หากสิ่งของมีความรู้สึกนึกคิด คุณว่าความรู้สึกที่ต้องอยู่ในห้องหนึ่งนานกว่า 70 ปี โดยไม่ได้ถูกยลโฉมจากสายตาคนภายนอกเลยจะเป็นอย่างไร
ที่ตำหนักกุฏิสงฆ์คณะ 6 ในวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร สิ่งของล้ำค่ากว่า 2 หมื่นชิ้น ถูกเก็บซ่อนไว้และไม่ถูกนำออกมากว่า 70 ปี นับตั้งแต่ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) เจ้าอาวาสรูปที่ 4 และสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 12 สิ้นพระชนม์ไปเมื่อปี 2487
กระทั่งในปี 2556 ประตูของตำหนักนี้ก็เปิดอีกครั้ง สิ่งของล้ำค่าทางศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์นับหมื่นชิ้นจึงถูกนำมาศึกษา โดยทางสำนักหอสมุดแห่งชาติได้เข้ามาจัดทำทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และเอกสารโบราณ รวมถึงปรับปรุงตำหนักทั้งหลัง เพื่อใช้สำหรับจัดแสดงสิ่งของต่างๆ ให้เราได้ชมกันใน ‘พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร)’ แห่งนี้
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มเปิดให้ชมเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2567 แบ่งส่วนจัดแสดงเป็น 5 ส่วน ได้แก่ ตำหนักประทับ หอพระกรรมฐาน หอไตร กุฏิเรือนแถวทิศตะวันตกจัดแสดงเครื่องพุทธบูชา และกุฏิเรือนแถวทิศตะวันออกจัดแสดงเอกสารโบราณ โดยในวันนี้เราได้ อาจารย์อ๊อด-สุพิชัย พิมพ์ศิริจันทร์ ที่อยู่กับพิพิธภัณฑ์มาตั้งแต่ต้นมาเป็นผู้นำชม
สิ่งของสะท้อนใจคน
“คนเช่นใดกันหนอที่ชมชอบศิลปะอย่างลึกซึ้ง”
อาจารย์อ๊อดพูดให้ชวนคิดระหว่างที่เราเดินชมส่วน ‘ตำหนักประทับ’ ซึ่งจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ทั้งสิ่งของที่ได้รับพระราชทานและเครื่องใช้ส่วนพระองค์ บางชิ้นมีอายุอานามร้อยกว่าปี และบางชิ้นท่านก็เป็นคนออกแบบเอง เช่น พระกริ่ง พระพุทธรูปบูชา โต๊ะหมู่ และเครื่องแก้วเจียระไน
ความสนใจด้านศิลปะของท่าน โดยเฉพาะการแกะสลักสะท้อนออกมาผ่านสิ่งต่างๆ ในห้องจัดแสดงนี้ ทั้งตู้สำหรับจัดแสดงที่ถูกออกแบบแกะสลักเป็นรูปดอกไม้เล็กๆ ร้อยเรียงกันจนเต็มกรอบตู้ และที่สำคัญอาจารย์อ๊อดเสริมว่า แต่ละตู้นั้นออกแบบมาเพื่อจัดวางสิ่งของเฉพาะ เช่น ชุดเครื่องแก้วเจียระไนลายต่างๆ ที่ท่านออกแบบเองและสั่งผลิตมาจากทวีปยุโรป รวมถึงชุดเครื่องกระเบื้องลายครามจากจีน
ถัดเข้าไปเป็น ‘หอพระกรรมฐาน’ ในสมัยที่ยังเป็นตำหนักอยู่นั้น พื้นที่บริเวณนี้มีเพียงสมเด็จพระสังฆราช (แพ) เท่านั้นที่เข้ามาได้ เพราะเป็นพื้นที่สำหรับเจริญสติและเดินจงกรม
