ในยุคหนึ่งการเป็นนักดนตรีอาชีพ ทำเพลงและออกอัลบั้มเป็นของตัวเองช่างฟังดูยากเย็น ต้องทำเดโม่ส่งไปตามค่ายเพลงหรือคลื่นวิทยุ โดยหวังว่าเขาจะพิจารณาและเปิดเพลงของเราฟังบ้าง พอมาถึงยุคนี้ที่มีเทคโนโลยีพร้อมเครื่องไม้เครื่องมือในการทำเพลง เราสามารถทำเพลงเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียได้อย่างง่ายดาย

แต่องค์ความรู้การทำเพลง ทิศทางของเพลงและวงของคุณควรจะไปทางไหน ต้องอาศัยประสบการณ์จากนักดนตรีมืออาชีพ ซึ่งเป็นสิ่งที่หาไม่ได้ จนกว่าคุณจะเข้าไปอยู่ในสังกัดค่ายเพลง ทั้งที่จริงผู้ที่อยากเป็นนักดนตรีควรจะมีโอกาสเรียนรู้สิ่งเหล่านี้กับศิลปินตัวจริงระดับประเทศบ้าง

นี่คือที่มาของโครงการ Good Hope Music Academy สถาบันดนตรีออนไลน์ ที่เกิดจากการรวมตัวกันของคนดนตรีทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง เพื่อให้ความรู้ ให้โอกาส และให้ชีวิตนักดนตรี แก่คนที่มีความหวังในดนตรีทุกคน

3 ให้

ต้นไอเดียของโครงการนี้คือผู้ก่อตั้งบริษัท แซ๊ป ปาร์ตี้ จำกัด ที่อยู่เบื้องหลังอีเวนต์อย่าง Zaap Party ปาร์ตี้คนโสด, Waterzonic, S2O และ ‘Genie Fest 19 ปี กว่าจะร็อกเท่าวันนี้’ เขาคือบาส – เทพวรรณ คณินวรพันธุ์  Academy Director ของโครงการ

“เรื่องมันเริ่มง่ายๆ เลยครับ หลังได้โอกาสทำคอนเสิร์ต Genie Fest 19 ปี ผมว่ามันก็เกินความฝันของเรามากๆ แล้ว เลยมานั่งคิดว่าจะให้โอกาสกับคนอื่นได้ทำอะไรดีๆ บ้าง

“ย้อนกลับไปตอนผมเรียนอยู่กรุงเทพคริสเตียนชั้น ม. 5 ผมกับเพื่อนๆ ฟอร์มวงดนตรีกัน ไปแต่งเพลงบ้านเพื่อนต่อเพื่อส่งเข้าประกวด แม้สุดท้ายวงเราจะไม่ได้เข้ารอบ แต่ระหว่างทางเราได้มิตรภาพ ประสบการณ์ โดยที่เราไม่มีความรู้เรื่องดนตรีเลย ไม่รู้ว่าอัดเพลงแบบมืออาชีพทำกันยังไง ก็เลยอยากเอาความทรงจำในวัยเด็กที่เราขาดโอกาสนั้นไปทำเป็นโครงการขึ้นมา”

