หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘รอยเท้าคาร์บอน’ (Carbon Footprint) เพราะมันถูกพูดถึงมานาน ตั้งแต่เมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว ช่วงแรกๆ ที่ภาวะโลกร้อนเริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คน
ใครยังไม่รู้จักหรือเคยรู้จักแต่ตอนนี้ชักจะเลือนๆ ไปแล้ว ขอสรุปอย่างสั้น รอยเท้าคาร์บอนหมายถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ โดยคำนวณออกมาในรูปคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งสามารถวัดขนาดรอยเท้าคาร์บอนได้ตั้งแต่ระดับรายประเทศ รายบริษัทหรือองค์กร ไปจนถึงระดับรายบุคคล
ในทุกครั้งที่เราซื้อของ กินอาหาร เดินทาง หรือทำอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้อง (ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม) กับการใช้พลังงาน ล้วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น ซึ่งเวลาคำนวณรอยเท้าคาร์บอน เขาไม่ได้คิดเฉพาะช่วงที่เราใช้ประโยชน์สินค้าหรือบริการนั้นๆ แต่ประเมินจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นตลอดวัฏจักรชีวิตของพวกมันต่างหากล่ะ
เช่น เราซื้อเสื้อยืดผ้าฝ้ายตัวใหม่ การคำนวณรอยเท้าคาร์บอนจะต้องเริ่มตั้งแต่ปลูกฝ้าย เก็บเกี่ยว ขนส่งฝ้ายเข้าโรงงานทอผ้า กระบวนการผลิตผ้าฝ้าย ขนส่งผ้าฝ้ายไปโรงงานเสื้อยืด กระบวนการผลิตเสื้อยืด ขนส่งเสื้อยืดไปโกดัง ไปร้านค้า กระทั่งมาอยู่บนร่างกายของเรา…และยังไม่หยุดแค่ขั้นนี้ แต่ตามไปถึงช่วงท้ายของวัฏจักรชีวิต ซึ่งก็คือการกำจัดด้วย
ทุกขั้นตอนใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล จึงปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดเส้นทาง แต่เราไม่สามารถคำนวณรอยเท้าคาร์บอนได้เป๊ะๆ หรอกนะ เพราะมันเป็นเรื่องซับซ้อนขั้นสุด แถมยังมีตัวแปรมากมาย แต่อย่างน้อยมันก็สามารถใช้เทียบเคียงเพื่อให้เราเห็นภาพผลกระทบจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราที่ส่งผลกระทบต่อโลกได้ชัดเจนขึ้น หรือสะท้อนแนวทางการพัฒนาของแต่ละประเทศว่าทำร้ายชั้นบรรยากาศกันมากน้อยแค่ไหน
กระทั่งถึงยุคที่โลกเผชิญปัญหามลพิษพลาสติก ก็บังเกิดคำว่า ‘รอยเท้าพลาสติก’ (Plastic Footprint) ตามมา มันหมายถึงปริมาณหรือจำนวนรวมของพลาสติกที่เราแต่ละคนใช้งานและโยนทิ้ง ซึ่งนับรวมทุกสิ่งอย่างที่เป็นพลาสติกล้วนและมีส่วนประกอบของพลาสติกอยู่ด้วย โดยกำหนดหน่วยวัดเป็น ‘กิโลกรัมพลาสติกต่อปี’
เมื่อถึงเวลาคำนวณรอยเท้าพลาสติก เขาก็ไม่ได้คิดแค่ช่วงที่เราใช้งานสิ่งนั้นๆ แต่ประเมินจากปริมาณการใช้และทิ้งพลาสติกตลอดวัฏจักรชีวิตของพวกมันเช่นกัน หลักการเดียวกับรอยเท้าคาร์บอน ทว่านึกภาพตามได้ยากกว่า เพราะแทบไม่รู้เลยว่า กลุ่มผู้ผลิตทั้งหลายใช้ๆ ทิ้งๆ พลาสติกไปแล้วเท่าไร ก่อนสินค้าจะมาถึงมือผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ในทุกครั้งที่เราทิ้งพลาสติก ขนาดรอยเท้าพลาสติกของเราก็มีแต่จะใหญ่ขึ้นๆ ยิ่งเป็นพวกพลาสติกชีวิตเดียวในกิจวัตรประจำวันที่มักรับเข้ามาแล้วบอกลากันแบบไม่ทันข้ามชั่วโมง รอยเท้าพลาสติกก็ยิ่งโตพรวดพราด เพราะวันรุ่งขึ้นเราก็รับชิ้นใหม่เข้ามาและทิ้งมันไปอีก ตรงข้ามกับการรับพลาสติกใหม่เข้ามาน้อยๆ และการใช้พลาสติกซ้ำหลายๆ ครั้ง ซึ่งช่วยชะลอขนาดของรอยเท้าพลาสติกได้
