ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2565 อากาศ 19 องศาเซลเซียสโดยประมาณ จะมีอะไรดีไปกว่าการได้รูดซิปเต็นท์ออกมาเจอวิวทะเลหมอกบนยอดดอยสูง ให้ลมเย็นพัดโชยกระทบร่างกาย แต่สิ่งที่มอบความลุ่มลึกให้กับประสบการณ์การท่องเที่ยวครั้งนี้ มีมากกว่าความงามของธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แต่เป็นการได้เรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ดำรงอยู่ยาวนานใต้ม่านหมอกนี้ด้วย

‘กลอเซโล’ ทะเลหมอกสองแผ่นดินเชื่อมระหว่างไทย-เมียนมา เป็นจุดชมวิวในตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ขึ้นชื่อเรื่องความลำบากในการพิชิต เพราะเดินทางยาก ปราศจากสัญญาณโทรศัพท์และไฟฟ้า แต่หากไปถึงแล้วจะรู้สึกคุ้มค่าที่ได้มา 

แต่เดิมการจะเดินทางขึ้นไปที่กลอเซโลที่มีระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร เริ่มจากเทศบาลตำบลแม่สามแลบ แล้วค่อยๆ ขับรถไต่ขึ้นภูเขาบนเส้นทางดินลูกรังสีแดงคดเคี้ยวจนถึงที่หมาย แต่ล่าสุดในเดือนธันวาคม 2565 ทางเทศบาลตำบลแม่สามแลบและจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เปิดเส้นทางใหม่ที่ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถไปยังกลอเซโลได้ง่ายขึ้น โดยการล่องเรือผ่านแม่น้ำสาละวินไปยังหมู่บ้านในกิ่งอำเภอสบเมยที่ตั้งอยู่บนเชิงเขา เพื่อนั่งรถขึ้นไปด้วยเส้นทางประมาณ 8 กิโลเมตร

การตัดสินใจเปิดเส้นทางใหม่ครั้งนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่เป็นความตั้งใจของ อบต.แม่สามแลบ และชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ต้องการเชิญชวนให้ผู้คนเข้ามาทำความรู้จักวัฒนธรรมและความงามสองฝั่งแม่น้ำสาละวิน อดีตเส้นทางการค้าอันเก่าแก่ของประเทศจีน เมียนมา และไทย แต่กลับไร้คนสัญจรเนื่องจากความกลัวต่อภาพจำว่าเป็นพื้นที่สงคราม จากประเด็นพิพาทระหว่างกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือกะเหรี่ยงเคเอ็นยู (Karen National Union: KNU) กับกองกำลังทหารเมียนมา เกี่ยวกับการต่อต้านระบอบเผด็จการของรัฐบาลเมียนมา ร่วมกับการยับยั้งธุรกิจค้าไม้เถื่อนบนแม่น้ำสายนี้

พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายก อบต.แม่สามแลบ ให้ข้อมูลระหว่างเดินทางเที่ยวชมแม่น้ำสาละวินครั้งนี้ว่า ในสมัยก่อนสงคราม หมู่บ้านแม่สามแลบเคยเป็นเมืองท่าที่มีความรุ่งเรือง มีกลุ่มคนอาศัยอยู่ด้วยกัน 3 ชนเผ่า คือกลุ่มคนมุสลิม กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และไทใหญ่ แบ่งออกเป็น 6 หมู่บ้าน ตั้งอยู่ทั้งบนแผ่นดินและพื้นที่ป่าเลียบแม่น้ำสาละวิน 

ชาวบ้านที่นี่แต่ก่อนประกอบอาชีพค้าขาย แบกหาม และเป็นนายเดินเรือขนส่งสินค้า อีกทั้งในเวลานั้นยังมีชาวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาเยี่ยมเยียนไม่ขาดสาย ระบบเศรษฐกิจในแม่สามแลบจึงเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก จนกระทั่งถูกทหารเมียนมายึดครองพื้นที่เพื่อใช้เป็นฐานทัพชั่วคราวในการทำสงครามกับกลุ่ม KNU ชาวบ้านจำนวนมากก็เริ่มย้ายออกจากถิ่นฐานเพื่อความปลอดภัย 