Good Hope Music Academy อยู่บนหลักคิดง่ายๆ ‘3 ให้’ ได้แก่

  1. ให้ความรู้ – เป็นการให้ความรู้และประสบการณ์ทางดนตรี โดยศิลปินชั้นนำ 15 คน ได้แก่ พูนศักดิ์ จตุระบุล (อ๊อฟ Big Ass), รัฐ พิฆาตไพรี (รัฐ Tattoo Colour), เหนือวงศ์ ต่ายประยูร (เหนือวงศ์ Mango Team), รังสรรค์ ปัญญาใจ (บิว Lemon Soup), ประภพ ชมถาวร (กอล์ฟ Superbaker), บดินทร์ เจริญราษฎร์ (เป้ Mild), เจตมนต์ มละโยธา (เจ Penguin Villa), ประทีป สิริอิสสระนันท์ (โฟร์ 25 Hours), แมนลักษณ์ ทุมกานนท์ (โซ่ ETC.), อัครชนช์ ราชปันดิ (ฟุ้ง Better Weather), จักรพันธ์ บุณยะมัต (เย่ Slur), ธารณ ลิปตพัลลภ (แทน Lipta), รัชกร อุดมธนาวัฒน์ (แชมป์ Tabasco), จรัญ แก้วเจริญชัย (คาวบอย) และชาครีย์ ลาภบุญเรือง (เท็น Musketeers)
  2. ให้โอกาส – เป็นการให้โอกาสกับนักดนตรีทุกเพศ ทุกวัย ไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ เพียงแต่ต้องแต่งเพลงส่งเข้ามา จะอัดใส่มือถือ หรือในสตูดิโอก็ได้ทั้งหมด ผู้ที่ผ่านรอบ 20 วงจะได้ทำเพลงที่ได้มาตรฐานในสตูดิโอดีๆ เหมือนกับต่างประเทศ โดยมีทีมโปรดิวเซอร์ช่วยควบคุมการผลิต ทำให้แต่ละวงได้ไฟล์เพลงที่มีคุณภาพติดตัวไป
  3. ให้ชีวิตนักดนตรี – เป็นการให้ชีวิตนักดนตรีได้เรียนรู้กับนักดนตรีชั้นนำของประเทศ และวงที่เข้ารอบ 4 วงสุดท้ายจะได้ทำงานร่วมกับ 4 โปรดิวเซอร์ และ 1 เอ็กซ์เซ็กคูทีฟโปรดิวเซอร์อย่าง พูนศักดิ์ จตุระบุล หรือ อ๊อฟ Big Ass ในห้องอัดของเขาเองอีกด้วย

ไม่ใช่เวทีการประกวด

ซีอีโอหนุ่มวัย 27 ปี ยังบอกอีกว่าโครงการนี้ไม่ใช่การประกวดวงดนตรี เนื่องจากไม่มีเงินรางวัลใดๆ สำหรับผู้ที่เข้ารอบ และเชื่อว่าดนตรี บางครั้งก็ตัดสินกันที่อันดับผู้ชนะไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับความชอบและรสนิยมส่วนบุคคล ดังนั้น Good Hope Music Academy จึงเป็นพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับคนที่รักเสียงดนตรี อยากมีเดโม่เพลงดีๆ ได้เรียนรู้ชีวิตและวิธีคิดในการทำเพลง โดยไม่มีการันตีว่าจะได้เซ็นสัญญาเข้าสังกัดค่ายเพลง

“ไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ เลย แนวดนตรีแบบไหนก็ได้ ตอนเลือกเพลงที่เข้ารอบ ก็จะไลฟ์สด และคอมเมนท์กัน เพราะสมัยก่อนเราส่งเพลงไปตามคลื่นวิทยุ เราไม่รู้ว่าเขาเปิดเพลงเราหรือเปล่า เรามีคำถามตรงนี้ตลอดเวลา เลยใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ และคนอื่นก็จะเห็นว่าเพลงที่ส่งเข้ามาเป็นอย่างไร”

