เขาคือนักออกแบบแฟชั่นผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 บัดนี้ได้เสียชีวิตลงแล้วด้วยวัย 98 ปี ตามข่าวแจ้งของสมาชิกครอบครัวว่า เขาสิ้นลมที่โรงพยาบาลในนุย์ยี ชานเมืองด้านตะวันตกของกรุงปารีส เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2020

ก่อนหน้านี้ ปิแอร์ การ์แดง (Pierre Cardin) แทบไม่ค่อยปรากฏตัวให้ใครเห็น ครั้งสุดท้ายเมื่อปลายเดือนกันยายน 2020 เขาเดินทางไปร่วมงานฉลองครบรอบ 70 ปีของการทำงานในวงการแฟชั่นที่จัดขึ้นในโรงละครชาเตอเลต์ รูปลักษณ์เขาดูผ่ายผอมในชุดสูทสีน้ำเงินเข้ม ถึงกระนั้นเขายังแสดงสีหน้าร่าเริง และพูดติดตลกเหมือนเช่นเคย

ปิแอร์ การ์แดงอยู่ร่วมในประวัติศาสตร์แฟชั่นแห่งยุคศตวรรษที่ 20 ด้วยการทำงานมานานกว่า 60 ปี แม้ว่าในช่วงหลังชื่อของเขาไม่ได้อยู่ร่วมในลิสต์นักออกแบบแฟชั่นเสื้อผ้าชั้นสูงก็ตาม คนในวงการส่วนใหญ่มองแฟชั่นของเขาเป็นสินค้าโหล ตอบโจทย์ตลาดระดับล่าง แต่ถึงอย่างนั้นแบรนด์ของเขาก็ครอบคลุมและทั่วถึง ไม่ว่าในหมวดเครื่องใช้ประเภทจานชาม กางเกงใน ถุงเท้า กางเกงยีนส์ ร่ม หรือแม้กระทั่งกระทะ

ปิแอร์ การ์แดงคือเจ้าพ่อลิขสิทธิ์ เท่าที่คนใกล้ชิดจดจำได้มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 850 รายการ หุ้นส่วนรายใหญ่และสำคัญของเขาที่ร่วมกิจการกันมาตั้งแต่ปี 1992 คือ Ahlers AG จากเมืองแฮร์ฟอร์ดของเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ผลิตแฟชั่นเสื้อผ้าบุรุษที่ใหญ่อันดับสองของยุโรป

ปิแอร์ การ์แดงเป็นหนึ่งในจำนวนดีไซเนอร์น้อยคนที่นำโลกอนาคตเข้าสู่แฟชั่น ลุคที่ล้ำของเขาทำให้ชาวฝรั่งเศสมีชื่อเสียงในแวดวงหนังไซไฟยุค 1960s และ 1970s ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสำรวจอวกาศ การเดินทางข้ามเวลาและจักรวาลคู่ขนาน ทำให้ศิลปินอย่างเดวิด โบวี (David Bowie) หลงใหลไปกับบทบาทอวตารซิกกี สตาร์ดัสต์จนทำให้อัตตาของเขาเปลี่ยนไป หรือสแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) ก็ยกระดับขึ้นเหนือผิวโลกด้วยหนังเรื่อง 2001: A Space Odyssey ของเขา ผลงานออกแบบของปิแอร์ การ์แดงที่มีทั้งชื่อเสียงและอิทธิพลก็เป็นปรากฏการณ์อยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว

 

 

การผจญภัยครั้งยิ่งใหญ่บนพื้นผิวดวงจันทร์สร้างความประทับใจให้กับผู้คน ปี 1971 เขาได้รับเชิญไปนาซา และได้ทดลองสวมชุดอวกาศของบุซซ์ อัลดริน (Buzz Aldrin) ในฐานะพลเรือนคนแรก ภาพที่ถูกบันทึกไว้จะเห็นการ์แดงสวมเสื้อเชิร์ตสีขาว ผูกเนกไท และมีหมวกของนักบินอวกาศครอบศีรษะ สื่อถึงแฟชั่นจากปารีสได้เดินทางถึงอวกาศแล้ว

ในภาพถ่ายเห็นเขายิ้มอย่างภาคภูมิใจและมีความสุข ตอนนั้นการ์แดงอายุ 49 ปี กำลังก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของงานอาชีพ ความใฝ่ฝันของเขาเกี่ยวกับการบินในอีกแปดปีต่อมาก็ยังไม่จางหาย เขาออกแบบไม่เพียงแต่โครงสร้างภายในเครื่องบิน-เวสต์วินด์ 1124-หากยังรวมถึงรูปลักษณ์ภายนอกด้วย

…..

