ขวบปีที่สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศดิสโทเปียเต็มขั้น สงครามกลางเมืองถือกำเนิดขึ้นโดยแบ่งออกเป็นฝั่งที่ยังสนับสนุนประธานาธิบดีที่ยื้ออำนาจไว้จนนาทีสุดท้าย กลุ่มกองกำลังตะวันตก พันธมิตรฟลอริดา และกลุ่มกองทัพเพื่อประชาชน กลุ่มช่างภาพสงครามและสื่อมวลชนกลุ่มหนึ่งออกเดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน ดีซี เพื่อสัมภาษณ์และถ่ายรูปประธานาธิบดี ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าอำนาจในมือของเขาจะอยู่ได้อีกไม่กี่อึดใจหากฝั่งขั้วตรงข้ามบุกประชิดทำเนียบขาวได้

 Civil War (2024) หนังยาวลำดับล่าสุดของ อเล็กซ์ การ์แลนด์ (Alex Garland) คนทำหนังที่สร้างชื่อจาก Ex Machina (2014) ที่เล่าถึงความสัมพันธ์อันแหลมคมระหว่างมนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์ และ Annihilation (2018) ว่าด้วยมนุษย์ในโลกที่กลไกธรรมชาติไม่เป็นไปตามความเข้าใจของพวกเขา ซึ่งจะว่าไป ดูเหมือนการ์แลนด์มักสนใจทำหนังที่สำรวจตัวตนของมนุษย์ที่ตกอยู่ในสภาวะอันตรายหรือไว้วางใจไม่ได้เรื่อยมา ทั้งจากนักวิทยาศาสตร์หนุ่มที่รู้สึกว่าชีวิตถูกคุกคามโดยหุ่นยนต์สาว หรือกลุ่มนักชีววิทยาที่ค่อยๆ แหลกสลายเมื่อพบว่าโลกตรงหน้าไม่ใช่โลกที่พวกเขารู้จักอีกต่อไปแล้ว 

Civil War เองก็เช่นกัน หนังจับจ้องไปยังสภาวะเครียดเขม็งของกลุ่มสื่อมวลชนที่ต้องใช้ชีวิตในสงครามกลางเมืองเต็มขั้น ลี สมิธ (คริสเตน ดันส์ต) ช่างภาพสงครามมือรางวัลตั้งใจจะออกเดินทางไปยังวอชิงตัน ดีซี เพื่อเก็บภาพประธานาธิบดีซึ่งเธอเชื่อว่าอีกไม่นานเขาจะพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากแพ้สงคราม โจเอล (แวกเนอร์ เมารา) ผู้สื่อข่าวจากรอยเตอร์ตั้งใจจะออกเดินทางไปพร้อมเธอกับ แซมมี (สตีเฟน แม็กคินลีย์เฮนเดอร์สัน) ผู้สื่อข่าวอาวุโสจาก The New York Times ซึ่งลีคัดค้านอยู่ลึกๆ เนื่องจากเธอคิดว่าแซมมีแก่และอ่อนแอเกินกว่าจะเดินทางในสถานที่โหดร้ายได้ มิหนำซ้ำ เธอยังพบว่า เจสซี (ไคลี สเปนีย์) ช่างภาพสาวฝึกหัดผู้มีเธอเป็นแรงบันดาลใจ ขอติดสอยห้อยตามการเดินทางมาด้วยความหวังว่าจะพัฒนาฝีมือการถ่ายภาพของตัวเองจากสมรภูมิรบต่างๆ 

การ์แลนด์ฉายให้เห็นฉากทัศน์ของสมรภูมิรบอันเดือดดาลและอำมหิตตั้งแต่ชั่วโมงแรกของหนัง เมื่อตัวละครเดินทางไปเจอกองกำลังติดอาวุธที่ลงโทษคนทำผิดด้วยการทำร้ายร่างกายจนปางตายและแขวนร่างไว้เพื่อทรมาน สิ่งที่สะท้อนตอบกลับมาคือปฏิริกิริยาตื่นตะลึงของเจสซีที่รับมือกับความโหดร้ายตรงหน้าไม่ไหว ขณะที่ลีเพียงแต่มองด้วยสีหน้าเรียบเฉย ทั้งยังขอให้กองกำลังที่ถือปืนอยู่ยืนอยู่ข้างเหยื่อเป็นแบบให้เธอถ่ายรูป

ทว่าหนังก็ไม่ได้บอกว่าลีเป็นคนไร้หัวจิตหัวใจ กลับกันคือหนังฉายให้เห็นตั้งแต่แรกว่าเธอมีภาวะสะเทือนใจตกค้างจากการทำข่าวสงครามมานานหลายปี การเข้าไปอยู่ในพื้นที่แห่งการฆ่าฟันในฐานะคนนอก ร่วมรับรู้การสังหารและการซ้อมทรมานอันหฤโหด และเก็บภาพมาเพื่อเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ เป็นประจักษ์พยาน หรืออาจจะเพื่อให้คนที่เห็นภาพตั้งคำถาม กลับทำให้เธอตกอยู่ในสถานะเครียดเขม็งและเสื่อมศรัทธาต่อวงการสื่ออย่างที่โจเอลเคยกระเซ้าไว้ 

 จะว่าไปแล้ว Civil War ก็อาจเป็นหนัง road trip สมรภูมิของเหล่าคนทำงานสื่อ เพราะตัวละครเดินทางข้ามรัฐแต่ละรัฐโดยเจอกองกำลังหลากรูปแบบและหลากฝ่าย พวกเขาเข้าร่วมบันทึกภาพการปะทะกันระหว่างกองกำลังประชาชนกับฝั่งทหาร ถูกซุ่มโจมตีโดยสไนเปอร์ลึกลับ และต้องร่วมเป็นร่วมตายกับนายทหารที่ซุ่มโจมตีมือยิงดังกล่าวในที่โล่งแจ้ง หรือแม้แต่ได้เจอคนในชุมชนที่เพิกเฉยต่อสงครามโดยสิ้นเชิง

ความรุนแรงและไม่รุนแรงเหล่านี้ถูกบอกเล่าผ่านตัวละครเจสซีที่ค่อยๆ กล้าแกร่งและทนทานต่อสิ่งที่ตาเนื้อเห็นมากขึ้นจนความลังเลหรือตื่นกลัวในการ ‘ยกกล้อง’ ขึ้นถ่ายน้อยลงทุกที จากเด็กสาวที่ตื่นตระหนกสุดขีดเมื่อเห็นคนโดนซ้อมทรมาน กลายเป็นช่างภาพสมัครเล่นที่พร้อมลั่นชัตเตอร์หากเกิดการปะทะไม่ว่าจะใกล้หรือไกลจากสายตา ทว่า ความรุนแรงใดก็ยังเทียบไม่ได้เมื่อเธอเจอกับนายทหารลึกลับ (เจสซี พลีมอนส์) ที่ขุดหลุมฝังศพขนาดยักษ์เพื่อฝังร่างคนตายที่กองเป็นภูเขา —ชวนนึกถึงการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ— และไม่ลังเลจะเหนี่ยวไกใส่ใครก็ตามที่ดู ‘ไม่ใช่อเมริกัน’

 แต่ก็น่าเสียดาย ที่แม้หนังจะวางท่าทีเป็นหนังเสียดสีการเมืองอเมริกาด้วยการใส่ประเด็นการเหยียดเชื้อชาติและการแบ่งแยกดินแดนต่างๆ เข้ามา แต่หนังกลับจงใจถอดเอารายละเอียดที่เป็น ‘พื้นหลัง’ การเมืองอเมริกาออกไปจนหมด กล่าวได้ว่า หากนำความขัดแย้งที่ว่าด้วยกองกำลังอิสระ กองทัพและผู้นำประเทศที่ปรากฏใน Civil War ไปวางไว้ในประเทศใดหรือเมืองสมมติใด มันก็ให้ผลลัพธ์แบบเดียวกันกับที่ปรากฏในหนัง

จึงถือเป็นเรื่องน่าเสียดายอยู่ไม่น้อยที่แม้หนังจะมีศักยภาพเป็นหนังการเมือง —โดยเฉพาะช่วงก่อนหน้าการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2024 นี้— แต่หนังก็เลือกถอดบริบทต่างๆ ออกหมดแล้วคงเหลือเพียงประเด็นผู้สื่อข่าวและช่างภาพ ซึ่งยิ่งน่าเสียดายไปอีกขั้นเมื่อประเด็นที่หนังพูดถึงอย่างภาวะความสะเทือนใจหลังสงคราม หรือการกลืนกลายตัวเองให้กลายเป็นคนเยือกเย็นเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวงานอันล้ำค่า ก็ยังเป็นประเด็นที่เชยและถูกบอกเล่าผ่านหนังมาแล้วหลายต่อหลายเรื่อง หรือแม้แต่ประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพจิตใจ —ที่ถูกมองได้ทั้งในแง่เข้มแข็งขึ้น หรือแม้แต่ชินชาต่อความรุนแรงมากขึ้น— ของเจสซี ก็ยังไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด

1000 Times Good Night (2013) ครอบครัว และสภาพจิตใจอันแตกสลายของช่างภาพสงคราม

1000 Times Good Night (2013) หนังร่วมทุนสร้างสามสัญชาติ (นอร์เวย์-ไอร์แลนด์-สวีเดน) กำกับโดย อีริค พอปเพอ (Erik Poppe)  คนทำหนังชาวนอร์เวย์ ที่แม้หนังจะรวมดาวนักแสดงหลากสัญชาติทั้งฝรั่งเศส เดนมาร์ก และนอร์เวย์ แต่ก็พูดภาษาอังกฤษกันทั้งเรื่อง โดยหนังเล่าถึง รีเบกกา (จูเลียต บิโนช) ช่างภาพสงครามที่มักพาตัวเองไปยังพื้นที่แห่งความขัดแย้งเสมอ ท่ามกลางสายตาวิตกกังวลของ มาร์คัส (นิโกไล คอสเตอร์-วัลดาอู) สามี และสเตฟ (เลารีน แคนนี) ลูกสาววัยรุ่น เรื่องราวยิ่งหนักหน่วงเมื่อเธอแฝงตัวเข้าไปถ่ายทำกลุ่มผู้พลีชีพหญิงในอัฟกานิสถานและถูกลูกหลงของระเบิดกระแทกใส่จนได้รับบาดเจ็บ เหตุการณ์นี้ทำให้มาร์คัสบีบให้เธอต้องเลือกระหว่างการหวนกลับสู่สนามช่างภาพสงคราม หรือเลือกจะอยู่กับครอบครัวอันเปี่ยมสุข

หนังฉายให้เห็นความติดขัด อึดอัดใจของรีเบกกาเมื่อกลับมาอยู่ร่วมกับครอบครัว บ่อยครั้งเธอหมกมุ่นอยู่กับการอ่านข่าวสงครามและความขัดแย้งในสถานที่ห่างไกล และวาดฝันจะได้กลับไป ‘ทำงาน’ อีกครั้ง เธอพบว่าเธอเข้ากับสังคมอันสงบสุขไม่ได้และโหยหาชีวิตแบบเดิมที่เธออยู่ด้วยมาตลอดหลายสิบปี แง่หนึ่ง หนังจึงคล้ายเคียงกับ The Hurt Locker (2008) ซึ่งเล่าถึงนายทหารที่ไม่อาจหวนกลับมาใช้ชีวิตในสังคมปกติได้ และมีแต่ต้องกระโจนกลับเข้าไปสู่สมรภูมิทุกครั้งจนครอบครัวแหลกสลาย แต่เขายังได้รู้สึกมีชีวิต ไม่ต่างจากรีเบกกาที่การได้อยู่ในพื้นที่แห่งความปลอดภัยกลับทำให้เธอหดหู่และไร้สุข กระทั่งกระเสือกกระสนหวนกลับสู่พื้นที่แห่งการปะทะอีกครั้ง ในแง่นี้ สงครามจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้สภาพจิตใจช่างภาพอย่างเธอไม่อาจหวนกลับสู่สภาพเดิมที่ควรเป็นได้ แม้ว่าถึงที่สุดแล้ว หนังจะชวนสำรวจสภาพจิตใจแตกสลายยับเยินของเธอในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งที่เฝ้าบันทึกภาพแห่งความรุนแรงก็ตาม

Salvador (1986)ช่างภาพกลางเหตุการณ์สังหารโหด

หนังที่ว่าด้วยช่างภาพสงครามอีกเรื่องที่หากไม่กล่าวถึงคงถือเป็นเรื่องผิดบาปคือ Salvador (1986) หนังชิงออสการ์สองสาขาของ โอลิเวอร์ สโตน (Oliver Stone) ดัดแปลงมาจากชีวิตจริงของ ริชาร์ด บอยล์ (Richard Boyle) ช่างภาพสงครามที่ใช้ชีวิตในพื้นที่แห่งความขัดแย้งมาหลายแห่ง ไม่ว่าจะสงครามกลางเมืองกัมพูชา สงครามกลางเมืองเลบานอนและเหตุการณ์ The Troubles ความขัดแย้งทางเชื้อชาติที่กล่าวกันว่ารุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของไอร์แลนด์เหนือ โดย Salvador จับจ้องไปยังช่วงที่บอยล์ (เจมส์ วูดส์) เข้าไปทำงานในสงครามกลางเมืองเอล ซัลวาดอร์ หลังพบว่าชีวิตในสหรัฐฯ อันเป็นบ้านเกิดย่ำแย่ การออกเดินทางไปยังแห่งหนใหม่จึงเป็นเสมือนเครื่องมือในการช่วยชะล้างเขาจากความเครียดเขม็งของชีวิต

