เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้ขยายการเฝ้าระวังโรคโควิด-19 โดยเพิ่มการคัดกรองในผู้ที่เดินทางมาจากสิงคโปร์และญี่ปุ่น ทั้งที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ (สำหรับผู้ที่เดินทางกลับมาทางเครื่องบิน) และในโรงพยาบาล (สำหรับผู้ที่ยังไม่มีอาการขณะเดินทางเข้าประเทศ หรือเดินทางกลับมาแล้วก่อนหน้านี้ 14 วัน) จากเดิมที่คัดกรองในผู้ที่เดินทางมาจากประเทศจีน ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศนี้พบการแพร่เชื้อในประเทศ (local transmission) และอาจเข้าสู่ระยะที่ 3 ของการระบาดแล้ว

การปฏิบัติตัวเมื่อเดินทางกลับจากสิงคโปร์หรือญี่ปุ่น

  1. อันดับแรกขอแนะนำข้อตกลงเบื้องต้นของระบบเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ก่อนนะครับ กล่าวคือ (1) อาการของโรค หมายถึง ไข้ (รู้สึกตัวร้อน) หรืออุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ร่วมกับอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ น้ำมูก หายใจเหนื่อยหรือหายใจลำบาก (สองอาการหลังเป็นอาการของปอดอักเสบ) (2) ผู้ต้องสงสัย หรือ ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค (Patient under investigation: PUI ที่ผมได้ยินบางท่านอ่านว่า ปุ๋ย ซึ่งถ้ามองในแง่บวกก็น่ารักน่าชังเหมือนกัน) หมายถึง ผู้ที่มีอาการของโรค ร่วมกับมีประวัติเสี่ยง 

ซึ่ง (3) ประวัติเสี่ยงสำหรับคนทั่วไปตามเกณฑ์ล่าสุดมี 3 ข้อด้วยกัน ได้แก่ เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด (ซึ่งตอนนี้นอกจากประเทศจีน ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวันแล้ว ยังรวมถึงสิงคโปร์ และญี่ปุ่นด้วย), สัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด, หรือสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 (ข้อใดข้อหนึ่งก็เพียงพอ) และสุดท้าย (4) ผู้ป่วยยืนยัน คือ ผู้ต้องสงสัยที่ต่อมาได้รับการตรวจว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้จากห้องแล็บ 2 แห่งยืนยันตรงกัน… ถ้าเข้าใจตรงกันแล้ว มาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ

  1. เมื่อลงจากเครื่องบิน ก่อนผ่านพิธีตรวจคนเข้าเมือง คุณจะได้รับการคัดกรองอุณหภูมิร่างกายด้วยเครื่องเทอโมสแกนที่ด่านควบคุมโรคระหว่างหว่างประเทศ ถ้ามีอุณหภูมิสูงเกินเกณฑ์ที่กำหนด คุณก็จะได้รับการวัดอุณหภูมิซ้ำอีกครั้งและซักประวัติอาการของโรคที่ผมพูดถึงไปในข้อ 1.1 หากมีครบตามเกณฑ์ คือ ไข้ + อีกอย่างน้อย 1 อาการ (ต้องมีไข้ร่วมด้วยเสมอ) คุณก็จะถือว่าเป็น ‘ผู้ต้องสงสัย’ และจะถูกแยกออกมาจากกลุ่มเพื่อส่งตัวมารับการตรวจรักษาต่อที่สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี (เป็นโรงพยาบาลในสังกัดกรมควบคุมโรค)

ภาพบัตรคำแนะนำด้านสุขภาพฉบับเดิม (ที่มา: กรมควบคุมโรค

  1. หากคุณไม่มีอาการก็จะผ่านขั้นตอนนี้ไป แต่จะได้บัตรคำแนะนำด้านสุขภาพ (Health beware card) ติดตัวไปสังเกตอาการต่อที่บ้าน บนนั้นจะเตือนคุณว่าถ้ามีอาการตามเกณฑ์ภายใน 14 วัน (วันจันทร์-อาทิตย์เดียวกันของ 2 สัปดาห์ถัดไป) ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางมาจากสิงคโปร์หรือญี่ปุ่น โดยขอให้แจ้งโรงพยาบาลตั้งแต่จุดคัดกรองด้านหน้าเลยนะครับ เพราะเจ้าหน้าหน้าที่จะได้เตรียมสวมอุปกรณ์ป้องกันตัวเองจากเชื้อโรคที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (ไม่ใช่เพราะคุณน่ารังเกียจแต่อย่างใด)

  2. ระหว่างที่ต้องสังเกตอาการนี้มักเกิดคำถามว่าต้องอยู่แต่ที่บ้านอย่างเดียวหรือไม่? สำหรับนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด ‘ณ ตอนนี้’ (18 ก.พ.) ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการการกักกัน (quarantine) ส่วนที่ทำอยู่คือการกักกันผู้สัมผัสความเสี่ยงสูง (หลังจากพบผู้ป่วยยืนยันแล้ว ถึงจะสอบสวนโรคเจอผู้สัมผัสใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงสูง) โดยเขาจะต้องหยุดเรียนหรือหยุดงานจนกว่าจะครบ 14 วันหลังการสัมผัส แต่ในทางปฏิบัติกลับเป็นไปได้ยาก เพราะไม่มีกฎหมายบังคับ ไม่มีสถานที่กักกันโดยเฉพาะ และไม่มีค่าชดเชยกรณีขาดงาน 

