จริงอยู่ว่า เสียงรัวบนแป้นพิมพ์ของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์นั้นมีอิทธิพลกับแวดวงสิ่งพิมพ์ของไทยในช่วงหนึ่ง และยังคงมีอิทธิพลกับนักอ่านนักเขียนทั่วประเทศอยู่จนถึงทุกวันนี้
นอกเหนือจากสำนวนการเขียน ‘เพรียวนม’ อันลือลั่น ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ยังเป็นช่างภาพฝีมือดีที่เชื่อในพลังของภาพถ่าย โดยเฉพาะภาพฟิล์มซึ่งเป็นความนิยมและความถนัดตามยุคสมัย
ดังที่เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ เสียงพูดสุดท้าย ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ว่า
“ช่างภาพรุ่นโบราณศรัทธาในแสงแดด รอแสงจนถูกใจถึงลั่นชัตเตอร์”
หนังสือเล่มนั้นถือเป็นบทสัมภาษณ์พญาอินทรีแห่งสวนอักษรที่สมบูรณ์แบบ ทั้งในแง่เนื้อหาและภาพถ่าย ภาพประกอบขาวดำของหนังสือเล่มนั้นยืนยันประโยคข้างบนได้เป็นอย่างดี
จากปัตตานีถึงสวนทูนอิน
ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ ไม่ใช่แฟนหนังสือตัวยงของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ แต่เขาได้รับคำเชิญชวนจากนักเขียนรุ่นพี่ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งหนังสือบทสัมภาษณ์เล่มนี้
ธวัชชัยและวรพจน์เคยทำงานร่วมกันมาแล้ว ในหนังสือชื่อ ‘ที่เกิดเหตุ’ บันทึกชีวิตผู้คนและเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านไปหลายปี เมื่อวรพจน์วางแผนจะเดินทางไปสัมภาษณ์ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ณ สวนทูนอิน จังหวัดเชียงใหม่ ภาพถ่ายฟิล์มสีขาวดำของธวัชชัยจึงได้กลับมาทำหน้าที่เก็บรวบรวมอารมณ์และบรรยากาศของการสัมภาษณ์ไว้ในงานเขียนของวรพจน์อีกครั้ง
ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เก็บมวลรวมและอารมณ์ของบทสนทนาเท่านั้น เมื่อ ’รงค์ เห็นว่าธวัชชัยคล่องแคล่วเรื่องอุปกรณ์ถ่ายภาพ จึงให้เขาช่วยตรวจเช็กสภาพกล้องฟิล์มเก่าเก็บของเขา ช่างภาพต่างวัยจึงได้แลกเปลี่ยนกัน จนเกิดเป็นนิทรรศการภาพถ่ายขาวดำร่วมกันระหว่างคนทั้งสองอีกด้วย
(จากซ้ายไปขวา:ธวัชชัย พัฒนาภรณ์, วรพจน์ พันธุ์พงศ์ )
12 ปีของภาพฟิล์มขาวดำ
“ก่อนหน้านี้ นิทรรศการที่แสดงร่วมกับผลงานภาพถ่ายของคุณ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ มันจะมีรูปแบบคือ ภาพของคุณ ’รงค์ จะใช้ฟอร์แมตสี่เหลี่ยมจตุรัส ส่วนผมก็เลือกใช้ฟอร์แมตสี่เหลี่ยมผืนผ้า เพื่อจะได้แยกผลงานออกจากกันง่ายๆ ด้วยขนาดของภาพ รูปที่จัดแสดงอยู่ตอนนี้ส่วนใหญ่จึงยังไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน”
