*บทความเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง
Parasite คือผลงานเรื่องล่าสุดของบองจุนโฮ (Bong Joon-ho) ผู้กำกับชื่อดังชาวเกาหลีใต้ และกลายเป็นภาพยนตร์เกาหลีเรื่องแรกที่คว้ารางวัลปาล์มทองคำในเทศกาลหนังเมืองคานส์ ทั้งยังทำรายได้สูงสุดในหลายประเทศแซง Train to Busan ไปเป็นที่เรียบร้อย นี่คือหนังแมสที่มาพร้อมประเด็นหนักๆ ซึ่งตรึงผู้ชมไว้ได้อย่างอยู่หมัด
บองจุนโฮเป็นผู้กำกับที่ปักหมุดเล่าเรื่องความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจนตลอดมา หนังหลายเรื่องของเขาว่าด้วยการปะทุเดือดของคนจนที่ถูกกดทับ และหลายครั้งหนังก็ไม่ได้วิพากษ์ทุนนิยมในแบบที่เรามักจะเห็นคู่ตรงข้ามเป็น คนรวยที่ชั่ว-คนจนที่ดี แต่หนังของเขายังพาไปถึงความเป็นมนุษย์ที่บิดเบี้ยวท่ามกลางโชคชะตาที่เอาแต่เล่นตลกในโลกทุนนิยม และการต่อสู้นั้นบางครั้งก็ไร้ความหมาย อย่าง Mother (2009) ที่เล่าเรื่องแม่ผู้พยายามต่อสู้เพื่อลูกชายปัญญาอ่อนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร เธอต้องต่อสู้กับกระบวนการยุติธรรมที่มักจะเอื้อประโยชน์กับคนรวยแต่คนซวยคือคนจน การต่อสู้ของเธอห้าวหาญ ท้าทาย แต่ท้ายที่สุดแล้วเรื่องกลับเป็นหนังอีกม้วน ตอนจบของเรื่องจึงเลวร้ายกว่าที่ใครจะคาดคิด ซึ่งหากถามว่าเรื่องนี้ใครเป็นคนผิด คงไม่มีใครตอบได้เต็มปาก
และ Parasite ก็เช่นกัน หนังสะท้อนให้เห็นถึงความเลวร้ายของระบบทุนนิยมว่ามันทำให้มนุษย์ในสังคมบิดเบี้ยวไปได้มากแค่ไหน และในที่สุดทุกคนก็ได้รับผลกระทบจากความบิดเบี้ยวเหล่านั้นไม่ว่าจะรวยหรือจนก็ตาม เหมือนร่างกายที่มีปรสิต นานวันเข้าปรสิตสะสมมากขึ้น ร่างนั้นก็ต้องเจ็บป่วย และบางทีปรสิตนั้นอาจไม่ใช่เหล่าคนจนที่มีคนรวยเป็นโฮสต์ แต่ร่างโฮสต์นั้นคือประเทศหนึ่งๆ ที่มีผลผลิตอย่างหนึ่งของระบบทุนนิยมกำลังชอนไชอยู่
Parasite ว่าด้วยเรื่องของครอบครัวคนจนที่พ่อแม่เก่งงาน กับลูกชายลูกสาวที่มีพรสวรรค์ แต่สิ่งที่ขาดคือโอกาสและเงิน กับครอบครัวปาร์ก ครอบครัวคนรวยโลกสวยที่ไม่สนใจอะไรนอกจากความรุ่มรวยในแวดวงของตัวเอง บองจุนโฮดำเนินเรื่องไปด้วยการเสียดสีเต็มรูปแบบ และในครั้งนี้เขาก็ใช้ ‘โลเคชั่น’ หรือศักยภาพในการเข้าถึงพื้นที่หนึ่งๆ เป็นข้อสะท้อนเด่นชัดเรื่องความเหลื่อมล้ำ แบบเดียวกับที่เล่าถึงพวกคนหัวขบวนกับคนท้ายขบวนใน Snowpiercer (2013) อีกหนึ่งหนังดังของเขา ใน Parasite เขาเสนอภาพถนนต่อถนน บ้านต่อบ้าน ขณะที่ฝนตกในบ้านหลังหนึ่งกลายเป็นบรรยากาศชวนดื่มด่ำ แต่ฝนตกในบ้านอีกหลังคือน้ำท่วมเกือบมิดเพดาน เป็นน้ำสกปรกจากท่อที่มีน้ำจากส้วมพวยพุ่งออกมาผสมโรงด้วย
