เกินกว่าที่คิดไปมากๆ เลยค่ะ ตอนแรกเราก็คิดแค่ว่าจะทำเป็นสารคดีสั้นให้สำนักข่าวที่เราเคยทำงานให้ เช่น National Geographic หรือ Al Jazeera แต่พอทำไปทำมา เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว ถ้าจะเล่าเรื่องแบบข่าว มันจะไม่ให้ความรู้สึกกับคนดูได้เท่ากับความรู้สึกที่เรามีอยู่ตอนนี้ เราอยากจะแชร์ประสบการณ์ ความคิดและความรู้สึกที่เรามีต่อครอบครัวนี้ให้กับโลก

ไพลิน วีเด็ล ตอบคำถามที่ว่า Hope Frozen ไปไกลเหนือจากร่างความคิดของเธอไปมากน้อยแค่ไหน

…..

Hope Frozen คือภาพยนตร์สารคดีที่ฉายอยู่ขณะนี้ใน Netflix จากที่เคยผ่านการฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติหลายแห่ง และได้รับรางวัลสาขาภาพยนตร์สารคดีนานาชาติยอดเยี่ยม จากเทศกาล Hot Docs Canadian International Documentary Festival ในปี 2563 

แต่ที่น่าสนใจและตื่นเต้นที่สุดคือ Hope frozen กลายเป็นภาพยนตร์ที่มีสิทธิเข้าชิงออสการ์ในสาขาภาพยนตร์สารคดี

เรื่องราวเริ่มง่ายดายจากการที่ไพลินไปทำหน้าที่ล่ามให้กับข่าวการสูญเสียชิ้นนี้ โดยมีสามีของเธอเป็นนักเขียนข่าวหลัก ครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์เป็นครอบครัวนักวิทยาศาสตร์ที่ตัดสินใจแช่แช็งน้องไอนส์’ (..เมทรินทร์ เนาวรัตน์พงษ์) วัย 2 ขวบซึ่งเสียชีวิตจากมะเร็งสมองไว้ด้วยเทคโนโลยีไครออนิกส์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของบริษัท Alcor ในสหรัฐอเมริกาที่ใช้ความเย็นแช่แข็งหรือรักษาร่างกายของมนุษย์ไว้ในอุณหภูมิที่ต่ำมาก

ด้วยความหวังที่ว่าอนาคตอาจจะนำมาซึ่งคำตอบของความอยู่รอด เปลี่ยนความหมายของความตายให้กลายมาเป็นชีวิตอีกครั้ง

นี่คือภาพยนตร์เรื่องแรกเลยค่ะที่ทำเป็น feature length ก่อนหน้านี้ที่เคยทำสารคดีข่าวก็ยาวแค่ 25-30 นาที

หลายปีก่อนหน้านี้ ไพลินไม่ได้จินตนาการตัวเองอยู่ในวงการข่าวด้วยซ้ำ เธอเรียนจบด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา แชเปิลฮิลล์ ประเทศสหรัฐอเมริกา (The University of North Carolina at Chapel Hill) และวางแผนว่าจะเป็นนักวิจัยในป่า

แต่พอเข้าป่าไปค้นคว้าจริงๆ แล้วเราเหงามากเลย เหมือนกับว่าไม่รู้จักตัวเอง อยู่แต่กับข้อมูล ไปค้นคว้าแล้วไม่มีคนที่จะพูดด้วย การเป็นนักวิจัยจึงเป็นแค่ฉากในใจของเราที่เราคิดว่าเราจะทำได้ นึกว่าเป็นสิ่งที่โรแมนติกที่ได้อยู่กับป่า กับสัตว์ เขียนหนังสือ แต่จริงๆ แล้วเราเป็นคนที่ชอบคนมากกว่า พอกลับมาจากป่าเราจะชอบเล่าเรื่องว่าเราไปผจญภัยอะไรมา เลยเริ่มรู้ตัวเองแล้วว่าการทำวิจัยมันไม่ใช่ ต้องหาหนทางอื่น

เธอตำหนิตัวเองว่าเป็นคนชอบจัดการวางแผน แต่มักไม่ค่อยรู้จักตัวเองดีพอ แต่เรากลับคิดว่าการค้นพบว่าไม่ชอบอะไรก็คือการรู้จักตัวเองที่ดีในมุมหนึ่ง

จากที่คิดว่าจะหนีจากอาชีพนักข่าวเหมือนพ่อ หรืออาชีพอาจารย์เหมือนที่แม่เพราะเป็นเด็กที่มีความคิดเป็นของตัวเอง พลิกแพลงหาจุดยืนของตัวเองตลอดเวลา แต่สุดท้ายไพลินก็กลับมาอยู่จุดเดิม แต่ยืนแบบใหม่ เธอกลายเป็นทั้งพ่อและแม่ที่เธอหลีกหนีมาโดยตลอด คือเป็นทั้งนักข่าว และนักข่าวที่กลับมาสอนที่มหาวิทยาลัย เป็นช่างภาพนิ่งประจำสำนักข่าวที่อเมริกา ลงพื้นที่ตั้งแต่เหตุการณ์จำพวกไฟไหม้ จลาจล ไปจนถึงเทศกาลคริสมาสต์ อะไรก็แล้วแต่ที่จะตีพิมพ์บนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์

