ข้อดีของการอ่านหนังสือมาตั้งแต่มีโอกาสได้อ่านและได้อ่านต่อเนื่องทำให้คนๆ นั้นมีโอกาสดีมากที่จะค้นพบตัวเอง  รู้จักความฝันและความปรารถนาแท้จริงของตนจากประสบการณ์และเรื่องราวอันหลากหลายในหนังสือเหล่านั้น

และนั่นเป็นปัจจัยสำคัญในการที่ทำให้คนๆ หนึ่งเลือก ทาง (THE WAY)ของตัวเอง

การมาทำร้านหนังสืออิสระ  เริ่มต้นอาจเป็นการมาสร้างทำและดูแลร้านหนังสือในสวนดอกไม้ซึ่งเป็นความฝันของหญิงสาวคนรัก  แต่เมื่อความปรารถนาสูงสุดของผมคือการเขียนหนังสือ  ร้านหนังสือและหนังสือก็เป็นบริบทที่สำคัญของนักเขียน

และตลอดเวลาของการทำร้านหนังสืออิสระมา 11 ปี  ผมค้นพบสิ่งหนึ่ง  สิ่งนี้ชัดเจนมากในช่วงครึ่งหลังของระยะทางที่ผ่านมา  นั่นคือ เวลา

มันมีเวลา 2 ประเภท  หนึ่งคือเวลาที่ใช้ไปกับการงานในเรื่องร้าน  ไม่ว่าจะเป็นการคัดหนังสือ  จัดหนังสือ  ขายหนังสือ  แนะนำหนังสือ ชงชา ทำกาแฟ สนทนากับลูกค้า  รดน้ำต้นไม้  ทำสวน ฯลฯ มันเป็นห้วงเวลาที่รื่นรมย์  เป็นการงานแห่งความรัก  ถ้าเปรียบเป็นลมหายใจ  ลมหายใจนี้ได้กลิ่นหอมของดอกไม้ทุกๆ วัน

สองคือเวลาที่จะได้อ่านหนังสือยาวๆ บางทีชื่อเสียงของร้านก็ไม่ได้หมายความว่าคนจะพลุกพล่านตลอดเวลา  นักเขียนหลายคนผิดหวังที่ฝากหนังสือขายในร้านเพราะเขาหวังว่าผลงานของเขาจะผ่านตาผู้คนมากมายตลอดเวลาและมีโอกาสที่จะขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว  แต่เขาลืมว่าหนังสือไม่ใช่ข้าวปลาอาหารที่คนเราต้องกินทุกวัน ๆ ละอย่างน้อย 2 มื้อ  และร้านหนังสือก็ไม่ใช่ร้านอาหารที่คนทำงานประจำจะต้องฝากท้องไว้อย่างน้อยก็มื้อกลางวัน  ที่สำคัญนี่ก็ไม่ใช่ร้านหนังสือในห้าง  มันอยู่โดดเดี่ยวข้างทุ่งนาในชุมชนที่ไม่หนาแน่น  และต่อให้คนเราอ่านหนังสือทุกวันเราก็ไม่สามารถซื้อหนังสือได้ทุกวัน  ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่ไม่สามารถอ่านหนังสือจบเล่มทุกวันหรือกำลังซื้อไม่พอ

นั่นทำให้คนขายหนังสืออย่างผมมีเวลาอ่านหนังสือจริงจัง

และไม่ว่าใครก็ตามที่เมื่อลงมือทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเวลาเกิน 10 ปี  ต่อให้เขาเป็นคนโง่ขนาดไหนก็ตามก็ย่อม มอง สิ่งที่ตัวเองทำอยู่นั้นออก  ผมจึงสามารถคาดการณ์ได้ว่าเวลาไหน  วันไหน  คนชอบจะมาร้าน (รู้กระทั่งว่าคนแนวไหนจะมาเวลาและวันแบบไหน) นั่นทำให้ผมสามารถวางแผนการชีวิตได้ว่าจะทำอะไรช่วงไหนให้มีคุณภาพที่สุดได้

ล่าสุดผมกำลังอ่าน ความจำเป็นยิ่งชีวิตของการต่อต้านเผด็จการ  รวมความเรียงคัดสรรของ จอร์จ  ออร์เวลล์ (George Orwell)  แปลโดย บัญชา สุวรรณานนท์  จัดพิมพ์โดยสำนักหนังสือใต้ฝุ่น พิมพ์ครั้งที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2562 พออ่านถึงความเรียงชิ้นที่สองก็ทำให้ผมตื่นเต้นมาก