ความอัตคัดขั้นสุดทำให้คนจนต้องเคลื่อนไหว และการพยายามปฏิวัติของคนจนในเรื่องนี้ก็ไม่ได้ถูกนำเสนอแบบฮีโร่อย่างที่เคยทำใน Snowpiercer คนจนในเรื่องนี้มาในแบบของพวกขี้โกง แม้ไม่ได้หวังจะมาแทนที่เสียทีเดียวแต่ก็หวังจะเกาะกินสูบเลือดสูบเนื้อไปเรื่อยๆ พวกเขายังมีหวังถึงขั้นการเลื่อนชนชั้นผ่านการแต่งงาน เพราะคิดว่าตัวเองอาจไปอยู่ตรงนั้นได้ (แต่ที่สุดแล้วก็พบว่ากำแพงนั้นสูงเหลือเกิน)
อันที่จริงความหวังจะเลื่อนชนชั้นของพวกเขามีอยู่ตั้งแต่ก่อนเจอครอบครัวปาร์ก เราจะเห็นว่าคีวู ลูกชายคนโตของบ้าน เรียนเก่งระดับที่เป็นครูสอนพิเศษภาษาอังกฤษบ้านคนรวยได้ และจากที่เพื่อนของเขาบอกในตอนต้นเรื่อง เขาเก่งกว่าพวกเด็กมหา’ลัยหลายคนด้วยซ้ำ แต่คีวูกลับเลือกที่จะรอ สอบที่เดิมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะติดมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด เพราะนั่นหมายถึงการเลื่อนชั้นแบบก้าวกระโดดรองจากการไปเรียนต่างประเทศ ขณะที่เพื่อนของคีวูเอง เมื่อมีโอกาสไปเรียนต่อต่างประเทศ เขาก็รีบคว้าโอกาสนั้นแทนที่จะอยู่รับเงินจากครอบครัวปาร์กต่อ ซึ่งการรอคอยเป็นปีๆ อย่างที่คีวูทำ ไม่ใช่เรื่องแปลกในเกาหลีใต้ จากคำบอกเล่าของเพื่อนชาวเกาหลีของผู้เขียน พบว่ามีนักเรียนหัวดีหลายคนเลือกทำอย่างนั้น พวกเขายอมมีแก็ปเยียร์อันหนักหน่วงเพื่อจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำแทนที่จะยอมเรียนมหาวิทยาลัยระดับรองลงมา เพราะฐานะหน้าตาทางสังคมหลังเรียนจบนั้นจะต่างกันลิบลับ
และเมื่อทางตรงมันยังไม่ได้ คีวูจึงเลือกใช้ทางลัด นั่นคือการเมคโพรไฟล์เข้าไปสอนพิเศษให้กับลูกสาวตระกูลปาร์ก รวมถึงเมคโพรไฟล์ของทุกคนในบ้าน เพื่อเข้าไปทำงานในบ้านหลังนั้นแบบยกครัว โดยหารู้ไม่ว่ามีใครบางคนจับจองฐานะปรสิตของตระกูลปาร์กอยู่ก่อนตั้งนานแล้ว
เมื่อคนที่หวังแบ่งกินผลประโยชน์จากคนรวยไม่ได้มีคนเดียว เรื่องจึงน่าสนใจขึ้นอีกที่มันได้กลายเป็นการห้ำหั่นกันเองของคนจน แม้จะมีเสี้ยวหนึ่งที่พวกเขาเป็นห่วงเป็นใยคนอื่น ว่าคนขับรถที่ถูกใส่ร้ายให้ถูกไล่ออกนั้นจะไปมีชีวิตอย่างไร หรือคนที่ถูกขังไว้ใต้ดินจะหิวหรือเปล่า แต่เมื่อสถานการณ์คับขันพวกเขาก็เลือกที่จะใช้ก้อนหินใหญ่หรือมีดเพื่อเผชิญหน้ากัน
