มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์

“เราตั้งใจให้คุณรู้สึกไม่สบายใจขณะที่ดู”

เสียงจากหนึ่งในทีมงานพูดขึ้น ก่อนหนังเริ่มฉายในรอบปฐมทัศน์ของไทยที่โรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา

Papicha คือศัพท์แสลงในภาษาแอลจีเรีย หมายถึง ผู้หญิงที่น่ารัก (Pretty Girl) ทว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้น่ารัก มันทั้งเจ็บปวด รุนแรงและอึดอัดใจตลอดเวลาที่รับชม มันเป็นเช่นนั้นอย่างที่หนึ่งในทีมงานของหนังได้พูดไว้

ช่วงพลบค่ำวันหนึ่ง Nedjma และ Wassila นักศึกษาหญิงสองคนแอบหนีจากรั้วกำแพงมหาวิทยาลัยซึ่งเธอได้ทำสัญญากับชายเฝ้าประตูไว้ โดยมีเสียงละหมาดดังมาจากที่ไกลๆ ให้ได้ยินอยู่เป็นระยะ พวกเธอกระโดดขึ้นรถแท็กซี่ที่จอดรออยู่ มุ่งหน้าไปยังผับแห่งหนึ่งในเมือง พวกเธอได้ปลดเปลื้องเสื้อผ้าชุดเดิมออก แต่งเติมสีสันบนใบหน้าให้สะสวย ตั้งใจจะไปปาร์ตี้ให้สุดเหวี่ยง แต่ความสนุกของพวกเธอก็ต้องสะดุดลง เมื่อเจ้าหน้าที่ตั้งด่านเรียกแท็กซี่คันที่พวกเธอนั่งอยู่ พวกเธอรีบหยิบผ้าฮิญาบขึ้นมาสวมและโกหกไปว่าเพิ่งกลับจากงานแต่ง

Papicha คือหนังการเมืองและมีจุดยืนชัดเจนว่าจะพูดถึงสตรีนิยม หนังอ้างอิงขึ้นจากเหตุการณ์จริงในแอลจีเรีย ช่วงปลายทศวรรษ 1990s มีผู้คนล้มตายนับแสนคน จากเหตุการณ์ก่อกบฏในกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่ต้องการสร้างรัฐอิสลาม เมื่อค่านิยมและกรอบทางศาสนาถูกใช้เพื่อบีบบังคับและกดขี่ทั้งทางร่างกายและความประพฤติ ผู้หญิงต้องอยู่แต่ในบ้านและต้องปกปิดร่างกายให้มิดชิด 

เหตุการณ์สงครามกลางเมืองดังกล่าวถูกเรียกว่า Black Decade ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อ Mounia Meddour ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ เธอใช้ชีวิตอยู่ในแอลจีเรียมานานกว่ายี่สิบปี และเธอผ่านเหตุการณ์นั้นมาด้วยความยากลำบาก เธอเล่าในงานเปิดตัวหนังว่า เธอเล่าเหตุการณ์อันมืดหม่นนี้ โดยใช้มุมมองของตัวเองผ่านตัวละคร Nedjma ซึ่งในช่วงเวลานั้น Meddour ก็ยังเป็นนักศึกษาและเต็มไปด้วยความฝันเช่นเดียวกับผู้หญิงจำนวนมากในแอลจีเรียที่ต่างก็ต่อสู้เพื่อรักษาความฝันไว้

แม้ตัวละครที่ปรากฏในเรื่องจะไม่ได้อ้างอิงมาจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งโดยตรง และหนังบอกเพียงว่าอ้างอิงมาจากเรื่องจริง แต่ก็คงปฏิเสธได้ยากว่าทั้งหมดเป็นเรื่องแต่ง ความสมจริงของภาพยนตร์ทำให้เส้นแบ่งของเรื่องจริงและเรื่องแต่งพร่าเลือนจนแทบจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 

จะปฏิเสธได้อย่างไรว่ามิตรภาพของเพื่อนหญิงในเรื่องไม่ได้เกิดขึ้นจริง ชีวิตนอกรั้วมหาวิทยาลัยที่พวกเธอถูกกดขี่เป็นเพียงเรื่องแต่ง ความรุนแรงของความขัดแย้งจากโฆษณาชวนเชื่อเป็นเพียงเรื่องสมมติ เหตุการณ์เหล่านี้มีอยู่จริงและมันล้วนสร้างบาดแผลที่เจ็บปวด อย่างน้อยๆ ภาพยนตร์เรื่อง Papicha ก็เป็นผลิตผลจากเหตุการณ์ความรุนแรงในครั้งนั้น อย่างที่ผู้กำกับได้พูดไว้ในช่วงหนึ่งของงานปฐมทัศน์ว่า “ความรู้สึกนั้นเป็นเรื่องจริง แม้จะมีเรื่องแต่งรวมอยู่ในนั้นก็ตาม”

ตัวหนังพูดถึงเหตุการณ์อันมืดหม่นนี้โดยไม่ได้พยายามอธิบายเหตุการณ์ทางการเมืองหรือเบื้องหลังแต่อย่างใด หนังเล่าเรื่องของการต่อสู้ของ Nedjma และกลุ่มเพื่อนเพื่ออิสรภาพและชีวิตที่เป็นปกติ โดยมี Nedjma เป็นจุดศูนย์กลางของเรื่อง เธอพยายามทำแฟชั่นโชว์ในมหาวิทยาลัย ภายใต้กำแพงหนาที่ถูกก่อร่างสร้างตัวขึ้นจากสังคมภายนอกที่เคร่งครัดและบีบบังคับให้พวกเธอไม่เหลือทางเลือกให้กับตัวเองแม้แต่เสื้อผ้าที่จะสวมใส่ โดยไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วงานแฟชั่นโชว์ของเธอนั้นจะนำไปสู่โศกนาฏกรรม เหตุการณ์เล็กๆ ของ Nedjma และกลุ่มเพื่อนสะท้อนภาพรวมของปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างดี เราได้เห็นความสิ้นหวังที่ค่อยๆ หนักหน่วงขึ้นจนนำไปสู่การแหลกสลายและเกิดขึ้นใหม่ของความหวังอันริบหรี่ โดยมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมแบบชายเป็นใหญ่เป็นตัวร้ายหลักในหนัง เหมือนกับว่ามีชั้นบรรยากาศเลวร้ายปกคลุมและกดทับอยู่ตลอดทั้งเรื่อง

“Take care of your image or we will” 

สัญญาณของความเลวร้ายเริ่มขึ้นหลังจากที่พวกเธอกลับจากปาร์ตี้สุดเหวี่ยง เมื่อป้ายประกาศบนกำแพงมหาวิทยาลัยบอกให้ผู้หญิงต้องปกปิดร่างกายของตัวเอง เริ่มแรก Nedjma และ Wassila เพียงแต่ใช้ปากกาเมจิกแต่งเติมป้ายประกาศนั้นให้เป็นเรื่องขำขัน ทว่าสถานการณ์มันกลับรุนแรงและส่งผลกระทบกับชีวิตพวกเธอมากขึ้น เมื่อมีการบุกจับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยขณะที่กำลังสอนหนังสือเพียงเพราะไม่ได้ใช้ภาษาถิ่นและกล่าวหาว่าสิ่งที่กำลังสอนนั้นเป็นการล้างสมองเยาวชน และผลกระทบก็ส่งผลต่อตัว Nedjma โดยตรง ในช่วงเวลานั้นบุคคลที่ถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ คือพวกนักข่าวหรือผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสื่อสารมวลชน ในวันที่ Nedjma อยู่กับแม่ และพี่สาวที่บ้าน ซึ่งควรจะเป็นที่ที่ปลอดภัยก็ได้ถูกทำลายลง เมื่อหญิงมุสลิมแปลกหน้าได้ออกตามหา Linda พี่สาวของ Nedjma และลั่นไกเข้าที่หน้าอกของ Linda ในระยะประชิดตรงหน้าบ้านที่พวกเธอร่วมใช้เวลาแห่งความสุขด้วยกัน