เราได้เรียนการถ่ายทำวิดิโอจากมหาวิทยาลัย เลยนำมาใช้สอนตัวเองเพิ่มเติมว่าจะถ่ายวิดิโอข่าวอย่างไร แล้วก็เริ่มถ่ายไป สอนตัวเองไป แต่ทุกครั้งที่เราทำเราก็จะรู้สึกอึดอัดที่เราไม่มีเวลาทำมากกว่านี้ ทำให้ชัดเจนกว่านี้ ให้ลึกกว่านี้ เราอึดอัดกับเวลาที่เขามีให้ในการทำข่าว

…..

ความอัดอั้นนั้นยังไม่ถูกปลดปล่อยเมื่อเธอกลับมาที่ประเทศไทยเมื่อ 12 ปีที่แล้วในช่วงที่ประเทศเกิดรัฐประหาร และเกิดความคิดว่าข่าวทั่วโลกก็เกิดจากเอเชียเช่นเดียวกัน ทำไมล่ะเธอถึงไม่กลับมาทำงานที่บ้านเกิด

การเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับสำนักข่าว AP จึงเป็นคำตอบ และเป็นคำตอบที่ดีด้วยตำแหน่งสูง ขอบเขตงานกว้างขึ้น

แต่เราคิดถึงการลงสนามมากๆ เราเป็นคนที่ชอบแสวงหาความรู้เอง ไปสัมผัสอะไรใหม่ๆ อยู่นิ่งไม่ได้ เราเลยอยู่ออฟฟิศได้แค่ 3-4 ปีก็ออกมาทำงานฟรีแลนซ์ต่อ

ช่วงเวลานี้ก็คิดว่าเราจะแก้สิ่งที่เราอึดอัดกับการทำข่าวอย่างไร เลยเริ่มเสนอข่าวที่ยาวขึ้น และเริ่มหาลูกค้า ช่องทีวี หรือช่องสำนักงานข่าวที่มีรายการที่หลากหลาย

ตอนแรกเลยขอไปฝึกงานกับเขา ทำงานแบบเกือบฟรีเลย ได้ค่าตัวมาน้อยมาก เราก็ไปช่วยเขาถือกล้อง เพราะเราทำแค่ข่าว ไม่เคยทำสารคดี เรารู้ว่าเราอยากทำ ทำได้สักสองสามเรื่อง ก็เริ่มเสนอเรื่องของเราเอง

Hope Frozen จึงเป็นภาพยนตร์สารคดีที่เกิดขึ้นภายหลังจากการนำตัวเองเข้าไปในสมรภูมินี้ และยังเป็นโจทย์ที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเรื่องของประเด็น ทุน และระยะเวลาที่ยาวนานหลายปี แต่แว่นของนักข่าว การตั้งคำถามและการพัฒนาประเด็นที่ฝึกฝนมา 10 กว่าปีทำให้เราได้ยินคำว่าความจริงจากปากของเธอมากมายหลายครั้ง

ไพลินค้นพบความว่าตัวเองค่อยๆ ละลายเข้าไปในชีวิตและความหวังที่คั่นลมหายใจ ความเป็นมนุษย์ และสิ่งสามัญที่สุดที่แม้แต่วิทยาศาสตร์ที่รัก ก็ตอบได้ไม่ดีเท่ากับความรักที่ล่องลอยอยู่ระหว่างความหวังและความตาย

…..

Hope frozen คือภาพยนตร์สารคดีใช่ไหม

มันคือภาพยนตร์ความจริงค่ะ ถ้าพูดถึงสารคดีในเมืองไทยหรือในทวีปเอเชีย คนอาจจะคิดว่าเป็นวิดิโอที่ให้ความรู้ เพื่อการศึกษา หรือไม่ก็เป็นวิดิโอที่มีผู้เชี่ยวชาญมาเล่าให้ฟังว่าเรื่องเป็นแบบไหน แต่ของเราไม่ใช่เลย นี่คือภาพยนตร์ที่ถ่ายเหมือนฟิกชันที่เป็นภาพยนตร์ธรรมดา ดังนั้นเราจะไม่ค่อยมีผู้เชี่ยวชาญมาบอกให้เราคิดอย่างไรในการเล่าเรื่องหรือการประกอบเรื่อง  เราก็จะตามครอบครัวไปเหมือนเขาเป็นตัวละครตัวหนึ่ง มันไม่มีสคริปต์ ทุกอย่างเป็นความจริงหมด 