จอร์จ  ออร์เวลล์ เขียน รำลึกถึงร้านขายหนังสือ (BOOKSHOP MEMORIES) ชิ้นนี้ลงในนิตยสาร ฟอร์ตไนต์ลี รีวิว (Fortnightly Review) เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1936 

ไม่น่าเชื่อว่าครั้งหนึ่งนักเขียนที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของโลกในศตวรรษที่ 20 อย่างเขาจะเคยทำงานร้านหนังสือ  และก็ทำมันในวัย 32 (ผมก็เปิดร้านหนังสือฟิลาเดลเฟียในวัย 32) ทำงานอาทิตย์ละ 70 ชม. (ผมเปิดร้านวันละ 10 ชม. ก็เท่ากับทำงานในร้านหนังสือสัปดาห์ละ 70 ชม.) 

“ครั้งหนึ่งผมเคยรักหนังสือจริงๆ คือรักการได้เห็น  ได้กลิ่น  ได้จับต้อง  ผมหมายความว่าถ้าเป็นหนังสือเก่าอย่างน้อยห้าสิบปีขึ้นไป  ไม่มีอะไรทำให้ผมพอใจได้มากเท่าการได้เหมาซื้อหนังสือคละกันหลากหลายในราคาหนึ่งชิลลิ่งจากการขายเลหลังตามชนบท  หนังสือสภาพโทรมที่เราได้มาโดยไม่คาดว่าจะได้เจอในชุดที่ซื้อเหมามาแบบนั้นมีรสชาติพิเศษ”

ใครบ้างที่รักหนังสือแล้วไม่เคยรู้สึกแบบนี้ ?

จอร์จ  ออร์เวลล์ เข้าทำงานในร้านหนังสือเมื่อเดือนตุลาคม ปี 1934  ผ่านมา 96 ปี ผมพบว่าบรรยากาศและความเป็นไปต่างๆ ของ ร้านหนังสือที่ออร์เวลล์อยู่และที่ผมทำแทบจะเหมือนกันเลย  แม้แต่ความรู้สึกของคนขายหนังสือ  

และถ้าจะให้ผมวิเคราะห์และสะท้อนข้อเท็จจริงในการทำร้านหนังสือก็เหมือนกับที่ออร์เวลล์เขียนไว้อย่างตรงไปตรงมานั้นแล้ว เช่นว่า

“หากมีจุดขายดีๆ มาโฆษณาและมีเงินทุนอย่างพอเหมาะ  ใครก็ตามที่มีการศึกษาน่าจะสามารถพอหาเลี้ยงชีพได้บ้างอย่างมั่นคงจากร้านหนังสือ  ถ้าไม่ได้คิดจะขายหนังสือ “หายาก” แล้วก็นับว่าเป็นอาชีพที่เรียนได้ไม่ยาก  เราจะได้เปรียบมากหากเรารู้อะไรเกี่ยวกับข้างในของหนังสือ…”

“หนังสือทำให้เกิดฝุ่นได้มากและอย่างร้ายกาจยิ่งกว่าวัตถุประเภทใดที่มนุษย์เคยคิดค้นขึ้นมา  สันบนของหนังสือยังเป็นแหล่งที่แมลงวันหัวเขียวชอบมาใช้เป็นสุสานแดนตาย…”  ถ้าเป็นบ้านเราก็คงจิ้งจกใช้เป็นที่ขับถ่ายและวางไข่  แมงมุมใช้เป็นที่ชักไยดักแมลง

พอนึกมาถึงตรงนี้  ผมเกิดความรู้สึกโรแมนติกประหลาดๆ  คงเหมือนกับที่ กิล (โอเวน วิลสัน)พระเอกในหนังเรื่อง Midnight in Paris รู้สึกกับปารีสเมื่อนาฬิกาตีบอกเวลาเที่ยงคืน

เมื่ออ่านความเรียงชิ้นนี้แล้ว  ผมยิ่งรักและรู้สึกสนิทกับจอร์จ  ออร์เวลล์มากขึ้น  

โดยส่วนตัวนั้นผมชอบจอร์จ ออร์เวลล์มาก  งานชิ้นแรกของเขาที่ผมอ่านคือ แด่คาทาโลเนีย  อ่านเพราะชื่อเรื่องโดยแท้เพราะตอนนั้นไม่รู้จักจอร์จ ออร์เวลล์  คาทาโลเนียก็คือชาวแคว้นคาทาลันซึ่งปัจจุบันก็คือเมืองบาร์เซโลน่าเมืองนี้เป็นฉากหลังของนักฟุตบอลที่ผมชื่นชอบที่สุดในชีวิตคือโยฮัน ครัฟฟ์ (Johannes Cruijff) ที่ไปค้าแข้งที่นั่นหลังจากประสบความสำเร็จสูงสุดกับทีมในประเทศบ้านเกิดด้วยการเป็นแชมป์ยูโรเปี้ยนคัพ 3 สมัยติด  

