“ตัวผู้ตัวเมีย” “มัน” “วุฒิภาวะต่ำทราม”

พิธีกรรายการเล่าข่าวแห่งทีวีดิจิทัลช่องหนึ่งบรรยายภาพถ่ายหัวหน้า เลขาธิการ และโฆษกของพรรคการเมืองพรรคใหม่ที่มีจำนวน ส.ส. เป็นอันดับ 3 ในสภาฯ และกำลังเผชิญคดีความ 7 คดี นั่งอยู่ในรถบัสเพื่อไปร่วมพิธีเปิดประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งสามสวมชุดข้าราชการปรกติสีขาว มีสีหน้ายิ้มแย้ม และแสดงท่าทางทักทายผู้ที่อยู่นอกรถ โดยหัวหน้าพรรคโบกมือ ขณะที่เลขาธิการและโฆษกชูสามนิ้วซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านรัฐประหารและระบอบเผด็จการ 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พิธีกรรายการนี้ใช้คำที่เหยียดหยาม ประณาม และลดความเป็นมนุษย์ของคน และทำให้เป็นปีศาจหรือสิ่งชั่วร้ายในข่าวในรายการข่าวโทรทัศน์ที่มีผู้ชมหลักหมื่น แต่วันนี้ สังคมมาถึงจุดที่พิธีกรข่าวสามารถเปล่งภาษาปากที่มักสงวนเฉพาะในวงสนทนาที่มีแต่คนคุ้นเคยกัน ได้อย่างเต็มปากเต็มคำใน ‘รายการข่าว’ เพื่อใช้เรียกผู้ที่มีอุดมการณ์ทางเมืองแตกต่างจากแนวทางที่พิธีกรและองค์กรสื่อที่ตนสังกัดสนับสนุน

สาระสำคัญของบทความไม่ได้อยู่ที่การวิจารณ์พฤติกรรมของตัวบุคคลและองค์กรสื่อที่ขัดจริยธรรมสื่ออย่างชัดเจน แต่สิ่งที่ผู้เขียนต้องการตั้งคำถามคือ หากสื่อวารสารศาสตร์ (news media/ journalism) และผู้ใช้สื่อ โดยเฉพาะแฟนคลับของสื่อเหล่านั้น ทั้งที่เป็นคนทั่วไปและบุคคลสาธารณะ ไม่รู้สึกว่าการรายงานที่สร้างความชอบธรรมให้ความรุนแรงแบบนี้สมควรถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข จะส่งผลอย่างไรต่อความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่นับวันยิ่งยืดเยื้อ แยกขั้ว จนแทบจะคุยกันหรือแม้กระทั่งฟังกันอย่างมีอารยะยังไม่ได้ 

ในขณะที่สื่อเอง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ยังนำเสนอประเด็นวนเวียนอยู่กับการจับขั้วแบ่งข้าง การช่วงชิงและเอาชนะคะคาน การเน้นความเป็นคู่ตรงข้ามและการเลือกข้าง (ฝ่ายประชาธิปไตย กับ ฝ่ายเผด็จการ) การเลือกภาพและเสียงสัมภาษณ์ที่ดุดัน ยิ่งไฝว้กันเยอะๆ ยิ่งดี การตัดต่อภาพและเสียงที่กระชับฉับไวราวภาพยนตร์แอ็กชั่น การใช้ดนตรีประกอบระทึกขวัญในการรายงานเหมือนแต่ละฝ่ายลั่นกลองรบพร้อมสู้ แสดงให้เห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่าลุ้น แต่ขณะเดียวกันก็น่าหวั่นเกรงและเป็นวิกฤต 

นอกจากนี้ยังมีการตีตรากลุ่มต่างๆ ด้วยภาษาข่าวที่คุ้นหูคุ้นปากแต่ลดทอนความเป็นมนุษย์ อย่าง ‘งูเห่า’ การพาดหัว ตั้งชื่อเรื่อง หรือเลือกข้อความจากการสัมภาษณ์แหล่งข่าวที่ตอกย้ำความไม่ไว้วางใจในหลักการและกระบวนการทางการเมือง เช่น ‘นักการเมืองคอร์รัปชัน ‘ไร้คุณธรรมและจิตสำนึก ‘เด็กเลี้ยงแกะ’ ‘สืบทอดอำนาจ’ ‘เสียสัตย์เพื่อชาติ’ และภาษาที่สร้างความเกลียดชัง อย่าง ‘หน้าด้าน’ ‘ซ้ายจัดดัดจริต’ ‘หนักแผ่นดิน’ ‘ล้มเจ้า’ ‘ปล้นชัยชนะ’ รวมไปถึงการให้พื้นที่สื่อไม่มากนักในการรายงานเรื่องการใช้ความรุนแรงกับผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง เมื่อเทียบการรายงานเหตุการณ์และนักการเมืองที่เป็นตัวกระตุ้นความขัดแย้งและเร้าอารมณ์ 

