หากสืบประวัติของห้างเซ็นทรัลและตระกูลจิราธิวัฒน์ ณ วันนี้ อาจย้อนเวลากลับไปได้เกือบ 100 ปี นับตั้งแต่วันที่ เตียง แซ่เจ็ง ย้ายจากมณฑลไหหลำ มาเริ่มสร้างอาณาจักรในประเทศไทยเมื่อปี 2470 และเริ่มเส้นทางของ ‘ห้างเซ็นทรัล’ ในยุคของ สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ เมื่อปี 2490

จากนั้นอาณาจักรของ ‘ห้างเซ็นทรัล’ ก็เติบใหญ่เรื่อยมา กลุ่มเซ็นทรัลไม่ได้มีเพียงห้างสรรพสินค้า หากยังมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจการตลาดค้าปลีกแบรนด์ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจร้านอาหาร ทั้งยังสยายปีกไปเทกโอเวอร์ห้างสรรพสินค้าอีกหลายแห่งในยุโรป

เช่นเดียวกับตระกูลจิราธิวัฒน์ที่ส่งไม้ต่อเนื่องกันมาจนถึงรุ่นที่ 3 ซึ่งหลายคนก็เข้ามาสานต่อธุรกิจต่างๆ ในปัจจุบัน ถือว่าเป็นตระกูลธุรกิจที่ยิ่งใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศ

หนึ่งในผู้บริหารรุ่นใหม่จากรุ่น 3 ที่ได้รับมอบหมายงานใหญ่คือ เท็น-รวิศรา จิราธิวัฒน์ ที่สวมหมวกกรรมการผู้จัดการบริหารกลุ่มการตลาด กลุ่มห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ในเครือเซ็นทรัล รีเทล

รวิศราเป็นลูกสาวของ สุทธิชัย จิราธิวัฒน์ เป็นรุ่นที่ 3 เช่นเดียวกับ ทศ จิราธิวัฒน์ (ลูกของสัมฤทธิ์) ประธานกรรมการบริษัท

ธุรกิจค้าปลีกเต็มไปด้วยความท้าทาย ย่อมทำให้ผู้บริหารรุ่นใหม่อย่างรวิศราต้องเจอ ‘บททดสอบ’ ไม่เว้นแต่ละวัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ‘ห้างเซ็นทรัล’ ในนิยามของรวิศราก็คือ สถานที่ที่เธอคุ้นเคยที่สุด เป็นสถานที่ในความทรงจำ และเป็นสถานที่ที่นักบริหารรุ่นใหม่อย่างเธอต้องการขับเคลื่อน ให้เติบโตต่อไปและอยู่คู่กับคนไทยอย่างยั่งยืน

และแน่นอนเธอเลือก ‘ห้างเซ็นทรัลชิดลม’ เป็นสถานที่ที่เธอตั้งมั่นและตั้งใจให้เป็นห้างแห่งอนาคต

‘ห้างเซ็นทรัลชิดลม’ มีประวัติศาสตร์และเป็น ‘Flagship Store’ ของกลุ่มห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ในเครือเซ็นทรัลรีเทล

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 มีงานฉลองโฉมใหม่ครั้งใหญ่หลังใช้เวลาทรานส์ฟอร์มห้างเซ็นทรัลชิดลมนานนับปี โดยใช้งบลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท ปรับโฉมทั้งในและนอกอาคาร และสร้างทางเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) เรียกว่า Sky Terrace เพิ่มอีก 1 จุด เป็นอีกหนึ่งทางเข้าใหม่ของห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ให้ลูกค้าสะดวกขึ้นไปอีกขั้น

