ตั้งแต่ 9 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา กลุ่มประชาชนในนาม “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม” (พีมูฟ) รวมตัวกันบริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประจำประเทศไทย ถนนราชดำเนิน ก่อนที่จะเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย 9 ด้าน ได้แก่
- แก้รัฐธรรมนูญ และยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
- กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
- ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
- กระจายที่ดินทำกินและคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม
- ทบทวนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
- ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการภัยพิบัติ
- คุ้มครองกลุ่มชาติพันธ์และสิทธิความเป็นมนุษย์
- คุ้มครองสิทธิของคนไร้สถานะ
- ส่งเสริมรัฐสวัสดิการ
นอกจากนั้นยังเรียกร้องให้แก้ปัญหาเร่งด่วน 16 กรณี โดยเฉพาะคดีความที่ไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนกว่า 168 คดี และทวงถามความคืบหน้าการแก้ปัญหาของประชาชน
เจ้าหน้าที่ให้ผู้ชุมนุมทั้งหมดมาที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ชั้น 1 อาคารสำนักงาน ก.พ. (เดิม) พร้อมกับประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมประชุมหาทางออกกับตัวแทนผู้ชุมนุม ซึ่งมีการจัดห้องแยกไว้สำหรับแต่ละปัญหา โดยระหว่างที่รอการประชุมนั้น แกนนำที่รออยู่ด้านนอกก็ประกาศว่า หากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข จะปักหลักชุมนุมที่หน้ายูเอ็นต่อไป
จำนงค์ หนูพันธ์ โฆษกกลุ่มพีมูฟกล่าวว่า ทางกลุ่มขออนุญาตชุมนุมไว้แค่สิบวัน แต่ถ้าหากยังไม่ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐ ก็จะขอยื่นระยะเวลาการชุมนุมเพิ่มให้ถึงวันที่ 7 ตุลา ซึ่งตรงกับ ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’
โดยตัวแทนผู้ชุมนุมอยู่ระหว่างการเจรจากับรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ประทีป กีรติเลขา ซึ่งยื่นข้อแลกเปลี่ยนให้กลุ่มผู้ชุมนุมย้ายสถานที่ชุมนุมจากบริเวณหน้ายูเอ็นไปยังบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ เนื่องจากทางการสหรัฐอเมริกาจะเดินทางมาประเทศไทย และต้องใช้กองทัพบกซึ่งอยู่ใกล้กับองค์กรสหประชาชาติเป็นที่รองรับ อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือรองนายกรัฐมนตรีคนอื่นออกมารับเรื่องด้วยตนเองด้วย
ในขณะที่ด้านหน้าองค์การสหประชาชาติที่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมเตรียมปักหลักนั้น มีการนำป้ายการเรียกร้องในประเด็นต่างๆ มาแสดง ผู้ชุมนุมยังนำเอาผัก ผลไม้ อาหารทะเล ซึ่งเป็นผลผลิตในชุมชนมาวางขาย มีการปูพื้น ขึงผ้าใบกันแดด พร้อมกับนำสิ่งของจำเป็นเช่น เสื้อผ้า เสบียงอาหาร และตั้งครัวประกอบอาหาร
ผู้สื่อข่าวได้พูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งปักหลักอยู่บริเวณหน้ายูเอ็น โดยคุณป้าคนหนึ่งเดินทางมาจากชุมชนคลองไทรพัฒนา อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เล่าให้ฟังว่า เดินทางมาถึงตั้งแต่เมื่อ 2 วันที่แล้ว เพื่อสู้เรื่องที่ดินทำกิน เมื่อถามถึงเรื่องหลับนอนในที่ชุมนุม เธอตอบว่าไม่เป็นปัญหาหรอก เป็นคนจนไม่มีปัญหา และจะสู้จนกว่ารัฐบาลจะรับข้อเสนอ ถึงจะกลับบ้าน
ขณะที่ชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งนำจำปาดะและกระถินจากสวนของพวกเขามาขายด้วย พร้อมทั้งเล่าว่า เดินทางกันมาจากหลายจังหวัด เช่น ประจวบคิรีขันธ์ ตรัง กระบี่ ระนอง เพื่อทวงคำสัญญาที่ภาครัฐเคยให้ไว้ หนึ่งในนั้นเล่าให้ฟังว่า ภาครัฐสัญญาว่าจะสนับสนุนและอุ้มชูราคายางและปาล์มให้ดีขึ้น ซึ่งก็ยังไม่เห็นผล อีกทั้งแนวทางการแก้ปัญหาที่ภาครัฐเสนอแนะก็ไม่สามารถทำไดัจริง เช่น สนับสนุนให้ทำนาแทนปลูกสวนยาง เธอเล่าว่า ให้ทำนาได้อย่างไรในเมื่อน้ำท่วม รวมถึงการถมดินของภาครัฐก็คล้ายทำเพียงผักชีโรยหน้า เพราะดินเหล่านั้นไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้ เธอกล่าวต่อด้วยน้ำเสียงอ่อนล้าว่า แม้ต้องใช้เวลากี่วันในการเรียกร้อง ก็จะปักหลักต่อสู้ และบอกว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นใคร ก็ขอแค่เหลียวมองประชาชนบ้าง ปัญหาปากท้องประชาชนควรมาก่อนทุกอย่าง
ทั้งนี้ กลุ่มพีมูฟประกอบไปด้วยการรวมตัวกันของเจ็ดเครือข่ายแนวร่วมประชาชน ได้แก่ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายปฏิรูปเทือกเขาบรรทัด เครือข่ายปฏิรูปภาคอีสาน เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง และเครือข่ายฮักน้ำโขง
นอกจากนี้ ที่ด้านข้างทำเนียบรัฐบาลบริเวณประตู 4 กลุ่มนักกิจกรรมได้ชูป้ายสนับสนุนการเคลื่อนไหว กลุ่มฮักบ้านเกิดบ้านเมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ที่คัดค้านโครงการโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้า โดยที่ชาวบ้านในพื่นที่ไม่มีส่วนรวมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของตนเอง โดยโครงการนี้เกิดขึ้นจากแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี นโยบายสานพลังประชารัฐเรืองอ้อย และน้ำตาล
การมาชุมนุมครั้งนี้ เป็นการติดตามความคืบหน้า จากเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2562 ที่ภาคประชาชนเคยยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เร่งรัดแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) โดยในแถลงการณ์ ระบุสามประเด็น คือ
- ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ขอประกาศชุมนุมรวมพลังประชาชนจากทุกเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อผลักดันให้ 9 ข้อเสนอเชิงนโยบายให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
- รัฐบาลควรแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน ไปพร้อมกันกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางกฎหมายและนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อันเป็นบทบัญญัติสูงสุดในการบริหารประเทศให้เป็นประชาธิปไตย
- “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม” คือ เครือข่ายผู้ได้ผลกระทบจากนโยบายและการพัฒนาของรัฐในหลายศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แก้ปัญหาทั้งระดับโครงสร้างนโยบายและรายกรณีในครั้งนี้ เป็นการใช้สิทธิของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยและบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง