คนในสังคมรับรู้โดยทั่วกันว่า ผู้มั่งคั่งทางการเงินอาจใช้กลเม็ดต่างๆ ซุกซ่อนทรัพย์สินของตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ทว่าที่ผ่านยังไม่เคยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ชี้แน่ชัดว่าพฤติกรรมนี้แพร่หลายขนาดไหน จนกระทั่งเมื่อวานนี้ (3 ตุลาคม 2021)

สมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนนานาชาติ (ICIJ) ที่เป็นการรวมตัวกันของนักข่าว 600 กว่าคนจากองค์กรสื่อชั้นนำทั่วโลก 150 สำนัก ได้ออกมาเผยแพร่การตรวจสอบ ‘Pandora Papers’ หรือเอกสารทางการเงินที่เปิดโปงด้านมืดของบรรดาผู้นำโลก นักการเมือง และมหาเศรษฐีหลายร้อยคน 

Pandora Papers ประกอบไปด้วยไฟล์ 11.9 ล้านฉบับ จากบริษัทผู้ให้บริการจดทะเบียนและดูแลบริษัทนอกอาณาเขต 14 แห่งในประเทศต่างๆ อาทิ หมู่เกาะเคย์แมน หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ปานามา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  โมนาโก สิงคโปร์ เวียดนาม และสวิตเซอร์แลนด์ 

โดยเผยให้เห็นความลับนอกประเทศของผู้นำโลกทั้งปัจจุบันและในอดีต 35 คน เจ้าหน้าที่ของรัฐอีกกว่า 330 คน ใน 90 ประเทศ รวมไปถึงมหาเศรษฐีพันล้านกว่า 100 คน ที่ใช้บริษัทเปลือกหอย (Shell corporation) หรือบริษัทที่มีตัวตนอยู่เฉพาะบนหน้ากระดาษเพื่อเก็บสินค้าหรูหราอย่าง เรือยอร์ช บัญชีธนาคารที่ไม่ระบุตัวตน งานศิลปะต่างๆ ที่มีตั้งแต่โบราณวัตถุของกัมพูชาที่ถูกปล้นไป ภาพวาดของปาโบล ปิกาโซ (Pablo Picasso) ไปจนถึงภาพกราฟฟิตี้ของแบงก์ซี (Banksy) จึงทำให้คนร่ำรวยที่สุดในโลกบางคนจ่ายภาษีเพียงเล็กน้อยหรือไม่ต้องเสียภาษีเลย 

ในความเป็นจริง การจัดตั้งหรือรับผลประโยชน์จากบริษัทนอกอาณาเขตนั้นไม่ผิดกฎหมาย บางกรณีเป็นไปด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย และบริษัทหลายแห่งยืนยันกับนักข่าวว่าพวกเขาไม่ได้ละเมิดกฎหมายใดๆ แต่ช่องโหว่ที่ตรวจสอบไม่ได้ ทำให้มีผู้ใช้บริษัทนอกอาณาเขตเพื่อจุดประสงค์ผิดกฎหมายอย่างการเลี่ยงภาษี ฟอกเงิน ต้มตุ๋น กระทั่งให้ทุนเงินแก่องค์กรอาชญากรรม

หนึ่งในกรณีที่ถูกเปิดโปงจาก Pandora Papers คือ สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลาห์ที่ 2 หรือ กษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2 แห่งจอร์แดน เอกสารบ่งชี้ว่าเขาใช้ Shell corporation ซื้ออสังหาริมทรัพย์ 15 แห่ง รวมมูลค่ากว่า 100 ล้านเหรียญ ในลอนดอน วอชิงตัน ดี.ซี. และมาลิบู แม้การซื้อดังกล่าวไม่ผิดกฎหมาย แต่ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างข้วางถึงความสองมาตรฐาน เมื่อนายกรัฐมนตรีจอร์แดน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากกษัตริย์ในปี 2020 ให้คำมั่นว่าจะปราบปรามการทุจริตที่รวมถึงใช้ Shell corporation เพื่อปกปิดการลงทุนในต่างประเทศด้วย เบื้องต้นทางด้านกษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2 กล่าวว่าไม่มีอะไรไม่เหมาะสมเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของทรัพย์สินผ่านบริษัทนอกอาณาเขต แต่ดูเหมือนว่าประเทศจอร์แดนจะบล็อกเว็บไซต์ ICIJ เมื่อหลายชั่วโมงก่อนที่ Pandora Papers จะเผยแพร่ออกมา

อันเดรจ บาบิส (Andrej Babis) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของสาธารณรัฐเช็ก ที่กำลังจะลงสมัครรับเลือกตั้งในสัปดาห์นี้ ก็กำลังเผชิญกับคำถามเช่นกัน ว่าทำไมเขาถึงใช้บริษัทนอกอาณาเขตซื้อคฤหาสน์หรูมูลค่า 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส แต่บาบิสยังคงปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นอะไร

ทางด้าน โทนี แบลร์ (Tony Blair) อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร และภรรยาของเขา เป็นกรณีที่ไม่มีหลักฐานว่าพยายามหลีกเลี่ยงภาษีชัดเจน แต่พวกเขาสามารถประหยัดภาษีได้ถึง 3.12 แสนปอนด์ เมื่อซื้อสำนักงานมูลค่ากว่า 6.5 ล้านปอนด์ ย่านแมรีลีโบน ในลอนดอน จากบริษัทนอกอาณาเขตในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ซึ่งตอกย้ำให้เห็นถึงช่องโหว่การเสียภาษีของผู้ที่ร่ำรวย 

อีกทั้งเอกสารที่รั่วไหลออกมายังแสดงให้เห็นชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทสำคัญของลอนดอนในการประสานงานต่อโลกสีเทานอกอาณาเขต โดยลอนดอนเป็นที่ตั้งของที่ปรึกษาด้านการบริหารความมั่งคั่ง สำนักงานกฎหมาย ตัวแทนจัดตั้งบริษัท และนักบัญชี ทั้งหมดมีอยู่เพื่อให้บริการลูกค้ามหาเศรษฐี หลายคนเป็นมหาเศรษฐีต่างประเทศที่อยู่ในสถานะ ‘ไม่มีภูมิลำเนา’ หรือหมายความว่าพวกเขาไม่ต้องเสียภาษีสำหรับทรัพย์สินในต่างประเทศ

เป็นที่ชัดเจนว่า Pandora Papers เผยให้เห็นอุตสาหกรรมที่พยายามหลีกเลี่ยงกฎระเบียบสังคม อาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้ผู้ที่ร่ำรวยอยู่แล้วได้รับประโยชน์มากขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่หลายประเทศกำลังตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นธรรมของระบบภาษีระหว่างประเทศ และความล้มเหลวของรัฐบาลในการควบคุม 

ที่มา:

https://www.theguardian.com/news/2021/oct/03/pandora-papers-biggest-ever-leak-of-offshore-data-exposes-financial-secrets-of-rich-and-powerful

https://www.bbc.com/news/world-58780465

https://www.npr.org/2021/10/03/1042885263/pandora-papers-wealthy-offshore-banks-secret

https://www.nytimes.com/2021/10/03/world/middleeast/jordan-king-among-leaders-accused-of-amassing-secret-property-empire.html

https://www.icij.org/investigations/pandora-papers/

Tags: ,