หากใครได้มีโอกาสไปสัมผัสบรรยากาศของชุมชนโบราณย่านกุฎีจีน นอกจากไปเที่ยวโบสถ์ และกินขนมฝรั่งแล้ว หลายคนคงต้องเคยเดินผ่านบ้านไม้หลังใหญ่ ริมแม่น้ำ ที่คนในละแวกนี้เรียกกันว่า บ้านวินด์เซอร์ มาบ้าง
บ้านหลังนี้โดดเด่นกว่าหลังไหนในชุมชน เพราะด้วยความเป็นบ้านไม้หลังใหญ่ตั้งตระหง่าน ภายนอกมีร่องรอยผุพังสะท้อนให้เห็นว่า ผ่านช่วงเวลามายาวนาน แต่ตัวบ้านกลับยังคงความขลัง และมีเสน่ห์ในแบบของตน สังเกตได้จากการฉลุลวดลายสวยงาม คล้ายกับว่าเป็นบ้านของคนสำคัญในอดีตมาก่อน
แต่เมื่อสืบค้นถึงเรื่องราวเพื่อหวังทราบถึงที่มาของบ้านหลังนี้ก็ต้องประหลาดใจ เพราะในมุมประวัติศาสตร์บ้านหลังนี้มีความคลุมเครือ ทั้งในส่วนของการถือครองกรรมสิทธิ์ที่มีการส่งทอดจากตระกูลจนมาสู่โบสถ์ซางตาครู้ส ทว่ากรรมสิทธิ์นั้นมีเพียงแค่ตัวที่ดิน เพราะความเป็นจริงบ้านที่ตั้งอยู่ไม่ใช่ของตระกูลวินด์เซอร์แต่อย่างใด แต่เป็นของคุณพระท่านหนึ่งที่ซื้อบ้านมาปลูกแทน
ดังนั้นในวันนี้ที่กรมศิลปากรประกาศให้บ้านวินด์เซอร์ เป็นพื้นที่โบราณสถาน The Momentum ขอพาผู้อ่านย้อนไปสำรวจเรื่องราวก่อนหน้าของ บ้านวินด์เซอร์ ที่ยังมีคำถามอีกมาก รอให้ผู้คนชุมชนกุฎีจีนร่วมหาคำตอบกับกรมศิลปากรหลังจากนี้
หากพูดถึงคำว่า บ้านวินด์เซอร์
คงต้องเล่าถึงตระกูลวินด์เซอร์ โดยหลังจากที่ การ์เนียร์ วินด์เซอร์ พ่อค้าเดินเรือในแถบไทย สิงคโปร์ ฮ่องกงและซัวเถา ที่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น ขุนสมุทรโคจร จากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) หลังทำหน้าที่เป็นราชทูตในการทำหนังสือสัญญาเจริญทางพระราชไมตรีกับฝรั่งเศส ในสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 จึงเป็นเหตุให้ตระกูลวินด์เซอร์ข้องเกี่ยวสัมพันธ์กับราชอาณาจักรไทยหรือสยาม ในฐานะตระกูลคหบดีที่มีบทบาทสำคัญด้านการค้าของไทย
กระทั่งมาถึงรุ่นลูก เมื่อ หลุยส์ วินด์เซอร์ แต่งงานกับ สมบุญ วินด์เซอร์ ลูกสาวของเจ้าของโรงสีในคลองบางหลวง จึงปลูกบ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ตั้งอยู่บนลานกว้างริมน้ำ อยู่ระหว่างวัดเกียนอันเกง กับวัดซางตาครู้ส เป็นที่รู้จักกันในนาม ‘บ้านวินด์เซอร์’ ก่อนที่เวลาต่อมาตระกูลวินด์เซอร์จะเป็นส่วนหนี่งของชุมชนกุฎีจีนมากขึ้น ด้วยการช่วยพัฒนาศาสนาคริสต์ในพื้นที่ ผ่านการบริจาคทรัพย์และทำนุบำรุงโบสถ์ซางตาครู้สมาโดยตลอด
ปัจจุบันบ้านที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่นี้คือบ้านไม้หลังใหญ่ ตั้งตระหง่าน ทว่านี่ไม่ใช่บ้านวินด์เซอร์!