บรรยากาศตอนไปถึงเป็นอย่างไรบ้าง

จริงๆ แล้วสามีของเราที่เป็นนักข่าวชวนไปเป็นล่ามค่ะเพราะเขากลัวว่าเขาจะไม่ถนัดคำ

เฉพาะเกี่ยวกับเทคโนโลยี เลยไปช่วยเขา พอไปถึงเราก็นึกว่าจะคุยกันแค่ 15-20 นาที แต่สรุปคือคุยกันเป็นชั่วโมงเลย เราเลยเริ่มรู้แล้วว่าครอบครัวนี้พิเศษ เริ่มอินกับเรื่องของเขา เห็นว่าเขารักลูกขนาดไหน พอสัมภาษณ์เขาแล้วเขาเปิดใจหมดทุกอย่างเลยค่ะ เขากลัว แต่เขายอมที่จะให้คนมาวิพากษ์วิจารณ์ เขามีความเป็นนักวิชาการระดับหนึ่ง เพราะเขาคิดว่าการให้ข้อมูล การเล่าเรื่อง การแบ่งปันข้อมูลเป็นสิ่งที่ดีหมด

ถ้าเป็นในมุมของนักข่าว ประเด็นนี่จะจบอยู่ตรงไหน

ความที่สุดที่เป็นประเด็นข่าวของเรื่องนี้คือน้องไอนส์เขาอายุน้อยที่สุด เราก็คิดว่าสิ่งนี้แหละจะไว้ใช้พาดหัวข่าว แต่ในที่สุดเรื่องราวมันลึกกว่านั้น เพราะมันทำให้เราเกิดความรู้สึกที่เรารู้สึกมาโดยตลอดนั่นคือเราอึดอัด เราอยากจะมีเวลาเข้าใจเขามากกว่านี้ เรามีคำถามอะไรเยอะแยะมากมายที่เรายังไม่ได้ถามเลย บวกกับที่เราจบชีววิทยาด้วย ดร.สหธรณ์ และดร.นารีรัตน์ (พ่อแม่ของน้องไอนส์) ก็จบปริญญาเอกทางด้านวิทยาศาสตร์ เราเลยพูดกันแบบเข้าใจกันได้ ตอนหลังเราเลยบอกว่าขอกลับมาถ่ายได้ไหม เพราะตอนที่ไปสัมภาษณ์ไม่ได้เอากล้องไปเลย  ทางครอบครัวก็บอกว่า โอเค ได้ เลยชวนมาที่บ้านแถวหัวหินเลย วิวสวย

วันนั้นเราไม่ได้ไปในฐานะนักข่าวด้วยซ้ำ แต่ไปในฐานะล่าม จึงไปดูก่อนว่ามันเป็นข่าวได้ไหม มันไม่ใช่สิ่งที่เราสนใจมากนัก แต่เป็นความบังเอิญมากที่เราได้คุยกับเขาแล้วเริ่มเก็บไปคิดเยอะแยะมากมาย ซึ่งถ้าเป็นข่าวออกมาก็จะคล้ายๆ กับทุกคนที่นำเสนอไป อาจจะเขียนว่ามันมีความที่สุดตรงนี้ แต่ครอบครัวก็ยังเข้าใจ มีความหวัง รักลูก มีความบาลานซ์ แต่ก็ยังเป็นประเด็นที่ทุกคนสนใจอยู่ 

ทักษะในการทำภาพยนตร์ที่คุณเพิ่งเริ่มศึกษากับการทำข่าว feature length มันช่วยสนับสนุนมุมมอง และการถ่ายทอดในรูปแบบของภาพยนตร์ได้มากไหม

สิ่งที่ช่วยได้เยอะที่สุดคือเรื่องประเด็นค่ะ เพราะเราทำทั้งข่าวและสารคดีที่มาจากทวีปนี้เพื่อที่จะเผยแพร่ทั่วโลก เราจึงมีความเข้าใจระดับหนึ่งว่าทำเรื่องไหนคนดูทั่วโลกถึงจะอิน มันเป็นทักษะที่ต้องใช้เวลาเรียนรู้ อะไรที่ทำให้เรื่องเรื่องหนึ่งเป็นข่าว อะไรที่ทำให้ประเด็นหนึ่งไวรัลหรือเข้าถึงความรู้สึกคนดูได้ นี่คือทักษะที่เราได้เรียนรู้จากการเป็นนักข่าว 

นอกจากข้อมูลเชิงเทคนิค สาเหตุหนึ่งที่จุดประกายคุณในการทำภาพยนตร์เรื่องนี้คือเรื่องความสัมพันธ์ใช่ไหม

ส่วนหนึ่งค่ะ แต่ละคนในครอบครัวไม่เหมือนกัน ก่อนที่จะสัมภาษณ์วันนี้น้องแมทริกซ์ก็บอกเราว่าให้บอกคนที่มาสัมภาษณ์ด้วยนะว่าเขาไม่ใช่พ่อ เขาเป็นตัวของตัวเอง ดังนั้นจะบอกว่าทั้งครอบครัวคิดเหมือนกันหมดเลยก็ไม่ใช่

