All The Bright Places เล่าเรื่องเกี่ยวกับบาดแผลในชีวิตของวัยรุ่นสองคนที่พวกเขาต้องรับมือและก้าวข้าม เรื่องเริ่มต้นจากมุมมองของไวโอเล็ต มาร์คีย์ (รับบทโดยแอล แฟนนิ่ง) เด็กสาวที่มีภาวะซึมเศร้าจากเหตุการณ์ที่พี่สาวประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียชีวิต วันหนึ่งเธอยืนไปหยุดที่สะพานและครุ่นคิดว่าจะกระโดดลงจากตรงนั้นดีหรือไม่ แต่ธีโอดอร์ ฟินช์ (รับบทโดยจัสติส สมิธ) ผ่านมาเห็นเข้าและเกลี้ยกล่อมให้เธอก้าวออกมาจากขอบสะพาน หลังจากนั้น ธีโอดอร์พยายามตีสนิทกับไวโอเล็ต โดยการจับคู่กับเธอทำงานกลุ่ม ทั้งสองต้องทำรายงานเกี่ยวกับสถานที่สำคัญในอินเดียนา ธีโอดอร์ได้พาไวโอเล็ตไปยังสถานที่สวยงามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจุดสูงสุดของอินเดียนา รถไฟเหาะทำเองที่สวนหลังบ้าน ต้นไม้ที่มีรองเท้าแขวนอยู่เต็มไปหมด หรือกำแพงกราฟฟิตีที่พูดเรื่องความตาย และทั้งสองก็พัฒนาความสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน อดีตอันมืดหม่นของธีโอดอร์ก็เผยตัวออกมาให้เห็นในรูปแบบของการหายหน้าไปจากเพื่อนฝูงและโรงเรียนเป็นสัปดาห์เสียเฉยๆ

หนังมีองค์ประกอบเกี่ยวกับความรักและความเจ็บปวดจากการพรากจากคนที่รัก ไม่ต่างจาก The Fault In Our Stars แต่ให้ความสำคัญกับความเจ็บป่วยทางจิตใจ โทนของหนังเริ่มแรกดูเหมือนหนังรักระหว่างวัยรุ่น โดยที่ตัวละครทั้งสองผูกพันกันผ่านบาดแผลในอดีต และดูจะให้ความสำคัญกับความรักในฐานะสิ่งเยียวยาจิตใจ แต่ครึ่งหลังของหนังพาผู้ชมไปพบกับก้นบึ้งอันดำมืดที่ธีโอดอร์ต้องเผชิญและไม่อาจข้ามผ่านไปได้ 

หนังไม่ได้บอกชัดเจนว่าความเจ็บป่วยทางจิตที่ธีโอดอร์เผชิญอยู่เรียกว่าอะไร แต่ในฉบับหนังสือ ระบุไว้ว่าเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) ธีโอดอร์มักรู้สึกว่าความคิดของเขาแล่นเร็วเกินจนเขาต้องเขียนมันลงบทกระดาษและแปะไว้เต็มห้องนอน หลายข้อความในนั้นก็เป็นข้อความเชิงบวกที่ผลักดันให้เขาใช้ชีวิตต่อไปอย่างปกติ เวลาที่เขามีพลังงานล้นเหลือ เขามักจะออกไปวิ่ง และยังสร้างแรงบันดาลใจให้ไว้โอเล็ตก้าวข้ามบาดแผลของตัวเองด้วยการพาไปเที่ยวในที่ต่างๆ แต่เมื่อเขาเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า เขาจะหายหน้าจากผู้อื่นไปและใช้เวลาอยู่คนเดียว นอกจากนั้น ธีโอดอร์ยังมีพฤติกรรมรุนแรงเขาชกต่อยกับเพื่อนที่โรงเรียน จนผู้คนต่างกล่าวว่าเขาเป็นคนอันตราย และเป็น ‘ตัวประหลาด’ (freak) 

สาส์นสำคัญอย่างหนึ่งของหนัง อาจเป็นการแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่จมอยู่กับความมืดมิดนั่นเองที่รู้ว่าชีวิตของคนเราสว่างไสวได้มากแค่ไหน เหมือนกับที่ธีโอดอร์ให้ข้อคิดกับไวโอเล็ตในการใช้ชีวิตได้ ทั้งที่เขาก็แบกรับปัญหาของตัวเอง เราจะได้เห็นพัฒนาการของไวโอเล็ตผ่านรอยยิ้มที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ ในระหว่างใช้เวลาร่วมกันกับธีโอดอร์ เราเห็นเธอกล้าขึ้นรถอีกครั้ง หรือแม้กระทั่งขับรถไปตามหาธีโอดอร์ในตอนท้ายเรื่อง จากที่เธอปฏิเสธจะทำเช่นนั้นมาตลอด 

ความรักดูจะเป็นสาส์นสำคัญอีกหนึ่งข้อในหนังเรื่องนี้ หนังนำเสนอความรัก โดยเฉพาะระหว่างหนุ่มสาว ในฐานะแรงขับที่จะมีชีวิตอยู่ต่อ ซึ่งเป็นค่านิยมที่เห็นได้ทั่วไปในหนังแนว Coming of Age ซึ่งหากพูดตามหลักจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์แล้วก็นับว่าสอดคล้องกัน เพราะ ‘สัญชาตญาณมุ่งเป็น’ (Eros หรือ Life Instinct) ซึ่งเป็นสัญชาตญาณที่กระตุ้นให้มนุษย์แสวงหาความพึงพอใจในการใช้ชีวิต หรือป้องกันตนเองนั้น แสดงออกในรูปแรงขับทางเพศ ที่ไม่ใช่เพียงอารมณ์ทางเพศเท่านั้น แต่เป็นการแสวงหาการได้รับการยอมรับหรือเป็นส่วนหนึ่งของอะไรบางอย่าง

หนังดูจะให้ความสำคัญกับองค์ประกอบทางครอบครัวที่มีผลต่อผู้มีสภาวะทางจิต เรารู้ได้ว่าธีโอดอร์มีแผลเป็นตามร่างกายจากการที่พ่อเขาทำร้ายมาตั้งแต่เด็ก แม่ของเขาไม่ค่อยอยู่บ้าน และพี่สาวของเขาก็ทำงานตลอดเวลา เขาพยายามค้นหาสาเหตุว่าเหตุใดเขาจึงมีพฤติกรรมรุนแรง และสืบสาวกลับไปยังเรื่องพ่อ แต่ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าพ่อมีเหตุผลอย่างไรจึงต้องทำเช่นนั้น นี่เป็นแรงผลักดันที่ทำให้เขาตัดสินใจครั้งสำคัญตอนท้ายเรื่อง

อย่างไรก็ตาม หนังดูจะให้น้ำหนักกับภูมิหลังของธีโอดอร์น้อยไปหน่อย และใช้เวลากับการเล่าถึงความรักระหว่างวัยรุ่นค่อนข้างมาก ทำให้รู้สึกเหมือนขาดอะไรบางอย่างไป แต่เรื่องเศร้าในหนังนั้นก็ให้ความรู้สึกเหมือนการชำระล้างจิตใจ (Catharsis) และเกิดความสะทกสะเทือนในอารมณ์จนต้องหันกลับมามองตนเองและคนรอบข้างว่ามีบาดแผลใดที่ยังไม่ได้เยียวยาอยู่หรือไม่ 

สามารถรับชมเรื่อง All The Bright Places ได้ทางเน็ตฟลิกซ์

Tags: ,