ชื่อของ คริสโตเฟอร์ ดอยล์ (Christopher Doyle) กลับมาอยู่ในความสนใจของผู้เขียนอีกครั้ง หลังได้ทราบข่าวเจอว่า ผู้กำกับภาพรายนี้ได้หวนกลับมาทำงานร่วมกับคนทำหนังชาวไทยอย่าง เป็นเอก รัตนเรือง อีกครั้ง หลังเคยร่วมงานกันมาแล้วจาก Last Life in the Universe (2003) หรือ เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล ที่ได้เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังนานาชาติเวนิส และส่ง ทาดาโนบุ อาซาโนะ (Tadanobu Asano) นักแสดงนำของเรื่องคว้ารางวัลนำชายยอดเยี่ยมจากเทศกาลเดียวกัน

กล่าวสำหรับคนดูหนัง ใครบ้างจะไม่รักงานภาพของดอยล์ ชายผู้เนรมิตรความเคว้งคว้างเปล่าเปลี่ยวของมนุษย์ ให้ปรากฏออกมาเป็นงานภาพได้อย่างเป็นรูปเป็นธรรมที่สุด ไม่ว่าจะแสงหม่นมัว ไปจนถึงมวลควันบุหรี่ในหนังหลายต่อหลายเรื่อง และนับเป็นผู้กำกับภาพคู่บุญของ หว่อง การ์ไว (Wong Kar-wai) คนทำหนังชาวฮ่องกงหลายต่อหลายเรื่อง

แม้จะมีชื่อเสียงระดับโลก แต่กระนั้นเรากลับไม่ค่อยได้ยินเรื่องราวส่วนตัวและในอดีตของเขาเท่าไหร่นัก คอลัมน์ People Also Watch ชวนย้อนเส้นทางของ คริสโตเฟอร์ ดอยล์ ผ่านผลงานในตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาของตัวเขา 

ชื่อของ คริสโตเฟอร์ ดอยล์ (Christopher Doyle) กลับมาอยู่ในความสนใจของผู้เขียนอีกครั้ง หลังได้ทราบข่าวเจอว่า ผู้กำกับภาพรายนี้ได้หวนกลับมาทำงานร่วมกับคนทำหนังชาวไทยอย่าง เป็นเอก รัตนเรือง อีกครั้ง หลังเคยร่วมงานกันมาแล้วจาก Last Life in the Universe (2003) หรือ เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล ที่ได้เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังนานาชาติเวนิส และส่ง ทาดาโนบุ อาซาโนะ (Tadanobu Asano) นักแสดงนำของเรื่องคว้ารางวัลนำชายยอดเยี่ยมจากเทศกาลเดียวกัน

กล่าวสำหรับคนดูหนัง ใครบ้างจะไม่รักงานภาพของดอยล์ ชายผู้เนรมิตรความเคว้งคว้างเปล่าเปลี่ยวของมนุษย์ ให้ปรากฏออกมาเป็นงานภาพได้อย่างเป็นรูปเป็นธรรมที่สุด ไม่ว่าจะแสงหม่นมัว ไปจนถึงมวลควันบุหรี่ในหนังหลายต่อหลายเรื่อง และนับเป็นผู้กำกับภาพคู่บุญของ หว่อง การ์ไว (Wong Kar-wai) คนทำหนังชาวฮ่องกง

ตัวดอยล์เอง มีพื้นเพมาจากเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ในวัย 18 ปีเขาได้ออกเดินทางไปยังแห่งหนอื่นในโลก ประกอบอาชีพห่างไกลจากการเป็นผู้กำกับภาพมือรางวัล เขาเล่าว่า เคยเป็นมาแล้วตั้งแต่คนเลี้ยงสัตว์ คนขุดน้ำมัน และเคยเป็นแพทย์แผนจีนในไทยด้วย ดอยล์ไม่ค่อยพูดถึงตัวเองมากนัก 

กระทั่งเมื่อเขาอนุญาตให้ Like the Wind (2021) สารคดีของ เท็ด แม็กดอนเนลล์ (Ted McDonnell) เข้ามาขุดคุ้ยสำรวจบางส่วนเสี้ยวของชีวิตเขา โดยตัวแม็กดอนเนลล์ออกปากว่า “ดอยล์นั้นโผงผาง น่ากลัวและแสนจะโอหัง แต่หมอนี่ก็โคตรอัจฉริยะเลย และโลกก็ควรตระหนักถึงข้อนี้ของเขาด้วย” และก็ด้วยสารคดีของแม็กดอนเนลล์นี่เองที่ทำให้ได้เห็นว่า ดอยล์มิได้เติบโตมาในแวดล้อมของการบันทึกภาพหรือใช้ชีวิตอยู่กับกล้องถ่ายรูปอย่างคนทำหนังคนอื่นๆ เป็นกัน 

“ไม่มีรูปพวกเราตอนสมัยยังเด็กๆ หรอกเพราะเราไม่สนใจเรื่องการถ่ายรูปเลย” ดอยล์บอกในสารคดี “เรามีกล้องแหละ ถ่านของกล้องใช้เวลาสามปีถึงจะเป็นสนิม แล้วของเรานี่มันเป็นสนิมก่อนที่เราจะถ่ายฟิล์มหมดทั้งม้วนเสียอีก กระทั่งที่ถ่ายสารคดีกันอยู่นี่ พี่สาวผมยังไม่มาออกกล้องเลย แล้วนี่ก็ไม่ได้มีอะไรชวนผิดใจด้วย แค่ว่าพวกเราไม่ได้โตมากับมันน่ะ”

เขาเล่าย้อนกลับไปยังช่วงเวลาของการเติบโตในออสเตรเลียว่า “ซิดนีย์ยุค 60s นี่คือยุคของอนาธิปไตยโดยแท้ และจิตวิญญาณความขบถนั้นก็ยังฝังแน่นอยู่ในตัวผมจนทุกวันนี้ ในลักษณะของคนที่ปฏิเสธความดาษดื่นทั่วไป ไม่ทำอะไรอย่างที่เด็กผู้ชายปกติถูกมองว่าควรทำ น่าเบื่อ ผมไม่ชอบเลย อยากไปให้พ้นๆ” และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้เขาออกเดินทางไปยังทั่วสารทิศ ก่อนชีวิตจะถูกเหวี่ยงให้มาอยู่ที่ไต้หวัน และต้องทำหน้าที่บันทึกภาพการแสดงดนตรีโฟล์คด้วยกล้องหนึ่งตัว 

“เราท่องไปทั่วทางใต้ของไต้หวัน มันเต็มไปด้วยหญ้าสีเขียวสวยงามหมดจด ผืนนากว้าง ฟ้าโปร่งและทุ่งดอกไม้ขาว ผมใช้กล้องบันทึกมาหมดแหละ แต่ตอนนั้นแสงในกระท่อมที่ใช้แสดงดนตรีมันไม่พอ คือตาเราเห็นภาพความสวยงามทั้งหมดนี้ แต่กล้องไม่เห็น ตอนนั้นผมไม่เข้าใจเอาเลยว่าทำไมผมเห็นสิ่งนี้แล้วกล้องมันไม่บันทึกให้ และนั่นแหละคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมสำรวจความแตกต่างของสิ่งที่คุณคิดว่าคุณเห็นกับสิ่งที่ปรากฏอยู่จริง และการหาวิธีทำให้ผู้ชมได้เห็นมันด้วย”

และกล่าวได้ว่า เส้นทางการกำกับภาพของดอยล์นั้นไม่ธรรมดาตั้งแต่แรก เพราะก่อนที่เขาจะได้โคจรมาเจอกับหว่อง เขาก็ประเดิมงานกำกับภาพให้ เอ็ดวาร์ด หยาง (Edward Yang) คนทำหนังหนุ่มชาวไต้หวัน ที่กำกับหนังเรื่องแรก That Day, on the Beach (1983) ด้วยการให้ดอยล์มากำกับภาพให้ 

“ตอนนั้นเอ็ดวาร์ด หยาง เพิ่งกลับมาจากสหรัฐฯ พร้อมความมุ่งมั่นอยากเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบ ตอนนั้นเขายังคบหาดูใจกับ ซิลเวีย (ซิลเวีย จาง – นักแสดงนำของเรื่อง) และก็เธอนี่เอง ที่ทำหน้าที่หาเงินทุนในการทำหนังเรื่องนี้ให้” ดอยล์เล่า “เอ็ดวาร์ดอยากให้ผมมาถ่ายหนังเรื่องแรกของชีวิตเขา แต่นึกออกไหมว่า บริษัทมีผู้กำกับภาพตั้ง 26 คน ขณะที่ผมเองไม่เคยถ่ายหนัง ไม่เคยถือกล้อง 35 มม. ด้วยซ้ำ ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการจัดแสงอะไรทั้งนั้น มากสุดก็แค่เคยใช้กล้อง 16 มม. ถ่ายสารคดี”

“และเมื่อเอ็ดวาร์ดอยากจ้างผม ทั้งบริษัทเลยประท้วงเอาน่ะสิ เพราะข้อแรกเลย ผมไม่ใช่คนจีน แถมมีคน 26 คนพร้อมทำงานให้คุณ ทำไมถึงได้มาจ้างผมล่ะ แต่ซิลเวียก็อยู่เคียงข้างเรามากๆ บอกเลยว่าถ้าไม่ใช่เพราะซิลเวีย ผมคงไม่มีวันนี้แน่ๆ เธอบอกว่า ‘คริสนี่แหละจะเป็นคนทำงานนี้'” ดอยล์บอก 

และถึงที่สุด That Day, on the Beach ก็เป็นผลงานแจ้งเกิดทั้งเขาและหยางเมื่อมันเข้าชิงรางวัลม้าทองคำ ซึ่งเป็นเวทีใหญ่ของฝั่งไต้หวัน ทั้งในส่วนของรางวัลกำกับยอดเยี่ยมและภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ขณะที่ดอยล์เองคว้ารางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เอเชีย-แปซิฟิกในปีเดียวกัน ส่วนอีกหลายปีต่อมา หยางจะกำกับหนังหัวใจสลายแห่งยุคสมัยอย่าง A Brighter Summer Day (1991) และ Yi Yi (2000) ซึ่งส่งหยางชิงรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ 

ฟากดอยล์เอง เขามาเจอกับหว่องครั้งแรกก็จาก Days of Being Wild (1990) หนังยาวลำดับที่สองและอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นหนังที่หว่องเริ่มใส่ ‘น้ำเสียง’ ของตัวเองลงในภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเรื่องราวของความเคว้งคว้าง ชีวิตไร้หลักยึดของผู้คนในเมืองใหญ่ งานภาพนิ่งเนิบ หนังเล่าเรื่องของ ยกไจ๋ (เลสลี่ จาง) หนุ่มเจ้าเสน่ห์ที่ตั้งใจจะไม่ผูกมัดร่างกายและหัวใจตัวเองไว้กับใครเลย เมื่อสางปมลงไปให้ลึก คนดูก็ค่อยเห็นเงื่อนงำบาดแผลทางความสัมพันธ์ที่ซุกซ่อนอยู่ในส่วนที่ลึกที่สุดของชายหนุ่ม โดยภายหลัง ดอยล์ให้สัมภาษณ์ว่า “คุณลองไปเอาเวอร์ชันญี่ปุ่นมาดูสิ สีมันเพี้ยน คือมันไม่เขียวพอ ตอนแรกมันก็เขียวอยู่หรอก แต่ทีมงานไปแก้ไขให้มัน ‘ถูกต้อง’ ตอนผมไม่อยู่ด้วยการดึงเอาสีเขียวออกไปหมดเลย เพราะพวกเขาเข้าไปใจว่า ผมไม่รู้เรื่องการถ่ายภาพน่ะ”

และนั่นจึงมาถึง Chungking Express (1994) กับชื่อไทยแสนตราตรึงว่า ‘ผู้หญิงผมทองฟัดหัวใจโลกตะลึง’ หนังที่กวาดแทบจะทุกรางวัลของเวทีภาพยนตร์ในเอเชีย และส่งหว่องเข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำจากเทศกาลหนังนานาชาติโลการ์โน หนังว่าด้วยนายตำรวจหนุ่ม (ทาเคชิ คาเนชิโระ) ถูกแฟนสาวบอกเลิกในวันโกหก ก่อนที่ชะตาจะเหวี่ยงเขาไปเจอกับสาวผมทอง กับอีกเส้นเรื่องหนึ่งที่เล่าถึงนายตำรวจอีกคน (เหลียง เฉาเหว่ย) ผู้สนทนากับสิ่งของเล็กๆ น้อยในห้องหลังคนรักจากลา กับอาเฟย (เฟย์ หว่อง) หญิงสาวที่แอบเข้ามาจัดระเบียบในห้องพักของเขา แน่นอนว่านี่ย่อมเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่บอกเล่าถึงความโดดเดี่ยวเหงาเศร้าของผู้คนในเมืองใหญ่ การตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นและแตกดับลงด้วยท่วงท่าโรแมนติก 

กระนั้น สิ่งที่ทำให้ตัวหนังถูกพูดถึงอย่างมาก คืองานภาพของดอยล์และผู้กำกับภาพอีกคนคือ แอนดรูว เหลา (Andrew Lau) ที่แสนเดือดดาล โดยเหลารับผิดชอบถ่ายทำเส้นเรื่องของคาเนชิโระ และดอยล์รับผิดชอบในส่วนเส้นเรื่องของเหลียงกับ เฟย์ หว่อง โดยงานภาพของเหลาและดอยล์ถูกพูดถึงอย่างมากในแง่การแช่ภาพให้นิ่ง การจงใจทำให้ภาพเบลอหรือซ้อนกัน รวมทั้งการเคลื่อนกล้องไล่ตามตัวละครในลักษณะเดียวกันกับหนังสารคดี และเทคนิคทั้งหมดนี้ก็ทำงานกับตัวหนังในแง่ของการบอกเล่าเรื่องความแปลกแยกของผู้คน หรือความช้าเชือนของเวลาที่ดูไหลเลื่อนผิดไปจากปกติ

ดอยล์เล่าถึงการทำงานกับเฟย์ หว่องและเหลียงว่า “ทุกครั้งไปที่เราถ่ายฉากกับเฟย์เสร็จ เธอจะพุ่งตัวออกจากฉากแล้วขึ้นรถตัวเองไปเลยเพราะเข้าใจว่าทำงานเสร็จแล้ว แต่นั่นไม่ใช่วิธีทำงานกับหนังเรื่องนี้” ดอยล์บอก “เราไม่ใช่ผู้กำกับแบบ สแตนลีย์ คูบริค (Stanley Kubrick) ที่ต้องถ่ายทุกฉากอยู่ 50 เทค แต่บางทีเราก็ต้องมีแง่มุมอื่นเพื่อสำรวจว่าอะไรเกิดขึ้นในหนังบ้าง แต่เฟย์เขารู้สึกว่า ‘จะเอาอะไรล่ะ ฉันอยู่นี่แล้ว นี่เฟย์ หว่องนะ ก็ทำงานให้แล้วนี่ไง’ ซึ่งผมว่าอะไรแบบนี้มันสดใหม่ดีนะ”

“ส่วนเหลียงนี่เขาไม่กลัวกล้องเลย เขาเหมือน จอห์น มัลโควิช (John Malkovich) ที่ไม่ต้องแสดงอะไร เป็นอีกด้านของการแสดงแบบเมธอด (Method Acting-ศาสตร์การแสดงที่นักแสดงอุทิศตัวจนกลายเป็นตัวละครในทุกมิติ) เลย และผมว่าสองคนนี้เป็นนักแสดงที่ยิ่งใหญ่แบบไม่ต้องพยายามอะไรมากที่สุดที่ผมเลยทำงานด้วยละ คุณแค่มองดูพวกเขาก็พอ”

ทั้งนี้ ดอยล์ยังได้ร่วมงานกับหว่องอีกหลายเรื่อง เกือบทุกเรื่องมักมีลายเส้นงานภาพที่ถูกนักวิจารณ์หยิบมาชื่นชมและพูดถึงอยู่เสมอ Fallen Angels (1995) กับการใช้เลนส์กว้างแสนอลังการจับจ้องใบหน้าตัวละคร (ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ภาพยนตร์ไม่ค่อยทำกัน) โดยหว่องและดอยล์ตั้งใจถ่ายทำฉากกลางคืนเป็นหลักหลังพบว่า Chungking Express เต็มไปด้วยฉากกลางวัน Happy Together (1997) คู่รักชาวฮ่องกงที่ไปใช้ชีวิตในอาร์เจนตินา กับงานภาพน้ำตกอีกวาซูอันแสนอลังการซึ่งขับเน้นเส้นเรื่องชวนบาดใจ In the Mood for Love (2000) สายสัมพันธ์ของชายหญิงแปลกหน้าผู้กอดความขมขื่นจากชีวิตรักตัวเอง ส่ง เหลียงเฉาเหว่ย (Tony Leung) คว้ารางวัลนำชายยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ตัวหว่องเองชิงรางวัลปาล์มทองคำ ขณะที่ดอยล์เองคว้ารางวัล Technical Grand Prize กลับบ้านมาครอง (พร้อมตำนานการตัดหนังแบบไฟลนก้นสุดขีดของหว่องเพื่อให้ทันได้ไปเปิดตัวฉายในงานเทศกาลนี้)

ดอยล์ที่ทำงานกับหว่องมานาน จนกล่าวได้ว่าเป็นผู้กำกับภาพคู่บุญกัน กล่าวถึงหว่องว่า “สิ่งสำคัญที่สุดที่หว่องการ์ไวเคยบอกผมคือ ‘คุณทำดีที่สุดได้แค่นี้น่ะหรือ คริส’ และมันติดอยู่กับตัวผมไปตลอด” เขาว่า “ผมก็มีขีดจำกัดของผมนี่หว่า ผมไม่ได้เป็น โรเจอร์ ดีกินส์ (Roger Deakins) หรือคนเก่งๆ คนอื่นๆ ไม่ได้เข้าเรียนโรงเรียนทำหนังและไม่เข้าใจเรื่องเทคนิคอะไรต่างๆ ด้วย ผมเหนื่อยและคิดอะไรไม่ออกแล้ว แต่นั่นมันจริงหรือ ผมทำดีที่สุดได้แค่นี้จริงๆ หรือ ลองมาหาทางใหม่ๆ ทำกันดีกว่าไหม ผมว่ามันเป็นคำถามที่ดีที่คุณจะใช้ถามตัวเองนะ มันใช้พลังใจเยอะแหละ แต่คุณก็ต้องใจจดใจจ่ออยู่เช่นนี้ เพราะในงานภาพยนตร์ หากคุณทำพลาดหรือแรงตก มันก็จะอยู่บนภาพยนตร์ไปตลอดกาล”

Hero (2002) หนังร่วมทุนสร้างสองสัญชาติ (ฮ่องกง-จีน) ของ จางอี้โหมว (Zhang Yi Mou) ที่เข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม หนังทุนสร้าง 31 ล้านเหรียญฯ และกวาดรายได้ทั่วโลกไปที่ 177 ล้านเหรียญฯ ว่าด้วยจักรพรรดิจีนที่หวังครอบครองทั้งแผ่นดิน ทำให้ตกเป็นเป้าหมายของมือสังหารชั้นดี และนำพาให้เขาได้รู้จักกับ ‘ไร้นาม’ บุรุษที่อ้างว่าเขาปราบเหล่ามือสังหารที่จ้องปลิดชีพองค์จักรพรรดิไปแล้ว ตัวเนื้อเรื่องพูดถึงการเมืองจีนรวมทั้งปรัชญาตะวันออก (ที่ก็ทำให้นักวิจารณ์หลายคนมองว่าน่าจะถูกใจกลุ่มคนดูตะวันตกอันเป็นสิ่งที่จางอี้โหมวเคยทำสำเร็จมาแล้วจาก Crouching Tiger, Hidden Dragon ,2000) และงานภาพของดอยล์ในเรื่องนี้ก็ถูกขนานนามว่า เป็นหนึ่งในงานภาพที่หมดจดเสียจนเกือบๆ จะช่วงชิงความสนใจจากคนดูไปจากตัวเรื่อง

“มันเป็นหนังใหญ่ของปีเชียวล่ะ Hero เป็นจุดเปลี่ยนของภาพยนตร์เสียยิ่งกว่า Crouching Tiger, Hidden Dragon เสียอีก” ดอยล์บอก “Hero เป็นหนังที่ทำให้คนเข้าถึงหนังเอเชียที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ นับเป็นก้าวสำคัญเลยทีเดียว 