เราคิดว่า ดร.นารีรัตน์ก็มีความลังเลในตอนแรกว่าทำไมต้องทำแบบนี้ด้วย ตายก็คือตายหรือเปล่า แต่น้องแมทริกซ์จะมีความเชื่อระดับหนึ่ง และมีความหวังอย่างที่สุด ส่วน ดร.สหธรณ์เขาจะมีความหวังตั้งแต่ต้นจนจบเลยค่ะ เพราะสำหรับเขา ความหวังก็คือความรัก เขาจะไม่เปลี่ยนใจอะไรเลย ถึงแม้จะมีข้อมูลเพิ่มหรือมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เช่น ถึงแม้จะรับรู้จากมุมนักวิทยาศาสตร์ว่ามีความเป็นไปได้น้อย เขาก็จะปฏิเสธว่าไม่นะ นี่คือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น เราคิดว่าความหวังที่เกิดขึ้นคือความรักของเขา

วิธีการสังเกตประเด็นเหล่านี้ เช่น ความหวังที่เกิดขึ้นเท่ากับความรัก มันก่อรูปให้กับประเด็นของการทำภาพยนตร์ของคุณอย่างไรบ้าง

เราคิดเป็นธีมมากกว่าว่า ธีมที่เราคิดว่ามันน่าสนใจมากที่สุดสำหรับคนดูคือธีมความรัก ความหวัง ความศรัทธา หน้าที่ของพ่อแม่ ความรักของพี่ชายต่อน้องสาว และเรื่องปรัชญา ความหมายของความตายจะเปลี่ยนไปกับเทคโนโลยีอย่างไร เราก็ตั้งธีมไว้ ตั้งคำถามที่เราอยากให้เขาตอบมากกว่า แต่ไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะตอบอย่างไร เขาตอบมาอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น

คุณตั้งธงหรือแกนเรื่องในการทำภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างไร

ต้องบอกว่านี่เป็นเรื่องแรก เราเลยไม่ได้ตั้งธงไว้มากมาย ไม่มีการปักธงอะไรเลยค่ะ (หัวเราะ) รู้แต่ว่าเรามีคำถาม แล้วเราก็ต้องมีฉากที่ประกอบไปกับคำถาม เพราะฉะนั้นถ้าเป็นคำถามเรื่องศาสนา เราก็ต้องมีฉากเรื่องศาสนา ถ้ามีคำถามเกี่ยวกับคุณพ่อที่บางครั้งเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ บางครั้งเป็นคุณพ่อ เราจะสร้างสมดุลตรงนี้อย่างไร เช่น ฉากตอนที่ไปเยี่ยมลูกที่อเมริกา เราจะเห็นว่าตอนแรกเขามีความเป็นนักวิทยาศาสตร์ สนุกกับเทคโนโลยีที่ได้เห็น แต่สุดท้ายแล้วเขาก็เป็นคุณพ่อที่มานั่งคุกเข่าหน้าแทงก์ของลูกและมาภาวนาด้วยกัน

เรารู้ว่าประเด็นไหนที่คนดูน่าจะอิน เป็นสิ่งที่สำคัญที่เราอยากจะเสนอ แล้วเราค่อยๆ ตามเขาไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะมีอะไรที่เข้ากับสิ่งที่เราอยากนำเสนอ ไม่มีการบอกว่าเขาต้องตอบอย่างไร เราไม่มีสคริปต์ให้ ทุกอย่างที่เห็นมันคือความจริงหมดเลย เราอาจจะโยนคำถามให้ แต่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันเกิดขึ้นเพราะมันจริง

ฟังดูคุณมีความเป็นนักข่าวสูงในการมองประเด็น และเสน่ห์ของเรื่องคือความคอนทราสต์ของข้อมูล เช่น ความเป็นคุณพ่อและความเป็นวิทยาศาสตร์ คุณมีวิธีการนำเสนอมุมมองเหล่านี้ให้อยู่ในเรื่องได้อย่างไร

การคราฟต์ทั้งหมดอยู่ในห้องตัดต่อ ไม่ได้อยู่ในซีน เราเก็บฟุตเทจเท่าที่เราจะทำได้แล้วค่อยมาทำโครงเรื่องในห้องตัดต่อ แต่เราจะมีการบรีฟทีมงาน เช่น บรีฟช่างภาพว่าในฉากนี้เราอยากให้โฟกัสคุณพ่อกับคุณแม่เฉยๆ เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่สิ่งที่เราสนใจมากที่สุดคืออารมณ์ของคุณพ่อ คุณแม่ พอมาถึงหน้าแทงก์น้อง น่าจะมีความรู้สึกเยอะที่เกิดขึ้น เราก็จะบอกช่างภาพให้เตรียมเลนส์ไว้ การกำกับของเราก็จะเป็นการวางแผนว่าน่าจะมีอะไรเกิดขึ้นแล้วให้เตรียมอุปกรณ์ไว้ให้พร้อม 