ส่วนการเลือกใช้สิ่งอื่นทดแทนพลาสติกใช้แล้วทิ้งนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า มันจะดีกว่าหรือช่วยชะลอขนาดรอยเท้าพลาสติกได้แน่นอน แต่ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไปว่า ตลอดวัฏจักรชีวิตของสิ่งทดแทนพลาสติกนั้นใช้พลาสติกกี่มากน้อย
ถึงบรรทัดนี้พอนึกออกหรือยัง รอยเท้าคาร์บอนกับรอยเท้าพลาสติกเกี่ยวข้องกันอย่างไร
มันเกี่ยวกันตรงที่…พลาสติกเอง ไม่ว่าจะขวดน้ำ หลอด ถุงพลาสติก โฟม กล่องอาหารแช่แข็ง ฯลฯ ล้วนกำเนิดมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในรูปของน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ แถมยังต้องใช้พลังงานมหาศาลในการผลิตเม็ดพลาสติก และแปลงร่างเม็ดพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ
แปลว่า ในรอยเท้าพลาสติกมีรอยเท้าคาร์บอนซ่อนอยู่ ยิ่งขนาดรอยเท้าพลาสติกใหญ่ รอยเท้าคาร์บอนยิ่งขยายใหญ่ตาม แต่การใช้สิ่งอื่นทดแทนพลาสติกอาจไม่ช่วยให้รอยเท้าคาร์บอนเล็กลงเสมอไป เผลอๆ จะใหญ่กว่าเดิมด้วยซ้ำ
เพราะอะไรน่ะเหรอ ก็เพราะพลาสติกมีข้อได้เปรียบเรื่องน้ำหนักเบาน่ะสิ จึงช่วยประหยัดพลังงานในขั้นตอนการขนส่งได้มากโข ลองนึกเปรียบเทียบระหว่างน้ำอัดลมในขวดพลาสติกกับน้ำอัดลมในขวดแก้ว หรือระหว่างถุงพลาสติกหูหิ้ว ถุงผ้า และถุงกระดาษก็ได้
มันเป็นความจริงที่ต้องยอมรับ ไม่มีสิ่งใดสิ่งเดียวที่สามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เบ็ดเสร็จครบทุกมิติ เราจะคำนึงถึงการลดรอยเท้าคาร์บอนอย่างเดียวโดยไม่แคร์ชีวิตสัตว์ทะเลก็ไม่ได้ หรือจะตะบี้ตะบันลดรอยเท้าพลาสติกอย่างเดียวแต่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกกระฉูดก็คงไม่เข้าท่าเท่าไร
ถ้าวกกลับมาที่ความพยายามลดรอยเท้าพลาสติก การเลี่ยงรับพลาสติกชิ้นใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต การใช้พลาสติก (รวมถึงสิ่งทดแทนพลาสติก) ที่มีอยู่แบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า และการจัดการขยะพลาสติกอย่างถูกวิธี น่าจะพอบรรเทาทั้งสถานการณ์มลพิษพลาสติกและวิกฤตโลกร้อนไปพร้อมๆ กันได้
สำหรับคนที่อยากลองวัดรอยเท้าพลาสติก ขอให้แวะไปที่ https://repurpose.global/ ตอบแบบสอบถามไม่เกิน 3 นาทีเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตัวเองในหมวดหมู่ต่างๆ ตั้งแต่เครื่องดื่ม ของขบเคี้ยว การรับประทานอาหารนอกบ้าน การจ่ายตลาด การดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ไปจนถึงข้าวของในที่อยู่อาศัย
แม้จะไม่ครอบคลุมทุกช่องทางที่พลาสติกเข้ามาสู่ชีวิตเรา หรือบางอย่างก็ไม่สอดคล้องกับบริบทไทยๆ แต่มันก็ทำให้รู้ว่า เราผลิตขยะพลาสติกอย่างน้อยปีละกี่กิโลกรัม โดยคำนวณสัดส่วนขยะพลาสติกในหมวดหมู่ต่างๆ พร้อมทั้งเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยรอยเท้าพลาสติกของเรากับของชาวอเมริกัน ชาวยุโรป และชาวอินเดีย (เว็บไซต์นี้เป็นขององค์กรในอินเดีย)
หรือจะโหลดแอปฯ ‘My Little Plastic Footprint’ ก็ได้ อันนี้จะแบ่งหมวดหมู่ตามสถานที่และกิจกรรม ได้แก่ ห้องน้ำ ห้องครัว บ้าน การท่องเที่ยว ฯลฯ โดยคำนวณออกมาเป็น Plastic Mass Index หรือ ‘PMI’ ยิ่งตัวเลขน้อย ยิ่งรอยเท้าพลาสติกเล็ก แถมยังให้ข้อมูลพลาสติกที่น่าสนใจแบบสั้นกระชับ และแนะนำด้วยว่าควรใช้อะไรทดแทน จึงจะเป็นมิตรกับโลกมากกว่าเดิม
ที่ชวนอย่างนี้ก็เพราะอยากให้เริ่มต้นปีใหม่ด้วยความตั้งใจลดรอยเท้าพลาสติกอีกสักตั้งและพยายามลงมือไปด้วยกัน…ลองหน่อยไหมล่ะ #reduceplasticfootprint #ลดรอยเท้าพลาสติก
Tags: เชื้่อเพลิงฟอสซิล, รอยเท้าคาร์บอน, รอยเท้าพลาสติก, ก๊าซเรือนกระจก, ถุงพลาสติก