ผู้เขียนไม่ได้บอกว่าสิ่งที่สื่อรายงานไม่ใช่ข้อเท็จจริงหรือไม่เกิดขึ้นจริง แต่ขอตั้งข้อสังเกตต่อสื่อวารสารศาสตร์ (รวมทั้งผู้ใช้สื่อสังคมที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคนจำนวนมาก) ว่าการเลือกนำเสนอและเน้นข้อเท็จจริงด้านใดด้านหนึ่ง รวมถึงการใช้ภาษาและลีลาแบบอุปมาอุปไมยหรือสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกในการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ (แม้จะเป็นคำที่คุ้นปากคุ้นหู ใช้กันมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว) อาจไม่ใช่ทิศทางที่จะช่วยประสานรอยร้าวและหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ 

การเลือกนำเสนอและเน้นข้อเท็จจริงด้านใดด้านหนึ่ง รวมถึงการใช้ภาษาและลีลาแบบอุปมาอุปไมยหรือสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกในการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ อาจไม่ใช่ทิศทางที่จะช่วยประสานรอยร้าวและหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ 

และโจทย์ที่ผู้เขียนต้องการย้ำคือ เราจะสื่อสารข้อเท็จจริงและตั้งคำถามใหม่ๆ เพื่อให้เข้าใจปัญหาและคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้อย่างเป็นธรรมและสร้างสรรค์ได้อย่างไร โดยไม่ผลักให้สังคมเดินหน้าสู่การใช้ความรุนแรงระดับต่างๆ ต่อกันผ่านแนวคิดที่เรียกว่า ‘วารสารศาสตร์สันติภาพ’ (Peace Journalism)

แนวคิดวารสารศาสตร์สันติภาพ (Peace Journalism)

ศาสตราจารย์ Johan Galtung นักสังคมวิทยาและสันติศึกษาชาวนอร์เวย์เสนอไว้ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 โดยมองว่าสื่อวารสารศาสตร์ทำให้ความขัดแย้งยิ่งร้าวลึกและนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในระดับต่างๆ ได้ หากใช้การรายงานแบบวารสารศาสตร์สงคราม (War Journalism) ที่เน้นยุทธวิธีในการห้ำหั่นกันของ ‘คู่ขัดแย้ง’ แบ่งผู้เกี่ยวข้องเป็นฮีโร่กับศัตรู และมุ่งผลลัพธ์ที่การแพ้-ชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง 

Galtung จึงเสนอวิธีคิดในการรายงานที่เน้นการค้นหาข้อเท็จจริงจากทุกๆ ฝ่ายเพื่อหาสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรอบด้าน ไม่ตีตราผู้เห็นต่างว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม ขณะเดียวกันก็มุ่งหาทางคลี่คลายความขัดแย้งที่ไม่ใช้ความรุนแรง และไม่มีการแพ้-ชนะกันแบบกวาดเรียบ (winner-take-all) 

นักวิชาชีพและนักวิชาการจำนวนไม่น้อยรับลูกในการนำแนวคิวารสารศาสตร์สันติภาพมาศึกษาวิจัยและนำไปประยุกต์ใช้ต่อ บ้างก็มองว่าเป็นแนวคิดที่โลกสวยหน่อมแน้มไปหน่อย อุดมคติเกินไป นำมาใช้จริงไม่ได้ บ้างก็บอกว่าเชยและล้าสมัย

ก่อนจะอธิบายว่าจะนำหลักการวารสารศาสตร์สันติภาพไปใช้อย่างไร ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องปรกติในสังคมที่มีคนหลากหลาย แต่สิ่งที่ต้องมองให้เห็นว่าไม่ปรกติคือความรุนแรงเข้าแก้ปัญหา ซึ่งไม่ได้เพียงหมายถึงการใช้กำลังที่มองเห็นกันจะๆ เช่น การข่มขู่คุกคาม กักขัง อุ้มหาย ทำร้ายร่างกายรูปแบบต่างๆ ใช้วาจาดูหมิ่นเหยียดหยามกัน หรือความรุนแรงเชิงกายภาพเท่านั้น 

แต่ยังรวมถึงสิ่งที่มองไม่เห็นชัดเจน จับต้องไม่ได้ อย่าง ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เช่น โครงสร้างสถาบัน นโยบายในการบริหารบ้านเมือง กฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ กลไกของรัฐและภาคส่วนต่างๆ และความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น ขนบธรรมเนียม บรรทัดฐาน ประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า และวิถีปฏิบัติของสังคม ที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เลือกปฏิบัติ กดขี่ ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ละเมิดเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนด้วย 

ความขัดแย้งเป็นเรื่องปรกติในสังคมที่มีคนหลากหลาย แต่สิ่งที่ต้องมองให้เห็นว่าไม่ปรกติคือความรุนแรงเข้าแก้ปัญหา

เหตุที่สื่อควรทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้กระจ่าง เพราะจะได้ไม่รายงานเฉพาะเมื่อความรุนแรงโผล่ขึ้นมาให้เห็น และรายงานเฉพาะความรุนแรงที่กระทำโดยประชาชนกันเอง แต่ควรจะชี้และเชื่อมโยงให้เห็นว่าปรากฏการณ์เหล่านี้เกี่ยวกับความรุนแรงที่มองไม่เห็นอย่างไร พร้อมทั้งส่งสัญญาณเตือนเมื่อพบโครงสร้างและวิธีคิดที่ไม่เป็นธรรม ทั้งที่เป็นปฏิบัติการของประชาชนและรัฐ เพื่อให้เห็นสาเหตุ ปัจจัย และเงื่อนไขที่มีผลต่อความขัดแย้ง 

ที่สำคัญ สื่อวารสารศาสตร์เองก็ไม่ควรใช้ความรุนแรงเป็นฐานคิดและแนวปฏิบัติในการรายงานให้สังคมยิ่งร้าวลึกไปมากกว่าเดิม โดยอ้างความชอบธรรมในการตรวจสอบหรือเป็นผู้พิทักษ์ความจริงเท่านั้น (ว่าง่ายๆ คือไม่ได้บอกว่าต้องปกปิดข้อเท็จจริงหรือห้ามตั้งคำถาม แต่จะสืบสวนและรายงานอย่างไรให้คุยกันได้ ไม่ใช่ตีกัน)

สื่อวารสารศาสตร์เองก็ไม่ควรใช้ความรุนแรงเป็นฐานคิดและแนวปฏิบัติในการรายงานให้สังคมยิ่งร้าวลึกไปมากกว่าเดิม โดยอ้างความชอบธรรมในการตรวจสอบหรือเป็นผู้พิทักษ์ความจริงเท่านั้น

วารสารศาสตร์สันติภาพ คืออะไร 

วารสารศาสตร์สันติภาพประกอบด้วยฐานคิด 4 เสาหลัก คือ 1) การอธิบายความขัดแย้ง (Conflict-oriented) 2) การนำเสนอความจริง (Truth-oriented) 3) การเน้นบทบาทของประชาชน (People-oriented) และ 4) การมุ่งหาทางออก (Solution-oriented) หากมองเผินๆ ก็ดูเหมือนเป็นองค์ประกอบของปรัชญาวารสารศาสตร์และจริยธรรมวิชาชีพอยู่แล้ว เพราะมุ่งนำเสนอหลักฐานและข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและรอบด้าน ค้นหาสาเหตุของปัญหา และแสวงหาทางออก 

แต่สิ่งที่วารสารศาสตร์สันติภาพเสนอให้ต่อยอดจากหลักการวารสารศาสตร์เดิมคือ การไม่มองว่ามีผู้คิดต่างเห็นต่างกันเพียง 2 ฝ่ายหรือ 2 ขั้ว เพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในความขัดแย้งมีหลายกลุ่มหลายระดับ ต่างก็เป็นสาเหตุ มีจุดยืนต่อความขัดแย้ง และได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป การแบ่งคู่ตรงข้าม และเจาะจงไปที่ ‘คู่ขัดแย้ง’ เท่านั้นทำให้ไม่เห็นกลุ่มอื่นๆ ที่มีจุดยืนหลากหลาย จนเกิดการเหมารวมว่าเป็นพวกเดียวกันทั้งๆ ที่อาจจะไม่ได้เห็นพ้องกันในทุกเรื่อง หรือบางส่วนถูกกันออกไปจากพื้นที่การสื่อสารเพราะไม่ใช่ผู้เล่นที่โดดเด่น 

การแบ่งคู่ตรงข้าม และเจาะจงไปที่ ‘คู่ขัดแย้ง’ เท่านั้นทำให้ไม่เห็นกลุ่มอื่นๆ ที่มีจุดยืนหลากหลาย จนเกิดการเหมารวมว่าเป็นพวกเดียวกัน

ต้องไม่ตีตราว่าใครเป็น ‘พวกเรา’ ‘วีรบุรุษ’ ‘คนดี’ ‘ตาสว่าง’ และฝ่ายเห็นต่างเป็น ‘พวกเขา’ ‘ศัตรู’ ‘คนเลว’ ‘พวกโง่’ ไม่อย่างนั้นก็จะทนฟังกันคุยกันไม่ได้ และสร้างความชอบธรรมในการทำลายล้างกัน เพราะไม่เห็นว่าเป็นคนเหมือนกันเสียแล้ว

นอกจากนี้ ต้องตรวจสอบและตีแผ่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทุกฝ่าย ทั้งการกระทำที่ไม่ชอบธรรม ไม่เลือกจับจ้องและสืบสวนเฉพาะกลุ่มที่สื่อและผู้มีอำนาจนำในสังคมมองว่าเป็นอันตรายหรือมีแนวคิดที่ตนไม่สมาทาน แล้วเพิกเฉยต่อความไม่ชอบมาพากลของกลุ่มที่ตนหรือเสียง (ที่อ้างว่าเป็น) ส่วนใหญ่สนับสนุน 

ขณะเดียวกัน ต้องแสดงให้เห็นว่าประชาชนคนธรรมดา โดยเฉพาะคนกลุ่มน้อยหรือผู้ไร้สิทธิเสียงในสังคม ต่างมีศักยภาพและพลังในการสร้างสันติภาพ (people peace-makers) ไม่ใช่ส่องสปอตไลท์ไปที่ผู้กำหนดนโยบาย ผู้เล่นที่เสียงดัง หรือสถาบันหลักในสังคมเท่านั้น

ที่สำคัญ แนวคิดนี้นิยามสันติภาพว่าเป็นการไม่ใช้ความรุนแรงและสร้างสรรค์ (non-violence + creativity) ด้วยการถอดบทเรียนและหาทางป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์นองเลือดซ้ำรอย การพัฒนาโครงสร้างและวัฒนธรรมที่เป็นธรรมและไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ใช่เพียงยินดีปรีดาเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกำชัยชนะ ปราบอีกฝ่ายได้ หรือไม่ตีกัน (victory + cease-fire) เท่านั้น 

แนวคิดนี้จึงไม่ไฮไลต์เหตุการณ์ (event) ที่อ้างว่าเป็นการบรรลุสันติภาพอย่างการมีโต๊ะเจรจาหรือข้อตกลงเพียงอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการสร้างสังคมสันติภาพ (process) ที่มักจะเป็นการถกแนวคิดเชิงนามธรรม มีขั้นตอนยาวนานและเห็นผลช้า แถมอาจสวิงกลับไปเป็นความรุนแรงได้อีกถ้าไม่ระวังรักษาให้ดี

แนวปฏิบัติของวารศาสตร์สันติภาพ 

จากฐานคิดทั้ง 4 ที่ดูเป็นนามธรรมและอุดมคติ Lynch และ McGoldrick ผู้เขียนหนังสือ Peace Journalism (2005) เสนอแนวปฏิบัติ 17 ข้อที่เป็นรูปธรรมให้นำไปใช้งานได้ แบ่งได้เป็น 3 หมวด คือ 

1) การนำเสนอบริบท (contexts) ของความขัดแย้ง 

ฉายภาพให้เห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ โดยไม่แบ่งเขาแบ่งเรา เปิดเผยที่มาของความขัดแย้ง ปัจจัย เงื่อนไข ข้อจำกัด ตั้งคำถามต่อความต้องการของทุกฝ่าย หาจุดร่วม-จุดต่างของปัญหา เป้าหมาย และความสูญเสียที่เกิดขึ้น โดยไม่เน้นไปที่ความสยดสยอง ความทรมาน ความเกลียดชัง ความกลัว ความคับแค้นใจเพียงอย่างเดียว รวมไปถึงตรวจสอบและพิจารณาผลระยะยาวของความขัดแย้งที่ยืดเยื้อและแนวทางแก้ไขต่างๆ ที่อาจยังไม่ปรากฏในวันนี้ เพื่อให้เห็นที่มาที่ไปของความขัดแย้งบนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง รอบด้าน หลายมิติ หลากมุมมอง

2) การเลือกใช้ภาษา (lexicon choices) 

ไม่ใช้คำที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นเหยื่อ (victimizing language) ซึ่งมักเน้นความโศกเศร้า น่าสมเพช ไร้พลังต่อสู้ แต่ควรใช้คำบรรยายเหตุการณ์ตามสิ่งที่ปรากฏอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงเลี่ยงการใช้คำคุณศัพท์หรือการตีตราที่ลดความเป็นมนุษย์​ (dehumanizing language) ซึ่งจะยิ่งทำให้โกรธแค้นกันมากขึ้น เช่น เลวทราม โหดเหี้ยม ป่าเถื่อน กลุ่มหัวรุนแรง พวกสุดโต่ง หรือใช้คำที่กลุ่มใช้นิยามตนเอง (ถ้าคำที่เขาเรียกตัวเองไม่ตรงตามหลักการหรือข้อเท็จจริง ก็ค่อยมาอธิบายอีกที ซับซ้อนหน่อยแต่อย่างน้อยก็ไม่ให้คำเหล่านั้นติดหูติดปากจนเป็นเรื่องที่ยอมรับได้หรือเข้าใจผิด)

3) การนำเสนอแนวคิดสากลเรื่องสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ และสันติภาพ 

ในทางปฏิบัติ หมวดนี้เรียกร้องให้นักวารสารศาสตร์และองค์กรสื่อทำความเข้าใจกับฐานคิดของสังคมประชาธิปไตยที่เป็นสากล (universal) เพื่อให้มองเห็นและนำเสนอปัญหาการละเมิดสิทธิ เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน และการใช้ความรุนแรงของทุกฝ่าย ไม่เฉพาะฝ่ายที่ตนสนับสนุนหรือคัดค้าน (โดยอ้างว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องรักษาความสงบมั่นคง หรืออ้างว่าเป็นแนวคิดตะวันตกที่ไม่เหมาะกับสังคมวัฒนธรรมไทย) รวมทั้งต้องอ้างแหล่งข่าวและตรวจสอบข้อมูลที่ได้มาเสมอว่าเป็นข้อเท็จจริง ความเห็น การวิเคราะห์คาดการณ์ หรือโฆษณาชวนเชื่อ 

ขณะเดียวกันก็ไม่สรุปฟันธงว่าการลงนามในข้อตกลงหรือสนธิสัญญา (หรือการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล) เป็นจุดสิ้นสุดของความขัดแย้ง ควรตั้งคำถามว่าปัญหาใดยังไม่ได้รับการแก้ไข หรือความต้องการใดยังไม่ได้รับการตอบสนอง และหากผู้กำหนดนโยบายยังไม่เสนอแนวทางคลี่คลายปัญหา ก็ควรเสาะหาต่อไปว่ามีผู้เล่นอื่นๆ เสนอทางออกสู่สันติภาพอย่างไร

มองบทบาทสื่อวารสารศาสตร์ไทยในความขัดแย้ง ด้วยเลนส์วารสารศาสตร์สันติภาพ

แม้จะยังเป็นแนวคิดที่มีจุดบอด ถูกวิพากษ์เรื่องความเป็นอุดมคติ ยากต่อการนำไปปฏิบัติจริง แต่ในภาวะความขัดแย้งเช่นนี้ เราอาจนำบทเรียนจากวารสารศาสตร์สันติภาพมาลองพิจารณาสถานการณ์การเมืองและบทบาทสื่อวารสารศาสตร์ในสังคมไทย ว่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการคลี่คลายความขัดแย้งได้อย่างไรบ้าง

หากไม่นับเรื่องการใช้ภาษาและวิธีการเล่าเรื่องที่ควรทบทวนกันใหม่ว่าจะคลี่คลายความตึงเครียด ประสานความแตกต่างระหว่างขั้ว และลดความเกลียดชังได้อย่างไร โจทย์จากเสาหลักแรกที่เน้นการอธิบายความขัดแย้ง (Conflict-oriented) คือการเลือกประเด็นที่ชี้ให้เห็นความรุนแรงระดับต่างๆ อันเป็นที่มาและผลจากความขัดแย้ง 

ความขัดแย้งไม่ได้ประกอบด้วย ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ กับ ‘ฝ่ายเผด็จการ’ เพียงเท่านั้น ควรแจกแจงว่ากลุ่มและชุมชนต่างๆ ในสังคมไทยคิดอย่างไร ได้รับผลจากความขัดแย้งนี้อย่างไร มีจุดร่วมและจุดต่างอย่างไร ประเด็นใดพอจะคุยกันได้ ประเด็นใดต้องเป็นไปตามหลักการเพื่อให้มีกติกา (ที่สร้างร่วมกัน) บางอย่างเป็นกรอบ อย่างน้อยจะได้เห็นว่ายังเป็นคนเหมือนกัน ไม่ถึงกับต้องประกาศไม่เผาผีหรือไล่ออกนอกประเทศ 

โจทย์จากเสาหลักที่สองคือการนำเสนอความจริง (Truth-oriented) น่าจะเป็นการตั้งคำถามและตรวจสอบจุดยืนและนโยบายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ใครสัญญาอะไรไว้ นโยบายจากรัฐบาล คสช. ที่ละเมิดเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน และสร้างความขัดแย้งแน่ๆ อย่างการ ‘ทวงคืนผืนป่า’ เขตเศรษฐกิจพิเศษ นโยบายพลังงาน การกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตและสื่อ หรือความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ จะเป็นอย่างไร

ข้อดีคือเมื่อประกาศเดินหน้าตามหลักการประชาธิปไตยแล้ว เราได้เห็นฝ่ายนิติบัญญัตินำข้อมูลต่างๆ มาอภิปรายอย่างเป็นทางการในสภาเหมือนก่อนหน้านี้ 

แนวทางนี้น่าจะเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลเพิ่มขึ้น หรืออย่างน้อยก็ได้เห็นการแสดงจุดยืนของกลุ่มต่างๆ อย่างชัดเจน แคปเก็บไว้เตือนใจหรือเช็คบิลทีหลังได้ และเอื้อให้สื่อแสดงบทบาทในการตรวจสอบและรายงานเชิงสืบสวนมากขึ้น ไม่ใช่เพียรเปิดโปงเฉพาะบางคนบางกลุ่มเท่านั้น

ที่สำคัญ กรณีพิพาทหรือข้อกล่าวหาใดที่ยังคงค้างคาใจและถูกนำมาใช้สร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรงในรัฐบาลที่ผ่านๆ มา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความปั่นป่วนในสังคม การใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงและก่อความไม่สงบ การจัดการและดำเนินคดีกับผู้เห็นต่าง การคุกคามเสรีภาพการแสดงความเห็นและเสรีภาพสื่อ การบริหารนโยบายผิดพลาด การคอร์รัปชันและเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องในรูปแบบต่างๆ ก็ควรถูกตีแผ่และตรวจสอบ เพื่อไม่ให้ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างได้อีก 

การที่สื่อทบทวนข้อพิพาทในอดีตจะช่วยสร้างวัฒนธรรมที่เรียกร้องความรับผิดรับชอบ (hold accountability) จากผู้กำหนดนโยบายและผู้บริหารประเทศ รวมถึงกลุ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องได้ และไม่เป็นส่วนหนึ่งที่เสริมสร้างวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลจนประชาชนหมดศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม

การที่สื่อทบทวนข้อพิพาทในอดีตจะช่วยสร้างวัฒนธรรมที่เรียกร้องความรับผิดรับชอบจากผู้กำหนดนโยบายและผู้บริหารประเทศ รวมถึงกลุ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องได้

ในส่วนการเน้นบทบาทของประชาชน (People-oriented) ซึ่งเป็นเสาหลักที่สาม คือการมองหาแหล่งข้อมูลบุคคลอื่นๆ บ้าง โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อยหรือผู้ที่ไม่ค่อยมีสิทธิ์มีเสียง นอกเหนือจากผู้กำหนดนโยบายและผู้มีอิทธิพลในสังคม 

ในช่วง 5 ปีภายใต้รัฐบาล คสช. เสียงของประชาชนคนธรรมดามักจะดังขึ้นเฉพาะเวลาเกิดปัญหาหรือความรุนแรงที่มองเห็น แถมบางครั้งก็ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้สร้างปัญหาหรือใช้ความรุนแรงก่อน การเพิ่มพื้นที่สื่อให้กับคนทั่วไปที่แสวงหาความยุติธรรมและสันติภาพ น่าจะช่วยลดพื้นที่ของผู้มีอำนาจในสังคมที่มักเหวี่ยงใส่สื่อมวลชน (ซึ่งก็เท่ากับส่งผ่านความเกรี้ยวกราดนั้นมายังประชาชนด้วย) แถมให้คำตอบที่เพียงมัดตัว ไม่ได้ช่วยสร้างความกระจ่างหรือเข้าใจ แต่ยิ่งทำให้ของขึ้นเปล่าๆ

ยิ่งไปกว่านั้น การให้พื้นที่สื่อกับภาคประชาชนยังแสดงให้เห็นว่าคนทั่วไปในฐานะพลเมืองมีศักยภาพและมีส่วนร่วมในการคลี่คลายความขัดแย้งได้ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ชมตาดำๆ ที่บางครั้งผู้มีอำนาจก็มองไม่เห็นศีรษะและทำได้แค่เฝ้าดูการช่วงชิงในเกมการเมืองระหว่างชนชั้นนำทางการเมือง อาจเชียร์หรือแช่งได้ดังๆ ในโลกโซเชียลฯ แต่แทบไม่มีสิทธิ์ส่งเสียงสนับสนุนหรือค้านผ่านทางช่องทางสื่อหลัก (หรือถ้าส่งเสียงก็เสี่ยงคุก) วิธีคิดนี้สอดคล้องกับแนวคิดกระบวนการสันติภาพ (peace process) ที่เสนอว่าภาคประชาสังคมและภาคประชาชนจะเป็น ‘เครือข่ายหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ’ (safety net) ที่จะช่วยเกื้อหนุนและรักษาให้กระบวนการสันติภาพดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน

หัวใจของวารสารศาสตร์สันติภาพอยู่ที่เสาหลักสุดท้ายคือการหาทางออกที่ไม่ใช้ความรุนแรงและสร้างสรรค์ ในยามที่สังคมขาดแคลนความเชื่อมั่นในสถาบันและกลไกทางการเมือง สื่อวารสารศาสตร์จึงควรทำมากกว่าการให้ความหวังลอยๆ หรือผสมโรงแซะ แต่ควรแสวงหาว่าเราจะทำความหวังสู่สังคมที่ดีขึ้นให้เป็นจริงได้อย่างไร และจะป้องกันไม่ให้เกิดความไม่ยุติธรรมและความรุนแรงอีกได้อย่างไร 

สื่อวารสารศาสตร์จึงควรทำมากกว่าการให้ความหวังลอยๆ หรือผสมโรงแซะ

ยิ่งมีช่องทางหลากหลายและเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ น่าจะเป็นโจทย์ท้าทายให้นักวารสารศาสตร์ ทั้งที่มีสังกัดและอิสระ และองค์กรสื่อได้ลองตั้งคำถาม คิดประเด็น และสร้างสรรค์นวัตกรรมในการเก็บข้อมูลและเล่าเรื่องที่แตกต่างจากเดิมได้ เหมือนอย่างที่เคยทำมาแล้วในช่วงก่อนการเลือกตั้ง

ย้ำกันอีกทีว่าแนวคิดวารสารศาสตร์สันติภาพไม่ได้ถูกเสนอขึ้นเพื่อใช้ในการรายงาน ‘ข่าว’ เท่านั้น แต่รวมถึงงานวารสารศาสตร์รูปแบบอื่นและการผลิตเนื้อหาทั่วไป ซึ่งยิ่งทำให้เห็นว่ายังมีพื้นที่ในการวิจัยและทดลองนำวารสารศาสตร์สันติภาพไปใช้อีกมาก 