ปัจจุบันหลังการสู้รบในพื้นที่นี้สิ้นสุดลงในปี 2565 ทางภาครัฐประกาศให้แม่สามแลบเป็นจุดผ่อนปรนชายแดนเพื่อให้สามารถใช้สัญจรและเป็นจุดนำเข้า-ส่งออก สินค้าไปยังประเทศเมียนมาและประเทศจีนได้ อีกทั้งยังกำหนดให้พื้นที่ป่าโดยรอบเป็นเขตอุทยาน ทำให้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านเริ่มฟื้นตัว แม้จะมาสะดุดอีกครั้งในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ก็พลิกกลับมาดีขึ้นเมื่อกลอเซโลเริ่มเป็นที่พูดถึงในกลุ่มนักท่องเที่ยว 

ผู้คนจำนวนไม่น้อยจึงเข้ามาในหมู่บ้านแม่สามแลบเพื่อใช้เป็นทางผ่านไปชมทะเลหมอกสองแผ่นดิน เป็นเหตุให้ทาง อบต.เริ่มพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับกระแสนิยมนี้ โดยหลังจากการพูดคุยกับทุกภาคส่วนรวมถึงชาวบ้าน ทุกคนต่างเห็นพ้องกันว่าจะต้องสร้างขีดจำกัดในการพัฒนาให้มีความยั่งยืนมากกว่าแค่การเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบเน้นปริมาณ

ด้านคุณค่าทางภูมิศาสตร์ เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ องค์การแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) บอกเล่าความสำคัญของการมีอยู่ของแม่น้ำสาละวินว่า เป็นแหล่งน้ำสายสุดท้ายของประเทศจีนที่ยังคงไหลอย่างอิสระจากบริเวณทิเบตเหนือบนเทือกเขาหิมาลัยออกสู่ทะเลได้โดยไม่มีเขื่อนกั้น กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ที่นี่จึงต่อสู้อย่างมากเพื่อหยุดโครงการต่างๆ ที่พยายามเข้ามาสัมปทานพื้นที่ตลอดลุ่มแม่น้ำสาละวิน 

เริ่มจากโครงการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า 13 แห่ง ในปี 2558 ที่รัฐบาลไทยอ้างว่าประเทศขาดแคลนแหล่งพลังงาน แต่ชาวบ้านกลับรู้สึกกังวลว่าทางรัฐบาลอาจจะเป้าประสงค์แฝงเพื่อรุกล้ำพื้นที่ป่าเพื่อตัดไม้ไปขายเอง หรือต้องการที่จะขับไล่กลุ่มชนเผ่าที่อาศัยอยู่ออกจากพื้นที่ จึงไม่ยินยอมให้ทำได้สำเร็จ 

การต่อสู้อีกครั้งเกิดขึ้นในปี 2564 กับ ‘โครงการผันน้ำยวม’ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ด้วยงบประมาณ 7.1 หมื่นล้านบาท พร้อมด้วยการสนับสนุนจากบริษัทรัฐวิสาหกิจจีน 

เพียรพรเล่าว่าโครงการนี้ถูกเสนออย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 30 ปีแล้ว แต่ไม่ได้รับความยินยอมจากหลายภาคส่วน ด้วยความกังวลว่าการขุดอุโมงค์น้ำความยาว 60 กิโลเมตร จะประกอบด้วยจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดตาก และจังหวัดเชียงใหม่ แต่ภาครัฐให้เหตุผลว่าหากไม่มีโครงการดังกล่าว น้ำจะไหลออกจากประเทศไทยไปเปล่าๆ ลงทะเลไปฟรีๆ 

“ความจริงแล้วถ้ามองในแง่ระบบนิเวศ ไม่มีน้ำหยดไหนที่ไหลลงทะเลไปเปล่าๆ ทุกหยดหล่อเลี้ยงแผ่นดิน ทุกหยดหล่อเลี้ยงสิ่งแวดล้อม แล้วก็พัดพาตะกอนลงสู่ทะเล ไม่ได้เป็นแค่น้ำเปล่าๆ ที่ไหลทิ้ง มันเป็นการหล่อเลี้ยงทรัพยากรจำนวนมาก” เพียรพรกล่าว

หนึ่งส่วนสำคัญที่ทำให้พื้นที่ตั้งแต่แม่สามแลบไปจนถึงสบเมย หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ตรงจุดตัดสุดเขตแดนประเทศไทยที่เชื่อมแม่น้ำสาละวินเข้าไว้กับแม่น้ำเมย ได้รับการอนุรักษ์ให้เป็นพื้นที่ธรรมชาติอันสมบูรณ์มาจนถึงปัจจุบัน คือการที่ชาวบ้านทั้งหมดมีความรู้ ความเข้าใจ และความรักแก่ผืนป่าที่พวกเขาอาศัยอยู่ รวมถึงการเห็นคุณค่าของแหล่งน้ำที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิตมาตั้งแต่การเริ่มต้นตั้งรกรากในปี 2509 