เวลาตั้งคำถาม จะรู้ได้อย่างไรว่าได้คำตอบแล้ว หรือจุดไหนถึงพอกับประเด็นนี้ที่คุณอยากได้

มันอยู่ตรงที่เรากลับไปดูแล้วคิดว่ามันพอไหม โดยใช้เกณฑ์ความรู้สึก เราสัมภาษณ์ ดร.สหธรณ์ 14 ครั้ง ครั้งแรกสัมภาษณ์ 4 ชั่วโมง ถ้าถามเขาเขาก็คงบอกว่าคำถามบางครั้งก็ซ้ำๆ ซากๆ มากเลย (หัวเราะ) เพราะเราก็พยายามที่จะถามแล้วดูสิว่าเขาเปลี่ยนใจหรือมีความคิดใหม่หรือยัง เพราะเราถ่ายทำเป็นระยะเวลา 2 ปีครึ่ง ความคิดจากตอนสัมภาษณ์ครั้งแรกมีความคิดอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม เราก็จะสัมภาษณ์ไปเรื่อยๆ

คาแรคเตอร์ของตัวละครแต่ละคนมีจุดเด่นอะไรบ้าง

ถ้าเป็นคุณแม่จะเป็นความรักบริสุทธิ์อย่างเดียวเลยค่ะ ไม่มีขอบเขต คุณพ่อก็มีความรักเหมือนกัน แต่เขาจะมีความหลงใหลกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคต มีประเด็นที่หลายคนอาจจะคิดว่าแล้วตกลงครอบครัวทำแบบนี้ไปเพื่ออะไร แต่ในที่สุดเราจะเห็นจากในภาพยนตร์เลยว่าคุณพ่อก็ยังเป็นคุณพ่อ แม้เขาจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ น้องแมทริกซ์ตอนเริ่มเรื่องจะอายุ 14 ขวบ จบเรื่องตอนอายุ 16 ขวบ เขาจะค่อนข้างที่จะไร้เดียงสาในตอนแรก เพราะเขายังเด็กอยู่ เขามีความหวังและจะคิดว่ามันใกล้จะถึงแล้วนะ รวมไปถึงเขายังมีความอัจฉริยะของเขาระดับหนึ่งที่เก่งทางด้านวิทยาศาสตร์มากๆ แล้วเขาก็อยากจะเป็นคนคิดวิธีที่ทำให้น้องสาวกลับมาให้ได้ แต่ละคนในครอบครัวคิดไม่เหมือนกันเลย 

วิถีชีวิตของครอบครัวนี้ต่างจากครอบครัวทั่วไปไหม

ต่างอยู่ประมาณหนึ่งค่ะ เขามีความเป็นวิทยาศาสตร์สูง กิจกรรมที่พ่อกับลูกทำก็มักจะเกี่ยวกับการทดลอง เช่น การใช้ coding สร้างใบพัด หรือการประกอบเครื่องบิน มีความเป็น computer engineering สูง

เรื่องฐานะก็เกี่ยวข้อง เขามีเงินเพียงพอที่จะส่งลูกเขาไปแช่แข็งที่อเมริกาได้ แต่นี่ไม่ได้เป็นประเด็นหลักในการนำเสนอ เพราะถ้าเราอยากรู้ว่าเขาใช้เงินไปเท่าไร เราสามารถกูเกิลได้ มันไม่ได้หายาก แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับเรื่องนี้คือ เมื่อเราเป็นนักข่าว แล้วเราส่งข่าวไปเมืองนอก ข่าวในทวีปเราจะเป็นข่าวการเมืองบ้าง ข่าวสิทธิมนุษยชนบ้าง ค้ามนุษย์บ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญและเราจะนำเสนอต่อไป แต่เราคิดว่าพอมีคนที่ไม่รู้จักเมืองไทยมาดู เขาอาจจะคิดว่าเมืองไทยมีแต่เรื่องแบบนี้และดูถูกเราว่ามีแต่ปัญหา เราก็เลยอยากจะหาเรื่องที่ทำให้เห็นความหลากหลายของคนไทยว่า คนที่มีฐานะก็มีนะ ไม่ใช่ว่าคนในประเทศเราจะจนไปหมด แล้วคนที่เป็นคนไทยที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ก็มีนะ เลยทำให้อยากจะนำเสนอประเด็นที่ทุกคนเข้าใจว่า เขาก็เป็นคนเหมือนเรานะ

 เหมือนสุดท้ายไม่ว่าเรื่องจะซับซ้อนแค่ไหน แต่คุณก็มองหาจุดร่วมในความเป็นมนุษย์

ใช่ค่ะ มันมีจุดร่วมเยอะมาก เพราะมันไม่ใช่การนำเสนอสถานการณ์ แต่เป็นการนำเสนอเรื่องครอบครัวครอบครัวหนึ่ง พอดูภาพยนตร์แล้วเราจะรู้สึกว่าเราใกล้ชิดกับเขามาก ถ้าครอบครัวนี้เป็นครอบครัวที่ไม่เปิด หรือไม่ใช่ครอบครัวนักวิทยาศาสตร์ หรือเป็นครอบครัวที่ไม่มีความพิเศษที่มีลูกชายที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ และอีกหลายๆ ปัจจัย เราก็ไม่รู้เหมือนว่ามันจะเดินเรื่องไปได้ถึงขนาดนี้ไหม

