เราอาจเริ่มเรื่องด้วยความตาย
ความตายของโรงหนังแสตนด์อะโลนแบบเก่าโรงหนึ่ง ช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์ผ่านพ้นไปแล้วและจะไม่หวนกลับมาอีก ในโลกใหม่ โรงหนังแบบนี้ไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไปแล้ว โดยปราศจากผู้ชม คนทำงานกลุ่มท้ายๆ ของโรงหนังเก็บกวาดเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นจึงปลดระวางทุกสรรพสิ่ง เก้าอี้ถูกรื้อถอน เครื่องฉายถูกแยกชิ้นส่วน ขนขึ้นรถกระบะ เฉกเช่นชีวิตที่กระจัดกระจายไป ชีวิตที่เริ่มต้นหลังจากความตาย การหวนคืนกลับบ้านของคนฉายหนังที่ฉายหนังมาแทบจะทั้งชีวิต และถูกหลอกหลอนด้วย ‘ผี’ ของโรงหนังที่ตายไปแล้ว อดีตที่ตายไปแล้ว โดยยังไม่เห็นว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร
นี่คือหนังสารคดีกึ่งทดลองของ วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัยคนทำหนังสั้น หนังทดลอง และสื่อผสมที่น่าจับตาที่สุดคนหนึ่ง ก่อนหน้านี้เขาเคยทำหนังสั้น Passing Through The Night (2011) การจ้องมองแสงในบ้านซึ่งเขากำลังย้ายออก ตัดสลับกับภาพเรือนกายของแม่ในระยะประชิด เปลี่ยนผิวหนัง เปลือกตา แขนขาอันชราภาพของมารดาให้เป็นทัศนียภาพแห่งความทรงจำ เป็นเรือนกายที่กลายเป็นบ้าน กลายเป็นพื้นที่ ต่อมาในปี 2014 เขาทำสารคดี ‘ยามเมื่อแสงดับลา’ สารคดีสัมภาษณ์นักดูหนัง ที่ซ้อนเสียงเข้ากับภาพฉายจากหนังเก่าซึ่งเคลื่อนที่ไปตามพื้นผิวของโรงหนังที่กำลังถูกทุบทิ้ง อันเป็นเสมือนต้นธาร เป็นโลกคู่ขนานของหนังเรื่องนี้
และล่าสุดในปี 2015 เขาทำ Dreamscape โปรเจ็กต์ที่เป็นทั้งงานสารคดีและวิดีโอทดลอง เริ่มจากการสัมภาษณ์คนเล็กคนน้อยตามท้องถนน คนเร่ร่อน คนครึ่งดีครึ่งบ้า ไปจนถึงนักเรียนและครู ถามถึงความฝันและให้แต่ละคนวาดตัวละครวีรบุรุษของตัวเองขึ้น จากนั้นนำไปทำเป็นแอนิเมชัน แล้วใช้โปรเจ็กเตอร์คุณภาพสูงฉายแอนิเมชันนั้นลงบน ‘พื้นที่’ ที่ผู้คนเจ้าของเสียงให้สัมภาษณ์ไว้ แล้วบันทึกออกมาเป็นหนัง
ดูเหมือน แสง ร่างกาย ความตาย ทัศนียภาพ และภาพยนตร์ จะเป็นวัตถุดิบหลักเสมอมาในงานของเขา และในสารคดีทดลองเรื่องล่าสุดนี้ มันดูราวกับว่าทุกสิ่งทุกอย่างได้เคลื่อนเข้าหากัน หลอมรวมเข้าด้วยกันอย่างนุ่มนวลและรวดร้าว
‘ชีวิต’ หลัง ‘ความตาย’
หนึ่งในบรรดาข้อเสนอหลากหลายของคาร์ล มาร์กซ์พูดถึง ‘สภาวะแปลกแยกของแรงงาน’ ซึ่งอาจสรุปคร่าวๆ ได้ว่า ในระบบการผลิต แรงงานมักถูกตัดขาดแบ่งแยกออกจากงานที่ตัวเองทำ กล่าวคือ คนไม่มีอำนาจตัดสินใจว่าจะทำอะไร ผลิตอะไรและผลิตอย่างไร ปัจเจกบุคคลจึงถูกแบ่งแยกกีดกันออกไปจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน คนถูกแบ่งแยกออกจากผลผลิตของตัวเอง คือ ไม่มีอำนาจเหนือสิ่งที่ตัวเองผลิต ซึ่งเป็นความแตกแยกระหว่างปัจเจกบุคคลกับโลกแห่งวัตถุทั้งหลาย คนถูกแบ่งแยกออกจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะมีการแข่งขันและการเป็นศัตรูทางชนชั้น ไม่สามารถร่วมมือกันทำงานได้จริง และการแตกแยกระหว่างชนชั้นในระบบทุนนิยม คนที่แปลกแยกมากๆ จะกลายเป็นคนว่างเปล่า อยู่ในสภาวะสูญสิ้นอำนาจในตัวเองในที่สุด [1]