ปิแอร์ หรือชื่อเดิม ปิเอโตร การ์แดง เกิดเมื่อปี 1922 ใกล้เมืองเวนิศ ตอนอายุได้สองขวบพ่อแม่ชาวอิตาเลียนพาเขาโยกย้ายไปยังเมืองแซงต์-เอเตียนน์ของฝรั่งเศส ความรู้สึกแปลกปลอมกับสถานที่ ทำให้ต่อมาเขาต้องเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ และเริ่มเรียนรู้การตัดเย็บเสื้อผ้าตอนอายุ 14 ปี

กระทั่งเมื่อเขาเดินทางเข้ากรุงปารีสในปี 1945 ชายหนุ่มยิ่งตื่นตาตื่นใจ แต่เขาก็เปี่ยมด้วยความกระตือรือร้นและมุ่งมั่น เขาได้งานที่ห้องเสื้อปาแควงและเชียอาปาเรลลีในทันที และไม่ช้าต่อมาเขาได้เขยิบขึ้นเป็นช่างตัดเย็บให้กับห้องเสื้อดิออร์ ปี 1950 เขาเริ่มก่อตั้งบริษัทแฟชั่นเป็นของตนเองบนถนนริชปองส์ ใจกลางกรุงปารีส และสี่ปีถัดมาเขาก็เปิดบูติกในย่านหรูริมถนนโฟบูร์ก แซงโตโนเร

การปฏิวัติครั้งแรกของเขาในโลกแฟชั่นคือชุด ‘Bubble’ เมื่อปี 1954 เป็นผลงานล้ำยุคที่ดีไซเนอร์คนอื่นยังบรรลุไม่ถึง เสื้อผ้าของเขาที่ใช้ห่มคลุมผู้หญิงถูกออกแบบเป็นเส้นตรงหรือสมมาตร บ่อยครั้งเป็นสามมิติและลวดลายเรขาคณิตที่แข็งกร้าว ทำให้รูปร่างของผู้สวมใส่ถูกครอบด้วยเทคโนโลยี ไม่ต่างอะไรกับเครื่องจักรกล

ไม่ใช่เรื่องปกติสำหรับยุคนั้น อีกทั้งเขายังสนใจแฟชั่นยูนิเซ็กซ์ด้วย ดีไซเนอร์รุ่นเดียวกันกับการ์แดง อย่างเช่นอองเดร คูร์แรจส์ (André Courrèges) และปาโก ราบานน์ (Paco Rabanne) ก็มีความสนใจในสไตล์นี้เช่นกัน เพียงแต่งานออกแบบของพวกเขาไม่ขึงขังเท่าของการ์แดง นอกจากนั้นการ์แดงยังนำวัสดุอย่างใยยางสังเคราะห์และพลาสติกมาใช้ในแฟชั่นของเขาอีกด้วย

 

ตั้งแต่เมื่อแรกเดินทางถึงปารีส การ์แดงมีโอกาสได้รู้จักฌอง ค็อกโต (Jean Cocteau) ศิลปิน นักประพันธ์ และผู้กำกับฯ มากความสามารถ เขาจึงถูกทาบทามให้ไปช่วยออกแบบการแต่งหน้าและเสื้อผ้าสำหรับหนังเรื่อง La Belle et la Bête (1946) ด้วย

รวมถึงละครเวที เขาก็มีโอกาสได้ทำงานเป็นนักออกแบบเครื่องแต่งกาย และทำตามสไตล์ของเขาเอง เมื่อใดก็ตามที่เขาทำได้ เขาจะไม่สนใจขอบเขตระหว่างศิลปะและระหว่างศิลปะกับการออกแบบ ในปี 1970 การ์แดงซื้อโรงละครแอมบาสซาเดอร์ในกรุงปารีส และดัดแปลงมันเป็นหอวัฒนธรรม ที่เปิดให้เป็นสถานที่แสดงดนตรี ระบำ และละครอยู่นานกว่าสี่ทศวรรษ ปี 2001 เขายังซื้อปราสาทมาร์คีส์ เดอ ซาดในลาคอสต์ และทำเป็นศูนย์กลางเทศกาลแห่งวัฒนธรรมมาตราบถึงปัจจุบัน