โยฮัน ครัฟฟ์ พาปรัชญาการเล่นโททัลฟุตบอล (Total Footbal) ไปเผยแพร่ที่นั่นและก็วางรากฐานให้กับทีมบาร์เซโลน่าจนเกรียงไกรอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้  ในยุคสมัยของเขา  เขาเป็นดาวเด่น  เจิดจรัสจนได้รับสมญาว่า นักเตะเทวดา  เขาและทีมชาติเนเธอแลนด์ทำให้ฟุตบอลสไตล์ละตินอเมริกากลายเป็นขนม  ทีมอย่างอาร์เจนตินาหรือแม้แต่บราซิลเมื่อต้องเผชิญหน้ากับโททัลฟุตบอลของพวกเขาก็กลายเป็นทีมดาดๆ

และเมื่ออ่าน แด่คาทาโลเนีย จบลงผมก็หลงรักนักเขียนนามจอร์จ ออร์เวลล์  และตามอ่านงานเขียนของเขา  เมื่อเปรียบเทียบออร์เวลล์กับเฮมิงย์เวย์นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่และเป็นอมตะอีกคนที่มีเมืองนี้เป็นฉากหลังและยังร่วมในเหตุการณ์สงครามกลางเมืองเดียวกัน  ผมกลับพบว่าโดยหัวใจและความเป็นนักคิดนักเขียนแล้วผมนับถือจอร์จ  ออร์เวลล์มากกว่า

และที่สำคัญจอร์จ  ออร์เวลล์ มี 4 สิ่งที่เป็นแก่นแกนของชีวิตเหมือนกับที่โยฮัน  ครัฟฟ์นักเตะเทวดาของผมมี 

หนึ่งคือทั้งสองคนมีแคว้นคาทาลันหรือบาร์เซโลน่าเป็นฉากหลังที่สำคัญของชีวิต

สองคือการสร้างสรรค์ มีนักเขียนกี่คนกันในโลกนี้ที่จะมีงานเขียนติดอันดับหนังสือดีในรอบศตวรรษถึง 2 เล่มเหมือนอย่างจอร์จ  ออร์เวลล์ คุณช่วยบอกผมหน่อยว่าอะไรที่ทำให้คนที่มีชีวิตที่ง่อนแง่นทรุดโทรมและปัญหาสุขภาพรุมเร้าแล้วสามารถสร้างสรรค์ผลงานอย่าง แอนิมอล ฟาร์ม และ 1984 ได้

ในส่วนของโยฮัน ครัฟฟ์นั้น  เขาอาจไม่ใช่ผู้คิดค้นศาสตร์โททัลฟุตบอลซึ่งมีรูปแบบเฉพาะในการเล่นฟุตบอลที่ผู้เล่นทุกคนในสนามสามารถทดแทนตำแหน่งกันได้หมด ไม่ว่าจะเป็นกองหน้า กองกลาง กองหลัง สามารถยืดหยุ่นตำแหน่งกันได้หมด นักเตะจะไม่มีตำแหน่งตายตัว ไม่ต้องเสียเวลาคอยวิ่งไปกลับตำแหน่งตัวเองกันบ่อยๆ หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ กองหลังสามารถเลี้ยงขึ้นไปยิงประตูได้หรือไม่กองหน้าก็วิ่งลงกลับมายืนอยู่ในแดนหลัง ฉะนั้นผู้เล่นที่อันตรายที่สุดคือผู้ที่ไม่มีบอลโดยมีกลไกที่แสนง่ายคือการให้แล้วไป (Give and Go) โดยจุดเด่นที่สุดคือการสร้างพื้นที่  การเข้าสู่พื้นที่ และการจัดการพื้นที่ ไม่ต่างจากการเป็นสถาปนิกในสนาม

แต่พูดได้ว่าศาสตร์นี้ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อให้สอดรับกับวิธีการเล่นของนักเตะคนนี้  และที่สำคัญที่สุดคือโยฮัน  ครัฟฟ์เป็นผู้ที่หลอมรวมศาสตร์เข้ามาอยู่ในตัวได้พิสูจน์ความยอดเยี่ยมของมันได้ในฐานะนักเตะและถ่ายทอดมันออกมาในฐานะโค้ชเพื่อสร้างนักเตะและระบบนี้ให้คงอยู่สืบมา  

สาม – สำนึกและจิตวิญญาณแห่งการต่อต้านเผด็จการและอำนาจนิยม

จอร์จ  ออร์เวลล์เป็นฝ่ายซ้าย  ชิงชังอำนาจนิยมและระบบเผด็จการฝ่ายขวา  แต่เมื่อเขาไปรบเพื่อชาวคาทาลันในสงครามกลางเมืองสเปนแล้วพบว่าขบวนการฝ่ายซ้ายพร้อมที่จะทรยศเป้าหมายตัวเองและยินดีจับมือกับเผด็จการแล้วก็เห็นความเป็นอำนาจนิยมในโครงสร้างฝ่ายซ้าย  สิ่งที่เขาทำคือตั้งคำถามกับฝ่ายซ้ายเหมือนที่ตั้งคำถามกับเผด็จการฝ่ายขวาเพื่อให้ขบวนการฝ่ายซ้ายไม่ตกหลุมอำนาจนิยมเหมือนฝ่ายตรงข้าม แต่ผลที่เขาได้รับคือการต้องออกจากฝ่ายซ้าย  แต่นั่นก็ทำให้เกิดงานวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าและมีอิทธิพลที่สุด 2 เรื่องคือแอนิมอล ฟาร์ม และ 1984 และถือเป็นคัมภีร์ต่อต้านเผด็จการและอำนาจนิยมทุกยุคทุกสมัย

ส่วนโยฮัน  ครัฟฟ์  นั้นปฏิเสธการลงเล่นฟุลบอลโลกรอบสุดท้ายปี 1978 ที่ประเทศอาร์เจนตินา  ทั้งที่เขาเป็นซุปเปอร์สตาร์ เบอร์ 1 ของทัวร์นาเมนท์ และทีมชาติเนเธอร์แลนด์ของเขาก็เป็นเต็ง 1 ที่จะคว้าแชมป์ ขณะที่ทุกสายตาทั่วโลกรอคอยการได้ยลลีลาแข้งเทวดาของนักเตะที่ชื่อโยฮัน  ครัฟฟ์  แต่อยู่ๆ เขาก็ประกาศไม่ไปร่วมการแข่งขัน  ด้วยเหตุผลว่า ไม่อยากไปเตะในประเทศที่มีจอมเผด็จการบริหารปกครองประเทศ

สี่คือบุหรี่ และนี่ถือเป็นสาเหตุการตายอย่างหนึ่งของนักเขียนและนักฟุตบอลที่ทรงอิทธิพลที่สุดผู้หนึ่งในศตวรรษที่ 20 และคงจะข้ามไปอีกอย่างน้อยหนึ่งศตวรรษและอีกศตวรรษ 
แต่สิ่งหนึ่งที่จะติดเป็นตราสัญลักษณ์ของเขาทั้งสองคือการไม่ยอมอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการ

และนั่นทำให้ คนขายหนังสือ ที่มีเวลาอ่านหนังสือได้เห็นทางและเลือกว่าเขาจะมีจุดยืนในการขายหนังสือแบบไหนในร้านหนังสืออิสระของเขา  ซึ่งตรงนี้เองที่ผมมีความรู้สึกและเห็นต่างจากจอร์จ  ออร์เวลล์ ที่เขารู้สึกไม่มีความสุขกับการขายหนังสือ  นั่นเพราะว่า

 “เหตุผลที่แท้จริงว่าทำไมผมจึงไม่อยากทำอาชีพค้าหนังสือไปตลอดชีวิตคือเพราะว่าขณะที่ผมทำอาชีพนี้ผมหมดรักหนังสือไปเลย  คนขายหนังสือต้องโกหกเรื่องหนังสือ  ซึ่งนั่นทำให้เขายิ่งรังเกียจหนังสือ” 

แต่สำหรับผมนั้นต่างออกไป  ในขณะที่ผมเป็นคนขายหนังสือก็เป็นเจ้าของร้านหนังสือด้วย  และเลือกหนังสือที่ผมชอบและเห็นว่าเหมาะกับร้านเท่านั้นเข้าร้าน  ผมจึงชอบหนังสือทุกๆ เล่มในร้านของผม  และไม่เคยเบื่อหน่ายที่จะต้องแนะนำหรือพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือในร้านและมีความสุขที่จะพูดถึงมันอย่างตรงไปตรงมา

และนี่ก็ได้สะท้อนและหล่อหลอมความเป็นนักเขียนของตัวเองด้วย.

Tags: ,