Mission: Impossible – Dead Reckoning Part One (2023) หนังแฟรนไชส์สายลับที่กำกับโดย คริสโตเฟอร์ แม็กควอร์รี  (Christopher McQuarrie) เพิ่งจะลงโรงฉายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นหนังลำดับที่เจ็ดของแฟรนไชส์ และกำลังจะมีลำดับที่แปดตามมากลางปีหน้าในชื่อ Dead Reckoning Part Two (2024)

ตัวหนังยังคงจับจ้องไปยังชีวิตของ อีธาน ฮันต์ สายลับจากหน่วย Impossible Missions Force (IMF) ที่แสดงโดย ทอม ครูซ (Tom Cruise) เจ้าเก่าเจ้าเดิม ผู้กลับมารับบทบาทอันเป็นที่รักซึ่งเขาครอบครองมาตั้งแต่ภาคแรกในปี 1996 ซึ่งคราวนี้ถูกรัฐฯ มอบหมายให้ตามล่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) ปริศนาในชื่อ The Entity ที่เข้าถึงข้อมูลได้ทุกระดับ ทั้งยังมีความสามารถในการสร้างและทำลายอย่างที่มนุษย์ไม่สามารถเคยทำได้ 

โดยแก่นแท้แล้ว Dead Reckoning Part One ไม่ได้เล่นเงื่อนปมซับซ้อน แกนหลักของมันคือการตั้งคำถามถึงขุมอำนาจมหาศาลที่หากตกไปอยู่ในมือใครคนใดคนหนึ่งหรือรัฐฯ ชาติใดชาติหนึ่ง ย่อมนำพาหายนะมาให้อย่างยากที่จะเลี่ยง ทว่าสิ่งที่ทำให้ตัวหนังโดดเด่นขึ้นมา คือบทสนทนาหักเหลี่ยมเฉือนคมจนน่าจับตากว่าฉากแอ็กชัน ซึ่งด้านหนึ่ง ถือเป็นอีกหนึ่งในจุดขายของแฟรนไชส์นี้ นอกเหนือจากการทุ่มเทให้การแสดงแบบหมดหน้าตักของ ทอม ครูซ ในทุกภาค

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ว่าด้วยการคุกคามของปัญญาประดิษฐ์ใน Dead Reckoning Part One ดูจะสอดรับกันกับสถานการณ์การนัดหยุดงานประท้วงในฮอลลีวูดเวลานี้พอดี เมื่อเหล่านักเขียนบทร่วมตัวกันสไตรก์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2023 เพื่อเรียกร้องค่าแรงที่เป็นธรรม และต่อต้านการที่สตูดิโอจะใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาเขียนหรือเกลาบทแทนพวกเขา ลากยาวมาจนถึงสมาคมนักแสดงและศิลปิน (SAG-AFTRA) รวมตัวกันประท้วง กรณีที่สตูดิโอมีแนวโน้มจะใช้ AI มาเป็นนักแสดงแทนเพื่อลดต้นทุนค่าตัว (อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการคาดการณ์ล่วงหน้าเท่านั้น ยังไม่มีสตูดิโอใดดำเนินการในลักษณะนี้เต็มตัว) และในเวลาไล่เลี่ยกันนี้ หนังที่กำลังจะออกฉายอย่าง Heart of Stone (2023) และ The Creator (2023) ก็ว่าด้วยอันตรายของปัญญาประดิษฐ์ที่มีอำนาจคุกคามมนุษยชาติเช่นกัน

กลับมาที่ Dead Reckoning Part One แม็กควอร์รี ได้เทียบเคียงสงครามเย็นกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กลายมาเป็น ‘ความกลัว’ รูปแบบใหม่ของศตวรรษที่ 21 นี้ว่า “ตอนผมเอาเรื่องนี้ไปคุยกับทอม ผมบอกเขาว่า ‘สักสองสามปีก่อนหน้า ไอเดียนี้คงล้ำไปสำหรับหลายๆ คน’ เพราะเราต้องอธิบายอะไรต่อมิอะไรมากมายให้คนดู 

