ภาวะชักหน้าไม่ถึงหลังอาจสะท้อนปัญหาการจ้างงานอย่างการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในญี่ปุ่น เมื่อผลสำรวจจากเว็บไซต์ข่าวการเงิน Money Book ของญี่ปุ่น ระบุว่าผู้หญิงโสดวัย 20 ปีในญี่ปุ่นมากกว่า 50% กำลังเผชิญกับวิกฤตรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายหรือเรียกได้ว่าชักหน้าแทบไม่ถึงหลังทุกเดือน
โดยสถิติจาก Money Book ระบุว่า จากกลุ่มประชากรหญิงสาววัย 20 ปี มีผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 49.9% ที่มีรายได้น้อยกว่า 200,000 เยนต่อเดือน ในขณะที่ค่าเช่าอพาร์ทเมนต์แบบ 1 ห้องนอนนั้นมีราคาอยู่ที่ราว 70,000-100,000 เยนต่อเดือน ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายกดทับรายได้จนไม่พอกับค่าใช้จ่ายและทำให้ผู้หญิงวัยนี้ต้องยอมสละค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อนำมาจ่ายค่าที่พักและค่าใช้จ่ายจำเป็น
ในความเป็นจริงแล้วค่าใช้จ่ายจำเป็นรายเดือนของผู้หญิงญี่ปุ่นวัย 20 ปี โดยเฉลี่ยจะอยู่ระหว่าง 100,000-150,000 เยนต่อเดือน โดยรวมทั้งค่าสาธารณูปโภค ค่าโทรศัพท์ ค่าขนส่ง ประกันสุขภาพ การชำระหนี้ อาหาร การดูแลความงาม และอื่นๆ โดยไม่รวมความบันเทิงและการกินอาหารนอกบ้าน ทำให้ผู้หญิงญี่ปุ่นวัย 20 ไม่สามารถแบ่งเงินอีก 20% ไปออมและอีก 30% ไปใช้จ่ายตามต้องการ เพราะค่าใช้จ่ายจำเป็นที่ควรจะกินสัดส่วนแค่ 50% นั้นกินรายได้ไปเกือบทั้งหมด
นอกจากนั้น ผู้ตอบแบบสอบถาม 21.2% ยังเหลือเงินรายได้สุทธิในแต่ละเดือนน้อยกว่า 0 เยนหรือแปลว่าพวกเธออาจใช้บัตรเครดิตเพื่อให้เงินในแต่ละเดือนพอใช้ซึ่งค่อนข้างเป็นนิสัยการใช้เงินที่ค่อนข้างอันตราย และยังมีอีก 14.6% ที่มีรายได้สุทธิเหลือเพียง 0-10,000 เยน หรือหมายความว่า 1 ใน 3 ของประชากรกลุ่มนี้ไม่สามารถออมเงินได้เลย
ขณะเดียวกัน สถิติยังรายงานว่าจากผู้หญิงวัย 20 ปีทั้งหมด มีผู้หญิง 33.5% ทำงานในสำนักงาน อีก 13.3% ทำงานในอุตสาหกรรมการบริการ และอีกราว 9.5% ทำงานที่บ้าน แต่ในบรรดาผู้หญิงทั้งหมดมีมากกว่า 36.6% ที่ทำงานมากกว่า 1 อย่าง เพื่อให้รายได้พอกับค่าใช้จ่าย รวมถึงมากกว่า 50% ของพวกเธอไม่สบายใจกับสถานการณ์ทางการเงินของตัวเอง หลายคนระบุว่าจำเป็นต้องเลิกใช้บัตรเอทีเอ็มและบัตรเครดิตเพื่อลดการใช้จ่ายหรือบางรายอธิบายว่าต้องยอมเสียเพื่อน เพราะไม่สามารถออกไปสังสรรค์ได้ รวมถึงทำให้บางคนต้องเลิกงานอดิเรกไปโดยสิ้นเชิง
อย่างไรก็ตาม อคิราโคะ ยามาโมโต (Akirako Yamamoto) จาก บริษัท FP Woman ผู้เชี่ยวชาญด้านวางแผนทางการเงิน อธิบายว่า สถานการณ์นี้อาจน่ากลัวมากกว่าที่คิด เพราะช่องว่างรายได้ที่ถ่างกว้างของผู้หญิงจบใหม่วัย 20 ต้นๆ และผู้หญิงวัยปลาย 20 นอกจากนั้น รายงานยังเสริมว่านี่เป็นภาพที่น่าเศร้าสำหรับผู้หญิงญี่ปุ่นที่ต้องอยู่ในภาวะการเลือกปฏิบัติในกระบวนการจ้างงานและอาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนเลือกจะแต่งงานกับคนรวยและกลายเป็นแม่บ้าน เพราะการทำงานให้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าการแต่งงาน
ที่มา
ภาพ: Behrouz MEHRI / AFP