เมื่อต้นเดือนเมษายน บริษัทเป๊ปซี่โคฟ้องเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งชาวอินเดีย 4 คน ด้วยข้อหาว่าพวกเขาปลูกมันฝรั่งสายพันธุ์เดียวกันกับมันฝรั่งทอดกรอบยี่ห้อเลย์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากบริษัท

ตอนแรกบริษัทเรียกร้องค่าเสียหาย 150,000 เหรียญสหรัฐต่อคน โดยอ้างว่าพวกเขาละเมิดกฎหมายเกี่ยวกับการจัดหามันฝรั่ง แต่ในระหว่างการพิจารณาคดีในศาลที่รัฐคุชราต เมื่อวันที่ 26 เมษายน บริษัทก็เสนอทางออกให้กับเกษตรกร ด้วยการบอกว่า จะยุติการฟ้องร้องทางกฎหมาย ด้วยการให้เกษตรกร 4 คนนี้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเกษตรกรคนอื่นๆ ที่เข้าร่วมโปรแกรมปลูกมันฝรั่งให้กับบริษัท

โฆษกให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นว่า “เราบอกว่าทำไมไม่มาร่วมมือกับเราล่ะ  ทั้งทำงานด้วยกันและปลูกมันฝรั่งพันธุ์อื่นๆ วิธีนี้เราจะยอมความ”

ทนายความของเกษตรกรขอเวลาพิจารณาข้อเสนอ ศาลจะพิจารณาคดีอีกครั้งในวันที่ 12 มิถุนายน

โฆษกของบริษัทเป๊ปซี่โคกล่าวว่า เกษตรกรที่ปลูกมันฝรั่งสายพันธุ์ของบริษัทโดยไม่ได้รับอนุญาต กำลังทำลายผลประโยชน์ของผู้คนจำนวนมากที่ทำงานให้กับบริษัท เพื่อผลิตมันฝรั่งให้กับเลย์ บริษัทให้เมล็ดพันธุ์กับผู้ปลูก และรับซื้อมันฝรั่ง นอกจากนี้ยังบอกว่า บริษัทจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย และพร้อมที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

“เป๊ปซี่โคเป็นบริษัทผู้ซื้อมันฝรั่งรายใหญ่ที่สุดในอินเดีย และเป็นบริษัทแรกที่ทำงานกับเกษตรกรท้องถิ่นเพื่อปลูกมันฝรั่งหลายสายพันธุ์ที่ได้รับความคุ้มครองโดยเฉพาะ”

เรื่องนี้ทำให้เกษตรกรและนักกิจกรรมโกรธมาก ด้วยเหตุผลว่าเป๊ปซี่โคกำลังใช้อิทธิพลของตนเองแทรกแซงอุปทานอาหารของแต่ละประเทศ บทบาทของบริษัทต่างชาติในการผลิตและขายอาหารในอินเดียเป็นประเด็นที่มีการโต้เถียงกันอย่างร้อนแรง โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงเรื่องการตัดต่อพันธุกรรม

สมาคมเกษตรกรและนักกิจกรรมเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียเข้ามาแก้ปัญหา ในจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลระบุว่า สิทธิของเกษตรกรในการปลูกและขายผลิตผลที่ได้รับการลงทะเบียนได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายเกษตรกรรมของอินเดีย ในจดหมายยังระบุว่า บริษัทเป๊ปซี่โคจ้างนักสืบเอกชนไปยังเกษตรกรที่ถูกกล่าวหา ปลอมตัวเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ แอบอัดคลิปวิดีโอและนำเอาตัวอย่างมันฝรั่งออกมา

คาพิล ชาห์ นักกิจกรรมที่ปกป้องสิทธิของเกษตรกรกล่าวว่า นี่เป็นคำถามของอธิปไตยทางเมล็ดพันธุ์และอาหารของอินเดีย เรื่องนี้สร้างความตื่นตระหนกในหมู่เกษตรกร

ก่อนหน้านี้ บริษัทเป๊ปซี่โคถูกวิจารณ์ว่าใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป เช่น ใช้น้ำปริมาณมหาศาล เพื่อผลิตน้ำอัดลม ขณะที่เกิดภัยแล้งในอินเดียเมื่อปี 2017

 

ที่มา:

Tags: , , ,