“ตอนผมยังเด็ก สงครามเย็นให้ความรู้สึกว่าเป็นของจริงมาก เกิดขึ้นอยู่จริง เราล้วนตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว เชื่อเรื่องระเบิดปรมาณูที่จะเผาผลาญทุกสิ่ง และเมื่อถึงจุดใดจุดหนึ่งก็อาจมีสงครามนิวเคลียร์ขึ้นก็ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อคุณไปดูหนังที่พูดถึงสงครามเย็น ก็ไม่ต้องมีการเกริ่นนำเพื่อบอกถึงความเป็นภัยคุกคามของสงครามให้คุณรู้หรอก คุณรู้สึกถึงมันอยู่แล้ว มันเป็นสิ่งที่ติดตัวคุณไปตอนที่คุณไปดูหนัง

“ดังนั้นผมเลยบอกทอมว่า ตอนนี้คนมีอะไรติดอยู่กับตัวเวลาไปดูหนังล่ะ พวกเขาไม่ได้มีสงครามเย็นติดตัวไปอีกแล้ว ไม่ใช่สงครามต่อต้านการก่อการร้าย (War on Terror) แต่มีบางอย่างที่ใหม่กว่านั้น พวกเขาเครียดหรือกังวลเรื่องอะไรกัน และผมคิดว่า แกนของความหวาดกลัวนั้นว่าด้วยเรื่องเทคโนโลยี กับเรื่องที่มันเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตพวกเราอย่างไร” แม็กควอร์รีกล่าว

ทั้งนี้ การมอบบทบาทให้ปัญญาประดิษญ์ (AI) กลายเป็นวายร้าย ตัวเรื่องก็ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับฮอลลีวูด มีหลายคนวิเคราะห์เหตุผลที่ AI มักกลายเป็นตัวละครดำมืดอยู่เสมอนั้นเพราะตัวหนังมักเล่นกับ ‘ความเป็นอื่น’ เมื่อปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไม่ใช่มนุษย์ การที่มีความคิดอ่านเป็นของตัวเองในวันหนึ่ง จึงถือเป็นภัยคุกคามในลักษณะเดียวกับที่มนุษย์ต่างดาวมักต้องรับบทผู้ร้าย นอกจากนั้น AI ยังมาพร้อมภาพลักษณ์ความเฉลียวฉลาดที่มนุษย์ยากจะไล่ทัน ความไร้หัวใจหรือห้วงอารมณ์ที่ทำให้กลายเป็นเครื่องจักรสังหารอำมหิตได้โดยง่าย (และไม่ต้องเรียกร้องการเขียนคาแรกเตอร์ตัวละครให้มีปมซับซ้อน) ทั้งหมดนี้ ปัญญาประดิษฐ์จึงมักถือครองภาพความเป็นตัวละครชั่วช้าอยู่เนืองๆ

ดังเช่นใน 2001: A Space Odyssey (1968) หนังชิงออสการ์สี่สาขารวมทั้งกำกับยอดเยี่ยมและเขียนบทยอดเยี่ยมของ สแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) ว่าด้วยเรื่องของ เดวิด (เคียร์ ดูลเลอา) นักบินอวกาศที่ถูกส่งไปทำภารกิจสำรวจอวกาศบนยานโอดิสซีย์ ภายหลังมีการค้นพบแท่งหินลึกลับบนดวงจันทร์ กับร่องรอยบนดาวเสาร์ที่ชี้ชัดว่า เคยเกิดปรากฏการณ์แท่งหินนี้มาก่อนแล้ว และหนึ่งในลูกเรือบนยานโอดิสซีย์คือ HAL 9000 ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผู้คอยดูแล ตรวจเช็กความเรียบร้อยต่างๆ บนยานอวกาศ ทั้งยังเป็นเพื่อนเล่นและเพื่อนคุยคลายเหงาให้เหล่าลูกเรือ รวมทั้งเดวิดด้วย