จากคำบอกเล่าของคนในชุมชน บ้านวินด์เซอร์ผุพังและล้มลงไปเมื่อนานมาแล้ว ส่วนบ้านที่ตั้งอยู่คือบ้านของคุณพระประกอบ ผู้เป็นญาติของหลุยส์และ สมบุญ โดยคุณพระประกอบซื้อบ้านหลังนี้มาจากที่อื่น แล้วจึงยกมาสร้างในบริเวณที่ดินของบ้านวินด์เซอร์เดิม ซึ่งต่อมาบ้านก็ตกเป็นของ ครูแอ๊ด-สมสุข จูฑะโยธิน อดีตครูใหญ่โรงเรียนอนุบาลซางตาครู้ส ผู้เป็นทายาท
แม้จะไม่ใช่บ้านวินด์เซอร์ แต่เป็นบ้านคุณพระประกอบ ก็ไม่ได้แปรเปลี่ยนความจริงที่ว่าบ้านหลังนี้งดงามเพียงใด
เพราะด้วยบ้านไม้สองชั้น มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งตระหง่าน หันหน้าเข้าสู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพียงเท่านี้ก็สัมผัสให้เห็นถึงความขลังและความยิ่งใหญ่ในอดีตของบ้านหลังนี้อย่างชัดแจ้ง
ที่สำคัญคือ ‘ลวดลายขนมปังขิง’ ที่บริเวณตัวบ้าน ซึ่งเป็นการฉลุตามตำแหน่งหน้าจั่ว ช่องระบายอากาศ ลูกกรงระเบียง และชายคาโดยรอบ เป็นลวดลายให้หงิกงอคล้ายแง่งขิง เป็นการตกแต่งที่ได้รับความนิยมในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยได้อิทธิพลจากมาจากชาติยุโรปอีกที ซึ่งถือเป็นหลักฐานว่า บ้านหลังนี้นั้น ‘ทันยุคสมัย’ มากเพียงใด
ส่วนเหตุผลที่ปัจจุบัน บ้านหลังนี้ยังอยู่ในสภาพเดิม ไม่ได้รับการดูแล เป็นเพราะปัญหาด้านกรรมสิทธิ์
ในช่วงเวลาที่ครูสมสุขดูแลบ้านหลังนี้ เธอมีความตั้งใจจะให้กรมศิลปากรเข้ามาช่วยดูแล แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ แม้บ้านหลังนี้จะเป็นมรดกตกทอดมาจากคุณพระประกอบ ผู้ยกบ้านมาปลูก แต่พื้นที่ตรงนี้กลับเป็นของทางโบสถ์ซางตาครู้ส ซึ่งเป็นมรดกตกทอดต่อจาก หลุยส์และสมบุญ ผู้ปลูกบ้านวินด์เซอร์ อีกที
จึงทำให้บ้านของคุณพระประกอบของครูสมสุข อยู่บนที่ดินของบ้านวินด์เซอร์ ที่อยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์ของ โบสถ์ซางตาครู้สอีกที จึงเป็นปัญหาที่ไร้ทางออก ปล่อยให้เงียบหายไปกับกาลเวลา พร้อมกับสภาพของบ้านที่ผุพังเรื่อยมา
ต่อมาเมื่อทายาทของครูสมสุขตัดสินใจมอบกรรมสิทธิ์ในที่ตัวบ้านให้กับโบสถ์ซางตาครู้ส ทำให้ทุกอย่างจึงดูเริ่มคลี่คลาย
ทว่าในช่วงเวลาหลังจากนั้นไม่นาน ทางโบสถ์ยินยอมให้หญิงรายหนึ่งที่เป็นคนกุฎีจีน แต่ออกไปใช้ชีวิตนอกชุมชน เข้าไปอาศัยในบ้านวินด์เซอร์ (บ้านคุณพระประกอบ) เพื่อรักษาอาการป่วยด้วยความเมตตา เพียงแต่มีข้อแม้ว่า ห้ามดัดแปลงตัวบ้านใดๆ และกรรมสิทธิ์ในตัวบ้านจะไม่สามารถส่งต่อสิทธิให้ทายาทได้ ต้องคืนกลับมาที่โบสถ์
แต่หญิงรายนั้นกลับมีความตั้งใจหวังจะทำกิจการภายในบ้านวินด์เซอร์ จึงมีช่วงหนึ่งที่ชาวบ้านเห็นว่า มีช่างและแรงงานเข้าไปปรับปรุงและบูรณะบ้านหลังนี้ แต่สุดท้ายทางโบสถ์ก็คัดค้าน เนื่องจากผิดกับข้อตกลงที่ทำกันไว้ จึงทำให้การซ่อมแซมบ้านหยุดชะงัก ทิ้งไว้เพียงแค่ร่องร้อยการก่อสร้างบางส่วนที่ยังไม่สมบูรณ์ดี
Fact Box
บ้านวินเซอร์ตั้งอยู่ที่ 130 ซอยกุฎีจีน 4 แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี https://maps.app.goo.gl/dbQV7qUqXvsnYUWw6