ประวัติศาสตร์ห้างเซ็นทรัลชิดลมนั้นต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2517 เปิดห้างสรรพสินค้าที่โดดเด่นด้วยกระเบื้องสีส้ม และทำให้เป็นห้างสรรพสินค้าสมัยใหม่แห่งแรกของกลุ่มเซ็นทรัล สำหรับรวิศรา ห้างเซ็นทรัลชิดลมเป็นสถานที่ในความทรงจำ เพราะทั้งคุณพ่อและคุณแม่ล้วนนั่งทำงานที่นี่ แน่นอนว่าโรงเรียนของเธอคือ โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้าม เดินข้ามถนนมาก็เจอกับห้างเซ็นทรัลชิดลม

“ในความทรงจำคือ พอเลิกเรียนก็เดินข้ามถนน มานั่งรอคุณพ่อคุณแม่ทำงาน มานั่งกินข้าว แล้วก็ขึ้นไปเล่นบนลานสวนสนุกชั้นบน” รวิศราเริ่มเล่าให้ฟัง

ห้างเซ็นทรัลชิดลมในยุครวิศราตั้งแต่เด็กจนโตนั้นมีครบถ้วน หากเรียนพิเศษ เรียนเปียโน ก็มาเรียนได้ที่ห้างเซ็นทรัลชิดลม และชั้นบนสุดก็มีสวนสนุกและลานกิจกรรมของเด็กๆ ที่เรียกว่า ‘เซ็นทรัลบัณฑิตน้อย’

นอกจากสถานที่ที่เป็นความทรงจำแล้ว เธอยังผูกพันกับ ‘ผู้คน’ มีพนักงานห้างจำนวนมากที่ทำงานกับห้างเซ็นทรัล มาตั้งแต่รุ่นแรกๆ และในวันนี้ก็ยังคงอยู่กับห้างเซ็นทรัล เพราะฉะนั้นเธอจึงตื่นเต้นมาก เมื่อได้กลับมาทำงาน ที่ห้างเซ็นทรัลและโรบินสัน พร้อมทำโปรเจกต์ ‘ห้างเซ็นทรัลชิดลม’ และยังคงนึกถึงวันเก่าๆ ที่สวยงามนั้นอยู่เสมอ

ขณะเดียวกันเมื่อโจทย์คือ การทรานส์ฟอร์มห้างเซ็นทรัลชิดลมเพื่อลูกค้า รวิศราและทีมจึงนำความทรงจำ ความประทับใจในอดีตมาเป็นส่วนช่วย ‘ปรุง’ ให้ห้างเซ็นทรัลชิดลมออกมาเป็นส่วนผสมของเซ็นทรัลที่ ‘ลงตัว’ ที่สุด

สำหรับโจทย์เบื้องหลังห้างเซ็นทรัลชิดลมโฉมใหม่ เป็นการตัดสินใจร่วมกันของครอบครัวที่เห็นว่าทำเลทอง อย่างห้างเซ็นทรัลชิดลมนั้นไม่ได้รีโนเวตมาระยะเวลาหนึ่ง และเล็งเห็นโอกาสในการเพิ่มศักยภาพของห้างเซ็นทรัลชิดลมในการเป็น Shopping Destination เป็น The Store of Bangkok ของประเทศไทย

“ไม่ใช่แค่สำหรับเราคนเดียว แต่สำหรับครอบครัวเรา ห้างเซ็นทรัลชิดลมถือเป็น Flagship Store ของห้างเซ็นทรัล เป็นที่ที่มีความหมายกับครอบครัวเรามาก ตั้งแต่เจเนอเรชันแรกถึงเจเนอเรชันนี้ ทุกคนต่างมีความผูกพันและอยากยกระดับ ความเป็น Department Store ให้เป็น Global Department Store และเป็น Luxury Department Store ไปพร้อมๆ กัน”

แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ทั้งห้างสรรพสินค้าจะมีแต่ความเป็นลักชูรี เราได้นิยามคำ ว่า Luxury ใหม่ คือไม่ใช่หมายถึงเรื่องของราคา แต่เป็นเรื่องวิถีชีวิตของแต่ละคน

“เราอยากสร้าง Brand Identity ให้คนเห็นแล้วรู้เลยว่าคือห้างเซ็นทรัลชิดลม เราจึงสร้างความแตกต่าง ทั้งการมี โลโก้หรือสี Chidlom Pink (ชมพูชิดลม) ไปจนถึงยูนิฟอร์มของพนักงาน ที่จะไม่เหมือน สาขาอื่นๆ มีเฉพาะที่นี่เท่านั้น

ขณะเดียวกันอีกส่วนหนึ่งที่รวิศราให้ความสำคัญคือ การคัดสรรสินค้าอย่างพิถีพิถันให้เข้าถึงคนทุกเจเนอเรชัน ทุกกลุ่มลูกค้า

และนี่คือห้างเซ็นทรัลชิดลม จากอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ที่รวิศราตีโจทย์ ให้ห้างเซ็นทรัลเป็น ‘บ้านหลังที่ 2’ ของทุกคน

รวิศราเล่าให้ฟังว่า โจทย์ของเธอรับหน้าที่ดูแลในส่วนของการตลาดคือ ต้องเป็นมากกว่าห้างสรรพสินค้า หากแต่เป็นสถานที่แห่งการสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกเจเนอเรชัน และสร้างความผูกพันให้เกิดขึ้นกับคนทุกวัย ดังคำกล่าวที่ว่าห้างเซ็นทรัลเป็น ‘The Store of Endless Inspiration for Every Moment of Your Life’ เป็น ‘บ้านหลังที่ 2’ ของทุกคนไปพร้อมๆ กัน

“เวลาเราสร้างอะไร เรานึกเสมอว่าห้างไม่ใช่แค่สถานที่ที่คนมาช็อปปิง แต่คือที่ที่คนมาแฮงเอาต์ เป็นห้างสำหรับ ทุกเจเนอเรชันทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เราเอาวิสัยทัศน์เหล่านี้มาตั้งต้น ก่อนจะพัฒนาต่อไป”

ในส่วนของรวิศราที่ดูแลการตลาด Vision ใหญ่คือ การเอาลูกค้าเป็นศูนย์กลางหรือ Customer Centric ทำอย่างไรให้ลูกค้าอยู่กับห้างเซ็นทรัลนานๆ อย่างมีความสุขนั่นคือ Customer Lifetime Value

ห้างเซ็นทรัลชิดลมเป็นตัวอย่างสำคัญของการสร้างคอมมูนิตี้ เพราะการทำห้างสรรพสินค้าในวันนี้ ต้องเป็นพื้นที่ให้ทำกิจกรรมอื่นๆ ด้วย ฉะนั้นโจทย์สำคัญคือ ต้องนำประสบการณ์หรือ Happening ใหม่ๆ มาทำให้ลูกค้าอยากนัดเจอกันที่ห้างเซ็นทรัลชิดลม ได้ใช้เวลาด้วยกัน พบปะกัน อาจจะแวะไปนวดหน้า อาจจะแวะไปทำผม แล้วก็กินข้าวต่อ เป็นสิ่งที่รวิศราอยากเห็น

สำหรับ ‘เคล็ดลับ’ ในการไปให้ถึงตรงนั้น รวิศราขยายความว่ามี 3 ปัจจัย

1. เข้าใจลูกค้า – เหมือนเอาตัวเราไปอยู่ใน Customers’ Shoes ว่า ลูกค้าคิดยังไง ใช้ชีวิตอย่างไร

2. รู้ใจลูกค้า – รู้ว่าลูกค้าคาดหวังอะไร และเราจะคัดสรรสิ่งที่ถูกใจลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร สินค้า แล้วก็กิจกรรมที่ทำภายในห้างสรรพสินค้า

3. จริงใจ – ดูแลลูกค้าด้วยความจริงใจ ความซื่อสัตย์ เป็นเคล็ดลับที่ทำให้ห้างเซ็นทรัลอยู่ยาวนาน

และอีกเครื่องปรุงที่ต้องเติมเข้าไปก็คือ เรื่องเทคโนโลยี เรื่องข้อมูลที่ต้องผสมผสานในการทำมาร์เก็ตติงมากขึ้น ข้อนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลในเชิงลึก ทำให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิม เติมธุรกิจใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า เช่น การทำ Hyper-personalization การนำ Big Data มาวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า หรือการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มาตอบสนองลูกค้า ทั้งหมดนี้คือวิสัยทัศน์ของรวิศรา ในฐานะหัวเรือใหญ่ด้านการตลาด

คำถามใหญ่ต่อมาก็คือ การมาถึงของอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ส่งผลกระทบกับการตลาดของห้างเซ็นทรัลที่รวิศราเป็นผู้ดูแลหรือไม่

“เมื่ออีคอมเมิร์ซเข้ามาถือเป็นสิ่งที่ดีในอุตสาหกรรม เพราะทุกการแข่งขันทำให้เราพัฒนาตัวเองได้ดียิ่งขึ้น ทำให้เราอยู่นิ่งไม่ได้ พอมีรายใหม่ๆ เข้ามา ก็ทำให้รู้ว่าสิ่งที่เรามีอยู่แล้วและสิ่งที่เราต้องทำเพิ่มคืออะไร

“ส่วนหนึ่งที่เราพัฒนาในฝั่งอีคอมเมิร์ซขึ้นมาคือ Central App นอกจากนั้นเรายังมีโซเชียลคอมเมิร์ซ เราไม่หยุดสร้างช่องทางใหม่ๆ ให้กับลูกค้า เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้า เราไม่ได้มีแค่ห้างอย่างเดียว แล้วเรายังผสมผสานทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์ สร้าง Omni-channel Experience ให้กับลูกค้า จนเราเป็นผู้นำในด้านนี้

เพราะฉะนั้น Experience ที่เราสร้างไม่ได้มองแค่ Offline Experience หรืออีคอมเมิร์ซอย่างเดียว แต่เรามองว่าต้องอยู่คู่กัน ต้องสร้างให้เป็นหนึ่งเดียวกันให้ได้ เพื่อมอบความสะดวกสบายที่สุดให้ลูกค้าในทุกที่ ทุกเวลา”

รวิศราขยายความว่า หลายแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ไม่ว่าจะ Meta หรือ Google หยิบเอาห้างเซ็นทรัลเป็นกรณีตัวอย่าง ในฐานะแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ และเป็นตัวอย่างที่สามารถนำไป ‘เล่าต่อ’ ให้แบรนด์อื่นๆ ฟังได้ว่า ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ก็สามารถใช้ช่องทางนี้ในการทำธุรกิจให้เติบโตไปอีกขั้น

กระนั้นเองประสบการณ์จากอีคอมเมิร์ซก็ยังไม่สามารถทดแทนประสบการณ์จาก ‘ห้างสรรพสินค้า’ ได้ทั้งหมด

“ประสบการณ์ที่ลูกค้าได้มาสัมผัสในฝั่งออฟไลน์ได้เดินเข้ามาในห้องแอร์เย็นๆ ได้กลิ่นของบิวตี้โปรดักส์เช่นกลิ่นน้ำหอมอโรมา มอบอีกหนึ่งความรู้สึกที่ออนไลน์ทำไม่ได้ แล้วถ้าซื้อของขวัญให้เพื่อนหรือให้ครอบครัว ห้างเซ็นทรัลก็ยังมีบริการห่อของขวัญให้ ซึ่งจุดนี้อีคอมเมิร์ซเจ้าอื่นๆ ยังอาจทดแทนไม่ได้”

อีกหนึ่งคำถามที่อยากรู้คือ รวิศรายัง ‘เดินห้าง’ อยู่หรือไม่

เธอยิ้มเล็กน้อยก่อนตอบว่า แน่นอนว่าเดินเป็นประจำและทำกิจกรรมหลายอย่างตั้งแต่ช็อปปิง ทานอาหาร ไปจนถึงซื้อของให้หลาน ซื้อของให้ตัวเอง ให้เพื่อนด้วย ช่วงคริสต์มาสที่ผ่านมาก็ซื้อของบิวตี้ แผนกโฮม สินค้าแม่และเด็ก แฟชั่น รองเท้า และชุดเสื้อผ้าต่างๆ 

“ปกติช็อปที่สาขาเซ็นทรัลชิดลม แต่จริงๆ เป็นคนชอบตรวจสาขาด้วย ก็จะไปหลายๆ สาขา มีช่วงหนึ่งที่เราไป Store Visit ทั่วประเทศ ไปทั้งห้างโรบินสัน ทั้งห้างเซ็นทรัล ไปเยี่ยมพนักงาน ซึ่งพนักงานเขาก็ดีใจที่ได้เจอเราในฐานะผู้บริหาร มาเยี่ยมสาขา ไปให้กำลังใจเขา บวกกับได้เข้าใจลูกค้าในแต่ละพื้นที่มากขึ้น

แต่ถ้าไม่ได้ไปไหน ก็อยู่ที่นี่ เพราะบ้านอยู่แถวนี้ โรงเรียนที่เคยเรียนก็อยู่แถวนี้ แล้วกรุงเทพฯ รถก็ติด เพราะฉะนั้นก็อยู่ห้างเซ็นทรัลชิดลมนี่ละ (หัวเราะ) แต่ตอนนี้เรามีสาขาใหม่คือ ห้างเซ็นทรัลบางรักที่ใกล้บ้านมากกว่าเดิม”

แล้วคนเซ็นทรัลอย่างคุณได้ซื้อของจากห้างสรรพสินค้าอื่นๆ บ้างไหม

รวิศรานิ่งคิดสั้นๆ ก่อนตอบ “ส่วนใหญ่ก็เป็นห้างของเราที่ยุโรป (ยิ้ม) เวลาไปลอนดอนก็ไปเซลฟริดเจส (Selfridges) ไปอิตาลีก็ไปรินาสเซนเต (La Rinascente) ถ้าไปเบอร์ลิน เยอรมนี ก็ไปคาเดเว (KaDeWe) ส่วนถ้าในไทยก็มีไปบ้าง (ยิ้ม)”

ก่อนหน้าที่เข้ามาทำงานที่ห้างเซ็นทรัล รวิศราเป็นหนึ่งในคนที่ Explore ไปแล้วหลายมุมทั่วโลก ไม่ใช่แค่ไปเรียนอย่างเดียว แต่ยังเป็นนักธุรกิจมืออาชีพในหลายประเทศ

ทายาทรุ่นที่ 3 อย่างเธอเคยทำงานมาแล้วทั้งที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ก่อนกลับมาช่วยธุรกิจครอบครัว โดยถูกส่งจากทางบ้านไปช่วยทำงานในเครือที่ประเทศจีน เมื่อความรู้พร้อมสรรพก็กลับมายังประเทศไทย

รวิศราบอกว่าสิ่งเหล่านี้คือ สิ่งที่ ‘ประกอบสร้าง’ เธอขึ้นมา ให้ได้รู้จักทั้งความแตกต่างทางวัฒนธรรม การทำงาน และวิธีคิดของคนแต่ละชาติที่แตกต่างกัน

“ขณะเดียวกันเรายังได้เห็นทั้งความสำเร็จ และบทเรียนซึ่งทำให้เราสามารถประยุกต์ใช้กับ ห้างเซ็นทรัลได้” ฉะนั้นประสบการณ์จากหลากหลายที่จึงผสมรวมกันจนกลายเป็นเธอทุกวันนี้