“เรารู้กันดีว่าหนังเรื่องนี้ต้องเปี่ยมสีสันพอสมควร รู้ว่าต้องใช้สีแดงเพื่อบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และสีที่ขึ้นอยู่กับว่าโลเคชันนั้นอยู่ตรงไหน ดังนั้น เราจึงมีสีน้ำเงินเข้มจากทะเลสาบตอนกลางวัน และก็มีบางพื้นที่ซึ่งก้อนหินสะท้อนสีเขียวของยอดหญ้า มีสีเหลืองจากใบไม้ร่วง แล้วก็ทะเลสาบซึ่งน่าอัศจรรย์มากก็ดูเป็นสีขาวตอนเราเริ่มทำงานกัน เพราะฉะนั้น เรื่องคือเราทำงานกันแบบนี้เอง เราปล่อยให้ปัจจัยภายนอกกำหนดสิ่งที่จะเกิดขึ้น งานสีที่สำคัญมากๆ ก็พัฒนามาจากตรงนี้ คือเรื่องนี้มันควรมาจากรสนิยมส่วนตัว มาจากวัฒนธรรม มาจากประสบการณ์ ทั้งหมดทั้งมวลเลยล่ะ”

และปีต่อมานั่นเองที่ดอยล์ข้ามพรมแดนมาทำหนังร่วมทุนสร้างสามสัญชาติ (ไทย-ญี่ปุ่น-เนเธอร์แลนด์) Last Life in the Universe (2003) จับจ้องไปยังชีวิตของหนุ่มญี่ปุ่นที่ใช้ชีวิตในไทยและหวังอยากตายตลอดเวลาอย่าง เคนจิ (ทาดาโนบุ อาซาโนะ) เขาจับพลัดจับผลูได้รู้จักกับ น้อย (ดารัณ บุญยศักดิ์) หญิงสาวที่เพิ่งเผชิญหน้ากับโศกนาฏกรรมเมื่อน้องสาวด่วนจากไป ความสัมพันธ์ระหว่างเคนจิกับน้อยจึงเป็นไปในลักษณะของคนเกลียดชังชีวิตที่ยังต้องกระเสือกกระสนมีชีวิตต่อไปในโลกแห่งความป่วยไข้เช่นนี้ 

“ตัวละครมาจากสถานที่คนละแห่ง มวลอารมณ์ก็แตกต่างกัน ตัวผมเองก็มาจากสถานที่อื่นที่ไม่ใช่ประเทศไทย ไม่เคยทำหนังไทยด้วย เพราะงั้นการหาจุดร่วมบางอย่างเลยน่าสนใจมากๆ สำหรับผมมันคือสี และสีนั้นก็ต้องวางอยู่บนฐานแห่งความจริงด้วย เราไม่ได้มีทุนห้าล้านเหรียญฯ ให้มานั่งเปลี่ยนสีทุกอย่างหรือใช้ดิจิทัลสร้างนี่นา เพราะงั้น ถ้าสีนั้นไม่มีอยู่จริง มันก็จะไม่อยู่ในตัวหนังด้วย สิ่งที่คุณต้องทำคือสำรวจเมือง และเมืองก็สำคัญสำหรับหนังเรื่องนี้มากด้วย รวมทั้งตัวชานเมืองเองก็เช่นกัน” ดอยล์บอก

และในวันนี้ Morte Cucina คือโปรเจกต์ลำดับล่าสุดของเป็นเอกที่จะได้หวนกลับมาร่วมงานกับดอยล์อีกครั้ง โดยตัวหนังได้ คงเดช จาตุรันต์รัศมี ผู้กำกับจาก Snap (2015), Where We Belong (2019) มาร่วมเขียนบท นับเป็นอีกโปรเจ็กต์ใหญ่ที่น่าจับตา ไม่ว่าคุณจะเป็นแฟนหนังของเป็นเอก เป็นแฟนงานภาพของดอยล์ หรือเป็นแฟนงานของคงเดชก็ตาม

 

 

Tags: , , , , , , , , , , ,