นับตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2562 สมาชิกสมัชชาคนจนกว่า 200 คน ปักหลักอยู่บริเวณด้านข้างของอาคารหอประชุมคุรุสภา พวกเขาเดินทางจากทั่วทุกทิศเข้าสู่ท้องถนนในกรุงเทพฯ อดทนกางมุ้งนอนริมถนน แบ่งปันข้าวร่วมหม้อ และยื่นข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาทั้งหมด 35 ประเด็นร่วมกัน
ปัญหาบางข้อต่อเนื่องเรื้อรังยาวนานกว่า 20 ปี บางข้อส่งผลเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอย่างไม่อาจเรียกคืนได้ และบางข้อสร้างความสูญเสียเกินเลยกว่าแค่ทรัพย์สิน
19.00 น. ของวันที่ 23 ตุลาคม 2562 รถทัวร์คันสุดท้ายกำลังพาผู้ชุมนุมกลุ่มสุดท้ายเคลื่อนออกจากท้องถนนกรุงเทพฯ พวกเขากำลังกลับบ้านพร้อมกับประกายความหวังเล็กๆ จากคำมั่นสัญญาของรัฐบาล 4 ข้อ
- รัฐบาลรับทราบข้อร้องเรียนและข้อเสนอเชิงนโยบายของสมัชชาคนจน และจะดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งหมดในทันที
- รัฐบาลร่วมกับสมัชชาคนจนจัดทำข้อตกลงซึ่งกรอบเวลาร่วมกันในการแก้ไขปัญหา และจะใช้กรอบดังกล่าวขึ้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป
- จัดตั้งคณะกรรมการทำงานร่วมกันระหว่าง คณะรัฐบาลและสมัชชาคนจน โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน
- จัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างสมัชชาคนจนและรัฐบาล เรื่องการผ่อนผันให้ทำกินในที่ดินเดิมของสมัชชาคนจน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เห็นชอบแล้ว และนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งต่อไป
สายตาของพวกเขาเป็นประกาย พวกเขาคิดถึงบ้าน และกำลังจะกลับไปพร้อมความหวังจากรัฐบาลเบื้องล่างนี้คือ บทสนทนาเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในเช้าแห่งชัยชนะของสมัชชาคนจน
“มีความหวังอยู่ เพราะเขารับปากแล้ว” หนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมสมัชชาคนจนบอกกับเรา ถึงเงินชดเชยกรณีเวนคืนที่ดินหมู่บ้านราษีไศล เมื่อปี 2535 เพื่อนำมาสร้างเขื่อนราษีไศล อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ที่สร้างเสร็จแล้วตั้งแต่เมื่อปี 2536 แต่เงินก้อนดังกล่าวคาราคาซังมาแล้วกว่าสิบสมัยรัฐบาล
เธอเป็นคนหนึ่งที่ถูกเวนคืนที่ดินจากรัฐเพื่อนำมาสร้างเขื่อนดังกล่าว ซึ่งก่อนหน้านี้ ประมาณปี 2540 เธอเคยออกมาเรียกร้องครั้งหนึ่งแล้วเป็นเวลา 3 เดือน โดยครั้งนั้นเธอก็ได้รับคำยืนยันคล้ายกันนี้ แต่ผ่านมากว่า 20 ปี ทุกอย่างก็ยังคงนิ่งเงียบไร้การเคลื่อนไหว
เธอบอกกับเราว่า เธอดีใจที่วันนี้จะได้กลับบ้านแล้ว เธอคิดถึงบ้าน การนอนริมฟุตบาทไม่ได้ให้ความสุขสบายเท่ากับนอนในบ้านของตัวเอง อย่างไรก็ตาม เธอยืนยันกับเราว่า ถ้ารัฐบาลไม่ทำตามสัญญาที่ไว้ให้กับประชาชน เธอจะกลับมาอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า
เช่นเดียวกับกลุ่มชาวบ้านหมู่บ้านหัวนาที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างเขื่อนหัวนา อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ หนึ่งในนั้นเล่าให้เราฟังว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพ่อ-แม่ของพวกเธอ โดยเจ้าหน้าที่เข้ามายื่นหนังสือขอคืนพื้นที่ไร่นาซึ่งเป็นที่ทำมาหากินมานานนม
23 ปีผ่านไป แต่พวกเธอก็ยังไม่ได้รับเงินชดเชยแม้สักบาท และสูญเสียไร่นาซึ่งเป็นที่ทำกินที่เดียวของพวกเธออย่างไม่มีหวนกลับ