ครอบครัวคนรวยจึงไม่ได้เป็นศัตรูของคนจนโดยตรง แต่คล้ายเป็นตัวเปรียบเทียบให้คนจนได้เห็นว่าชีวิตของพวกเขาห่างไกลกันมากแค่ไหน และโลกนี้ไม่ยุติธรรมขนาดไหน ทั้งสองครอบครัวต่างถูกออกแบบให้เป็นคู่ตรงข้ามของกันและกัน ชัดเจนที่สุดคงเป็น ‘แม่บ้าน’ ที่ฝ่ายหนึ่งก็จัดจ้านทำงานเก่งพิษสงรอบตัว ส่วนอีกฝ่ายก็ใสๆ ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร ซึ่งคำอธิบายของฝ่ายแม่บ้านคนจนก็กลายเป็นประโยคที่ติดใจใครหลายคน —“คนรวยนิสัยดี เพราะไม่มีอะไรให้กังวลไง” ใช่ เมื่อพวกเขาไม่ได้ขาดอะไร ก็ไม่จำเป็นต้องไปแย่งชิงอะไรกับใคร และขณะที่คนรวยเป็นกังวลกับความติสต์เกินเหตุของลูก หรือไม่ก็ลูกจ้างที่ไม่เพอร์เฟ็กต์ แต่คนจนต้องเป็นกังวลกับทุกสิ่ง และพวกเขาก็ต้องดิ้นรน
และฉากที่ตอนแรกคล้ายจะทำให้คนดูหวาดเสียวว่าพวกคนจนที่แอบเข้ามากินเหล้าฉลองในบ้านคนรวยจะถูกจับได้หรือไม่ ก็กลายเป็นฉากสุดกระอักกระอ่วน การที่ครอบครัวคนจนถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องมานอนเบียดกันอยู่ใต้โต๊ะรับแขก โดยบนโซฟานั้นมีสองผัวเมียคนรวยนอนเล้าโลมกันอยู่ ความเจ็บปวดกว่าการโป๊ะแตกก็คือพวกเขาต้องมารับฟังคำเหยียดหยามแบบจริงใจสุดๆ กลิ่นคนจนอย่างไรก็ปิดไม่มิด มันเป็นกลิ่นของพวกคนทำงานรับจ้าง กลิ่นของพวกที่ใช้รถไฟใต้ดิน และกางเกงในราคาถูก ก็กลายเป็นเพียงความดิบเถื่อนที่ใช้กระตุ้นอารมณ์ทางเพศ
ครอบครัวปาร์กอาจจะยอมให้คนจนมาอยู่ใกล้ๆ เพื่อจะรับความสะดวกสบายจากการรับใช้ พวกเขาดูจะเปิดรับและเป็นมิตร แต่ก็ไม่แม้แต่จะปรายตามองไปยังแง่มุมอื่นๆ ในชีวิตคนจนเหล่านั้น พวกเขาเห็นแค่เท่าที่สบายใจจะเห็น หากไม่สบายใจจะเห็นก็พร้อมที่จะเขี่ยทิ้งทันที
สำหรับผู้เขียนแล้ว การออกแบบตัวละครคนรวยในเรื่องนี้ถือว่าทำได้น่าสนุก หนังไม่ได้กล่าวโทษคนรวยว่าชั่วร้าย แต่ก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาดูดีขนาดนั้น คนรวยดูสวยหล่อสบายตา ไลฟ์สไตล์เลิศหรู ไม่ต้องวางแผนอะไรมากชีวิตก็ดีพร้อม ขณะเดียวกันฝ่ายเมียก็ไร้เดียงสาเกินเหตุ ฝ่ายผัวก็ปิดบังความหยิ่งยโสไม่มิดเอาเสียเลย หรือคุณสถาปนิกผู้ทรงเกียรติ ที่ออกแบบบ้านหลังนี้เอาไว้ ก็ยังแอบสร้างห้องใต้ดินสำหรับหลบภัยสงครามหรือเอาไว้หลบเมื่อเจ้าหนี้มาตาม เราเห็นความแตกต่างลิบลับระหว่างดีไซน์ของบ้านบนดินกับห้องใต้ดิน แม้จะเป็นบ้านหลังเดียวกัน ว่าห้องใต้ดินข้างล่างนั้นไม่ได้ถูกออกแบบโดยอิงสุนทรียะใดๆ คล้ายว่าพวกเขาเองหากไร้เงินเสียอย่าง ก็เหมาะสมแค่กับห้องใต้ดินมืดๆ ทื่อๆ ข้างล่างนั้นนั่นแหละ และเงินเท่านั้นที่จะหยืบยื่นโอกาสในการนั่งเสพงานดีไซน์และสุนทรียะบนตัวบ้านได้ หรือไม่ก็ต้องอยู่อย่างปรสิตข้างใต้เพื่อจะแอบขึ้นมาลิ้มลองความสุนทรีย์เป็นบางครั้งคราว