แต่ถ้าถามว่ามีความจำเป็นไหม? ในทางทฤษฎีย่อมถือว่ามีข้อดีแน่นอน เพราะเป็นการจำกัดผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อมาไม่ให้ไปแพร่เชื้อต่อให้กับผู้อื่น โดยอาจไม่ถึงกับต้องแยกตัวเองอยู่ที่บ้าน เพียงแต่จำกัดการสัมผัสกับคนอื่นให้น้อยที่สุด (เช่น หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่พบปะชุมชน) แต่ถ้าโอกาสในการได้รับเชื้อมาต่ำ (เช่น มีการป้องกันตัวที่ดี) และเชื้อมีความรุนแรงไม่มาก การกักกันโรคนักท่องเที่ยวทุกคนก็จะไม่คุ้มค่า ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา ‘ณ ตอนนี้’ กักกันโรคเฉพาะพลเมืองตนเองที่เดินทางมาจากมณฑลหูเป่ย หรือเคยโดยสารเรือสำราญ Diamond Princess (ยังไม่รวมญี่ปุ่นทั้งหมด) เท่านั้น 

อย่างไรก็ตามเนื่องจากประเทศไทยติดอยู่ใน 5 อันดับแรกที่พบผู้ป่วยสูงสุดนอกประเทศจีน และเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวเป็นอันดับต้นๆ ในสายตาของประเทศฝั่งยุโรปที่ยังไม่พบผู้ป่วย หรือพบเพียงผู้ป่วยนำเข้า (imported case) ประเทศของเราก็เป็น ‘พื้นที่ระบาด’ ไม่ต่างจากที่เรามองสิงคโปร์ หรือญี่ปุ่นเท่าไรนัก โดย ‘ณ ตอนนี้’ อังกฤษได้จัดให้เราอยู่รวมกับ มาเก๊า ฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่ถ้าเดินทางกลับมาจากประเทศเหล่านี้จะต้องสังเกตอาการตัวเองภายใน 14 วันแล้ว

แผนภูมิจำนวนผู้ป่วยสะสมนอกประเทศจีน (ที่มา: WHO)

  1. หากท่านมีอาการภายใน 14 วันหลังเดินทางกลับมาก็ให้ไปพบแพทย์เหมือนกับข้อ 3 ครับ แต่ช้าก่อน!… ท่านต้องสวม ‘หน้ากากอนามัย’ ก่อนออกจากบ้านด้วยนะครับ เมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าท่านเข้าเกณฑ์ ‘ผู้ต้องสงสัย’ ก็จะได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งในทางปฏิบัติ ‘ณ ตอนนี้’ ห้องแล็บส่วนกลางยังใช้เวลาในการรอผลประมาณไม่เกิน 12 ชั่วโมงอยู่ (รวมขั้นตอนการขนส่งตัวอย่างด้วย) ระหว่างนี้ท่านอาจได้รับการแอดมิทในห้องแยกโรคไปก่อนจนกว่าผลการตรวจจะออก

ถ้าห้องแล็บ 2 แห่งยืนยันตรงกันว่าพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ท่านก็จะถือว่าเป็น ‘ผู้ป่วยยืนยัน’ ทั้งนี้ปัจจุบันโรคโควิด-19 ยังไม่มียารักษาเฉพาะ คือแพทย์จะรักษาท่านตามอาการเป็นหลัก หากอาการแย่ลง ถึงจะมีการ ‘ทดลอง’ ใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวีในการรักษาอย่างที่เคยเป็นข่าวใหญ่เมื่อเดือนที่แล้ว (ยาดังกล่าวอยู่ในระหว่างการทดลองที่ประเทศจีน ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนมากพอที่จะสรุปประสิทธิภาพของยาได้) จากนั้นแพทย์จะตรวจติดตามหาเชื้อในลำคอเป็นระยะ หากตรวจไม่พบเชื้อ 2 ครั้ง ห่างกัน 48 ชั่วโมงก็จะถือว่ารักษาหาย

โดยสรุปมาตรการการควบคุมโรคโควิด-19 ที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศสิงคโปร์และญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองที่สนามบิน หรือการตรวจวินิจฉัยโรคที่โรงพยาบาล จะเหมือนกับมาตรการที่เคยดำเนินการกับผู้ที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น หรือเมืองอื่นของจีนในช่วงแรกของการระบาดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อป้องกันการนำเชื้อไวรัสเข้ามา (imported case) รวมถึงคำแนะนำในการปฏิบัติตัวที่สำคัญคือ การล้างมือบ่อยๆ และไม่ใช้มือสัมผัสบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะตา จมูก และปาก อีกทั้งการสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อมีอาการหวัดหรือเข้าที่แออัดครับ

Tags: , , ,