พวกเธอเอ่ยด้วยใบหน้าเรียบนิ่งว่า ไม่เรียกร้องว่าต้องได้เงินชดเชยจำนวนเท่าไร ถึงแม้จะมีตัวเลขที่แอบหวังไว้ในใจ แต่ก็ขอให้มันแล้วแต่กระบวนการที่เกิดขึ้น แต่เมื่อเราถามถึงความเป็นไปได้ของการได้รับเงิน สายตาพวกเธอเป็นประกาย พร้อมยืนยันกับเราว่า “ถ้ารัฐบาลโกหกจะขึ้นมาชุมนุมอีก”
“ใครโดนแบบผมไม่มีความสุขหรอก ผมโดนรัฐยึดพื้นที่ทำกิน ทำให้ต้องเข้ามารับจ้างในกรุงเทพฯ พอเข้ามาได้ไม่นานก็เครียดส่งผลให้เส้นเลือดในสมองแตก” ลุงแอล ชายวัยกลางคนจากหมู่บ้านแคน ตำบลแคน อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ เล่าให้เราฟัง
ลุงแอลถูกภาครัฐเวนคืนที่ดินเพื่อนำมาก่อสร้างโรงเรียประจำตำบลแคน ความจนที่แนบสนิทกับความหิวโหย ผลักให้เขาเข้ามารับจ้างในเมืองหลวง เพื่อเลี้ยงดูปากท้องของครอบครัว โดยเฉพาะลูกชายวัยขวบเศษที่เพิ่งเกิดได้ไม่นานในเวลานั้น ก่อนที่ความกดดันทั้งหมดจะกลั่นตัวเป็นความเครียดส่งผลให้เส้นเลือดในสมองของเขาแตก และร่างกายครึ่งซีกของเขามีลักษณะกึ่งอัมพฤกษ์
“บางครั้งเราเดินอยู่ดีๆ รองเท้าเราหายไปข้างหนึ่ง เราไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำ” ลุงแอลชี้ไปที่เกือกข้างซ้ายของตัวเอง ที่เกือบจะหลุดมิหลุดแหล่ออกจากเท้า
ถึงแม้เรื่องราวของลุงแอลจะเศร้าและหนักหนา แต่อารมณ์ขันของเขาก็ยังมีให้เห็นอยู่เรื่อย ขณะที่ขอให้ลุงแอลยืนถ่ายรูป เขาก็ยังคงยิ้มให้กับเราอยู่ตลอดเวลา จนเราต้องขอให้ทำหน้าเศร้าบ้าง แต่เขาขำเล็กน้อยก่อนเดินไปกวักน้ำจากกะละมังมาป้ายตาเพื่อให้ดูเหมือนว่าตนร้องไห้อยู่
ก่อนจากกันเราถามว่ายังมีความหวังอยู่ไหมว่าจะได้รับความเป็นธรรม เขาบอกว่า เขาเชื่อไม่ถึงกึ่งหนึ่งว่าภาครัฐจะให้ความสนใจกับปัญหาของเขาจริง เขาอยากให้รัฐบาลนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหาคนยากจน
เขาพูดตรงๆ ว่า อยากได้รัฐจัดหาที่ดินให้เขามากกว่ามอบเงินชดเชย เพราะเงินมันใช้แล้วหมดไป ไม่เหมือนกับที่ดินที่จะยืนยันว่าลูกชายของเขาจะยังมีความมั่นคงในอนาคต เมื่อเขาจากโลกนี้ไป
นับตั้งแต่ พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้าม อำเภอปากน้ำโพธิ์ อำเภอพยุหะคีรี อำเภอโกรกพระ. จังหวัดนครสวรรค์ พ.ศ. 2479 ประกาศทับเขตพื้นที่ของชาวหมู่บ้านยางตาล อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ แจงว่าพื้นที่หมู่บ้านดังกล่าวเป็นพื้นที่ของกองทัพ ต่อมาในปี 2527 หนังสือแจ้งให้ชาวบ้านย้ายออกจากถิ่นอาศัยก็เดินทางมาถึง กดดันให้พวกเขาละทิ้งผืนดินของครอบครัวเพื่อเวนคืนให้แก่กองทัพ
ปี 2546 พวกเขาเข้ายื่นหนังสือกับกระทรวงมหาดไทยเรียกร้องให้ภาครัฐทำการสืบค้นพื้นที่ดังกล่าวว่า ระหว่างชาวบ้านกับกองทัพ ใครคือผู้อาศัยอยู่ก่อน ซึ่งก็นับว่าเป็นโชคดีเมื่อปี 2551 กระทรวงมหาดไทยดำเนินการมอบโฉนดที่ดินวาระแรกให้กับชาวบ้าน 37 ราย แต่ก็สิ้นสุดลงเพียงแค่นั้น เมื่อกรมที่ดินประกาศให้ชะลอการมอบโฉนดที่ดินในปี 2554
ถึงแม้ นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยรับปากว่าจะลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาของชาวบ้านด้วยตัวเอง แต่ กาญจนารัฐ อู่ทรัพย์ หนึ่งในสมัชชาคนจนนครสวรรค์ และแกนนำต่อสู้เรื่องที่ดินทำกินของชาวหมู่บ้านยางตาล กลับเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งและเล่าให้เราฟังด้วยเสียงเรียบนิ่งว่า เธอไม่ค่อยมีความหวังเท่าไรว่ารัฐบาลจะสามารถคลี่คลายปัญหาที่ดินทำกินของพวกเธอได้ เธอและเพื่อนต่อสู้มานาน นานเพียงพอที่จะทำให้ความเชื่อใจเหือดแห้ง