สำหรับโครงการนี้จะแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่

  • Good Hope Class ที่เป็นการให้ความรู้ผ่านการเรียนการสอนออนไลน์ฟรี ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ จากศิลปินทั้ง 15 คน โดยเริ่มตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง 31 พฤษภาคม 2561
  • หลังจากนั้นจะเป็น GOOD HOPE Studio ที่เปิดโอกาสให้ส่งเพลงที่แต่งเองเข้ามาผ่านทาง www.goodhopemusicacademy.com ตั้งแต่วันที่ 1 – 30 มิถุนายน 2561 โดยมีทีม A & R หรือ Artists and Repertoire ในการช่วยคัดกรองเพลงที่ส่งเข้ามา ซึ่งจะคัดให้เหลือ 20 วง และได้รับการพัฒนาเป็นเดโม่ ควบคุมการผลิตโดยโปรดิวเซอร์
  • ช่วง Good Hope Song จะเหลือแค่ 4 วง ซึ่งเหมาะสมจะได้ทำเพลงใหม่ร่วมกับทีมร่วมกับ  4 โปรดิวเซอร์ ได้แก่ รัฐ พิฆาตไพรี (รัฐ Tattoo Colour), บดินทร์ เจริญราษฎร์ (เป้ Mild), ธารณ ลิปตพัลลภ (แทน Lipta) ประทีป สิริอิสสระนันท์ (โฟร์ 25 Hours) และได้ พูนศักดิ์ จตุระบุล หรือ อ๊อฟ Big Ass ในฐานะเอ็กเซ็กคูทีฟโปรดิวเซอร์ มาช่วยดูแลภาพรวมให้ พร้อมกับได้อัดเพลงที่สตูดิโอที่บ้าน อ๊อฟ Big Ass  เพื่อเตรียมตัวในฐานะศิลปินใหม่ และออกแสดงดนตรีในฐานะศิลปินอาชีพ

เพลงที่เน้นความตั้งใจ

รังสรรค์ ปัญญาใจ หรือ บิว Lemon Soup ในฐานะ Head of A&R ซึ่งเป็นด่านแรกที่จะต้องฟังเพลงทั้งหมดที่เข้ามา ก่อนจะคัดให้เหลือ 20 วง บอกว่าอยากให้เน้นความตั้งใจในการทำเพลง เรื่องฝีมือเป็นอย่างหลัง

“เรามองในเชิงของโปรดิวเซอร์ที่จะคัดเลือกและดูวงที่ส่งเพลงเข้ามาน่าแล้วจะเอาไปทำต่อได้ ช่วยกรองขั้นแรกให้ก่อน และปรึกษากับโปรดิวเซอร์คนอื่นด้วย หลักๆ จะดูความคิดสร้างสรรค์ คาแรกเตอร์ของศิลปิน ว่าสามารถนำไปพัฒนาต่อได้ไหม

“ขอดูความตั้งใจก่อนว่ามีมากน้อยแค่ไหน แม้เดโม่ที่ส่งเข้ามาจะอัดไม่ดีมาก แต่อยากให้มีความตั้งใจและศิลปินเองมีเอกลักษณ์บางอย่าง เพราะทุกวันนี้หาคนทำเพลงเพราะอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีความแปลกใหม่ที่น่าจะทำงานด้วยกันสนุก”

ศิลปินที่ส่งเข้ามาน่าจะมีอยู่ 3 แบบ แบบแรกคือวงดนตรีที่ทำเพลงเป็นอยู่แล้วจะได้เจอโปรดิวเซอร์หรือศิลปินอาชีพจริงๆ  แบบที่สองคือคนที่ไม่ใช่ศิลปินอาชีพ  หรือไม่เคยแต่งเพลงเลย พอได้ดู Good Hope Class ก็จุดประกายในการแต่งเพลง และแบบที่สามคือคนที่ล่าฝัน อยากประสบความสำเร็จ ถ้าสามารถเข้ารอบ 4 วง ได้ ก็จะช่วยต่อยอดสิ่งที่เขาต้องการได้

“เราอยากให้เป็นพื้นที่มาปล่อยของกัน แล้วมีโอกาสได้เจอกับคนในวงการดนตรี อาจจะเป็นการสำรวจวงดนตรีหน้าใหม่ย่อยๆ อยู่ที่ว่าใครชอบแบบไหน ก็สามารถชักชวนหรือหยิบไปทำงานต่อได้เลย”

Fact Box

สำหรับผู้ที่สนใจโครงการ Good Hope Music Academy หรือต้องการส่งเพลงที่ตัวเองแต่งก็เข้าไปได้ที่ www.goodhopemusicacademy.com หรือติดตามได้ที่ www.facebook.com/GOODHOPEMusicAcademy/

Tags: , , , ,