กล่าวได้ว่าชุดน้ำชายามบ่ายชุดล่าสุดที่ชื่อ Triple A ที่เสิร์ฟที่ล็อบบี้ของโรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ นี้พิเศษกว่าที่เคย ไม่ใช่เพราะสีสันของขนมหวานที่ดูจะสดใสขึ้นเป็นพิเศษเท่านั้น แต่ถ้าได้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันตามที่พนักงานของโรงแรมแนะนำแล้วสแกนไปถูกจุดแล้ว อาจะมีอะไรบางอย่างโผล่มาร่วมวงจิบน้ำชาของคุณด้วย ถ้าไม่ใช่ดอกไม้ไทยในวรรณคดี ก็อาจจะเป็นกินรีสาวสวย หรือครอบครัวไกรสรสีหะที่มาวนเวียนอยู่รอบกาน้ำชา
หากเทียบกับโรงแรมอื่นๆ ที่อยู่ในกรุงเทพฯ แล้ว โรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ ถือเป็นอีกโรงแรมหนึ่งที่ทำงานเกี่ยวกับงานศิลปะอย่างจริงจัง หลังจากเป็นพาร์ทเนอร์กับมหกรรมศิลปะระดับนานาชาติอย่าง Bangkok Art Biennale เมื่อปีที่แล้ว ในปีนี้ทางโรงแรมก็ได้เปิดตัวโครงการศิลปินพำนัก (Artist in Residence) ที่เชิญศิลปินไทยมาใช้ชีวิตและสร้างสรรค์ผลงานในโรงแรมด้วย ซึ่งหลังจากเปิดตัวโครงการด้วยกวิตา วัฒนชยางกูร ศิลปินสายเพอร์ฟอร์แมนซ์ไปเมื่อหลายเดือนก่อน คราวนี้ก็ถึงเวลาของพิชฐญาณ์ โอสถเจริญผล ศิลปินนักวาดและนักออกแบบผลิตภัณฑ์ผู้อยู่เบื้องหลังคอนเซปต์ของชุดน้ำชาและผลงานที่เสิร์ฟพร้อมๆ กันนี้
เส้นทางการเป็นศิลปินของ นัส-พิชฐญาณ์ โอสถเจริญผล อาจจะไม่ค่อยเหมือนคนอื่นสักเท่าไร เธอเกิดในครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนที่เข้มงวด เธอจึงถูกปลูกฝังให้เรียนและอ่านหนังสืออย่างหนักเพื่อที่จะได้ประสบความสำเร็จในชีวิต เธอจึงเปลี่ยนเรื่องราวจากหนังสือที่เธออ่านออกมาเป็นภาพวาด แม้เธอจะร่ำเรียนมาทางด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ Raffles International College และไปได้ดีจนเป็นเจ้าของสิทธิบัตรผลงานระดับรางวัลอย่าง ‘เตาวายุบุตร’ หรือเตาพลังงานทางเลือกสำหรับครัวเรือนมาแล้ว แถมยังมีแบรนด์กระเป๋าแฟชั่นของตัวเองในชื่อ Daydream อีก แต่เธอก็ยังไม่ทิ้งการวาดภาพซึ่งเป็นอีกอย่างที่เธอรัก
เธอบอกกับเราว่าวัดวาอารามของเมืองไทยนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้กับเธอมาเสมอ ซึ่งในสตูดิโอของเธอที่เพนนินซูลา กรุงเทพฯ นี้ก็มีการจัดแสดงผลงานลวดลายที่เธอได้แรงบันดาลใจมาจากจิตรกรรมฝาผนังวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร
“นัสมองว่าสวยมากเลยค่ะ อยากให้เด็กรุ่นใหม่เห็นความสวยงามนี้เหมือนกัน เหมือนเวลาเราไปเที่ยวมหาวิหารนอทร์ดาม เรายังว่าสวยเลย จริงๆแล้ววัดไทยก็สวยไม่แพ้กันเลย แต่นัทเอามาปรับ มีเติมรูปสัตว์ต่างๆ ลงไปด้วย” อีกลายที่เป็นสีเหลืองสดใสเป็นลายภาพจิตรกรรมจากวัดราชบพิธ “เป็นลายประจำยามค่ะ ลายประจำยามคือลายที่ป้องกันสิ่งชั่วร้ายแปดอย่าง นัสเลยเอามาทำเป็นวอลเปเปอร์กับกระเป๋า เห็นตอนนี้เขาฮิตถุงโชคดีกัน ของเราก็เป็นถุงป้องกันสิ่งชั่วร้าย นัสอยากให้คนไทยเข้าใจศิลปะไทยมากขึ้นผ่านรูปทรงหรือฟอร์ม บางทีเราเคยเห็นลายไทยแต่เราอาจไม่รู้ความหมาย” ศิลปินกล่าว
สำหรับชุดน้ำชา Triple A นี้ พิชฐญาณ์ก็ได้แรงบันดาลใจจากความเป็นไทยเช่นกัน โดยนำเสนอความสวยงามของป่าหิมพานต์ผ่านพืชพรรณและสิงสาราสัตว์ที่ออกมาจากจินตนาการของเธอ โดยเธอเริ่มจากการวาดภาพทั้งหมดด้วยมือ จากนั้นจึงใช้คอมพิวเตอร์แปลงไฟล์เพื่อให้สามารถนำเสนอผ่านเทคโนโลยี AR ได้ ซึ่งเธอเองก็นับเป็นศิลปินคนแรกๆ ในไทยที่ผสมผสานศิลปะและเทคโนโลยี AR เข้าด้วยกัน เพราะอยากให้ผู้ชมเข้าถึงและมีปฏิสัมพันธ์กับงานศิลปะได้ง่ายขึ้น
“มันเหมือนกับว่าภาพเรามีภาพเดียว แต่ละคนที่มาดูก็มีปฏิสัมพันธ์แตกต่างกันไป กลายเป็นหนึ่งภาพที่มีอารมณ์หลายอย่าง ซึ่งนัสชอบมาก เลยหันมาทำงาน AR มากขึ้นค่ะ” เธอกล่าว
ชุดน้ำชา Triple A ที่พิชฐญาณ์รังสรรค์ร่วมกับเชฟนิโคลาส์ เพลลัวร์ เพสทรีเชฟของโรงแรม มีบริการทุกวันตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 12 สิงหาคม ตั้งแต่เวลา 14.00 น. – 18.00 น. (1,600++บาทต่อสองท่าน) โดยท่านที่มารับประทานชุดน้ำชาและของว่างยามบ่ายยังสามารถเข้าเยี่ยมชมสตูดิโอห้องทำงานของคุณพิชญาที่ตั้งอยู่ในโรงแรมฯ ได้อีกด้วย ซึ่งการนำชมสตูดิโอห้องทำงานของศิลปินจะมีทุกวันพุธ วันศุกร์ วันเสาร์ และวันอาทิตย์ เวลา 15.30 น.