ในวัฒนธรรมภาพยนตร์ โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงการตายของการชมภาพยนตร์ในแบบเก่า สิ่งที่ดูเหมือนจะถูกเชิดชู รำลึก บอกรัก และกล่าวลา มักจะเป็นเรื่องของหนัง โรงหนัง และผู้ชม ผู้ชมระลึกถึงคุณค่าของการไปชมภาพยนตร์ในโรงโอ่โถงกว้างใหญ่ โรงหนังถูกจดจำในฐานะของทัศนียภาพประจุยุคสมัย และหนังถูกจดจำในฐานะภาพฝันที่เป็นอมตะ ซึ่งแทนที่ด้วยวิถีการดูหนังแบบใหม่ที่ตัดขาดผู้ชมออกจากโรงภาพยนตร์ และตัดขาดผู้ชมจากความมืดและใบหน้าขนาดยักษ์อันทรงพลังและมีมนตรา และเราได้เห็นการรำลึก กล่าวลา ในวัฒนธรรมนั้นจาก ยามเมื่อแสงดับลา ซึ่งเป็นเสมือนแฝดผู้พี่กับหนังเรื่องนี้
หากแรงงานแห่งโลกภาพยนตร์ที่มักไม่ถูกเอ่ยถึงคือคนที่อยู่ข้างหลังเครื่องฉาย ดังเช่นชีวิตของ ‘พี่ฤทธิ์’ ที่จับพลัดจับผลูมาเป็นคนฉายหนังโดยไม่ได้ตั้งใจ ในครั้งหนึ่งเขาบอกว่าเขาไม่ชอบดูหนัง เขาไม่ได้ผูกพันอะไรกับหนัง เขาทำเพียงฉายหนังจนไม่ได้กลับบ้านตอนปีใหม่หรือสงกรานต์ ฉายหนังและกินนอนในนั้นจนห่างเหินบ้านเกิดและลูกเมีย หนังฉายภาพคนงานกลุ่มท้ายๆ ที่กินนอนในโรงหนัง เรือนร่างกึ่งเปลือยเปล่าในพื้นที่ที่แทบจะเปลือยเปล่า ที่ซึ่งแม้เขาจะอยู่มานานสักเพียงไรก็เป็นเพียงผู้อาศัย ไม่ใช่เจ้าของ ถึงวันหนึ่งก็ต้องอพยพโยกย้าย กล่าวแบบมาร์กซ์ พี่ฤทธิ์เป็นแรงงานที่ทั้งแปลกแยกจากกิจกรรมการผลิต (การฉายหนัง) ของตัวเอง แปลกแยกจากผลผลิต(หนัง) แปลกแยกกับมนุษย์ด้วยกันเอง (ในฐานะคนฉายหนังที่อยู่ห่างไกลจากผู้ชม) และแปลกแยกกับเผ่าพันธุ์ของตนเอง เมื่อเขาไม่สามารถเข้ากันได้กับบ้านที่เขาจากมาอีกต่อไป
ถ้าเป็นไปตามที่มาร์กซ์ว่า ความสัมพันธ์ของนายทุนกับแรงงานคือการที่เขาอยู่ในตำแหน่งที่เอารัดเอาเปรียบแรงงาน ชีวิตระหกระเหินของพี่ฤทธิ์หลังโรงหนังปิด ไม่ใช่ชีวิตหลังความตายของโรงหนัง แต่คือชีวิตหลังความตายจากการถูกขูดรีดแรงงานยาวนาน และไม่มีทักษะใดหลงเหลือ แปลกแยกต่อตัวเองและต่อโลก ไม่สามารถไปกรีดยางหรือเลี้ยงลูกได้อีกแล้ว การกลับไปบ้านของพี่ฤทธิ์ในครึ่งหลังของหนัง คือชีวิตหลังความตายที่กลับไม่ได้ไปไม่ถึง ถูกหลอกหลอนโดยผี ทั้งผีในฐานะความทรงจำเกี่ยวกับบ้านที่ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป บ้านที่เขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่ง ผีของเทคโนโลยีที่ตามหลอกหลอนจากฟิล์มสู่ดิจิทัล และความพ่ายแพ้หมดรูปทั้งในระดับส่วนรวม (โรงหนังปิด) และระดับปัจเจก (เปิดแผ่นศรคีรีฟังไม่ได้) ไปจนถึงผีในฐานะพิธีกรรมเผาศพที่เขาเข้าไปเกี่ยวข้อง และผีที่สำคัญที่สุด ผีจากเรือนกายที่ตายไปแล้ว ผีภาพยนตร์จากร่างกายของโรงหนังที่เสื่อมสลายและตายลง
‘ความตาย’ หลัง ‘ชีวิต’
‘อ่านเรื่องนี้จบแล้วรู้สึกเศร้า แม้แต่ผีก็ยังอยากดูหนัง ไม่ต่างจากคน พวกเขาคือวิญญาณที่ยังมีความอยากที่จะฝัน ใช้เงินก้อนสุดท้ายซื้อความฝัน คือภาพยนตร์ ถ้าเราสังเกตคนรอบข้างเวลาดูหนังในโรง จะเห็นว่าอากัปกิริยาเหมือนกับผี ที่นั่งแหงนคอมองภาพเคลื่อนไหวเบื้องหน้า นิ่งงันเหมือนถูกมนต์สะกด โรงภาพยนตร์เองก็เหมือนโลงศพบรรจุผี ภาพเคลื่อนไหวเบื้องหน้าก็ได้จากกล้องที่บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้ว ถูกเรียงร้อยเข้าด้วยกัน เรียกได้ว่าภาพยนตร์ก็คือภาพของซากอดีต ในโรงแห่งความมืดนี้ กิจกรรมก็คือผีดูผี’
โลงผีในความมืด : อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล จากหนังสือ สวรรค์ 35 มม.