ธวัชชัยย้อนเล่าถึงการแสดงภาพร่วมกับ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ครั้งแรก ซึ่งจัดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน โดยสำนักพิมพ์ Openbooks แต่สุดท้ายแล้วยังมีภาพของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่เขาถ่ายไว้บางส่วนที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ ทั้งในหนังสือและในงานนิทรรศการ ในปี 2563 นับเวลาได้ 12 ปีหลังนิทรรศการครั้งแรก ธวัชชัยได้หยิบฟิล์มชุดนั้นกลับมาอัดอีกครั้งหนึ่ง
“ความชัดเจนถ้าเทียบกับเมื่อสิบสองปีก่อน อันนี้ดีกว่า มีรูปบางรูปที่เราไม่ได้เอามาใช้ ตอนนั้นเราอาจจะมองข้ามไป เราอาจจะคิดว่าถ่ายมาไม่ดี ปรินต์ไม่ได้ แต่ในยุคนี้ทั้งทักษะและเทคโนโลยีมันทำได้แล้ว
“งานสองครั้งที่ทำกับพี่หนึ่ง (วรพจน์ พันธุ์พงศ์) มันต่างกัน ตอนไปลงไปภาคใต้ สมมติเราไปหนึ่งเดือน กลับมาล้างฟิล์ม แล้วเอามาดูกัน ดีบ้างเสียบ้าง แต่กับภาพคุณ ’รงค์ นี่คือจนแกเสียชีวิตไปแล้ว เราถึงได้มาดูกัน ก็คือปรินต์ออกมาเพื่อเตรียมจะเอาขึ้นไปให้แกดูนั่นแหละ แต่แกเสียไปก่อน พอมานั่งดูกัน ตอนนั้นเมื่อสิบปีที่แล้วเราก็ว่ามันโอเคนะ เอาไปใช้งานได้
“ในมุมของช่างภาพ เราชอบช่างภาพที่เอาช่วงเวลานั้นอยู่ เก็บอารมณ์ ณ ตอนนั้นอยู่ แต่เราไม่เคยรู้ว่าเราทำงานได้ดีจริง ๆ หรือเปล่า พอสิบกว่าปีต่อมา เราได้มาย้อนกลับไปดูรูปที่เราถ่าย ก็พบว่า เออ มันโอเค มันมีรูปที่ดีจริง ๆ”
ไม่เพียงแต่เกิดนิทรรศการครั้งนี้ขึ้นเท่านั้น รูปบางส่วนยังถูกนำไปใส่เพิ่มเติมไว้ในหนังสือ เสียงพูดสุดท้าย ’รงค์ วงษ์สวรรค์ อีกด้วย
“ที่ใส่ได้ไม่เยอะ เพราะว่าลักษณะหนังสือมันไม่ใช่โฟโต้บุ๊ก ใส่ไปเยอะคุณภาพของรูปมันก็ได้เท่านั้น ยกเว้นว่าจะทำเป็นโฟโต้บุ๊กดี ๆ ภาพถ่ายขาวดำแบบนี้ อยากให้มาดูของจริงมากกว่า ในหนังสือเหมือนใส่ไว้ชี้เป้าให้มาดูของจริง มันถึงจะได้อรรถรส”
วรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักเขียน นักสัมภาษณ์ เจ้าของผลงานหนังสือเล่มนี้ พูดถึงผลงานภาพถ่ายที่สวนทูนอินของธวัชชัย ว่า ภาพถ่ายของธวัชชัยเป็นภาพขาวดำที่มีชีวิต มีรายละเอียด และถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ผ่านสายตาและริ้วรอยเหี่ยวย่นบนผิวหนัง ซึ่งเปรียบเสมือนรางวัลเกียรติยศและแผนที่ประสบการณ์ของชีวิตลูกผู้ชายคนหนึ่งได้ผ่านมา