และเมื่อการเข้ามาอยู่ของคนจนนั้นแนบเนียน ไม่มีร่องรอยให้สงสัย การปะทุแตกของเรื่องจึงเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและชวนช็อกที่สุด ครอบครัวปาร์กที่ไม่เคยรู้อะไรมาก่อนเลย เมื่อถึงวันเกิดเหตุทุกอย่างกลับระเบิดแรง หลังจากวันนั้นพวกเขาที่เหลือคงได้แต่ถามตัวเองว่าทำไม หรือตัวเองทำผิดอะไรจึงต้องมาเจอเรื่องแบบนี้ และหากพวกเขาจะโกรธควรจะโกรธใครก่อนดี
เรื่องของความโกรธจึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนรู้สึกถึง ความโกรธเกรี้ยวของพ่อผู้เป็นคนจน ผู้ที่วางแผนอะไรก็ไม่เคยเป็นไปตามแผน ระเบิดออกด้วยการประหารชีวิตคุณปาร์ก มันเป็นอารมณ์ชั่ววูบที่เขาไม่รู้แน่ชัดด้วยซ้ำว่าทำไปทำไม ความโกรธของสามีคนจนอีกคนที่จับจองฐานะปรสิตใต้ดินมาก่อน ระเบิดออกด้วยการขึ้นมาฆ่าล้างบางพวกที่มาทำลายวิถีปรสิตอันสงบสุขของเขา
Parasite ฉายภาพสังคมเกาหลีใต้ที่ระบบทุนนิยมและความเหลื่อมล้ำได้ฝังรากลึกจนยากจะบอกว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของใครกันแน่ มันอาจจะเริ่มมาตั้งแต่สมัยโชซอน สมัยสงครามโลก และกลืนกินประเทศมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนั่นยิ่งทำให้ความโกรธเกรี้ยวของผู้คนยิ่งเคว้งคว้างว่างเปล่า เราควรจะโกรธใครดี นักการเมืองสักคนไหม นายทุนสักคนหรือเปล่า หรือพวกคนจนฉ้อฉลที่เอาแต่อ้างความจนมาเอาเปรียบคนอื่น? มันคงน่าโกรธยิ่งกว่าเมื่อเราไม่อาจรู้ว่าควรเอาความโกรธไปลงที่ใครหรืออะไร ทุกอย่างมันส่งผลต่อกันจนทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับความบิดเบี้ยวของสังคมนี้ไปหมด เราอาจโกรธระบบ แต่ถามว่าจะโค่นล้มมันลงอย่างไร เราก็คงตอบไม่ได้ ดีไม่ดีก็คงจบลงที่การศิโรราบต่อทุนนิยมเหมือนที่คีวูฝันจะทำ
ความโกรธเกรี้ยวชอนไชอยู่ในทุกอณูของหนังโดยเฉพาะช่วงท้ายเรื่อง ซึ่งสิ่งนี้เองที่อาจเป็นปรสิตสำหรับประเทศเกาหลีใต้ ดูจบแล้วก็ทำให้นึกถึงบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับสารคดีชาวเกาหลี ชองยุนซอก ที่บอกว่าเขาทำสารคดีที่เล่าถึงความไม่ยุติธรรมของโทษประหารเพราะเขาโกรธ ขณะที่คนไทยโกรธไม่พอ เราโกรธกันอย่างมากก็โพสต์ด่าในโซเชียลมีเดีย เราโกรธกันอยู่ในวงแคบๆ โกรธกันเป็นวาระ แต่มันยังไม่มากพอที่จะระเบิดออกมาแรงๆ
ยังไม่ต้องพูดถึงภาวะเผด็จการเรื้อรังหรือข้อกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมทั้งหลาย ว่ากันที่เรื่องความเหลื่อมล้ำเรื่องเดียวก่อน เราคนไทยยังต้องไปอินนักหนากับหนังความเหลื่อมล้ำที่มาจากความโกรธของคนเกาหลีใต้ ทั้งที่จริงแล้วเกาหลีใต้ไม่ใช่ประเทศที่ความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลกด้วยซ้ำ
Tags: ความเหลื่อมล้ำ, ภาพยนตร์เกาหลีใต้, Parasite, Bong Joon-ho, บองจุนโฮ, ชนชั้นปรสิต