-1-

‘ธุลี’ (Particle) นิทรรศการล่าสุดของ ปิยะรัศมิ์ ปิยะพงศ์วิวัฒน์ แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกอยู่ในห้องปิดทึบด้านหน้าของห้องจัดแสดงใน Gallery Seescape เป็นวิดีโอจัดวาง (video installation) – ห้องฉายภาพเคลื่อนไหวที่มีม้านั่งยาวหนึ่งตัว และผงปูนขาวละลานอยู่ทั่วห้อง ขณะที่ส่วนที่สองเป็นงานผืนผ้าใบและประติมากรรม ซึ่งจะกล่าวในลำดับถัดไป

“ผมถูกกล่าวหาว่ามาจากดาวดวงอื่น ผมเติบโตและใช้ชีวิตที่นี่ ดาวขนาดใหญ่ที่ปกคลุมด้วยภูมิประเทศหลากหลาย ชั้นบรรยากาศที่นี่ประดิษฐ์ด้วยผืนผ้าสีดำขนาดใหญ่ และประดับประดาด้วยแสงสว่างไร้รูปร่างจับต้องไม่ได้ ไม่มีกลิ่น ไร้อุณหภูมิและไม่มีวันดับ ที่นี่ไม่มีดวงอาทิตย์…” 

วิดีโอฉายภูมิทัศน์ของภูเขาหินปูนกว้างขวางสุดลูกตาใต้แสงแดดอันแรงกล้า ภูเขาที่บางส่วนถูกเครื่องจักรเปลี่ยนรูปให้เหลือเป็นก้อนหินจำนวนนับไม่ถ้วน รวมถึงฝุ่นธุลีที่ลอยคว้างปนไปกับไอแดด ตัวละครของปิยะรัศมิ์คือชายหนุ่มวัยยี่สิบเศษ สกินเฮด เสื้อกล้ามสีขาว กางเกงสามส่วนสีเทา และไม่สวมรองเท้า คลอไปกับเสียงไวโอลิน เขาดุ่มเดินอยู่ในภูมิทัศน์แห้งแล้งไปพร้อมกับเสียงพูดที่เป็นคล้ายกระแสสำนึก เล่าเรื่องของตัวเอง ผู้เกิดมาในดินแดนที่ถูกทำให้เชื่อว่าโลกนี้ไม่มีดวงอาทิตย์ และการเอ่ยถึงดวงอาทิตย์กลายเป็นสิ่งต้องห้าม กระนั้นชายหนุ่มก็กลับเชื่อมั่นว่าโลกที่เขาอาศัยอยู่มีดวงอาทิตย์ เพียงแต่กลไกบางอย่างทำให้เขาและคนอื่นๆ มองไม่เห็น 

ขณะที่ชายหนุ่มออกเดิน ภาพก็ตัดสลับไปเป็นเรื่องราวของเหมืองหินแห่งหนึ่งในประเทศกัมพูชา ภาพฟุตเทจบทสัมภาษณ์ของชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่เคยยังชีพด้วยการสกัดภูเขาเพื่อนำมาบดเป็นก้อนหินส่งขายโรงงานปูนซีเมนต์ และโรงงานแปรรูปหินอื่นๆ เพื่อนำไปทำวัสดุก่อสร้าง หากอยู่มาวันหนึ่ง รัฐบาลกัมพูชาได้ทำสัญญากับบริษัทข้ามชาติบริษัทหนึ่ง ให้บริษัทนั้นได้สัมปทานเข้ามาระเบิดภูเขาเพื่อสกัดหินไปใช้เอง จากพื้นที่สาธารณะของชุมชน ภูเขาก็ถูกล้อมรั้วป้องกันไม่ให้ใครรุกล้ำ วิถีชาวบ้านที่เคยพึ่งพิงภูเขาก็แปรเปลี่ยนไป 

เรื่องราวตัดสลับเช่นนั้น ระหว่างกระแสสำนึกของชายหนุ่มเท้าเปล่าผู้เชื่อว่ามีดวงอาทิตย์ จนในวันหนึ่งเขาก็ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้ต่อต้านธรรมชาติที่อดีตสร้างขึ้น ก่อนจะถูกส่งตัวไปยังเมืองแห่งหนึ่งที่ซึ่งเขาถูกผู้คนที่นั่นทำร้ายร่างกายและบังคับให้เขาปรับทัศนคติเสียใหม่ และฟุตเทจสัมภาษณ์ชาวกัมพูชาที่บางคนหันเหไปประกอบอาชีพอื่น และบางคนที่ยังคงบดหินขาย แลกกับรายได้ที่ต่ำเตี้ย เนื่องจากไม่มีแหล่งทรัพยากรเช่นเดิมอีกแล้ว ซึ่งฟุตเทจสัมภาษณ์ทั้งหมดเป็นเรื่องจริง  