นอกจากรายละเอียดและความคมคายที่ถ่ายทอดไว้บนแผ่นฟิล์ม สิ่งหนึ่งที่ทำให้วรพจน์สนใจก็คือ ภาพของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ในตำแหน่งเดิม เวลาใกล้เคียงกัน เพียงนักเขียนใหญ่เปลี่ยนท่วงท่าเพียงเล็กน้อย ธวัชชัยก็จับอารมณ์และความอ่อนไหวที่แตกต่างกันในเสี้ยววินาทีนั้นไว้ได้
ยิ่งเมื่อมองสองอิริยาบทนั้นผ่านการอัดออกมาเป็นแผ่นภาพขนาดใหญ่ จัดแสดงไว้เคียงกันในระดับสายตา ยิ่งเห็นความแตกต่างในความเหมือนนั้นได้อย่างชัดเจน
เบื้องหลังความคลาสสิก
“ผมใช้ฟิล์มมาตลอดครับ ตั้งแต่ก่อนหน้านั้นอีก 5 ปี จนมาถึงทุกวันนี้ก็ยังใช้ฟิล์ม เพราะเราทำเอง มันคุมได้ทุกอย่าง มันเป็นวิธีหนึ่งที่เราฝึกมาตั้งแต่ตอนถ่าย มันจะเข้าใจว่ารูปนี้ควรจะเป็นยังไง ล้างฟิล์มออกมาเป็นต้นฉบับแล้วก็รู้ว่าจะเป็นยังไงต่อ” ธวัชชัย เล่าให้ฟัง
ความจัดเจนเรื่องภาพฟิล์มของธวัชชัยน่าจะสะดุดตา ’รงค์ วงษ์สวรรค์ จนได้รับความไว้วางใจให้หยิบกล้อง Rolleiflex 2.8F white face ตัวโปรดของนักเขียนรุ่นใหญ่มาปัดฝุ่น นอกจากนี้ยังได้รับมอบฟิล์มเนกาทีฟของ ’รงค์ อีกจำนวนหนึ่ง เขาจึงเป็นคนจัดแจงเรื่องการอัดภาพเพื่อจัดแสดงทั้งหมด
วันนี้ ธวัชชัยเลือกหยิบภาพบางส่วนจากการทำงานเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว นำกลับมาอัดใหม่อีกครั้ง โดยส่วนใหญ่เป็นภาพจากกล้อง Rolleiflex ซึ่งในจังหวะของการเก็บภาพจากห้องทำงานของพญาอินทรีในสวนทูนอิน แสงค่อนข้างน้อย แต่ด้วยประสบการณ์และเทคโนโลยีในขณะนั้นทำให้ธวัชชัยไม่ได้หยิบรูปเล่านี้มาอัดเพื่อใช้งานในการพิมพ์หนังสือ
สิบสองปีให้หลัง ธวัชชัยกลายเป็นศิลปินคนหนึ่งที่สื่อสาร ใช้ชีวิต และหล่อเลี้ยงชีวิตด้วยภาพถ่ายอย่างเต็มตัว เทคนิคที่เพิ่มพูนผ่านการเวลาทำให้เขามองฟิล์มชุดนั้นด้วยความเข้าใจใหม่ ประกอบกับการเปิดพื้นที่แกลเลอรีใหม่ และการพิมพ์หนังสือซ้ำเป็นครั้งที่ 4 จึงเป็นโอกาสให้ภาพของพญาอินทรีแห่งสวนอักษร ถูกจัดแสดงสู่สายตาของผู้คนอีกครั้ง ณ ปาตานี สตูดิโอ แห่งนี้
“…ผมเชื่ออย่างยิ่งว่าภาพถ่ายชุดนี้จะทำให้คนที่รัก ’รงค์ วงษ์สวรรค์ มีความสุข และเป็นภาพถ่ายชุดสำคัญในช่วงปีสุดท้ายของชีวิต…”
เป็นประโยคที่ธวัชชัยเขียนไว้ในหน้าท้าย ๆ ของหนังสือ เสียงพูดสุดท้าย ’รงค์ วงษ์สวรรค์
เมื่อได้ชมภาพเหล่านี้ด้วยตาตัวเอง เราก็เชื่อเช่นนั้นด้วยเหมือนกัน
Fact Box
- นิทรรศการ เสียงพูดสุดท้าย ’รงค์ วงษ์สวรรค์ จัดแสดงที่ Patani Studio Gallery Space ซอยนานา ถนนไมตรีจิตร ตั้งแต่วันนี้ถึง 14 กุมภาพันธ์ 2564 เปิดทุกวันพุธถึงวันอาทิตย์ ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย