การหยิบจับเอาวรรณกรรมมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์นั้น ถือเป็นเรื่องสามัญที่เห็นได้ทั่วไป มีการสำรวจคร่าวๆ ว่า นักเขียนที่ ‘เนื้อหอม’ มีผลงานถูกจับมาทำเป็นหนังมากที่สุดคือ วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) กวีและนักเขียนบทละครชาวอังกฤษในต้นศตวรรษที่ 17 และเรายังคุ้นเคยกับหนังที่ดัดแปลงมาจากงานเขียนของ อกาธา คริสตี้ (Agatha Christie), สตีเฟน คิง (Stephen King) ไปจนถึง นิโคลัส สปาร์กส์ (Nicholas Sparks) 

สำหรับ ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) นักเขียนสัญชาติญี่ปุ่นเองก็นับเป็นหนึ่งในคนเขียนหนังสือที่เนื้อหอมเช่นกัน ผลงานของมูราคามิได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นๆ นอกเหนือจากญี่ปุ่นอีกหลายภาษา ประกอบกับที่ตัวงานของเขานั้นร่วมสมัย มักเล่าเรื่องความเปลี่ยวเหงาเคว้งคว้างของคนเมือง ซึ่งไม่ได้มีลักษณะจำกัดแค่ ‘ความเป็นญี่ปุ่น’ แต่มีความเป็นสากลที่หลายคนทั่วโลกร่วมรู้สึกได้ดี

Blind Willow, Sleeping Woman (2022) คือหนังแอนิเมชันลำดับล่าสุดที่ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นหกเรื่องของมูราคามิที่กำกับโดย ปิแอร์ โฟลเดส (Pierre Földes) จับจ้องไปยังช่วงเวลาหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปี 2011 ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นราย และตัวละคร ‘โคมุระ’ พบว่าวันดีคืนดี ‘เคียวโกะ’ เมียรักของเขาก็ขอเลิกราด้วยการเดินหายออกไปจากบ้านและไม่กลับมาอีก 

ทิ้งไว้เพียงข้อความสั้นๆ ว่าเขาไม่ได้ผิดอะไร เพียงแค่เขา ‘ว่างเปล่า’ ไปสำหรับเธอแค่นั้น

ในทางกลับกัน เคียวโกะก็ออกเดินทางไปยังสถานที่แห่งใหม่ รำลึกความหลังเมื่อครั้งที่เธอ ‘ขอพร’ กับเจ้าของร้านภัตตาคาร ซึ่งดูจะส่งผลต่อชีวิตของเธอในปัจจุบัน และ ‘คาตากิริ’ ชายวัยกลางคนที่ก้มหน้าก้มตาทำงานเป็นพนักงานบริษัทเดิมๆ โดยไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเลยอยู่เจ็ดปี มิหนำซ้ำ หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรง เขาก็มีแนวโน้มจะโดนให้ออกจากงานอีก และหากว่านี่ยังฟังไม่แย่พอ คืนหนึ่งเขายังพบว่ามี ‘กบยักษ์’ โผล่มาหาที่ห้อง ร้องขอให้เขาไปช่วยกันสู้เจ้าหนอนยักษ์ที่อยู่ใต้ดิน อันจะเป็นต้นธารของแผ่นดินไหวใหญ่อีกครั้ง!

ด้านหนึ่ง หนังจึงพาคนดูสำรวจภาวะล่มสลายของตัวละครที่ต้องกระเสือกกระสนมีชีวิตหลังโศกนาฏกรรมใหญ่ การต้องอยู่ท่ามกลางการรายงานข่าวผู้เสียชีวิต ข่าวผู้คนสูญหายและความเจ็บปวดต่างๆ ยิ่งทำให้โลกความจริงกลายเป็นเรื่องเหลือทน ตัวละครพาตัวเองออกเดินทาง ล่องลอยเคว้งคว้าง เพราะหาหลักยึดจับไม่ได้ 

อันที่จริง เหตุการณ์แผ่นดินไหวปี 2011 ก็ชวนให้นึกถึงหนังยาวอีกเรื่องที่ดัดแปลงมาจากงานเขียนของมูราคามิอย่าง Drive My Car (2021) หนังสัญชาติญี่ปุ่นกำกับโดย ฮามากุจิ ริวสุเกะ (Ryusuke Hamaguchi) ที่คว้ารางวัลหนังต่างประเทศยอดเยี่ยมของออสการ์และเข้าชิงอีกสามสาขาคือหนังยอดเยี่ยม, กำกับยอดเยี่ยมและดัดแปลงบทยอดเยี่ยม รวมทั้งส่งเขาชิงรางวัลปาล์มทองคำและคว้ารางวัลเขียนบทยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ด้วย

ก่อนหน้ามากำกับหนังเรื่องนี้ ฮามากุจิเคยทำสารคดีสำรวจญี่ปุ่นหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว 2011 ยังผลให้เขาต้องนั่งรถเพื่อออกเดินทางไปยังพื้นที่เกิดเหตุหลายแห่ง และฮามากุจิพบว่า การต้องใช้เวลาอยู่ในพื้นที่เล็กแคบของรถยนต์กับผู้ช่วยถ่าย ทำให้เขาสัมผัสได้ถึงบรรยากาศบางอย่าง ไม่ว่าจะความเงียบ เสียงเครื่องยนต์ หรือความเป็นส่วนตัวบางอย่าง

อันเป็นสิ่งที่เราต่างเห็นได้จากตัวหนังซึ่งดัดแปลงมาจากเรื่องสั้น Men Without Women ของมูราคามิ ว่าด้วยเรื่อง ‘ยูสึเกะ’ (แสดงโดย ฮิเดโตชิ นิชิจิมะ) ผู้กำกับละครเวทีที่ภรรยาซึ่งนอกใจเขาตายจากไปกระทันหัน เขาออกเดินทางไปฮิโรชิมาด้วยรถ Saab 900 Turbo คู่ใจเพื่อไปกำกับละครเวทีซึ่งเต็มไปด้วยนักแสดงหลากเชื้อชาติ หลายภาษา และด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย เจ้าหน้าที่จากละครเวทีจึงเสนอให้ ‘วาตาริ’ (แสดงโดย โทโกะ มิอุระ) หญิงสาวมาดขรึม มาเป็นคนขับรถให้ และเรื่องราวยิ่งชวนสับสนเมื่อเขาพบว่า ‘โคจิ’ (แสดงโดย มาซากิ โอคาดะ) นักแสดงหนุ่มที่เข้ามาร่วมแสดงละครเวทีของเขานั้น เป็นชู้รักของเมียผู้จากไป

แต่ไหนแต่ไร เป็นที่รู้กันว่างานของมูราคามินั้นยากต่อการดัดแปลงเป็นงานภาพ เพราะมันมักเต็มไปด้วยบรรยากาศความเหนือจริง ความอ้างว้างในจิตใจของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมูราคามิมักถ่ายทอดเรื่องราวผ่านสรรพนามบุคคลที่หนึ่ง ยิ่งทำให้ผู้อ่านรู้สึกถึงสภาวะของตัวละครได้โดยง่าย

ขณะที่งานภาพยนตร์ไม่มีข้อได้เปรียบเช่นนั้น (เว้นแต่จะใช้เทคนิคแบบ Voice Over) อย่างไรก็ดี Drive My Car เก็บเกี่ยวเอาความเป็นมูราคามิได้หมดจด ทั้งตัวละครที่หมกมุ่นกับบางสิ่งบางอย่าง ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ต่อคนรักและครอบครัว ซึ่งสร้างหลุมเคว้งคว้างในหัวใจ ตลอดจนการถมทับหลุมดำนั้นด้วยความสัมพันธ์ใหม่ หรืออยู่กับมันไปอย่างเข้าอกเข้าใจและประนีประนอมต่อตัวเอง

หนังอีกเรื่องที่ดัดแปลงมาจากงานเขียนของมูราคามิและเข้าชิงปาล์มทองคำคือ Burning (2018) หนังร่วมทุนสร้างสองสัญชาติ (เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น) กำกับโดย อีชางดง(Lee Chang-dong) โดยดัดแปลงมาจากเรื่องสั้น Barn Burning เล่าถึงชีวิตของ ‘จงซู’ (แสดงโดน ยูอาอิน) ชายหนุ่มชนชั้นแรงงานในเกาหลีใต้ที่หวังอยากเป็นนักเขียน เขาพบกับ ‘แฮมี’ (แสดงโดย จอนจงซอ) เพื่อนวัยเด็กที่เปลี่ยนไปราวกับเป็นคนละคน เธอกำลังจะออกเดินทางไปต่างประเทศ และไหว้วานให้เขาให้อาหารแมวให้เธอหน่อยระหว่างที่เธอไม่อยู่ ซึ่งจงซูก็ปฏิบัติหน้าที่นั้นได้ดี แม้เขาจะไม่เคยเห็นแมวของเธอเลยแม้แต่ครั้งเดียวก็ตาม

แฮมีเดินทางกลับมาพร้อม ‘เบน’ (แสดงโดย สตีเฟน ยอน) หนุ่มหล่อที่เธอพบระหว่างออกเดินทาง เบนใช้ชีวิตหรูหรา และมีทีท่าว่าจะสนใจชีวิตของจงซู แต่ละวันของเบนหมดไปกับการออกกำลังกาย ทำกิจกรรมรื่นเริงและพบปะผู้คน แม้จงซูจะพยายามถามว่าเบนทำงานอะไรแน่ แต่เบนก็ไม่เคยตอบเขาตรงไปตรงมา อย่างมากที่สุด เบนมักจะบอกแค่ว่างานอดิเรกของเขาคือการเผาโรงนาร้างเล่นๆ จงซูจึงพยายามเฝ้าจับตาโรงนาร้างรอบบ้าน แต่ก็ไม่พบว่ามีที่ไหนถูกเผาทิ้ง ขณะเดียวกัน เรื่องราวเริ่มเครียดเขม็งขึ้นเมื่อวันหนึ่งแฮมีหายตัวไป

ชางดงดัดแปลงเรื่องสั้นของมูราคามิค่อนข้างหนักมือ กล่าวคือตัวต้นฉบับพูดถึงเพียงคนหนุ่มสาวมีอันจะกิน ฟังดนตรีคลาสสิก (ตามแบบฉบับตัวละครของมูราคามิ) และแลกเปลี่ยนบทสนทนาต่อกัน งานเขียนจึงยังคลุมไว้ด้วยธีมที่ว่าด้วยความเปลี่ยวเหงาของคนรุ่นใหม่ที่ควานหางานอดิเรกที่สามารถนิยามตัวตนพวกเขาได้ 

ขณะที่ชางดง ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นคนทำหนังว่าด้วยประเด็นสังคม-การเมืองที่แหลมคมที่สุดคนหนึ่งของเกาหลีใต้นั้น ใส่ประเด็นหนักหน่วงที่ว่าด้วยชนชั้นเข้าไปในหนัง ด้วยการให้ตัวละครจงซูเป็นแรงงาน เฝ้ามองดูเบนผู้ร่ำรวยใช้ชีวิตอย่างที่เขาไม่อาจนึกฝัน หรือการที่เหล่าคนรวยเห็นชีวิตยากลำบากของคนจนเป็นเรื่องบันเทิงและน่าตื่นเต้น พวกเขานั่งฟังแฮมีเล่าประสบการณ์ต่างๆ ของตัวเองแล้วขำขัน (ขณะที่เบนอ้าปากหาวหวอด) หรือเป็นฝ่ายเล่าเรื่องราวเหนือจินตนาการโดยมีจงซู ผู้ที่ทั้งชีวิตคงไม่อาจได้ลิ้มรสชีวิตหรูหราเช่นนั้น รับฟังด้วยสายตาเหม่อลอย

Burning กลายเป็นหนังที่วิพากษ์ความเหลื่อมล้ำในเกาหลีใต้อย่างถึงแก่น คนตัวเล็กตัวน้อยที่ต้องใช้ชีวิตโดยไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เป็นได้แค่ตัวประกอบเรื่องราวหรือเครื่องมือสร้างความตื่นเต้นให้ชนชั้นสูงผู้เบื่อหน่ายชีวิตอันแสนปลอดภัยของตัวเอง ควานหาสิ่งแปลกใหม่ด้วยการเผาโรงนาร้าง ขณะที่จงซูนั้น หวังแค่เพียงกระเสือกกระสนมีชีวิตไปแต่ละวัน และหากโชคดี เขาอาจออกหนังสือได้สักเล่มบ้างก็เท่านั้น

Norwegian Wood (2010) หนังจากผู้กำกับชาวเวียดนาม-ฝรั่งเศส ตราน อาน ฮุง (Tran Anh Hung) ผู้ที่ปีนี้มีหนังเรื่องใหม่อย่าง The Taste of Things (2023) ซึ่งส่งเขาเข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำและคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ได้เป็นครั้งแรก โดยตัวหนังดัดแปลงจากวรรณกรรมชื่อเดียวกันของมูราคามิ จับจ้องไปยังเรื่องราวความสัมพันธ์ของคนหนุ่มสาวยุค 1960s ของญี่ปุ่น ‘วาตานาเบะ’ (แสดงโดย เคนอิจิ มัตสึยามะ) เป็นเด็กหนุ่มเงียบๆ ที่วันหนึ่งพบว่า ‘คิสึกิ’ (แสดงโดย เคนโกะ โคระ) เพื่อนสนิทของเขาจบชีวิตตัวเองลงโดยไม่มีคำอธิบายหรือเค้ามูลใดๆ ที่วาตานาเบะพอเข้าใจได้ 

เพื่อการณ์นั้น เขาจึงเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในโตเกียวซึ่งห่างไกลจากบ้าน เพื่อจะพบว่าวันหนึ่ง เขาบังเอิญเจอเข้ากับ ‘นาโอโกะ’ (แสดงโดย รินโกะ คิคุจิ) อดีตคนรักของคิสึกิ และขณะที่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก่อตัวขึ้นอย่างร้าวราน วาตานาเบะก็ได้รู้จักกับ ‘มิโดริ’ (กิโกะ มิซึฮาระ) เด็กสาวผู้สดใสในรั้วมหาวิทยาลัยที่เขาอยู่

ตัววรรณกรรมเองถือเป็นหนึ่งในวรรณกรรมเล่มแรกๆ ของมูราคามิที่ได้รับความนิยมถล่มทลายหลังตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1987 ธีมหลักที่คุมเรื่องไว้คือชีวิตและความตาย ตัวละครหลักทุกตัวในเรื่องล้วนสูญเสียคนใกล้ชิดโดยไม่ทันตั้งตัว และคนที่ยังอยู่กับความตายนั้นก็มีเพียง ‘คนเป็น’ อย่างวาตานาเบะหรือนาโอโกะ ที่ควานหาเหตุผลของการจากไป ตลอดจนเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ของตัวเอง 

หรือวิธีที่ตัวละครพินิจพิเคราะห์ความตายอย่างการที่นาโอโกะมองว่า เมื่อคิสึกิจากไปในวัย 17 ปี ก็เท่ากับว่าเขาจะอายุ 17 ปีเช่นนั้นไปตลอดกาล มีเพียงตัวเธอและวาตานาเบะเท่านั้นที่เดินเคลื่อนออกมาสู่โลกของความเป็นผู้ใหญ่ (ด้านหนึ่ง มันจึงถูกมองว่าเป็นหนังข้ามพ้นวัยเศร้าๆ ของตัวละครที่ไม่พร้อมรับมือต่อความเป็นผู้ใหญ่) 

ทั้งยังว่าด้วยความเปลี่ยนผ่านของสังคมญี่ปุ่นที่ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ตัวละครเฝ้ามองผู้คนประท้วงบนท้องถนน เพื่อนหนุ่มอัจฉริยะที่เชื่อมต่อกับโลกภายนอกด้วยภาษาต่างประเทศที่ฝึกฝนเอง หรือการเฝ้ามองดูโลกและสังคมกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่วันใหม่ๆ แต่คนอย่างวาตานาเบะหรือนาโอโกะกลับทำได้เพียงหวนนึกถึงวันวานอันสดใสในช่วงที่พวกเขายังมีคิสึกิ และยังเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นยังไม่ขยับตัวรวดเร็วเท่าในปัจจุบัน

น่าเสียดายที่ตัวหนังไม่ประสบความสำเร็จใจแง่คำวิจารณ์นัก กล่าวคือมันหยิบจับเอา ‘สาร’ ที่อยู่ในงานเขียนมาบอกเล่าแทบไม่ได้เลย ตลอดทั้งเรื่อง เราจึงได้เห็นตัวละครวัยรุ่นสับสนต่อสถานการณ์ความสัมพันธ์ตรงหน้าเท่านั้น ทั้งที่โดยแท้จริงแล้ว สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญไม่ใช่เพียงปัญหาหัวใจ หากแต่เป็นสิ่งที่หนักหน่วงและรุนแรงกว่านั้นมาก อย่างความตายและการเคลื่อนผ่านไปสู่วัยผู้ใหญ่

งานของมูราคามิมีลักษณะเป็นสากลในแง่ที่ว่ามันมักพูดถึงความเปล่าเปลี่ยวของคนเมือง ซึ่งคนเมืองนั้นไม่ว่าจะอยู่ในเมืองไหน ประเทศอะไร ก็มักมีลักษณะความเคว้งคว้างร่วมกัน แต่เมื่อมันถูกหยิบมาดัดแปลงเป็นงานภาพยนตร์ ก็มักให้น้ำเสียงแบบใหม่ที่อาจเฉพาะตัว และให้รสชาติอีกรูปแบบที่ต่างไปจากเดิมก็ได้

Tags: , , , , , , ,