ในวาระที่เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาของมหกรรมโอลิมปิก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในทัวร์นาเมนต์กีฬาที่สำคัญและทรงอิทธิพลมากที่สุดทัวร์นาเมนต์หนึ่งของโลก และการที่โอลิมปิกจัดโดยเว้นระยะครั้งละ 4 ปี ทำให้มีสถานะของความยิ่งใหญ่ทรงพลังในตัวเอง โดยที่ยังไม่ต้องพูดถึงประเด็นชาตินิยม, การแบกน้ำหนักความกดดันของเหล่านักกีฬา หรือธุรกิจที่เคลื่อนไหวอยู่ภายใต้มหกรรมยักษ์นี้
ไม่เพียงแต่เป็นสนามของนักกีฬาอาชีพ แต่โอลิมปิกยังเป็นสนามให้เหล่าคนทำหนังได้สำรวจมิติชีวิตและการแข่งขันนับร้อยเรื่อง คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee: IOC) ยังผลิตภาพยนตร์ด้วยการร่วมมือกับคนทำหนังจากประเทศเจ้าภาพ ไม่ว่าจะ การ์โลส เซารา (Carlos Saura) คนทำหนังชาวสเปนจาก Cría Cuervos (1976), Flamenco (1995), โคลด ลอลูช (Claude Lelouch) ผู้กำกับชาวฝรั่งเศสที่หลายคนคุ้นหน้าจาก A Man and a Woman (1966), Les Uns et les Autres (1981) และมิลอส ฟอร์แมน (Milos Forman) คนทำหนังฝั่งอเมริกา เจ้าของหนังดังหลายเรื่องอย่าง One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975), Man on the Moon (1999) รวมทั้งล่าสุดกับ นาโอมิ คาวาเสะ (Naomi Kawase) คนทำหนังชาวญี่ปุ่นที่เรารักจาก Sweet Bean (2015) และ Suzaku (1997)
ทว่าพ้นไปจากนี้ เรื่องราวของโอลิมปิก การแข่งขัน และตลอดจนเรื่องราวชีวิตของนักกีฬา ก็เป็นวัตถุดิบชั้นดีที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์หยิบมาสำรวจ เมื่อไม่กี่ปีก่อนเราได้ดู I, Tonya (2017) หนังที่เข้าชิงออสการ์ 3 สาขาและได้กลับมา 1 สาขา คือนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม โดย อัลลิสัน เจนเนย์ (Allison Janney) ในบทแม่เลือดเย็นและซับซ้อน หนังดัดแปลงมาจากชีวิตจริงของ ทอนยา ฮาร์ดิง (แสดงโดย มาร์โกต์ ร็อบบี ได้ชิงสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม) นักสเกตน้ำแข็งแสนอื้อฉาวที่ลอบทำร้ายคู่แข่ง โดยก่อนหน้านี้ ฮาร์ดิงเป็นที่รักของชาวอเมริกันจากการเป็นนักกีฬาหญิงคนแรกของอเมริกาที่ทำท่ากระโดดหมุน 3 รอบหรือ Triple Axel ได้อย่างสมบูรณ์แบบในปี 1991
ทว่าหลังจากความสำเร็จและชื่อเสียง ฮาร์ดิงกลับไม่เคยพาตัวเองไปแตะจุดอันรุ่งโรจน์เดิมได้อีกเลย ทั้งยังถูกเพื่อนนักกีฬาด้วยกันอย่าง แนนซี เคอร์ริแกน (Nancy Kerrigan) ไล่เก็บคะแนนความนิยมระดับหายใจรดต้นคอ ตามมาด้วยการลอบทำร้ายซึ่งทำให้เธออาจหมดโอกาสไปคัดตัวแข่งโอลิมปิก สายตาของคนทั้งประเทศจึงจับจ้องไปยังฮาร์ดิง ในฐานะผู้ต้องสงสัยรายสำคัญที่จะได้ผลประโยชน์จากการที่เคอร์ริแกนต้องถอนตัว