หนังยังเสนอให้เห็นภาพว่า ไม่เพียงแต่การพยายามควบคุมพฤติกรรมผู้หญิง ผ่านระบบผู้คุ้มครอง (Guardianship System—ผู้หญิงสามารถออกจากบ้านได้เมื่อมีผู้ชายคุ้มครองเท่านั้น) แต่ยังมีการพยายามควบคุมร่างกายของพวกเธออีกด้วย ผ่านอาหารที่พวกเธอรับประทานภายใต้กำแพงสูงของมหาวิทยาลัย ได้มีการผสมแมกนีเซียมโบรไมด์ ลงไปเพื่อลดความกำหนัด ซึ่งในระยะยาวจะทำให้เป็นพิษ และยังควบคุมแม้กระทั่งมาดามผู้ดูแลนักศึกษา ผู้หญิงในเรื่อง หากไม่ยอมตกอยู่ใต้อำนาจและเข้าร่วมเป็นอนุรักษ์นิยมเสียเอง พวกเธอก็จะเป็นได้เพียงเหยื่อเท่านั้น

เมื่อพูดถึงหนังที่โจมตีแนวคิดอนุรักษ์นิยมแบบชายเป็นใหญ่ เรามักจะเห็นภาพของเพศชายเป็นความเลวร้าย แต่หนังเรื่องนี้ไม่ได้ทำอย่างนั้นเสียทีเดียว โดย Meddour ได้ให้คำตอบในเรื่องนี้ไว้ว่า ไม่ใช่แค่เพศชาย แต่ยังมีผู้หญิงบางส่วนเช่นกันที่เชื่อในแนวความคิดนี้ เช่น ฉากหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่กลุ่มผู้หญิงมุสลิมหัวรุนแรงบุกเข้ามาในห้องเรียนและจับตัวอาจารย์ไป หรือ ในฉากที่พวกเธอบุกเข้ามาในห้องนอนของ Nedjma แล้วทำลายข้าวของ ขณะที่ตัวละครผู้ชายอย่างคนขับแท็กซี่ที่พาพวกเธอไปงานปาร์ตี้ในช่วงต้นเรื่อง ซึ่ง ณ ช่วงเวลานั้นถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงเอามากๆ หากถูกจับขึ้นมาก็เสี่ยงถึงตาย หรือแฟนของ Nedjma เองก็มีด้านที่ดีเหมือนกัน

Mehdi แฟนหนุ่มของ Nedjma และ Karim แฟนหนุ่มของ Wassila เป็นตัวละครชายที่น่าสนใจ เรารู้คร่าวๆ เกี่ยวกับ Mehdi ว่า ไม่มีความลำบากทางการเงิน เรียนสถาปัตยกรรม และมีความต้องการที่จะไปใช้ชีวิตที่ฝรั่งเศส ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก ณ ช่วงเวลานั้นที่ความเลวร้ายของสถานการณ์ทำให้หลายคนเลือกที่จะหนีไปใช้ชีวิตที่ฝรั่งเศสมากกว่าทนอยู่ในแอลจีเรียโดยไม่รู้ว่าสถานการณ์ภายภาคหน้าจะเป็นอย่างไร หนังยังฉายภาพของ Mehdi เป็นผู้ชายที่อบอุ่น รับฟัง และดูแล Nedjma เป็นอย่างดี

