การขอกลับประเทศของ ‘ผีน้อยเกาหลีราว 5,000 คนในห้วงการระบาดของไวรัส โควิด-19 ก่อให้เกิดกระแสถกเถียงในสังคม (โดยเฉพาะสังคมโซเชียลมีเดีย) เป็นวงกว้างถึงมาตรการในการกักตัวผีน้อย การจะรับหรือไม่รับผีน้อยกลับไทย และสถานการณ์ขณะนี้ยังบานปลายกันไปถึงการล่าผีน้อย ที่ไม่ยอมทำตามมาตรการกักตัวของภาครัฐแล้วโพสต์ลงสื่อโซเชียลฯ หรือแจ้งไปยังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

‘ผีน้อยเกาหลีเป็นหนึ่งในตัวอย่างแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย ที่ลองเสี่ยงโชคไปทำงานหาเงินในต่างแดน เมื่อหลายสิบปีก่อนเราคงเคยได้ยินคำว่าโรบินฮู้ดที่ใช้เรียกแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งการเรียกแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายเหล่านี้ว่าผีน้อยหรือโรบินฮู้ดนั้นล้วนแล้วแต่เป็นคำเรียกคนที่มีสถานภาพแบบเดียวกันแต่อยู่ในคนละสถานการณ์ ส่งผลไปถึงปฏิกิริยาที่สังคมมีต่อพวกเขาเหล่านี้ด้วย 

บทความนี้จึงต้องการหาคำตอบว่าทำไมคนไทยเหยียดผีน้อยแต่มีความรู้สึกร่วมและเห็นใจปรสิตและชื่นชมโรบินฮู้ดผ่าน Framing Effect Theory เพื่อชี้ให้เห็นว่า สื่อ ภาษา วัฒนธรรมล้วนมีผลต่อการนิยามคำบางคำขึ้นมา เช่นเดียวกันกับที่สื่อ ภาษาและวัฒนธรรมเหล่านั้นเป็นผลของสังคม วัฒนธรรมและการเมือง 

ความสำเร็จของภาพยนตร์ชนชั้นปรสิตสู่ความเข้าใจปรสิต

กระแสของภาพยนตร์เรื่อง ‘Parasite’ หรือชนชั้นปรสิตกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ไปเมื่อปีที่ผ่านมา เมื่อชนชั้นปรสิต ผลงานของบงจุนโฮผู้กำกับชาวเกาหลีใต้ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในเวทีออสการ์ปีล่าสุด คอหนังชาวไทยต่างตอบรับกระแสดังกล่าวเป็นอย่างดี เห็นได้จากการที่โรงภาพยนตร์ได้นำภาพยนตร์ดังกล่าวมาฉายซ้ำ 

ทั้งยังมีบทความภาษาไทยเขียนวิเคราะห์ชนชั้นปรสิตในสื่อออนไลน์ต่างๆ ทั้งก่อนที่ภาพยนตร์ได้รางวัล เช่น “Parasite ในโลกแห่งความเหลื่อมล้ำ ใครกันน่าโกรธที่สุด”, “บทวิเคราะห์ภาพยนตร์ Parasite ชนชั้นที่ต่าง ใครกันแน่ที่เป็นปรสิต?” และ “Parasite ชนชั้นปรสิต อะไรที่เปลี่ยนเราให้เป็นพยาธิและหลังจากที่ภาพยนตร์ได้รางวัล เช่น “Parasite ที่สุดของออสการ์! ชนชั้นปรสิต จากพรมแดงถึงหลังม่าน”, “ชนชั้นปรสิต ออสการ์ กับความเหลื่อมล้ำบ้านเราและ “5 ยอดเยี่ยม ปรสิตพิชิตออสการ์สำเร็จแล้ว