อยากดำเนินเรื่องราวให้ลึกมากแค่ไหน

เท่าที่จะทำได้ พอเป็นนักข่าว เราก็รู้ว่าเราสามารถที่จะกดประเด็นไปมากน้อยแค่ไหน แต่เราก็ต้องระมัดระวังอยู่ว่าจะสะเทือนใจเขามากไปหรือเปล่า โดยเฉพาะน้องแมทริกซ์ ปีแรกเราไม่ได้สัมภาษณ์เขาเลยนะ เพราะว่าเขายังเด็กเกินไป และยังมีเรื่องที่กระทบกระเทือนใจเขาเยอะเหมือนกัน แถมยังโดนสื่อรุมเยอะแยะมากมายอีก เราก็จะระมัดระวังกับเขามาก

เราถูกสอนมาว่าไม่มีคำถามไหนที่ไม่ควรถามถ้าเราถามแบบสุภาพ จริงใจ เพราะพ่อเราก็เป็นนักข่าว เพราะฉะนั้นเราก็จะถามไปเรื่อยๆ และจะดูคำตอบของเขา ถ้าท่าทีเขายังไม่พร้อม ยังตอบไม่ทั่วถึง หรือเขาตอบแบบตื้นๆ เพราะเขายังไม่อยากตอบ เราก็จะถามใหม่ในครั้งต่อไป จะพยายามไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพบว่านี่แหละคือความจริงที่สุดแล้ว เราจะกดไปเรื่อยๆ จนถ้าเรามาอยู่ที่เดิม เราก็จะยอมรับว่าเราอยู่ที่เดิม

ถือว่าทักษะในการเป็นนักข่าวของคุณส่งผลโดยตรงกับกระบวนการนี้

เยอะเลยค่ะ ตอนเป็นนักข่าวเราจะเข้าใจการเข้าถึงคน เพราะว่าเราเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ของคนที่ในวันนั้นอาจจะเป็นวันที่แย่ที่สุดในชีวิตของเขาก็ได้ หรือเป็นวันที่เขามีความสุขที่สุดในชีวิตของเขา มันมีความที่สุดของสถานการณ์เยอะ เราก็จะรู้จักการเข้าถึงว่าเราควรจะพูดอย่างไร ทำความเข้าใจอย่างไร ควรจะโปร่งใสมากน้อยขนาดไหน เราจะรู้จักวิธีการทำงานที่ถูกจรรยาบรรณและถูกกับหน้าที่ที่เรามีอยู่

มีวิธีการในการคิดที่จะไม่ตัดสิน หรือทำให้พวกเขาปลอดภัยจากการโดนโจมตีได้มากที่สุดอย่างไร เพราะกรณีนี้มีทั้งประเด็นเรื่องศีลธรรม ศาสนา และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

มันเป็นการบาลานซ์กันว่าเราจะเล่าเรื่องอย่างจริงที่สุดโดยมีผลกระทบร้ายกับครอบครัวให้น้อยที่สุดตลอดเวลา เราเป็นห่วงเขาตลอด ก่อนที่จะทำงานกับ Netflix เราก็ถามเขาว่าสนใจไหม เราพร้อมที่จะให้ทั่วโลกรู้หรือเปล่า เขาเห็นเราทำงานมา 5 ปีแล้วเขาก็คงสงสารเรา (หัวเราะ) เขาก็บอกว่าอยากให้คุณไพลินประสบความสำเร็จอย่างที่ทำได้ ไว้ใจ ที่เรานอนไม่หลับก็เพราะเราคิดถึงเรื่องนี้ตลอดว่ามันจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง

คงเป็นประเด็นใหญ่ที่คุณต้องถามตัวเองอยู่เรื่อยๆ

ใช่ค่ะ แต่ว่าประเด็นศีลธรรมกับศาสนา เราไม่มีความกลัวมาก เพราะจุดที่เขายืนเป็นจุดที่จริงใจ และมันเกิดขึ้นตามความจริง เรื่องศาสนาก็มีความหลากหลายอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าคนพุทธทุกคนจะเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิด บางคนก็คิดว่าการกลับชาติมาเกิดเป็นการผสมผสานจากศาสนาฮินดู เลยทำให้เรารู้สึกว่าถ้ามีคนที่หลากหลายมาติ เขาก็จะติไม่เหมือนกัน สิ่งที่เราทำได้คือการเสนอความจริงให้มากที่สุด จุดยืนของเราก็คือนำเสนอความจริง