ขณะที่ Karim แฟนหนุ่มของ Wassila แทบจะมีลักษณะตรงข้ามโดยสิ้นเชิง ฉากที่น่าสนใจและแสดงจุดยืนของตัวละครได้เป็นอย่างดี คือฉากในรถซึ่งตัวละครทั้งสี่กำลังไปเที่ยวกัน Karim มองเห็นนักศึกษาหญิงกลุ่มหนึ่งไม่ได้แต่งตัวตามขนบ เขาพูดออกมาว่า นักศึกษาเดี๋ยวนี้แต่งตัวโป๊ Nedjma ได้ยินจึงสวนกลับขึ้นมาว่า แบบไหนกันที่เรียกว่าโป๊?  ทั้งคู่เริ่มปะทะคารมกันอย่างไม่ลดละ ซึ่ง ความเชื่อของ Karim คือ ถ้าผู้ญิงแต่งตัวให้มิดชิด พวกผู้ชายจะมีปัญหาน้อยลง ขณะที่ Mehdi พยายามจะบอกให้ทั้งคู่หยุดเถียงกัน ฉากนี้จบลงที่ Karim ลงจากรถไปและ Wassila เพื่อนสาว Nedjma ที่ปิดปากเงียบมาตลอดทาง เปิดประตูรถเดินลงไปกับ Karim แฟนหนุ่ม

Mehdi บอกความต้องการของกับ Nedjma ว่าต้องการพาเธอออกไปจากที่นี่ ไปเริ่มต้นชีวิตที่ไกลๆ ด้วยกัน ฝรั่งเศสคือที่ที่เขาวางแผนไว้ Mehdi มองว่าการพา Nedjma ไปด้วย นั่นคือโอกาสที่เขาหยิบยื่นให้ แต่เธอไม่ต้องการ แอลจีเรียคือบ้าน เธอมีเพื่อนและครอบครัว เธอยังคงเชื่อมั่นว่าสามารถเปลี่ยนแปลง ไปในทิศทางที่ดีขึ้น และฉากนี้ก็จบลงที่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่แตกหักลง จุดยืนของ Nedjma จึงไม่ใช่แค่การต่อต้าน หรือหลบหนีออกจากพื้นที่ แต่คือการต่อสู้เพื่อทวงสิทธิ ทวงความฝันของเธอคืน ในพื้นที่ของเธอเอง

สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกต คือในขณะที่หนังกำลังวิพากษ์ถึงประเด็นชายเป็นใหญ่แบบมุสลิมอย่างเข้มข้น หากแต่ประโยคสุดท้ายก่อนหนังจะจบลงก็ คือ การบอกรักพระอัลเลาะห์ของ Nedjma 

เราจึงได้เห็นการปะทะกันในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง ศาสนา ธรรมเนียมดั้งเดิมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป แต่ความเป็นสากลของหนังเรื่องนี้ไม่ใช่แค่หนังเกี่ยวกับการต่อสู้ของผู้หญิงที่มองเห็นเค้าลางของพายุร้ายที่พร้อมโหมกระพือแทบทุกย่างก้าวก็ตาม แต่มันคือหนังสำหรับทุกคนที่ต้องการอิสรภาพและชีวิตที่ปกติ จริงอยู่ที่หนังเต็มไปด้วยช่วงเวลาที่โหดร้าย ทารุณ และสั่นสะเทือนทางอารมณ์อย่างรุนแรง ทว่าในตอนจบของเรื่องนั้นกลับงดงามและอ่อนโยนเปี่ยมไปด้วยความหวัง 

ในคืนที่แฟชั่นโชว์ของ Nedjma กำลังดำเนินไปอย่างครึกครื้น แล้วไฟในห้องโถงก็ดับลงจนมืดสนิท ราวกับความหวังทั้งหมดดับสูญ เสียงปืนดังสนั่น ทุกคนหวีดร้องหลบกระสุนจ้าละหวั่น มันคือค่ำคืนที่เลวร้าย Nedjma สูญเสียเพื่อนสนิทในกลุ่มไปที่ใฝ่ฝันจะไปใช้ชีวิตที่แคนาดา แต่ในตอนนี้ชีวิตเธอจบลงแล้ว หลังเหตุการณ์กราดยิง เมื่อรุ่งสางมาถึงทุกคนก็ถูกจับแยกย้ายไป 