อีกทั้งการหยิบยกแนวคิดนี้มาพูดถึงก็ไม่ใช่เพราะนี่เป็นยาวิเศษที่นำมาใช้ปุ๊บแล้วจะคลี่คลายความขัดแย้งได้ทันที หรือเป็นสูตรสำเร็จที่แก้สมการแห่งความขัดแย้งและความรุนแรงที่เราเจอในสังคมไทยทุกวันนี้ แต่น่าจะนำมาใช้ทดลองร่วมกับแนวทางการไม่ใช้ความรุนแรงอื่นๆ ได้

ในเมื่อการรายงานเหตุการณ์ วิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ แซะบ่นก่นด่า และประณามกันที่ผ่านมาไม่ได้ช่วยให้เราพร้อมจะทำความเข้าใจกันและกัน หรือเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน เพราะต่างก็เชื่อในมุมมองและคำอธิบายของตนเอง ทั้งยังปฏิเสธคำอธิบายของคนที่เห็นต่าง แทนที่จำนวนช่องทางสื่อสารมวลชนและสื่อสังคมที่มากขึ้นและเข้าถึงง่ายขึ้นจะเอื้อให้เราได้รับรู้ข้อเท็จจริงและวิธีคิดที่แตกต่างหลากหลาย กลับกลายเป็นยิ่งทำให้วงข้อมูลจำกัดอยู่ในหมู่คนที่คิดเหมือนๆ กัน ถึงขั้นที่ว่าเพียงก้าวออกจากทวิตภพ ก็พบว่าผู้คนที่ล้อมรอบในโลกกายภาพไม่ได้เออออไปกับเราเหมือนคนในโลกออนไลน์ 

การอธิบายแนวคิดวารสารศาสตร์สันติภาพอย่างยืดยาวในครั้งนี้ เป้าหมายหลักของผู้เขียนไม่ใช่การเรียกร้องกับนักวารสารศาสตร์และองค์กรสื่อเท่านั้น แต่สิ่งหนึ่งที่ประชาชนทำได้เพื่อไม่ให้ความรุนแรงแผ่ขยาย คือชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่สื่อทำสร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรงอย่างไร และไม่สนับสนุนการกระทำและ/หรือองค์กรสื่อเหล่านั้น เหมือนที่เคยเป็นกระแสเมื่อครั้งจับโป๊ะแตกกรณีออกอากาศคลิปเสียงตัดต่อมาแล้ว

สิ่งหนึ่งที่ประชาชนทำได้เพื่อไม่ให้ความรุนแรงแผ่ขยาย คือชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่สื่อทำสร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรงอย่างไร และไม่สนับสนุนการกระทำและ/หรือองค์กรสื่อเหล่านั้น

นอกจากนี้ ในเมื่อทุกคนใช้สื่อและผลิตเนื้อหาเองได้ อีกทั้งผู้มีตำแหน่งทางการเมืองและผู้มีอิทธิพลทางความคิดในโลกโซเชียลจำนวนมากที่ไม่ต้องปรากฏตัวผ่านสื่อมวลชนก็มีผู้ติดตามและไว้เนื้อเชื่อใจเป็นหลักหมื่นหลักแสน ก็น่าจะลองนำแนวคิดนี้ไปปรับใช้ 

ก่อนจะโพสต์หรือทวีตเพื่อนำเสนอข้อมูล วิพากษ์วิจารณ์ หรือก่นด่าด้วยความอึดอัด คับแค้น สะใจ อาจหยุดคิดสักนิดว่าความเห็นและท่าทีในการสื่อสารของคนในสังคมจะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งและลดโอกาสการใช้ความรุนแรงได้อย่างไรบ้าง เพื่อไม่ให้ทั้งแวดวงโซเชียลและสื่อมวลชนนำไปขยายต่อ ให้ความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต

เพราะความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไป แต่ในเมื่อพอจะเห็นแล้วว่าสังคมกำลังเดินไปบนทางที่มีความรุนแรงรออยู่ข้างหน้า แล้วเราจะไม่เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ และคิดใหม่ทำใหม่ เพื่อไม่ให้ต้องเลือดตกยางออกกันอีกสักหน่อยหรือ

Tags: , , , ,