สิ่งที่อยากจะให้ทุกคนคิดคือ เราไม่ได้ทำภาพยนตร์เรื่องนี้มาเพื่อที่จะให้คนมาวิพากษ์วิจารณ์ครอบครัวนี้เพราะว่ามันเกิดขึ้นไปแล้ว คนวิพากษ์วิจารณ์กันสุดหัวใจแล้ว เราอยากให้คนเพิ่มความเข้าใจไม่ใช่เฉพาะในครอบครัวนี้ แต่สำหรับทุกคนที่เราคิดว่ามีความเห็นต่างซึ่งเป็นปัญหาในโลกตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นเมืองไทยหรือเมืองนอกที่เราคิดว่าคนที่คิดเห็นต่างเขาด้อยกว่า เขาเป็นคนร้าย คนไม่ดี ไม่มีศีลธรรม

หลายๆ คนที่ได้ดูข่าวเรื่องครอบครัวนี้อาจจะคิดว่าเขาเป็นคนแบบนี้หรือ แต่พอมาดูภาพยนตร์ก็จะเริ่มเพิ่มความเข้าใจว่าถ้าจุดยืนของเขาและเราคือความรัก ความเป็นมนุษย์ เราก็จะมีจุดร่วมบางอย่างที่เหมือนกัน ถึงแม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วยกับเขา แต่เราเข้าใจเขาได้ จุดนี้คือจุดที่อยากให้คนกลับไปคิด ดังนั้นการเล่าเรื่องของเราจะเป็นการยกคำถามขึ้นมามากกว่าโดยที่ไม่มีคำตอบให้

เราคิดว่าเทคโนโลยีจะไปไกลได้ถึงไหน หน้าที่ของพ่อแม่ควรจะไปไกลถึงขนาดนี้ไหม จุดยืนของเราเองอยู่ตรงไหน แล้วให้ไปสนทนากันเพื่อเพิ่มความเข้าใจของตัวเองมากขึ้น 

การทำภาพยนตร์เพื่อให้คนมีคำถามเชิงวิพากษ์และนำไปบคิดกันต่อสำคัญอย่างไร

สำคัญมากๆ เลย ถ้าเราอยู่ในสังคมปิดที่เราถามคำถามไม่ได้ ก็จะเป็นสังคมที่ไม่พัฒนา เป็นสังคมที่คิดเหมือนๆ กันไปหมด ซึ่งมันจะอยู่รอดได้ยากมากเพราะมันไม่มีนวัตกรรมหรือความคิดใหม่ จะกลายเป็นสังคมที่อยู่นิ่งๆ ไม่เกิดการถกเถียง เราต้องคิดว่าการถกเถียงแบบที่ให้ความคิดเห็นแล้วยังรับฟังและเคารพซึ่งกันและกันมันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับสังคมไหนก็แล้วแต่

 ถ้าเป็นตอนที่ทำข่าว เวลาทำเสร็จหนึ่งงานก็คงจบไป แต่เรื่องนี้เหมือนไม่จบ คุณเองกลับเอามาคิดต่อมากแค่ไหน

หลายคนถามว่าสิ่งที่ท้อหรือยากมากคืออะไร เราก็มักจะตอบว่าเป็นเรื่องการหาทุน แต่สิ่งที่ยากสำหรับเราอีกประเด็นคือการเป็นนักข่าวควบคู่ไปกับการทำภาพยนตร์เรื่องนี้เพราะว่าพอเราไปทำข่าว ถึงแม้ว่าจะเป็นสารคดีเจาะลึกอะไรก็แล้วแต่ เราทำสามเดือน หกเดือน เราก็ทำเสร็จ เราไม่ต้องคิดกับเรื่องนี้อีกต่อไป เหมือนลูกเราโตแล้ว เราก็ปล่อยให้โลกดูแล้ว แต่นี่ 5 ปี ทุกคืนที่เรานอนหลับฝันก็ฝันเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าจะตัดต่ออย่างไร จับกล้องอย่างไร หาทุนจากที่ไหน แล้วจะมีผลกระทบกับครอบครัวนี้แบบไหน ทุกคืนของการมีชีวิตของเราใน 5 ปีที่ผ่านมามันเกี่ยวกับเรื่องนี้หมดเลย เราก็ตั้งคำถามอยู่เหมือนกันว่าเราบ้าไหมนี่ (หัวเราะ)

 ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับครอบครัวนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ตอนนี้เริ่มสนิทกันแล้ว แต่ช่วงแรกคงต่างคนต่างสงสัย เราก็สงสัยว่าทำไมเขาคิดแบบนี้ แต่ว่าพอถ่ายไปเรื่อยๆ หน้าที่แรกของเราคือการเป็นผู้กำกับฯ เราก็พยายามที่จะเป็นตัวกลาง ไม่อยากที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์ เราถ่ายทำโดยใช้คำถาม ไม่ได้มาถ่ายเพื่อที่จะแนะนำอะไรที่มันไม่ใช่หรือไม่ได้เป็นจริง เรามาด้วยความสงสัย ไม่ได้มาด้วยความคิดของเราเองว่ามันต้องเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นหลังการฉายภาพยนตร์ ครอบครัวก็ได้เห็นว่ามีคนเข้ามาหาเขา โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอ่อนที่อาจจะเคยเสียลูกไปด้วยซ้ำที่อินกับเรื่องนี้มากๆ สะท้อนมาว่าเข้าใจ หรือถ้าเป็นตัวเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำอย่างไร 