และเมื่อ Nedjma เจอกับ Samira เพื่อนอีกคนหนึ่งที่เชื่อในศานาอย่างแรงกล้า เธอกลับถูกจับคลุมถุงชน แต่เธอรักและตั้งท้องกับชายอีกคนหนึ่ง ในตอนนี้เธอไม่มีที่ไป และเด็กในครรถ์ของเธอก็โตขึ้นทุกขณะ Samira จึงขอมาอาศัยอยู่กับ Nedjma และแม่

เช้าวันหนึ่งขณะที่ Samira กำลังตากผ้า เธอบอกกับ Nedjma ด้วยความตื่นเต้น ว่าเด็กในท้องของเธอกำลังดิ้น Nedjma ก้มลงจูบครรภ์ของ Samira เธอพูดกับเด็กในครรถ์อย่างเต็มไปด้วยความหวังว่า เธอจะทำร้านเสื้อผ้าให้กับผู้หญิงทั้งแอลจีเรียได้สวมใส่ 

เสื้อผ้าในบริบทที่เธอพูดถึงนี้คงไม่ใช่เพียงแค่เครื่องนุ่งห่ม แต่มันหมายถึงสิทธิที่ที่คนคนหนึ่งพึงมีอิสระเหนือร่างกายของพวกเธอ ไม่ใช่เพียงแค่การเลือกสวมใส่อะไรก็ได้ แต่หมายถึงชีวิตในแบบที่ต้องการได้ด้วย

เมื่อหนังจบลงมีบทสนทนาในกลุ่มคนดูที่ตัวผู้เขียนบังเอิญได้ยินว่า “ในเมื่อแอลจีเรียไม่มีอะไรดีเลย ไม่มีความหวัง จึงงงว่าทำไม Nedjma ถึงไม่เลือกไปฝรั่งเศส?” จริงๆ คำตอบนี้มีอยู่แล้วในเรื่องตามที่ Nedjma ได้บอกไว้ แต่เมื่อตั้งข้อสังเกตอาจเป็นเพราะเรื่องจริงนั้น Mounia Meddour เลือกที่จะไปอยู่ฝรั่งเศสและเลือกเรียนเกี่ยวกับภาพยนตร์ ก่อนจะได้มาทำหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าความรู้สึกที่ติดอยู่ในใจของ Meddour คืออะไรก็ตาม การเลือกที่จะอยู่ในแอลจีเรียของ Nedjma จึงไม่ใช่เพียงการเลือกในสิ่งที่ Meddour ไม่ได้เลือกที่จะยืนหยัดต่อสู้ในวันนั้น แต่มันอาจเป็นการเยียวยาตัวเองในวันนี้ก็เป็นได้ 

แม้แอลจีเรียในวันนี้จะดีขึ้นกว่ายุค 90s มากแล้ว และ Papicha ก็ได้รับเลือกเป็นตัวแทนจากแอลจีเรีย เข้าชิงออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมในปีที่จะถึงนี้ ทว่าหนังยังไม่สามารถเข้าฉายที่แอลจีเรียได้ Papicha จึงเป็นเรื่องที่ยืนยันได้ถึง พลังของมันว่ารุนแรงและสั่นสะเทือนต่อผู้คนบางกลุ่มในแอลจีเรียอยู่ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแอลจีเรียนั้นแม้จะดูไกลตัว แต่ที่จริงแล้วมันสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกๆ ส่วนของโลก จึงไม่ต้องแปลกใจในระหว่างที่ดู เราจะรู้สึกคุ้นเคยราวกับว่าพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่นี้ ก็มีเรื่องราวทำนองเดียวกับในหนังเช่นกัน

อ้างอิง:

https://variety.com/2019/film/global/oscars-papicha-canceled-release-algeria-1203367239/

https://www.timeout.com/bangkok/th/movies/Mounia-Meddour-interview

Tags: , , , ,