I, Tonya เป็นหนังที่ฉายให้เห็นความพินาศของชีวิตนักกีฬา ที่ต้องแบกความกดดันทั้งตัวเอง ครอบครัวและเพื่อนร่วมชาติ หนังจับจ้องไปยังความสัมพันธ์ระหว่างฮาร์ดิงกับแม่ที่เห็นได้ชัดว่า ไม่ใช่แม่ลูกในนิยามทั่วไปนัก เมื่อตัวแม่นั้นทั้งดูถูก กดดัน และผลักไสลูกสาวตัวเองสารพัดด้วยความเชื่อที่ว่า วิธีนี้จะทำให้ฮาร์ดิง ‘ไปได้ไกล’ มากขึ้น บวกกับการแสดงอันแสนจะแม่นยำของเจนเนย์ที่โหมบรรยากาศคุกคาม ไม่เป็นมิตรตลอดเวลา (จะว่าไป สิ่งมีชีวิตเดียวที่เธอเป็นมิตรด้วยคือสัตว์เลี้ยงตัวน้อยในเรื่อง) ขณะที่ร็อบบี ในฐานะนักแสดงนำก็ต้องเรียนสเกตน้ำแข็งเพื่อความสมจริง แต่พ้นไปจากนั้น ฉาก ‘ปล่อยของ’ จริงๆ ของเธอคือฉากร่ำไห้หน้ากระจกอันลือลั่น (และการปล่อยน้ำตาหนึ่งหยดอันงดงาม) รวมทั้งฉากที่เธอสะอึกสะอื้นในชั้นศาลด้วย
หนังฟอร์มฮอลลีวูดอีกเรื่องที่ว่าด้วยโอลิมปิก แต่ไม่ได้พูดถึงตัวนักกีฬาโดยตรงอย่าง I, Tonya กลับกันคือ มันพูดถึงตัวการจัดงานระดับมหกรรมใหญ่ของมวลมนุษยชาติ ผูกโยงกับการก่อการร้ายกับการเมืองระหว่างประเทศ และเป็นหนังที่ผู้กำกับอย่าง สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ไม่ปรากฏตัวในหน้าสื่อเพื่อให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับหนัง ทั้งยังเป็นหนังที่อื้อฉาวจนนักวิจารณ์หลายคนหยิบมาพูดถึงเส้นแบ่งของการเป็นเรื่องจริงและเรื่องแต่ง ซึ่งแน่นอนว่าหนังที่แสนโกลาหลหาก แต่คุณภาพเยี่ยมจนถูกพูดถึงอยู่บ่อยๆ แม้ในอีกหลายปีให้หลังมันออกฉายไปแล้วเช่นนี้คือ Munich (2005) หนังที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเรื่อง Vengeance (1984) โดย จอร์จ โจนาส (George Jonas)
หนังว่าด้วยช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปีที่เยอรมนียังแบ่งเป็นเยอรมนีตะวันออกและตะวันตกอยู่ โดยในปีนั้นเมืองมิวนิกในเยอรมนีตะวันตก เป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกก่อนที่เรื่องราวจะเลวร้าย เมื่อกลุ่มปาเลสไตน์หัวรุนแรงในชื่อ ‘กันยายนทมิฬ’ (Black September Organization) ลอบสังหารนักกีฬาอิสราเอลเสียชีวิต ทั้งยังถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์จนคนดูค่อนโลกเป็นประจักษ์พยานของความโหดร้ายดังกล่าว
ทางการอิสราเอลจึงจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจในชื่อ ‘ปฏิบัติการพระเจ้าพิโรธ’ (Operation Wrath of God) นำโดย แอฟเนอร์ (แสดงโดย อีริก บานา) ชาวอิสราเอลกับสมาชิกหลากสัญชาติอีก 4 คน แต่แทนที่มันจะกลายเป็นหนังล้างบางทั่วไป สปีลเบิร์กกับ โทนี คุชเนอร์ (Tony Kushner) มือเขียนบทคู่บุญที่เป็นชาวยิวด้วยกันทั้งคู่ กลับชวนสำรวจความหมายของปฏิบัติการดังกล่าว เมื่อระหว่างที่ตัวละครค่อยๆ ปฏิบัติภารกิจลับที่ยึดโยงกับความมั่นคงระหว่างประเทศ พวกเขาก็ค่อยๆ สูญเสียตัวตนและเริ่มเชื่อถือในเพื่อนมนุษย์ด้วยกันน้อยลงทุกที
Munich เป็นหนังแสนอื้อฉาวในระดับที่ทำให้สปีลเบิร์กต้องจ้างทนายกันไว้เผื่อว่าจะถูกประเทศใดประเทศหนึ่งฟ้องเอาทีหลัง แน่นอนว่าหลังจากที่ออกฉายและประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้และคำวิจารณ์ ทั้งฝั่งอิสราเอลและปาเลสไตน์ก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตัวหนังว่า ไม่สมจริงหรือบิดเบือนข้อมูล อย่างไรก็ตาม หลังจากระยะเวลาล่วงผ่านมาหลายปี ก็ยังเป็นหนังที่ว่าด้วยโอลิมปิกที่ถูกหยิบมาพูดถึงอยู่เสมอๆ ในแง่ของความแม่นยำในการกำกับ และนัยที่พูดถึงความขัดแย้งกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในมหกรรมกีฬา ซึ่งควรจะเป็นจุดหลอมรวมมนุษยชาติไว้ด้วยกันอย่างโอลิมปิก
ทั้งนี้ใครที่อยากสำรวจประเด็นการเมืองและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโอลิมปิกที่เมืองมิวนิก สามารถดูได้จาก One Day in September (1999) หนังสารคดีโดย เควิน แม็กโดนัลด์ (Kevin Macdonald) ตัวหนังคว้ารางวัลสารคดียอดเยี่ยมจากออสการ์ที่ได้ ไมเคิล ดักลาส (Michael Douglas) มาให้เสียงบรรยายตลอดทั้งเรื่อง โดยหนังสำรวจไปยังเหตุการณ์และบาดแผลจากการลอบสังหารในเมืองมิวนิก มีฟุตเทจสัมภาษณ์ภรรยาผู้เสียชีวิต, ยามาล อัล-กาชีย์ (Jamal Al-Gashey) สมาชิกกลุ่มกันยายนทมิฬชาวปาเลสติเนียนที่รอดชีวิตจากการเอาคืนของอิสราเอล
โดยแม็กโดนัลด์ใช้เวลาเจรจากับอัล-กาชีย์ร่วม 8 เดือน เพื่อขอให้เขามาเป็นส่วนหนึ่งของสารคดีเรื่องนี้ เงื่อนไขหนึ่งของอัล-กาชีย์คือ การนัดพบเจอเพื่อสัมภาษณ์นั้นต้องเป็นในที่ลับในประเทศอาหรับ และแม็กโดนัลด์ต้องเดินทางมาพบเขาเพียงลำพังเท่านั้น (ฟุตเทจในหนังถ่ายทำโดยเพื่อนของอัล-กาชีย์ ไม่ใช่ทีมงานของแม็กโดนัลด์) นอกจากนี้แม็กโดนัลด์ยังใช้ฟุตเทจจากการรายงานข่าวจำนวนมหาศาล เพื่อร้อยเรียงให้เห็นประเด็นความขัดแย้งอันอ่อนไหวที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศ พร้อมกันกับที่แม็กโดนัลด์ก็ฉายความหละหลวมของความปลอดภัยในงาน ทำให้ One Day in September กลายเป็นสารคดีในหนังที่ว่าด้วยโอลิมปิกและการเมืองที่น่าจับตามากที่สุดเรื่องหนึ่งของโลก