การ์แดงไม่เคยเหน็ดเหนื่อยกับการทำธุรกิจ ปี 1981 เขายังซื้อกิจการร้าน Maxim’s และเปิดร้านสาขาในต่างแดนด้วย เขารู้และเข้าใจถึงพลังอำนาจของแบรนด์ได้เป็นอย่างดีว่ามันมีมูลค่าเมื่อชื่อแบรนด์ของเขาประทับลงบนสินค้า เหมือนเช่นต่อมาที่เขามีสินค้าภายใต้ชื่อของเขาตั้งแต่ถุงน่องยันหมวกเบสบอล อีกทั้งเขายังหยั่งรู้ถึงพลังของโลกไร้พรมแดน เขาจึงรุกเปิดตลาดใหม่ๆ เช่นในญี่ปุ่น นำเสนอคอลเล็กชันในประเทศคอมมิวนิสต์อย่างจีนเมื่อปี 1979 และในปี 1991 ที่จัตุรัสแดงในกรุงมอสโก

 

ปิแอร์ การ์แดงคือดีไซเนอร์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคแรกๆ ที่ใช้ผู้แสดงแบบรูปร่างหน้าตาเหมือนคนธรรมดาทั่วไป และวางขายสินค้าตามห้างสรรพสินค้าใหญ่อย่าง ‘แปรงต็องส์’ ในกรุงปารีส อีกทั้งยังร่วมงานกับผู้ผลิตแฟชั่นตลาดรอง คล้ายยุคปัจจุบันที่ดีไซเนอร์ร่วมงานกับแบรนด์แฟชั่นอย่าง H&M แต่นั่นเขาทำก่อนหน้ามาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1950s การดำเนินธุรกิจของเขามักตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของบรรดาแฟชั่นนิสตา เพียงแต่เขาไม่ใส่ใจ เขาสนุกและมีความสุขกับการสานต่อธุรกิจแบบที่ไม่ต้องพึ่งพาเงินกู้ธนาคาร

ภาษาการออกแบบของการ์แดงไม่ได้รับการสานต่ออีกเลยนับตั้งแต่ทศวรรษที่แล้ว จะมีก็เพียงการให้เกียรติย้อนรำลึกถึงแฟชั่นในช่วงปีที่ล้ำยุคของเขา แฟชั่นที่ไม่เคยล้าหลัง แต่มันถูกออกแบบมาเพื่อเป็นแนวทางสำหรับอนาคต

สิ่งเดียวที่เขารู้สึกเสียดายในชีวิต การ์แดงเคยเฉลยกับนักข่าวหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสว่า สิ่งนั้นคือการที่เขาไม่มีลูกกับฌันน์ มอโร (Jeanne Moreau) นักแสดง ดังนั้นเขาจึงไม่มีทายาท ทั้งที่ทรัพย์สมบัติของเขามีอยู่ล้นหลาม ไม่ว่าจากธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม ค่าลิขสิทธิ์ หรืออสังหาริมทรัพย์ เช่น ปาราซโซ คาซาโนวาในเวนิศ ปราสาทในลาคอสต์ ปาเลส์ บูลส์ที่โคตร ดาซูร์ และพิพิธภัณฑ์ของเขาอีกแห่งหนึ่งในปารีสที่เขาตกแต่งแล้วเสร็จขณะยังมีชีวิต

อีกสิ่งหนึ่งที่ปิแอร์ การ์แดงใฝ่ฝันอยากทำ นั่นคือการก่อตั้งมูลนิธิและสร้างโรงพยาบาล เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของโลก

 

อ้างอิง:

https://www.nzz.ch/feuilleton/zum-tod-von-pierre-cardin-sein-grosser-optimismus-war-stets-in-die-zukunft-gerichtet-ld.1594220?mktcid=smch&mktcval=fbpost_2020-12-29&fbclid=IwAR1OOL_pdKpUdIn8M2QmNMVOXkZgawL32t2PL3gkzpXhZXxXU3alaXnmsyQ

https://www.welt.de/icon/mode/article223431912/Pierre-Cardin-einer-der-letzten-grossen-Namen-verlaesst-die-Buehne.html

Tags: , , , ,