“แน่นอนเราอยากให้มีความสร้างสรรค์มากขึ้น และยืดหยุ่นมากขึ้น เพราะตอนนี้โลกเปลี่ยนไปเร็วมาก เราเจอสิ่งที่ Disrupt ตลอดเวลาที่ห้างเซ็นทรัลอยู่มา 77 ปี เราไม่เคยหยุดพัฒนาเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ทั้งการออกแบบองค์กร การบริหารจัดการ และการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย”

77 ปีเป็นตัวเลขที่ ‘ยิ่งใหญ่’ แต่ก็ ‘ท้าทาย’ ไปพร้อมๆ กัน หากนับจากจุดเริ่มต้น จากผู้ก่อตั้งอย่างเตียงในปี 2490 เท่ากับวันนี้ห้างเซ็นทรัลอยู่คู่คนไทยมานานถึง 77 ปี นัยหนึ่งถือเป็นเรื่องดีที่มี ‘ตำนาน’ และ ‘ประวัติศาสตร์’ อันยาวนาน แต่อีกเรื่องหนึ่งก็เป็นบททดสอบในการดูแลองค์กรที่อยู่มานาน

คำถามคือ ‘สไตล์’ การบริหารของรวิศรา ซึ่งถือเป็น ‘ผู้บริหารรุ่นใหม่’ ในองค์กรที่อยู่คู่คนไทยมานาน ต้องทำอย่างไร

“เราส่งเสริมให้พนักงานได้มีความคิดเป็นของตัวเอง สามารถมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้ พร้อมกับอัปสกิลตัวเองตลอดเวลา ให้เรียนรู้กับธุรกิจไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็ต้องหา Business Model ใหม่ๆ เข้ามาเติมเต็ม เพราะหากขายของอย่างเดียว แต่ไม่ทำอย่างอื่นให้ห้าง ‘สนุก’ มากขึ้น ก็จะถูกอุตสาหกรรมอื่นเข้ามา Disrupt ฉะนั้นเราเลยมีคำว่า Retailtainment หรือ Shopping Experience ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา”

ขณะเดียวกันส่วนสำคัญอีกอย่างในมุมมองของรวิศราก็คือ การ ‘ร่วมมือ’ กับพาร์ตเนอร์ ที่วันนี้พยายามสร้างสรรค์งานไปพร้อมกันกับพาร์ตเนอร์ ทั้งที่เป็นทั้งแบรนด์ระดับนานาชาติและในระดับท้องถิ่นว่า ทำอย่างไรให้เติบโตไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ยังชวนพาร์ตเนอร์ ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิตหรือพาร์ตเนอร์ที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์งาน ไม่ได้เป็นเพียงการใช้พื้นที่แล้วจบ แต่พาร์ตเนอร์ต้องได้ ประสบการณ์ที่ดีที่สุด ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ สร้างอะไรใหม่ๆ ไปพร้อมกัน

อีกส่วนที่สำคัญก็คือ เรื่อง Sustainability ที่ห้างเซ็นทรัลพยายามผลักดันเรื่อง No Plastic Bags และสร้างความตระหนักรู้เรื่องความยั่งยืนให้ไปได้ไกลมากที่สุด

แน่นอนว่าเมื่อมาพร้อมนามสกุล ‘จิราธิวัฒน์’ ส่วนสำคัญคือ ต้องแบกรับแรงกดดันในทางธุรกิจ คำถามก็คือแล้วแรงกดดันนั้นส่งถึงรวิศรามากน้อยขนาดไหน และ ‘ครอบครัว’ ส่งอะไรมาถึงเธอบ้าง

“เมื่อได้โอกาสนี้มา เราก็พยายามทำให้ดีที่สุด” รวิศราตอบคำถาม

“อันที่จริงห้างเซ็นทรัลคือสิ่งที่เราผูกพันมาตั้งแต่ยังเด็ก เราวิ่งเล่นที่ห้าง เล่นของเล่นที่ห้าง คลุกคลีกับห้างมาตลอด เรารู้ว่าพ่อ-แม่เราทำงานที่นี่ แต่ตอนเด็กๆ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าครอบครัวเราเป็นเจ้าของ แต่พอโตขึ้น สิ่งที่ครอบครัวส่งผ่านมาถึงเรา ก็คือเรื่องความ Humble และ Integrity (ความซื่อสัตย์สุจริต)”