ทั้งนี้ตัวหนังฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลหนังเทลลูไรด์ ปีเดียวกันกับที่ Chopper (2000) หนังที่อีริก บานานำแสดงเข้าฉายพอดี เขาจึงมีโอกาสได้ดูสารคดีประเด็นหนักของแม็กโดนัลด์และสนใจขนาดหาหนังสือมาอ่านเพิ่ม ไม่กี่ปีหลังจากนั้น เขาได้รับบทนำใน Munich หนังของสปีลเบิร์กที่เล่าประเด็นนี้เช่นกัน
หากใครเคยดูพิธีเปิดโอลิมปิกที่ลอนดอนปี 2012 น่าจะจำฉากที่ โรวาน แอตคินสัน (Rowan Atkinson) นักแสดงชาวอังกฤษที่หลายคนรู้จักและรักจากบทบาท มิสเตอร์บีน ในซิตคอม Mr. Bean (1990–1995) วิ่งเลียบอยู่ริมทะเล ซึ่งเป็นฉากที่อ้างอิงมาจาก Chariots of Fire (1981) หนังสัญชาติสหราชอาณาจักรที่เข้าชิงออสการ์ 7 สาขาและคว้ากลับบ้านมาได้ 4 สาขา รวมทั้งสาขาภาพยนตร์แห่งปีกับดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี (ซึ่งแทร็กดังกล่าวก็บรรเลงในงานโอลิมปิกที่ลอนดอนเช่นกัน)
หนังดัดแปลงมาจากชีวิตจริงของ อับราฮัม ฮาโรลด์ มาสโลว์ (แสดงโดย เบน ครอสส์) กับ อีริก ลิดเดลล์ (แสดงโดย เอียน คาร์เลสัน) นักกรีฑาที่เข้าร่วมแข่งโอลิมปิกที่ปารีสในปี 1924 มาสโลว์เป็นนักกีฬาเชื้อสายยิว เขาจึงรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนนอกของสังคมตลอดเวลา มิหนำซ้ำยังถูกผู้คนเหยียดหยามอยู่เนืองๆ ทั้งชีวิตอันเนื่องมาจากเชื้อชาติของเขา และเพื่อจะผลักตัวเองให้หลุดพ้นจากหุบเหวของความแปลกแยกนี้ มาสโลว์จึงต้องทำทุกทางเพื่อคว้าเหรียญทองกลับมายังสหราชอาณาจักรให้ได้ ขณะที่ลิดเดลล์เป็นชาวสกอตแลนด์ที่ฝันอยากเป็นมิชชันนารีเผยแผ่ศาสนาคริสต์ แต่ความสามารถด้านการวิ่งทำให้เขาจับพลัดจับผลูกลายมาเป็นนักกีฬาอันดับต้นๆ และต้องร่วมลงแข่งในนามสหราชอาณาจักร สำหรับลิดเดลล์การคว้าเหรียญทองไม่ได้มีไว้เพื่อประเทศหรือตัวตน แต่เป็นไปเพื่อเกียรติยศของพระเจ้าที่เขาศรัทธา
ข้อขัดแย้งที่เราพบอยู่ตลอดทั้งเรื่องคือ อุปสรรคด้านความเชื่อและเชื้อชาติของนักกีฬาทั้งสอง มาสโลว์ปรารถนาอยากวิ่งเร็วขึ้น เพื่อให้ตัวเองติดทีมชาติและคว้าชัยชนะกลับมาเพื่อเป็นที่รัก ขณะที่ลิดเดลล์ที่วิ่งเร็วตามธรรมชาตินั้นพร้อมทุ่มเทชีวิตให้ศาสนามากกว่า (เขาปฏิเสธคัดตัวระยะสั้น เนื่องจากวันคัดตัวตรงกับวันอาทิตย์ซึ่งเขาต้องไปโบสถ์) นำไปสู่การสับเปลี่ยนประเภทการลงแข่งวิ่งที่ทำให้ทั้ง2 คน ต้องอุทิศชีวิตให้การกีฬามากกว่าเดิมและกลายเป็นหนังที่ ‘บันดาลใจ’ คนดูอย่างที่สุด เพราะมันพาคนดูไปยังนัยสูงสุดของการจัดการแข่งขันกีฬา นั่นคือการว่าด้วยความเป็นมนุษย์และภราดรภาพที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น