อย่างไรก็ดี หนังไซ-ไฟ (Sci-Fi) เรื่องนี้ มุ่งวิพากษ์วิจารณ์ถึงเนื้อตัวความเป็นมนุษย์และเหตุผลของการดำรงอยู่ จนกลายเป็นหนึ่งในหนังที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันในหมู่คนดูมากที่สุดเรื่องหนึ่งของคูบริก ทว่าแก่นที่ว่าด้วยความเป็นมนุษย์นั้น ตัวละครสำคัญคือ HAL 9000 หุ่นยนต์ที่เดินทางมาพร้อมทุกคนและเก็บงำภารกิจลับบางอย่างไว้ ความเก่งกาจของคูบริกคือการทำให้ตัวละครซึ่งดูจะเป็นฉากหลังของเรื่องอย่าง HAL 9000 พลิกกลับมามีบทบาทสำคัญถึงขั้นชี้เป็นชี้ตายชะตากรรมตัวละครในเรื่อง สร้างความหวาดกลัวและเล่นกับความไม่รู้ของคนดูที่มีต่อปัญญาประดิษฐ์ (AI) เจ้าของไฟสีแดงฉาน บวกกับเสียงอันราบเรียบยิ่งโหมให้บรรยากาศน่าขนลุก จนไม่แปลกใจหากว่า HAL 9000 จะถูกโหวตให้เป็นวายร้ายเจ้าประจำของโลกภาพยนตร์อยู่เนืองๆ

 

ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เริ่มเข้ามามีบทบาทคุกคามมนุษยชาติมากขึ้นเรื่อยๆ และเห็นได้ชัดใน Terminator 2: Judgment Day (1991) หนังที่กวาดรายได้ถล่มทลายไปที่ 520 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ของ เจมส์ แคเมอรอน (James Cameron) หลังจากที่ The Terminator (1984) ที่ว่าด้วยหุ่นยนต์จากโลกอนาคตย้อนเวลากลับมาเพื่อฆ่าหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งจะให้กำเนิด ‘ชายผู้เป็นความหวัง’ ในภายภาคหน้า ประสบความสำเร็จสุดขีด ทั้งยังสร้าง อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ (Arnold Schwarzenegger) ให้มีภาพจำเป็น T-800 หุ่นยักษ์นักทำลายล้าง ในภาคต่อนั้นแคเมอรอนยังคงเล่นอยู่กับการย้อนเวลาเช่นเคย เพียงแต่ว่าคนเหล็กย้อนกลับมาเพื่อปกป้องชายผู้เป็นความหวังที่เพิ่งจะแตกหนุ่มในนาม จอห์น คอนเนอร์ (เอ็ดวาร์ด เฟอร์ลอง) จากการมุ่งทำลายของ T-1000 หุ่นยนต์รุ่นใหม่เอี่ยมจากอนาคตที่ถูกส่งกลับมาเพื่อสังหารจอห์น คอนเนอร์

อย่างไรก็ตาม ศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดหาใช่ T-1000 แต่อย่างใด เพราะภัยอันตรายที่แท้จริงคือ สกายเน็ต (Skynet) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในโลกอนาคตที่ควบคุมทุกอย่างได้เบ็ดเสร็จ รวมทั้งเหล่าหุ่นยนต์ล้ำยุคทั้งหลาย และหวังล้างบางเผ่าพันธุ์มนุษยชาติทั้งมวล ซึ่งสกายเน็ตทำได้สำเร็จแน่หากฝั่งมนุษย์ไม่มีผู้นำที่ชื่อ จอห์น คอนเนอร์ และเพื่อจะตัดไฟแต่ต้นลม ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เจ้านี้จึงตัดสินใจส่งหุ่นยนต์กลับมาในอดีตเพื่อสังหารคอนเนอร์ตั้งแต่วัยเด็กเสีย ขณะที่คอนเนอร์ในวัยผู้ใหญ่ก็รู้เท่าทันแผนการอีกฝ่าย จึงชิงส่งคนเหล็กรุ่นเก่ากว่าอย่าง T-800 มาปกป้องตัวเองตอนวัยรุ่นด้วย