ขณะเดียวกันสิ่งที่ครอบครัวสอนเธออีกอย่างคือ การ ‘ทำงานหนัก’ และต้องทำด้วยความมุ่งมั่น ทำเพื่อลูกค้า เมตตาให้กับทุกคน นี่คือสิ่งที่คุณพ่อสอนเธอ “แล้วสิ่งสำคัญที่สุดก็คือต้อง Give Back ต้องคืนกลับให้กับสังคม”

รวิศราบอกว่า ทั้งหมดคือสิ่งที่ติดอยู่กับตัวเธอมาโดยตลอดและยึดถือเสมอ

“แม้ตอนนี้เราจะเป็นเบอร์หนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะหยุดพัฒนาได้ ตอนนี้เป้าหมายของเราชัดเจนมากว่า เราเป็น Global Department Store และถ้าเรายิ่งโตได้มากก็เท่ากับเราช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มากไปด้วย

เพราะเวลาต่างชาติเข้ามาช็อปปิงในไทย สิ่งสำคัญก็คือผู้ประกอบการไทยเองก็ได้ประโยชน์ พาร์ตเนอร์ในไทยก็ได้ประโยชน์เช่นกัน”

และนั่นคือเป้าหมายของเธอ ไม่ใช่แค่การเป็นที่หนึ่ง และการรักษาอันดับหนึ่ง แต่ทำอย่างไรให้ห้างเซ็นทรัลเป็นห้างสรรพสินค้าระดับโลกที่มีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และความหมายของห้างเซ็นทรัล ในฐานะ Place ของรวิศราคืออะไร

“สำหรับเราก็คือบ้านหลังที่ 2 (Places Like Home) และเราเชื่อว่าห้างเซ็นทรัลก็เป็นบ้านหลังที่ 2 ของคนไทยจำนวน ไม่น้อย เราเชื่อว่าทุกคนที่มาห้างเซ็นทรัล ไม่ว่าจะสาขาไหนต้องมีความทรงจำดีๆ บางอย่างที่เขาไม่ลืม ถึงแม้จะผ่านมานานกี่ปีก็ตาม ความสุขของเราก็คือการทำให้ลูกค้ามีความสุขและได้ประสบการณ์ที่ดี”

หากอยากให้คำจำกัดความอย่างหนึ่งถึงการเป็น Place อย่างห้างเซ็นทรัล เราถามเธออีกว่า จะนึกถึงคำไหน

ถึงตรงนี้มีสโลแกนหนึ่งที่ห้างเซ็นทรัลเคยใช้ในวันที่ห้างเซ็นทรัลฉลองครบ 60 ปี เมื่อ 18 ปีที่แล้ว และยังติดอยู่ในใจเธอมาตลอดคือ

“เพราะมีคุณ ถึงมีเรา”

Fact Box

  • รวิศราจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จาก Scripp College ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนเรียนต่อปริญญาโท MBA ที่ Loyola Marymount University ที่เมืองลอสแอนเจลิส ในรัฐแคลิฟอร์เนีย
  • ก่อนกลับมาช่วยธุรกิจที่บ้าน ก่อนหน้านี้รวิศราทำงานด้าน Advertising Agency ให้กับสตาร์ทอัพหลายแห่งในประเทศสหรัฐฯ จนเมื่อกลับเมืองไทย ทศ จิราธิวัฒน์ ชวนให้เธอช่วยบุกเบิกงานด้านอีคอมเมิร์ซ-งานออนไลน์ของห้างเซ็นทรัล เปิดตัว Central App จนประสบความสำเร็จตามลำดับ และเห็นผลในปัจจุบัน
Tags: , , , , , , , , ,