ที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งในความเดือดร้อน 37 กรณีของสมัชชาคนจน โดยแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มปัญหา ได้แก่ กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์ ที่ราชพัสดุ พื้นที่ป่าไม้ ป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ ที่ดินของรัฐประเภทอื่นๆ และกรณีผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า, กรณีปัญหาโครงการก่อสร้างเขื่อน ฝาย และอ่างเก็บน้ำ, กรณีปัญหาได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ, กรณีปัญหาด้านการเกษตร และปัญหาด้านแรงงาน เช่น การละเมิดสิทธิแรงงาน การเลิกจ้าง
บุญยืน สุขใหม่ หนึ่งในแกนนำสมัชชาคนจนเท้าความการชุมนุมครั้งนี้ให้เราฟังว่า หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เข้ายึดอำนาจการปกครองในปี 2557 ที่ประชุมใหญ่สมัชชาคนจนตกลงเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาจะอดทน ไม่เคลื่อนไหว และรอคอยจนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
และเมื่อ 24 มีนาคม 2562 ผ่านพ้นไป พร้อมกับชัยชนะของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัชชาคนจนจึงตัดสินใจเดินหน้าเรียกร้องการแก้ไขปัญหา พวกเขาเชิญพรรคการเมืองลงไปรับฟังปัญหาของประชาชนในพื้นที่ และเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือขอพบนายกรัฐมนตรีที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 7 ตุลาคม
มวลชนเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ในช่วงกลางดึกของวันที่ 5 ตุลาคม จัดแจงข้าวของ กางมุ้งหลับนอนเวลาก็ล่วงถึงวันนัดพบกับนายกรัฐมนตรีพอดี แต่ปรากฏว่ รัฐบาลไม่จัดตั้งทีมเจรจา ส่งมาเพียงข้าราชการในกระทรวงซึ่งเป็นเพียงผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ พวกเขาจึงล้มเวทีการพูดคุยครั้งนั้น และเรียกร้องให้นายกฯ หรือผู้มีอำนาจทางนโยบายลงมาเจรจาด้วยตัวเอง
การเจรจาครั้งต่อมาเกิดขึ้นในวันที่ 15 ตุลาคม โดยมี นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุด และมี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายนิพนธ์ บุญญามณี และนายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทย และนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
แต่ความต่อเนื่องก็ขาดตอนไป เมื่อในวันที่ 16 ตุลาคม ตัวแทนจากคณะรัฐบาลตัดสินใจไม่ประชุมในช่วงเช้า และส่งตัวแทนการเจรจามาไม่ครบ แสดงถึงความไม่จริงใจในการแก้ปัญหา การเจรจาจึงล้มเหลว กลุ่มผู้ชุมนุมจึงตัดสินใจเคลื่อนมวลชนเข้าประชิดทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความจริงใจต่อการแก้ปัญหา ซึ่งก็เป็นผลสำเร็จ แต่ต้องแลกมาด้วยการที่นายบุญยืน สุขใหม่ และนายพิชัย จันทร์ช่วงสองแกนนำสมัชชาคนจนได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ที่สถานีตำรวจนครบาลดุสิต ในวันที่ 25 ตุลาคม
การเจรจาสิ้นสุดลงในวันที่ 22 ตุลาคม โดยรัฐบาลยืนยันว่าจะรับข้อเสนอของสมัชชาคนจนทุกประเด็น โดยให้มีการจัดทำแผนการแก้ปัญหาเป็นระยะชัดเจน และให้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลและสมัชชาคนจนเพื่อควบคุมการทำงาน โดยจะมีประธานคณะกรรมการคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
23 ตุลาคม สมัชชาคนจนทยอยเดินทางขึ้นรถทัวร์กลับบ้าน พร้อมความหวังว่าปัญหาของพวกเขาและเธอจะได้รับการแก้ไขเยียวยาในเร็ววัน
Tags: สมัชชาคนจน, เวนคืนที่ดิน, เขื่อนราษีไศล, เขื่อนหัวนา