เป็นเรื่องที่ยืดเยื้อที่หาข้อสรุปไม่ได้เสียที สำหรับการห้ามหรืออนุญาตให้ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิดที่ถูกห้ามใช้แล้วใน 53 ประเทศ เนื่องจากส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชน และเป็นประเด็นถกเถียงระหว่างผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายต่างๆ ทั้งเกษตรกรและบริษัทนำเข้าสารเคมี

วันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ คณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีอำนาจในการพิจารณาการยกเลิกและจำกัดการใช้วัตถุอันตราย ตามพ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 จะลงมติทบทวนการแบนพาราควอตอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เคยมีมติไม่แบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตเมื่อ 23 พฤษภาคม 2561

ก่อนจะถึงวันลงมติ เครือข่ายประชาชนที่นำโดย มูลนิธิชีววิถี เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชักชวนให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลมีเดีย หรือส่งข้อความถึงคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่าเพื่อสนับสนุนการเพิกถอนสารเคมีอันตรายพร้อมกันในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ โดยหวังว่าจะสามารถกดดันกรรมการให้มีการลงมติยกเลิกห้ามนำเข้า ห้ามผลิตและห้ามจัดจำหน่ายสารเคมีอันตราย 3 ชนิดนี้ได้ ท่ามกลางความแคลงใจต่อบทบาทของคณะกรรมการที่อาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทจำหน่ายสารเคมีเหล่านี้

ย้อนกลับไปที่ผลจากการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ซึ่งมีมติไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด แต่ให้จำกัดการใช้ และจนถึงตอนนี้ มีความเคลื่อนไหวสำคัญเกิดขึ้นอีกหลายครั้งก่อนจะนำมาสู่การทบทวนมติ

ในเดือนสิงหาคม 2561 มีการจัดตั้งคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งในชื่อ ‘คณะกรรมการแก้ไขปัญหาสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง’ ซึ่งแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี เพื่อศึกษาผลกระทบของสารเคมีที่ความเสี่ยงสูงทั้งสามชนิด

ถัดมา 30 สิงหาคม 2561 คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ยกเลิกการใช้สารกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด เฉพาะในพืชผักสวนครัว และพืชสมุนไพรเท่านั้น แต่ยังอนุญาตให้ใช้ได้ในพืชเศรษฐกิจ เช่น อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง และห้ามใช้ในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ต้นน้ำเพราะอาจชะล้างลงสู่แม่น้ำลำคลอง โดยมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรกำหนดแนวทางยกเลิกและจำกัดการใช้ที่ชัดเจนภายใน 3 เดือน

23 พฤศจิกายน 2561 ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นควรให้ยกเลิกการใช้สารกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิดนี้ภายใน 1 ปี โดยกำหนดให้ในระหว่างนี้ต้องมีมาตรการควบคุมและจำกัดการใช้ ตลอดจนหาวิธีอื่นในการกำจัดศัตรูพืชทดแทน และมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำแผนดำเนินการเสนอกลับใน 30 วัน

หลังมีคำวินิจฉัยจากผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมีผลผูกพันให้หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการตามข้อเสนอ และหากไม่ดำเนินการผู้ตรวจการจะนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้เห็นชอบให้มีการพิจารณาทบทวนมติของคณะกรรมการฯ ซึ่งเคยลงมติอนุญาตให้มีการใช้พาราควอตต่อไปอีกครั้ง โดยนัดลงมติอีกครั้งในวาระพิเศษ ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562

ระหว่างนี้ ‘สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย’ กลุ่มที่สนับสนุนให้ใช้พาราควอตในภาคเกษตรต่อไป ก็ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินเรียกร้องให้พิจารณาอย่างเป็นธรรมอีกครั้ง ทั้งนี้มูลนิธิชีววิถีได้ตั้งข้อสังเกตการเคลื่อนไหวของสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยว่า เป็นองค์กรที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นหลังจากการมีข้อเสนอให้มีการแบนพาราควอต โดยผู้ก่อตั้งมักปรากฎตัวและทำกิจกรรมร่วมกับสมาคมอารักขาพืช ซึ่งเป็นสมาคมการค้าที่จัดตั้งขึ้นโดยซินเจนทา มอนซานโต และดาวเคมีคอล ผู้ผลิตและจำหน่ายพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส

5 กุมภาพันธ์ 2562 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศ.พรพิมล กองทิพย์ และรศ.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูลได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อขอลาออกจากการเป็นกรรมการแก้ไขปัญหาสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง โดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถใช้กลไกนี้ตอบโจทย์วัตถุประสงค์เพื่อหาทางออกให้กับการใช้สารเคมีเกษตรทั้ง 3 ชนิดได้ หลังจากทำงานผ่านมาแล้วหลายเดือน

นอกจากนี้ เครือข่ายประชาชนยังยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จนเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2562 กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีความเห็นว่า การใช้พาราควอตเป็นสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชในภาคการเกษตรนั้น เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพของประชาชน กสม.เสนอให้กำหนดให้พาราควอตเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามพ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 18 โดยห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง

ความคืบหน้าล่าสุด 12 กุมภาพันธ์ 2562 มูลนิธิชีววิถีเผยแพร่ข้อความของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ส่งผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ ไปถึงข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องว่า เสนอให้มีการแบนสารพิษพาราควอตภายในไม่เกิน 3 ปี ซึ่งดูจะยาวนานเกินไป ขณะที่เครือข่ายประชาชนต้องการให้แบนพาราควอตภายในปีนี้ ตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพิ่งต่อทะเบียนใบอนุญาตให้สามารถใช้สารเคมีพาราควอตต่อไปอีก 6 ปีแก่ 3 บริษัท ได้แก่ ซินเจนทา 3 รายการ เอเลฟองเต้ 1 รายการ และ ดาว อโกรไซแอนส์ 1 รายการ ด้วยเหตุผลว่า ณ ขณะนั้น ยังไม่มีมติแบนสารพาราควอต

ท้ายที่สุดแล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไร คงต้องติดตามจากการลงมติในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้

 

ที่มา:

https://themomentum.co/paraquat-is-still-being-allowed-in-thailand/

https://www.prachachat.net/economy/news-74034

https://news.thaipbs.or.th/content/277552

https://www.tcijthai.com/news/2018/8/current/8208

https://prachatai.com/journal/2019/02/80964

https://www.facebook.com/183063271732202/posts/2162332727138570/