ความสำเร็จของภาพยนตร์ส่งผลให้คำว่าปรสิตกลายเป็นคำที่ชาวโซเชียลฯ ใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อสะท้อนความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน สำหรับชาวโซเชียลฯ แล้วปรสิตนั้นเป็นคำที่ใช้เรียกคนจน หรือชนชั้นล่าง (แม้ในความเป็นจริงแล้วปรสิตอาจไม่ใช่ครอบครัวคิมคนจนในภาพยนตร์แต่เป็นครอบครัวพัคคนรวยต่างหาก) อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ต่อมาเมื่อ ‘ผีน้อยอยากกลับบ้านสถานการณ์ความเห็นอกเห็นใจต่อปรสิตกลับแทบจะจางหายไปในทันที กระแสการเหยียดเหล่าผีน้อยกลับมาแทนที่ เป็นเพราะอะไรกัน?   

อะไรคือ Framing Effect Theory

Framing Effect Theory คือทฤษฎีทางจิตวิทยาที่เกิดจากการวิจัยของนักจิตวิทยา Tversky and Kahneman’s ในปี 1979 เพื่อชี้ให้ว่าเห็นวิธีการตั้งคำถามนั้นส่งผลต่อคำตอบ 

Framing Effect Theory เป็นหลักการที่ตัวเลือกในการตัดสินใจของเราได้รับอิทธิพลจากวิธีที่ถูกล้อมกรอบด้วยคำพูด ทิศทางและสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นเวลาชักจูงใครขอให้นำเสนอสิ่งที่เรากำลังพยายามจะชักจูงให้เป็นบวกอย่างชัดเจนกว่าอีกทางหนึ่ง เช่น การเสนอความเสี่ยงของการสูญเสีย 10 จากทั้งหมด 100 ชีวิต กับการที่จะเสนอว่าสามารถรักษาชีวิตได้ 90 จาก 100 ชีวิต หรือการโฆษณาว่าเนื้อนี้มีปริมาณเนื้อถึง 95% กับการโฆษณาว่าเนื้อมีไขมัน 5%

กล่าวโดยสรุป ในการตัดสินใจของคนๆ เดียวกันนั้นจะต่างกัน ขึ้นอยู่กับตัวเลือกที่เขาต้องตัดสินใจนั้นเน้นไปทางบวกหรือลบ อันนำไปสู่การตัดสินใจของคนเรา หรือลักษณะของการนำเสนอตัวเลือกนั้นมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของคนเราในสถานการณ์เดียวกัน 

ความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับระบบความคิด 

สำหรับในกรณี ‘ผีน้อย’ ‘ปรสิตและโรบินฮู้ดนั้น นอกจาก Framing Effect Theory แล้วยังมีประเด็นเรื่องการอุปลักษณ์เข้ามาเสริมในการตัดสินใจอีกด้วย ตัวอย่างการศึกษาหนึ่งที่สะท้อนเรื่องการอุปลักษณ์ได้อย่างชัดเจนคือวงเสนองานวิจัยและเวทีเสวนาเรื่องคอร์รัปชันในสังคมไทยระบุชัดว่าภาษาที่ใช้ในสื่อมีผลกระทบต่อความเข้าใจและการรับรู้ของผู้เสพสื่อ เนื่องจากสิ่งที่แฝงอยู่ในข่าวสองข่าวคืออุปลักษณ์  หมายถึงการเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งกับสิ่งหนึ่งโดยที่ทั้งสองสิ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เป็นความสัมพันธ์ระหว่างภาษาและระบบความคิดของมนุษย์ เชื่อมโยงกับสังคม การเมืองและวัฒนธรรมของคนที่พูด 

เช่น สื่อไทยมีการใช้คำอุปลักษณ์ว่าสงคราม กองทัพ อาวุธ ความตาย การกินอิฐ หิน ปูน ทราย เป็นต้น เพื่อระบุถึงการคอร์รัปชันในสังคมไทย ซึ่งมีการใช้แบบเจาะจงเป็นรายกรณี และสนับสนุนให้เกิดดราม่า ในขณะที่สื่ออินโดนีเซียมีการใช้คำอุปลักษณ์ว่ากฎหมาย ระเบียบ ผิดจริยธรรม สื่อ หนังสือ อาชญากรรม การมีส่วนร่วม เป็นต้นเพื่อสื่อถึงการคอร์รัปชัน ความแตกต่างระหว่างการใช้คำอุปลักษณ์ของสื่อไทยและอินโดนีเซีย ล้วนเป็นผลมาจากสังคม การเมืองและวัฒนธรรมที่ต่างกันของทั้งสองประเทศ