Children of Glory (2006) หนังสัญชาติฮังการีโดยคนทำหนังหญิง คริสตีนา โกดา (Krisztina Goda) จับจ้องไปยังเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของฮังการีหลังการปฏิวัติปี 1956 เมื่อประชาชนชาวฮังการีลุกขึ้นมาก่อจลาจล เพื่อต่อต้านระบบการปกครองของสหภาพโซเวียต โดยนับเป็นการต่อต้านการปกครองของโซเวียตในนามสหภาพเป็นครั้งแรก ยังผลให้สหภาพส่งกองกำลังเข้ามาปราบปรามจนการปฏิวัติเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไป กระนั้นเชื้อเพลิงของการปฏิวัติก็ส่งผลต่อหน้าการเมืองฮังการีในอีกหลายปีให้หลังจนสหภาพโซเวียตล่มสลายลง
ตัวหนังฉายภาพการแข่งขันโปโลน้ำระหว่างฮังการีกับโซเวียตรัสเซียในการแข่งโอลิมปิกที่เมืองเมลเบิร์นปี 1956 ซึ่งจัดในระยะเวลาหลังการปฏิวัติถูกปราบลงเพียงไม่กี่สัปดาห์ ชาโบ (แสดงโดย อีวาน เฟนโย) เป็นกัปตันทีมกีฬาโปโลน้ำจากมหาวิทยาลัยบูดาเปสต์ ก่อนการแข่งขันมาถึง เขาต้องเลือกระหว่างอยู่ที่ฮังการีเพื่อปฏิวัติ หรือออกเดินทางไปยังออสเตรเลียเพื่อลงแข่งในนามทีมชาติ กระทั่งถึงที่สุดแล้ว เขากับเพื่อนร่วมทีมตัดสินใจออกเดินทางไปแข่งขัน เพื่อจะต่อสู้กับโซเวียตรัสเซียในนามของกีฬา รวมถึงเป็น ‘ภาพแทน’ ความอหังการ์และเสรีภาพของชาวฮังการี
ในเหตุการณ์จริง การแข่งขันนัดนั้นถูกขนานนามว่าเป็น ‘แมตช์สีเลือด’ (Blood in the Water) เมื่อฮังการีเอาชนะโซเวียตไปได้ 4-0 เออร์วิน ซาร์ดอร์ ( Ervin Zádor) ผู้เล่นชาวฮังการีถูก วาเลนติน โปรโคพอฟ (Valentin Prokopov) ผู้เล่นชาวโซเวียตชกเข้าที่เบ้าตาจนเกิดแผลแตกเหนือคิ้ว ทำให้หลายคนขนานนามว่า เป็นการแข่งขันโปโลน้ำที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง ยังไม่นับว่า เวลานั้นผู้เล่นทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีแรงขับทางการเมืองในใจ โดยเฉพาะฝั่งฮังการีที่นักกีฬาส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา (ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวเรือสำคัญของการก่อการปฏิวัติ), คนทำงานโรงงานและชาวบ้านทั่วไป ซึ่งคนเหล่านี้ล้วนลงถนน ทำระเบิดมือโมโลตอฟปาใส่รถถังฝั่งโซเวียตมาแล้วทั้งสิ้น