เช่นเดียวกับปัญญาประดิษฐ์ใน I, Robot – (2004) หนังไซ-ไฟที่เล่นกับเงื่อนไข ‘กฎสามข้อของหุ่นยนต์’ ของ ไอแซก อซิมอฟ (Isaac Asimov) หนึ่งในนักเขียนวรรณกรรมวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันที่ได้รับการยกย่องว่ายิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล โดยกฎสามข้อดังกล่าวนั้นได้แก่ 

1.) หุ่นยนต์ไม่อาจทำร้ายมนุษย์ หรือปล่อยให้มนุษย์ตกอยู่ในอันตรายได้

2.) หุ่นยนต์ต้องเชื่อฟังคำสั่งที่ได้รับจากมนุษย์ ยกเว้นคำสั่งดังกล่าวขัดแย้งกับกฎข้อแรก

3.) หุ่นยนต์ต้องรักษาสถานะตัวตนของตัวเอง ตราบเท่าที่การกระทำดังกล่าวนี้ไม่ขัดแย้งต่อกฎข้อที่หนึ่งหรือข้อที่สอง

ตัวหนังว่าด้วยโลกอนาคตที่หุ่นยนต์มีหน้าที่รับใช้มนุษย์ โดยวางเงื่อนไขตามกฎทั้งสามข้อ กระทั่งเกิดเหตุช็อกโลกขึ้นเมื่อ แลนน์นิง (เจมส์ ครอมเวลล์) นักวิทยาศาสตร์ผู้เป็นเสมือนบิดาของหุ่นยนต์ทั้งมวล ฆ่าตัวตายอย่างเป็นปริศนา สปูนเนอร์ (วิลล์ สมิธ) นักสืบที่ต่อต้านการใช้หุ่นยนต์ เข้ามารับหน้าที่สืบสวนคดีนี้ และสันนิษฐานว่า หุ่นยนต์รุ่นใหม่ที่ชื่อ ซอนนี อาจเป็นผู้ฆาตกรรมแลนน์นิงก็เป็นได้ และความสนุกคือการหาคำตอบที่ว่า หากเป็นดังที่สปูนเนอร์สันนิษฐานจริง ซอนนีจะสังหารแลนน์นิงอย่างไรโดยไม่ให้ขัดต่อกฎสามข้อ หรือหากว่าแลนน์นิงปรารถนาจะฆ่าตัวตายจริงๆ โดยให้ซอนนีช่วยเหลือ หุ่นยนต์จะสนองตอบต่อความต้องการของมนุษย์อย่างไรเมื่อมันขัดกับกฎข้อใดข้อหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ความซับซ้อนที่แท้จริงเกิดขึ้นเมื่อสปูนเนอร์สาวความลับลงไปจนพบว่า ผู้ที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของฝูงหุ่นยนต์ทุกประการคือ VIKI สุดยอดปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่พัฒนาตัวเองถึงขีดสุด และเห็นว่าหากปล่อยให้มนุษยชาติใช้ชีวิตด้วยตัวเองต่อไปมีแต่จะทำให้เกิดอันตรายแก่เผ่าพันธุ์ VIKI จึงตั้งใจจะปกป้องมนุษย์ด้วยการให้หุ่นยนต์ในการปกครองของตัวเองเป็นผู้ดูแลมนุษย์ให้อยู่ในกฎระเบียบอีกทีหนึ่ง นำมาซึ่งจลาจลเต็มรูปแบบ และเป็นเบื้องหลังการเสียชีวิตของแลนน์นิง

หรือกระทั่งหนังแอนิเมชันอย่าง WALL·E (2008) ที่แม้จะชูประเด็นเรื่องสภาพแวดล้อมเป็นหลัก แต่อีกด้านหนึ่งยังพูดถึงการค่อยๆ สูญเสียความเป็นมนุษย์ของมนุษย์ด้วยกันเองภายใต้การดูแลปกครองของระบบ AI ตัวแอนิเมชันว่าด้วยเจ้า ‘วอลล์-อี’ หุ่นยนต์กำจัดขยะตาเศร้ากับเพื่อนรักที่เป็นแมลงสาบตัวจิ๋ว สิ่งมีชีวิตเดียวที่เหลือรอดอยู่บนดาวเคราะห์โลกหลังมนุษย์อพยพหนีไปใช้ชีวิตอยู่บนยานยักษ์ เนื่องจากโลกไม่เอื้อให้ใช้ชีวิตได้อีกต่อไป จนวันหนึ่ง วอลล์-อีได้เจอกับ ‘อีฟ’ หุ่นยนต์สำรวจรุ่นใหม่ล่าสุดจากยานมายังโลก และจับพลัดจับผลูลากเอาวอลล์-อีกลับขึ้นไปบนยานอวกาศด้วยกัน

หนังฉายให้เห็นภาพมนุษย์บนยานที่ใช้ชีวิตร่วมกันกับหุ่นยนต์ แต่ก็อยู่ในสภาพที่ชวนสังเวชใจ เพราะแม้มนุษย์จะมีหุ่นยนต์คอยรับคำสั่งต่างๆ โดยละเอียด สามารถเดินทางไปมาทั่วยานได้ด้วยการนั่งเฉยๆ บนเก้าอี้ สนทนาต่อกันและกันผ่านจอคอมพิวเตอร์แม้จะนั่งข้างๆ กันจนไม่ต้องขยับคอ แต่กลายเป็นว่าหุ่นยนต์ถือสิทธิ์ในการตัดสินใจปัญหาต่างๆ ให้มนุษย์ทุกข้อ จนมนุษย์ค่อยๆ สูญเสียวิธีคิด ล่องลอยอยู่บนความสะดวกสบายที่เหล่าหุ่นยนต์ป้อนให้ กระทั่งเมื่อวอลล์-อีเข้ามาในยานพร้อมต้นไม้ อันเป็นเสมือนภาพแทนของความหวัง ว่ามนุษย์ยังสามารถกลับไปใช้ชีวิตที่โลกได้ ศึกระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์จึงเริ่มต้นขึ้น เมื่อ ‘ออโต’ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผู้เป็นเสมือนหัวหน้าหุ่นยนต์ทั้งมวลยึดมั่นกับคำสั่งเดิมว่า มนุษย์จำเป็นต้องละทิ้งโลก ห้ามไม่ให้หวนกลับไปอีก มันจึงทำทุกทางเพื่อยื้อยุดไม่ให้มนุษย์กลับไป แม้จะต้องทะเลาะกับมนุษย์บนยานที่เคลื่อนไหวลำบาก เทอะทะ และไม่กล้าตัดสินใจอะไรเองก็ตาม

เรื่องของปัญญาประดิษฐ์ (AI) อาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับอุตสาหกรรมฮอลลีวูด ทว่า เมื่อเวลาล่วงผ่านไป AI กลับดูเป็นวายร้ายร่วมสมัยในยุคนี้ และอาจจะเป็นดังที่แม็กควอร์รีกล่าวไว้ว่า นี่คือความหวาดหวั่นที่คนรุ่นนี้มีติดตัวไว้ และมากไปกว่านั้น มันยังอยู่รอบตัว ใกล้ตัวเสียจนยากจะสลัดความกลัวที่ว่านี้ออกไปได้โดยง่ายด้วย

Tags: , , , , , , , ,