ดังนั้นการเรียกคนจนในเชิงอุปลักษณ์ว่าปรสิตแล้วแฝงไปด้วยความเห็นใจ และมองเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงเป็นผลมาจากกระแสภาพยนตร์ในสังคมที่คนรับรู้ร่วมกัน ปรสิตจึงเป็นคำเรียกเชิงบวก ขณะที่การเรียกแรงงานผิดกฎหมายสหรัฐอเมริกาว่าโรบินฮู้ดซึ่งมีความหมายมาจากภาพยนตร์เรื่องโรบินฮู้ดว่าเป็นลักษณะของการปล้นคนรวย (เอาเงินจากสหรัฐอเมริกา) มาช่วยคนจน (ส่งเงินกลับไทย) เป็นไปในทางบวกเช่นกันเนื่องจากมีความหมายเชิงบวกที่อิงอยู่กับภาพยนตร์ 

ซึ่งเป็นการตอบรับที่ตรงกันข้ามกับคำว่า ‘ผีน้อยเพราะสำหรับคนไทยแล้วผีนั้นเป็นคำที่สื่อความหมายในแง่ลบ โดยมีคำที่เกี่ยวข้องกับผีมากมาย เช่น ผีห่าซาตาน ผีเปรต ผีทะเล ผีบ้า ซึ่งล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงเข้ากับเรื่องที่ไม่ดีสำหรับคนไทยทั้งสิ้น และคำว่าผียังมาพร้อมกับกริยาที่เป็นไปในแง่ลบอีกด้วย เช่น ผีหลอก การเรียกแรงงานผิดกฎหมายชาวไทยที่ไปทำงานอยู่ในเกาหลีว่า ‘ผีน้อยผ่านสื่อต่างๆ ยิ่งเป็นการตอกย้ำ สร้างดราม่าเหยียดหยามพวกเขามากขึ้น

เพราะภาษาและการนิยามมีนัยของการเมือง วัฒนธรรม ชุดคุณค่าการรับรู้ในสังคมร่วมกัน และการตัดสินใจของคนนั้นจะโน้มเอียงไปในทางบวกเลี่ยงผลทางลบ 

ทางออกสำหรับความขัดแย้ง เกลียดชัง เหยียดหยามแรงงานผิดกฎหมายชาวไทยที่กลับมาจากเกาหลีประการหนึ่งที่สามารถทำได้ทันทีคือการหยุดเรียกพวกเขาในเชิงอุปลักษณ์ว่าผีน้อยเพื่อลดทอนความเกลียดชังที่นับวันจะรุนแรงขึ้นจากสื่อและโซเชียลฯ จนพวกเขาแทบจะไม่เหลือความเป็นมนุษย์มีแต่ความเป็น ‘ผีน้อยที่ควรจะสวดไล่ หรือหาหมอผีมาจัดการไล่ไปให้พ้นจากแผ่นดินไทย  

อ้างอิง

1) Kahneman, D., & Tversky, A. (1979). Prospect theory: An analysis of decision under risk. Econometrica, 47, 263-291.

2) “วงเสวนาเผย ภาษา วัฒนธรรมมีผลแก้ไขคอร์รัปชัน ประชาชนต้องเข้าถึงข้อมูล” เข้าถึงได้จาก https://prachatai.com/journal/2018/03/75678

3) https://www.behavioraeconomics.com/resources/mini-encyclopedia-of-be/framing-effect/4

4) https://thedecisionlab.com/biases/framing-effect/

Tags: , , ,