คืนหนึ่งระหว่างทริป ทางผู้จัดได้เชิญ ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินชาวกะเหรี่ยง จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มาขับกล่อมบทเพลงเพื่อชีวิตให้สื่อมวลชนและชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอที่กลอเซโลได้ฟัง ทำให้ค้นพบว่าแม้แต่ความบันเทิงของคนที่นี่อย่างเช่นเพลง ก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักต่อผืนป่าและสายน้ำทั้งหมด ‘หากไม่มีป่าจะมีบ้านได้อย่างไร’ ‘หากแม่น้ำถูกทำลายจะไม่มีใครได้กินปลา’

ดร.สุวิชานกล่าวก่อนเริ่มแสดงบทเพลงว่า “หากคุณเอาปลาให้ 1 ตัว ผมจะได้กินปลา 1 ตัว แต่ถ้าคุณสอนผมตกปลา ผมจะมีปลากินทั้งชีวิต ผมเอาเรื่องนี้ไปเล่าให้ยายฟัง ยายบอกมาว่า ‘ไม่จริง’ คุณต้องรู้จักแหล่งน้ำที่เป็นที่อยู่ของปลาด้วย ถึงจะมีปลากินตลอดไป”  

คำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองความเจริญที่ยั่งยืนอันเป็นเป้าหมายหลักของคนที่นี่ 

จริงอยู่ที่ความเจริญทางวัตถุ หรือการเริ่มต้นทำธุรกิจท่องเที่ยวบนกลอเซโลหรือบริเวณเมน้ำสาละวิน อาจสร้างรายได้ให้ชาวบ้านได้มาก แต่หากทำไปมากจนถึงการเปิดรีสอร์ต ห้างร้าน ท้ายที่สุดบ้านของคนท้องถิ่นดั้งเดิมจะถูกทำลาย 

สิ่งหนึ่งที่ภาครัฐสามารถทำได้เพื่อพัฒนาพื้นที่ส่วนนี้ คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านเสียก่อน อาทิ การสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงถนนทางขึ้นเขา เพื่อลดฝุ่นจากดินลูกรังที่พัดเข้าบ้านเรือนของชาวบ้านอย่างหนักจากรถของนักท่องเที่ยว การสร้างโรงพยาบาล พัฒนาระบบน้ำและไฟฟ้า 

ศาสตราจารย์ ดร.รัศมี ชูทรงเดช นักโบราณคดี จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ชวนให้ผู้คนลองทบทวนถึงมุมมองที่คนภายนอกมองเข้ามายังกลุ่มชาติพันธุ์ ว่าสังคมเมืองแปะป้ายพวกเขาว่าเป็นชายขอบ ห่างไกลความเจริญและการศึกษา แต่ความจริงแล้วพวกเขามีความรู้ต่อวัฒนธรรมของตนเองอย่างลึกซึ้งกว่านั้น เป็นสาเหตุที่พวกเขาอนุรักษ์ที่อยู่ของตนเองไว้ได้ และหากมองให้ดีอีกครั้งด้วยมุมมองใหม่ ก็จะเห็นว่ามายาคติของความเป็นชายชอบนั้นเอง คือสิ่งที่ทำให้หลายภาคส่วนกีดกันคนกลุ่มนี้จากการพัฒนา เพราะคิดว่าไม่จำเป็นต้องพัฒนา ควรเอางบประมาณไปทุ่มกับที่ที่เจริญแล้วให้เจริญขึ้นอีก 

สิ่งที่คนที่นี่หรือสื่อพอจะทำได้เพื่อเปลี่ยนแปลงมายาคตินี้คือการบอกเล่าเรื่องราวและคุณค่าของพื้นที่นี้ออกไป สร้างภาพใหม่ให้กลอเซโลเป็นมากกว่าแค่จุดชมวิวที่คนจะแค่ผ่านมาดูทะเลหมอกแล้วก็จบไป เพราะหากผู้คนเข้าใจคุณค่าเหนือความงดงามของสถานที่ การอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืนก็จะตามมา และคุณภาพชีวิตของชาวบ้านก็จะดีขึ้นตามไปด้วยแน่นอน

ภาพ พงศ์ระพี รัตนวราหะ

Tags: , , , , , , ,