นิทรรศการส่วนที่สองเป็นห้องเล็กๆ ในสุดคือผืนผ้าใบยับย่นขนาดใหญ่สีขาวห้อยลงมาจากเพดาน เบื้องหน้าคือแท่นจัดแสดงหินปูนขนาดใหญ่สามชิ้น หินปูนสีขาวที่ถูกกรอบอะคริลิคใสขวางกั้นการสัมผัสจากผู้ชม กรอบอะคริลิคเปลี่ยนหินปูนที่ดูเหมือนว่านำมาจากเหมืองหินในวิดีโอของห้องที่แล้วให้กลายเป็นงานศิลปะ เช่นเดียวกับผ้าใบยับย่นสีขาวผืนใหญ่ซึ่งว่าไปแล้วก็คล้ายงานศิลปะภาพพิมพ์ กระนั้นในสูจิบัตรนิทรรศการก็บอกให้รู้ว่ามันทำมาจากถุงปูนซีเมนต์ 

-2-

ปิยะรัศมิ์ ปิยะพงศ์วิวัฒน์ ทำงานศิลปะมาเกินทศวรรษ งานส่วนมากของเธอเป็นวิดีโอทดลอง ภาพถ่าย และงาน installation ที่มักพาผู้ชมไปสำรวจความเป็นไปของสิ่งต่างๆ รอบตัวในแง่มุมที่หลายคนคาดไม่ถึง หรือเป็นความคุ้นชินเสียจนมองข้าม อาทิ การถ่ายฟุตเทจผู้คนในตลาดกำลังเคารพธงชาติตอนหกโมงเย็นใน The Routine (2011), การสำรวจชีวิตนักร้องหมอลำซิ่งผู้ดิ้นรนหากินในเมืองหลวงอย่าง Liminal Zone (2012), ชุดภาพถ่ายคู่รัก LGBT ใน Queerness (2012), วิดีโอที่เสนอประโยคบอกเล่าที่ศิลปินบันทึกมาจากสิ่งที่ได้ยินมา ขณะเป็นศิลปินพำนักในพัทยาใน Messages from Nowhere to Nowhere (2015) และที่โยโกฮามาใน Mute Conversations (2016) หรือ Fabric (2017) ที่เป็นวิดีโอสารคดีฉายภาพชีวิตของคนงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอของภูมิภาคอุษาคเนย์ ประกอบกับงานปะติดผืนผ้าหลากสีที่สะท้อนอัตลักษณ์ของผู้คนในประเทศต่างๆ เป็นต้น

วิถีของผู้ใช้แรงงาน ผลกระทบจากทุนนิยม และการวิพากษ์ค่านิยมเก่าก่อนในสังคม ดูจะเป็นหัวข้อหลักที่ปิยะรัศมิ์เลือกมาเป็นแก่นในผลงานศิลปะหลากหลายโครงการ รวมไปถึงผลงานล่าสุดอย่าง Particle นี้ กระนั้นสิ่งที่เห็นได้ชัดและแตกต่างจากงานชุดก่อนๆ คือการวางบทบาทของตัวศิลปินในผลงาน 

จากเดิมที่เราคุ้นเคยกับปิยะรัศมิ์ในฐานะผู้สำรวจหรือผู้เฝ้ามอง ที่ทำหน้าที่ในการลงพื้นที่ บันทึก จัดระเบียบ และคัดสรร ออกมาด้วยกรอบของสุนทรียะ เปลี่ยนบทสนทนา งานวิจัย หรือวิดีโอสารคดีให้กลายมาเป็นงานศิลปะ หากใน Particle แม้ครึ่งหนึ่งของวิดีโอในห้องนิทรรศการส่วนแรก จะมีลักษณะเป็นสารคดีบันทึกชีวิตของชาวกัมพูชาในเหมืองหิน อีกครึ่งเรากลับเห็นสถานะของนักเล่าเรื่องของศิลปิน ผ่านกระแสสำนึกของตัวละคร ซึ่งไม่เพียงการสร้างสรรค์เนื้อหาที่สะท้อนโลกดิสโทเปียเชิงสัญลักษณ์ หากยังเห็นถึงความพิถีพิถันในการเลือกใช้คำมาเล่าเรื่อง สร้างมโนภาพอันแจ่มชัดซ้อนเข้าไปกับภาพเคลื่อนไหวในวิดีโอ ประหนึ่งบทตอนในนวนิยายร่วมสมัยชั้นดีสักเล่ม ดังเช่น…

“ดวงอาทิตย์คือสิ่งต้องห้าม ไม่มีใครเอ่ยถึงด้วยความปรารถนา หากจะมีคงเพียงเรื่องเล่าเกี่ยวกับมัน ที่กระซิบกระซาบผ่านความเงียบออกมา มีเพียงบางเสี้ยวของท้องฟ้าที่ผุกร่อนตามกาลเวลา เผยแสงของความเชื่อออกมาเพียงแวบหนึ่ง ก่อนที่จะได้รับการซ่อมแซมให้มืดดำดังเดิม”  

ขณะเดียวกัน การที่ศิลปินจงใจเลือกเรื่องเล่าสองเรื่องที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หากมีจุดร่วมเดียวกันคือสถานที่ถ่ายทำที่เป็นเหมืองหินและบรรยากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นละออง ยังสร้างความยียวนแฝงเข้าไปในทัศนียภาพและน้ำเสียงอันขึงขังของเรื่องอย่างแยบยลอีกด้วย 

เพราะในขณะที่พาร์ทหนึ่งของวิดีโอเล่าถึงวิถีชีวิตของผู้คนหลากหลายที่เคยคลุกฝุ่นบดหินอยู่บนภูเขา หนึ่งในตัวอย่างของผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากทุนนิยม รวมไปถึงหลากชีวิตที่ถูกละเลยจากรัฐและการพัฒนา ชะตาชีวิตของตัวละครผู้โดดเดี่ยวในวิดีโออีกพาร์ทก็กลับสะท้อนให้เห็นความพยายามของผู้มีอำนาจที่จะทำให้ประชาชนในปกครองอยู่ภายใต้คำสั่งอย่างเคร่งครัด ปราศจากคำถาม หรือความคิดเห็นส่วนตัว ไม่ต่างอะไรจากก้อนดิน ก้อนหิน ที่ประกอบขึ้นมาเป็นดินแดน ไม่ต่างอะไรจากฝุ่นละอองที่ลอยคว้างอย่างไร้หลัก หรือเกาะกุมอิงแอบอยู่ใต้ฝ่ารองเท้าของผู้ปกครอง

ภาพของชายหนุ่มโดดเดี่ยวกลางทัศนียภาพของกองหิน กับความพยายามหลีกหนีให้พ้นจากโลกที่บังคับให้ประชาชนเชื่อว่าไม่มีดวงอาทิตย์ จึงเป็นคล้ายความพยายามในการสลัดตัวเองให้หลุดจากพันธนาการทางความเชื่ออันคร่ำครึและไร้เหตุผล และเน้นย้ำให้เห็นว่า เราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่ฝุ่นละอองตามที่เขาหลอกลวง 

นอกจากนี้ การแทรกดนตรีประกอบท้ายเรื่องซึ่งเป็นเสียงไวโอลินที่ผู้เขียนมาทราบทีหลังว่ามันเป็นการเรียบเรียงดนตรีใหม่มาจากเพลง The Impossible Dream (The Quest) เพลงประกอบละครเวที Man of La Mancha ซึ่งขึ้นมาในช่วงที่ตัวละครมุ่งมั่นจะค้นหาดินแดนที่ยอมรับในดวงอาทิตย์ ไม่เพียงสร้างเสริมสุนทรียะล้อไปกับภาพ แต่ยังผุดอีกหนึ่งสัญลักษณ์ให้แก่เรื่องอย่างน่าคิดคำนึง 

-3-

แม้ทั้งเนื้อหาในวิดีโอและการจัดวางบรรยากาศการรับชมให้อยู่ในห้องที่เต็มไปด้วยฝุ่นขาว จะมีน้ำหนักมากพอแก่การเป็นนิทรรศการที่สมบูรณ์นิทรรศการหนึ่ง กระนั้นประติมากรรมในห้องจัดแสดงส่วนที่สอง ก็หาใช่เพียงไม้ประดับ 

