไม่แน่ใจว่าปัจจุบันผลิตเชิงพาณิชย์ได้หรือยัง
ใครชอบสัมผัสการขัดผิว ไม่ต้องเสียดายที่พลาสติกไมโครบีดส์กำลังจะโดนแบน เพราะมันมีทางเลือกที่เจ๋งกว่าอีกมากมายรอให้เลือกใช้
สำหรับเรา หลังเปลี่ยนมาลองสบู่ผงถั่วเขียว สบู่ก้อนผสมกากกาแฟ และบอดี้ วอชที่เติมเมล็ดแอปริคอทบดละเอียด ก็รู้สึกว่า สครับธรรมชาติให้สัมผัสการขัดผิวน่าพอใจทีเดียว
ทั้งยังช่วยให้การชำระล้างร่างกายแต่ละครั้งของเราไม่เบียดเบียดชีวิตสัตว์น้ำใดใดอีกเลย และไม่ย้อนกลับมาเบียดเบียนตัวเองในวันข้างหน้าด้วย…ความเจ๋งของมันอยู่ตรงนี้
และหลังจากพลาสติกไมโครบีดส์โดนแบนแล้ว ก็ต้องไม่ลืมด้วยว่า ในท้องทะเลยังมีไมโครพลาสติกตกค้างอีกนับไม่ถ้วน ซึ่งคงจะได้เขียนถึงใน Plastic Diary ตอนต่อๆ ไป…โปรดอดใจรอ
Tags: single-use plastic, ไมโครบีดส์, โพลิเอทิลีน