ทว่าการไปเยือนซัลวาดอร์กลับทำให้เขาขุดค้นพบความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับพรรคการเมืองขวาสุดโต่งของเอล ซัลวาดอร์ โดยเฉพาะเมื่อเกิดการสังหารหมู่กลางโบสถ์ที่ทำให้เขาถูกลูกหลงจนเกือบหนีเอาชีวิตไม่รอด เขาจึงกระเสือกกระสนไปยังสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเอล ซัลวาดอร์ และเสนอให้สถานทูตทำเรื่องตัดงบประมาณการสนับสนุนกำลังทหารให้แก่กองทัพ แต่กลับถูกปฏิเสธ เหตุการณ์นี้ยิ่งทำให้บอยล์ตั้งคำถามต่ออิทธิพลของสหรัฐฯ และ ‘หน้าที่’ ของเขาในฐานะสื่อมวลชนคนหนึ่ง 

หนังยังพาคนดูสำรวจความรุนแรงที่หนักข้อยิ่งขึ้นเมื่อบอยล์เป็นประจักษ์พยานเห็นการสังหารโหดของทั้งสองฝั่ง สถานะช่างภาพทำให้เขาถูกจับจ้องว่าจะนำเสนอ ‘ภาพเหตุการณ์’ ออกมาแบบไหน ยิ่งเขาเข้าไปบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ เขายิ่งตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราควรพินิจความรุนแรงตรงหน้าอย่างไรแน่ 

อย่างไรก็ดี Salvador ชวนตั้งคำถามไปไกลกว่าความเป็นสื่อของบอยล์ เพราะประเด็นแหลมคมที่หนังทิ้งไว้ให้คือการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ต่อประเทศอื่นๆ ยิ่งหนังออกฉายในช่วงสงครามเย็น ยิ่งขับเน้นประเด็นอิทธิพลที่มองไม่เห็นของสหรัฐฯ ที่เข้าไปแทรกแซงระบบการเมืองต่างประเทศเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบในสนามการเมืองโลก 

War Photographer (2001) สารคดีสำรวจชีวิตช่างภาพข่าวสงครามมืออาชีพ เจมส์ แนชต์เวย์

แน่นอนว่าหากเขียนถึงช่างภาพสงคราม ชื่อของ เจมส์ แนชต์เวย์ (James Nachtwey) ย่อมเป็นชื่อที่ปรากฏในบทสนทนาเสนอ โดยแนชต์เวย์เป็นช่างภาพสงครามที่ใช้เวลากว่าครึ่งชีวิต ออกเดินทางไปยังพื้นที่แห่งความขัดแย้งหลายต่อหลายแห่งทั่วโลก งานชิ้นแรกๆ ที่เขาได้ลงสนามคือการสำรวจความขัดแย้งในไอร์แลนด์เหนือ ที่เป็นเสมือนต้นธารของการเป็นช่างภาพสงคราม เพราะหลังจากนั้น แนชต์เวย์ออกเดินทางไปยังแอฟริกาใต้ อเมริกาใต้ ตะวันออกกลางรวมทั้งยุโรปตะวันออก เพื่อเก็บภาพสงครามและความขัดแย้ง

War Photographer (2001) สารคดีที่จับจ้องชีวิตการทำงานของแนชต์เวย์ กำกับโดย คริสเตียน ไฟรย์ และถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์สาขาหนังสารคดียอดเยี่ยม หนังพาคนดูและตัวแนชต์เวย์เองสำรวจงานชิ้นก่อนๆ ของเขาด้วยการหวนกลับไปยังสถานที่แห่งความขัดแย้งทั้งหลาย ไม่ว่าจะโคโซโวหลังสงคราม การจลาจลในอินโดนีเซีย รวมทั้งความรุนแรงในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ตัวสารคดีได้รับคำชื่นชมหนาหูในแง่การหยิบเอาฟุตเทจหายากของแนตช์เวย์และความขัดแย้งต่างๆ มาร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่า ทั้งยังตั้งคำถามต่อประเด็นความสวยงามของภาพกับความอำมหิต โหดร้ายที่ปรากฏขึ้นตรงหน้า ทั้งตัวไฟรย์ยังชวนพินิจถึงตัวตนและบุคลิกบางอย่างของแนชต์เวย์ ทั้งความมึนตึงจนเกือบจะเย็นชา ภาวะติดเหล้า (ที่อาจสะท้อนถึงความเครียดเขม็งบางอย่างของแนตช์เวย์เอง) เหนืออื่นใดคือหนังชวนสำรวจความเป็นมนุษย์ของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งได้อย่างมีมิติและมีหัวใจเหลือเกิน

Tags: , , , , ,