เพราะแม้ดูเผินๆ การนำผืนผ้าใบสีขาวที่เกิดจากถุงปูนซีเมนต์ และก้อนหินอีกสามก้อนมาจัดแสดง คล้ายเป็นการโชว์ ‘ของที่ระลึก’ จากเรื่องเล่าในวิดีโอ แต่มองอีกมุม การพร่าเลือนความหมายของการเป็นเศษวัสดุอันดาษดื่นกับความเป็นวัตถุทางศิลปะ ก็กลับเน้นย้ำให้เห็นถึงคุณค่าจากการเป็นต้นธารให้เกิดการพัฒนาในเชิงรูปธรรมของสังคมสมัยใหม่ ดังเช่น ดิน หิน ทราย หรือปูนซีเมนต์ ที่เป็นวัสดุสำคัญในการก่อสร้างอาคาร หรือถูกนำมาแปรรูปเป็นวัสดุอย่างเหล็ก พลาสติก หรือสิ่งของที่มนุษย์จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน 

แต่นั่นล่ะ หากเราลองพินิจเข้าไปในก้อนหินที่จัดแสดงใกล้ๆ จะพบว่าศิลปินหาได้นำหินปูนจริงๆ มาจัดแสดง หากเป็นชิ้นงานประติมากรรมที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ โดยจำลองพื้นผิวและรูปทรงของหินปูน ในรูปลักษณ์อันทึมทึบแข็งกร้าวนั้น หากมองเข้าไปใกล้ๆ เรากลับพบความเปราะบางที่สมมุติว่าไม่มีกล่องอะคริลิกใสปกป้องอยู่ และหากมีใครสักคนเอื้อมมือไปจับ ก็ดูเหมือนว่ามันพร้อมจะแหลกสลายคามือใครคนนั้น และกลายเป็นฝุ่นผงได้ง่ายๆ

เป็นนิทรรศการที่ดูสนุก หากก็หนักอึ้ง และชวนให้ตั้งคำถาม คล้ายว่าศิลปินจงใจสร้างความคลุมเครือระหว่างบรรทัด ความคลุมเครือระหว่างการเป็นเสียงสะท้อนของผู้คนที่ตกอยู่ภายใต้การกดทับของระบอบทุนนิยม คู่ขนานไปกับการปกครองของเผด็จการ กับการเน้นย้ำให้เห็นน้ำหนักของการกดทับนั้นเสียเอง และปล่อยให้ตัวละครวิ่งวนอยู่เช่นนั้นอย่างไร้ทางออก (คลอไปกับเสียงไวโอลินประกอบที่ทำให้นึกถึงชีวิตอันวิกลจริตและเพ้อฝันของดอนกิโฆเต้แห่งลามันช่า) 

และเช่นกัน ภายหลังที่เราดูวิดีโอจบ และเดินออกมาจากห้องทึบแสงนั้น ฝุ่นที่เกิดจากผงปูนขาวภายในห้องซึ่งติดตัวหรือติดรองเท้าของเราออกมาอย่างไม่อาจเลี่ยง ยังทำให้เราย้อนคิดกลับมาที่สถานะของตัวเองผู้อยู่อาศัยในแผ่นดินนี้อีกว่า เราเป็นใครกันแน่ ระหว่างผู้ชมนิทรรศการที่รองเท้าเปรอะไปด้วยฝุ่นผงและจำต้องปัดออก หรือเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งในมวลธุลีเหล่านั้น เพียงแต่ที่ผ่านมาเราไม่เคยตระหนัก

ชมผลงานอื่นๆ ของปิยะรัศมิ์ได้ใน www.piyaratpongwiwat.com

Fact Box

  • นิทรรศการ 'ธุลี' (Particle) ได้รับการสนับสนุนการคิวเรทโดย วุธ ลีโน ศิลปินและภัณฑารักษ์ชาวกัมพูชา นิทรรศการนี้จะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2562
  • Gallery Seescape เปิดอังคาร-อาทิตย์ 11.00-20.00 น. ถนนนิมมานเหมินท์ ซอย 17 อำเภอเมือง เชียงใหม่ www.facebook.com/galleryseescape  
Tags: ,