เป็นการยากที่จะไม่พูดถึงหนังเรื่องนี้โดยไม่อธิบายมันด้วยวิธีการของบทกวี ถ้าโรงหนังคือโลงศพ ภาพยนตร์ก็เป็นดังผี ผีซึ่งเป็นการบันทึกสิ่งที่ตายไปแล้วให้กลับมามีชีวิต ผีที่เป็นเหมือนความทรงจำของพี่ฤทธิ์ที่ยังคงหลอกหลอน หากโรงภาพยนตร์เป็นเรือนกายที่เปื่อยเน่า เป็นโลงศพ เมื่อร่างกายตายลง ดวงวิญญาณก็ออกเร่ร่อน และดวงวิญญาณของภาพยนตร์ก็คงมีลักษณะเป็นแสง ไม่ใช่ความมืด
ในฉากหนึ่ง เมียพี่ฤทธิ์เล่าถึงการเห็นผี ผีในรูปแบบของแสงวาบกลางป่าที่ลอยสูงขึ้นพ้นต้นยาง ผีที่มีลักษณะของแสง เคลื่อนที่ไปในทุกหนแห่ง แสงแบบเดียวกับในฉากแรกของหนัง แสงผีจากเครื่องฉายที่คนฉายเป็นเพียงหุ่นนิ่งขณะที่ลำแสงสาดส่องไปบนจอภาพ
ผีในหนังเรื่องนี้จึงเป็นทั้งฐานะของภาพยนตร์ที่ตายแล้ว โรงภาพยนตร์ที่ตายแล้ว ผีที่สิงสู่ในโลงมืดมิด กระจัดกระจายไปในที่ต่างๆ ในความฝันของพี่ฤทธิ์ที่มีแสงวาบปรากฏตรงนั้นตรงนี้ หรือสำคัญที่สุด ในฉากสุดท้ายของหนัง เมื่อกล้องเคลื่อนเข้าหาแสง แสงวาบซึ่งสาดมายังผู้ชม แสงซึ่งในบางขณะสาดฉายภาพซึ่งปรากฏมาแล้วก่อนหน้า หากการชมภาพยนตร์คือการไปแอบดูผีในความมืด จ้องมองจอภาพไปยังทิศทางเดียวกับแสง ถึงที่สุดในฉากสุดท้ายอันแสนงดงามของหนังทุกอย่างกลับข้าง ผู้ชมได้กลายเป็นจอภาพยนตร์ที่ถูกผีเข้าสิง ถูกแสงจ้องมองกลับ ถ้าจอภาพยนตร์เป็นเรือนกายของผีที่ชื่อ ‘หนัง’ (เช่นเดียวกับที่โรงหนังเป็นเรือนกายของผีแรงงานคนฉายหนัง) ในที่สุดผู้ชมได้กลายเป็นเรือนกายแทนที่ เมื่อภาพบนจอ ภาพที่เราได้ดูจบไปทาบทับลงบนดวงตาของเรา เรือนร่างของเรา และดึงดูดเราเข้าไปในแสงขาว ในผีอันเรื่อเรืองดังเช่นชื่อภาษาอังกฤษของหนัง และในเวลานั้นเองที่เราและหนังได้กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในหนังที่ว่าด้วยคนฉายหนังซึ่งเป็นส่วนที่ถูกนับ แต่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งตลอดมา
อ้างอิง
[1] https://prachatai.com/journal/2013/02/45514