มีช่วงเวลาที่คุณรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่นักข่าว หรือผู้กำกับฯ แต่เป็นมนุษย์ที่นั่งคุยกับมนุษย์

ถ้าเราคิดว่าเรายังเป็นนักข่าวแทนที่จะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ แล้วคิดว่าเรื่องนี้เป็นสารคดีข่าว เราก็จะมีความระมัดระวังว่าเราจะไม่ไปสนิทกับเขามากเกินไป เราจะไม่ตามเขาขนาดนี้ เราจะตามสัมภาษณ์คนที่ติ ไม่เห็นด้วย สัมภาษณ์ทั้งสองฝ่าย แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่สารคดีข่าว เราต้องถอดหมวกที่เป็นนักข่าวออกไป แล้วใส่หมวกที่เป็นนักทำสารคดีว่าสิ่งที่เราเล่าคือประสบการณ์ของครอบครัวหนึ่ง มันเป็นความจริงทั้งหมด เราไม่ได้เข้าข้างใคร มันไม่ได้เป็นการนำเสนอข้อมูล แต่เป็นการทำความเข้าใจ เป็นการยกคำถาม เป็นการเสนอความรู้สึกให้คนดูมารู้สึกกับครอบครัวนี้ด้วย

 การทำภาพยนตร์เรื่องนี้เปลี่ยนแปลงอะไรในตัวคุณบ้าง

การที่เราเปลี่ยนใจในวันแรกที่ได้เจอกับครอบครัวนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ พอเราไปเจอความจริง ตัวจริง เราเปลี่ยนใจได้ เพราะฉะนั้นกับคนอื่น หรือสถานการณ์อื่นที่เราไม่เห็นด้วย ถ้าเราได้ไปใช้ชีวิตอยู่กับเขาสองปี เราก็คงจะเห็นความเป็นมนุษย์ของเขาด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นเราจะเป็นคนที่เห็นใจคนอื่นมากกว่าเดิมโดยที่ยังเป็นกลางอยู่

ตอนที่เราไปทำข่าวเราก็คิดว่า เอ เขาถูกหลอกมาหรือเปล่าว่าเทคโนโลยีนี้มีจริง หรือเขารู้หรือเปล่าว่าความเป็นไปได้มันน้อยมาก เราก็กลัวว่าเป็นการตัดสินใจโดยไม่รู้อย่างทั่วถึง แต่พอไปถึงพบว่าคุณพ่อและคุณแม่ไม่ใช่คนแบบนั้นเลย เขาไม่ได้ถูกหลอกมา เขาก็รู้จริงๆ เลยว่า ใช่ มันมีความเป็นไปได้น้อยมาก แต่ในฐานะที่เขาเป็นพ่อแม่ เขาก็อยากจะทำทุกสิ่งทุกอย่างในอำนาจที่เขาจะให้โอกาสลูกได้มีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง เขาเห็นว่าเป็นหน้าที่ของเขา เราเห็นความรู้สึกของเขา เราเลยคิดว่ามันเป็นเรื่องที่เราสามารถที่จะนำเสนอให้คนมีความรู้สึกร่วมกันกับครอบครัวนี้ได้

Fact Box

  • ดร.สหธรณ์และ ดร.นารีรัตน์ เนาวรัตน์พงษ์ มีบุตรชายหนึ่งคน และลูกสาวอีกหนึ่งคือ ..เมทรินทร์ เนาวรัตน์พงษ์ หรือน้องไอนส์ซึ่งเป็นมะเร็งในสมองระดับรุนแรง ดร.สหธรณ์ในฐานะหัวหน้าครอบครัวและเป็นผู้มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ได้พยายามยืดชีวิตลูกสาวด้วยการส่งไปผ่าตัดถึง 12 ครั้ง แม้ท้ายที่สุดน้องไอนส์จะเสียชีวิตจากมะเร็งสมอง แต่ทางครอบครัวตัดสินใจที่จะแช่แข็งร่างของลูกสาวไว้ด้วยเทคโนโลยีไครออนิกส์ (cryonics) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของบริษัท Alcor ในสหรัฐอเมริกาที่ใช้ความเย็นแช่แข็งหรือรักษาร่างกายของมนุษย์ไว้ในอุณหภูมิที่ต่ำมาก ด้วยความหวังของการอยู่รอด และเพื่อเปลี่ยนความตายให้กลายมาเป็นชีวิตอีกครั้ง

 

Tags: ,