การแข่งโปโลน้ำครั้งนี้จึงถูกวิเคราะห์ว่า เต็มไปด้วยแรงกระหายเอาชัยจากฝั่งฮังการี นอกจากนี้ การแข่งขันนัดดังกล่าวยังถูกหยิบไปทำเป็นสารคดีในชื่อ Freedom’s Fury (2006) โดยเป็นหนังสัญชาติสหรัฐฯ ที่ได้รับคำชมมากที่สุดเรื่องหนึ่ง โดยหนังได้ เควนติน ทารันติโน (Quentin Tarantino) กับลูซี ลิว (Lucy Liu) ผู้กำกับและคนทำหนังที่โคจรมาเจอกันในการ่วมผลิต Kill Bill (2003)
สารคดีอีกเรื่องที่ถือเป็นหมุดหมายของการบันทึกภาพกีฬา ทว่าก็แสนน่ากระอักกระอ่วนเมื่อมันมาจากความอหังการของนาซีเยอรมันในยุคที่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ยังเรืองอำนาจ คือ Olympia (1938) โดย เลอนี ไรเฟนชตัล (Leni Riefenstahl) คนทำหนังที่บันทึกการแข่งขันโอลิมปิกปี 1936 ที่เบอร์ลิน หนังแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ Olympia 1. Teil — Fest der Völker (เทศกาลแห่งชาติ หรือ Festival of Nations) กับ Olympia 2. Teil — Fest der Schönheit (เทศกาลแห่งความงาม หรือ Festival of Beauty) ฉากหลังของการทำหนังอยู่ที่พรรคนาซีหวังใช้มหกรรมโอลิมปิกเป็นสนามใหญ่ ในการโฆษณาชวนเชื่อให้ชาติและนโยบายพรรค
ด้านหนึ่งจึงมีวาระทางการเมืองที่โดดเด่นมาตั้งแต่เริ่ม ด้วยการถ่ายทำเหล่านักกีฬาชาวเยอรมันให้ดูยิ่งใหญ่ แข็งแกร่งไปสู่สายตาชาวโลก ซึ่งงานภาพของไรเฟนชตัลก็ทำงานสอดรับกับเป้าประสงค์ของพรรคอย่างถึงที่สุด เมื่อตำแหน่งการวางกล้อง (การถ่ายมุมช้อนขึ้น เพื่อขับให้เห็นความยิ่งใหญ่และมัดกล้ามเนื้อของนักกีฬา), การตัดต่อที่ชวนให้รู้สึกถึงความอลังการของมหกรรม, การโคลสอัพแบบใกล้ชิดสุดขีด อีกด้านหนึ่งหนังจึงเป็นหลักฐานบาดแผลทางประวัติศาสตร์ และเป็นหนึ่งในเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ เท่ากันกับที่มันสำแดงพลังทางศิลปะการเล่าเรื่องที่ยากจะปฏิเสธ
ในปีนั้น เจสซี โอเวนส์ (Jesse Owens) นักกรีฑาผิวดำชาวอเมริกันเข้าร่วมลงแข่งด้วย เขาหักหน้าฮิตเลอร์ผู้เชื่อว่า ชนชาติผิวขาวอารยันนั้นเหนือกว่าชนชาติอื่นทั้งมวลด้วยการคว้าเหรียญทองกลับมาให้ชาติได้ 4 เหรียญ ทั้งยังสร้างสถิติใหม่จากการแข่งขันด้วย ในหนังชีวประวัติของเขาอย่าง Race (2016) มีฉากที่ไรเฟนชตัลทุ่มเถียงกับเจ้าหน้าที่นาซี ว่าด้วยการถือสิทธิในการถ่ายทำโอเวนส์ในหนังของเธอเอง แม้จะขัดต่อเป้าประสงค์ของพรรคที่หวังอยากเชิดชูคนขาวก็ตาม
Tags: olympic paris, Munich, One Day in September, Chariots of Fire, Children of Glory, โอลิมปิก, Olympia, I, Tonya, People Also Watch, หนังโอลิมปิก