ไฮไลต์สำคัญในส่วนจัดแสดงนี้คือ ‘ภาพพระสุนทรีวาณี’ ภาพเปรียบพระธรรมอันวาดจากนิมิตของสมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) เจ้าอาวาสวัดรูปที่ 3 ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ซึ่งเกิดจากการบริกรรมภาวนาคาถาในคัมภีร์สุโพธาลังการ
ภาพนี้วาดขึ้นในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 ถ่ายทอดพระธรรมออกมาเป็นภาพนางเทพธิดานั่งอยู่บนดอกบัวกลางสระน้ำ มีชายหญิงนั่งอยู่บนดอกบัวทั้งซ้ายขวา รวมถึงมีเหล่าเทพยดาอยู่เบื้องบน ภาพพระสุนทรีวาณีนี้เป็นภาพที่หาชมยาก และเป็นที่บูชาของรัชกาลที่ 5 ในช่วงที่เสด็จประพาสทวีปยุโรป เพื่อเจริญพระราชไมตรีกับต่างชาติด้วย
ที่ด้านหน้าของภาพพระสุนทรีวาณีมีรูปหล่อจำลองตั้งไว้ อาจารย์อ๊อดเสริมว่า เวลาที่พระสงฆ์เข้ามากราบไหว้บูชา มิได้เป็นการกราบไหว้บูชาสตรีเพศดังที่ปรากฏ แต่เป็นการกราบไหว้บูชาพระธรรมของพระพุทธเจ้านั่นเอง
ส่วนถัดมาคือ ‘หอไตร’ จัดแสดงตาลปัตร พัด และย่าม ซึ่งเป็นของพระราชทานในงานพระราชพิธีต่างๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ในห้องจัดแสดงนี้เต็มไปด้วยตาลปัตรตั้งตรงอยู่ในตู้อย่างเป็นระเบียบ และมีจอสัมผัสอย่างพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ในต่างประเทศ สำหรับอธิบายรายละเอียดของวัตถุแต่ละชิ้นเพิ่มเติม
นอกจากพัดหาชมยากอย่าง ‘พัดไอยราพต’ ซึ่งเป็นพัดที่ระลึกในงานบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 5 (ปี 2416) แล้ว ยังมีตาลปัตรเล่มหนึ่งที่ผู้เขียนสะดุดตาชนิดที่ต้องหยุดดูอย่างตั้งใจ นั่นคือ ‘พัดที่ระลึกในงานเฉลิมพระที่นั่งเวหาศจำรูญ’ (ปี 2432) ซึ่งเป็นพระที่นั่งที่พ่อค้าชาวจีนสร้างถวายรัชกาล 5 จึงมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบจีน โดยพัดที่ระลึกนี้ก็ออกแบบด้วยศิลปะจีนเช่นกัน ด้านหน้าของพัดเป็นรูปมังกร ส่วนอีกด้านเป็นตัวอักษรที่มองในครั้งแรกอาจคิดว่าเป็นตัวอักษรจีน แต่หากพิจารณาดูอีกสักนิดจะพบว่า นี่คือตัวอักษรไทยที่ถูกออกแบบและจัดวางให้คล้ายกับอักษรจีนต่างหาก โดยข้อความเขียนเรียงจากบนลงล่างและขวาไปซ้ายด้วยตัวอักษรตวัดสีแดงว่า ‘การเฉลิมพระที่นั่งเวหาศจำรูญ วันที่ ๓ มกราคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๘’ ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่อยากชวนให้มาดู
ถัดไปเป็นส่วน ‘กุฏิเรือนแถวทิศตะวันตก’ จัดแสดงเครื่องพุทธบูชา เครื่องถ้วย และที่ชา เมื่อเดินเข้าไปเราจะพบกับเครื่องโต๊ะอย่างสยาม ใช้สำหรับจัดวางเครื่องกระเบื้องลายคราม ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 เดินเข้าไปอีกหน่อยจะเป็นห้องที่จัดเรียงเครื่องกระเบื้องลายครามและที่ชาไว้อย่างเป็นชุด
การจัดแสดงเครื่องกระเบื้องลายครามบางชิ้นจะมีกระจก 3 บาน วางไว้สำหรับสะท้อนให้เห็นรายละเอียดลายครามด้านหลัง โดยเฉพาะ ‘จานลายครามลายเครือเถาดอกไม้’ เครื่องกระเบื้องชิ้นเอกอุหาชมยาก เนื่องจากผลิตขึ้นสมัยราชวงศ์ชิง ในรัชกาลจักรพรรดิหย่งเจิ้ง ซึ่งครองราชย์เพียง 12 ปีเท่านั้น จึงทำให้เครื่องกระเบื้องชิ้นนี้มีทั้งคุณค่าและมูลค่าสูงนั่นเอง
ในส่วนจัดแสดงสุดท้าย ‘กุฏิเรือนแถวตะวันตก’ จัดแสดงเอกสารโบราณ ทั้งคัมภีร์ใบลาน พระไตรปิฎก และพระนิพนธ์เทศนาของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) สำหรับผู้เขียนแล้วความน่าตื่นตาตื่นใจ อยู่ที่คัมภีร์ใบลานทั้งอักษรขอมและอักษรไทย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งยังคงอยู่ในสภาพดีแม้ผ่านเวลามาเกินร้อยปีแล้วก็ตาม
สำหรับคำถามที่ว่า “คนเช่นใดกันหนอที่ชมชอบศิลปะอย่างลึกซึ้ง”
สิ่งของล้ำค่าในห้องจัดแสดงทั้งหมดนี้ก็ได้บอกกับเราแล้วว่า สมเด็จพระสังฆราช (แพ) น่าจะเป็นทั้งนักออกแบบ นักประพันธ์ และนักสะสมที่เห็นคุณค่าของสิ่งของเหล่านี้มากเลยทีเดียว มิเช่นนั้นเราคงไม่ได้เห็นสิ่งของล้ำค่าทั้งหลายในสภาพดีเช่นนี้เป็นแน่
ใบลานที่ (เกือบ) ถูกลืม
อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า อาจารย์อ๊อดอยู่กับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มาตั้งแต่เริ่ม เดิมทีอาจารย์อ๊อดเป็นเจ้าหน้าที่สำรวจจัดทำทะเบียนคัมภีร์ใบลาน ด้วยความเชี่ยวชาญและความสนใจจึงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ต่อในฐานะอาสาสมัคร
อาจารย์อ๊อดพบว่า มีคัมภีร์ใบลานจำนวนหนึ่งซึ่งอยู่นอกเหนือจากประเภทพระไตรปิฎกที่ทางหอสมุดฯ สนใจ ทำให้คัมภีร์ใบลานเหล่านั้นถูกแยกออกไปและไม่นำมาแปล อาจารย์อ๊อดจึงขอเจ้าอาวาสนำคัมภีร์ใบลานผูกเล็กๆ เหล่านั้นมาศึกษาต่อจนพบว่า เป็นพระนิพนธ์เทศนาลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ที่เขียนด้วยอักษรขอมเป็นภาษาไทย สำหรับเทศนาในงานพระราชพิธีต่างๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เช่น การบำเพ็ญพระราชกุศลวาระที่รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต 50 วัน มีเนื้อหาสรรเสริญในพระราชกรณียกิจ หรือในงานที่รัชกาลที่ 7 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล มีเนื้อหาปลอบพระราชหฤทัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475
ความตอนหนึ่งจากพระนิพนธ์พระธรรมเทศนาปสังสกถา หนึ่งในคัมภีร์ใบลานผูกเล็กๆ นั้นเขียนด้วยอักษรขอม ภาษาไทย ไว้ว่า “กิจการแลความเจริญรุ่งเรืองประเทืองสุขของหมู่ ย่อมเป็นไปไม่ได้เพราะเหตุอย่างอื่น นอกจากสามัคคี ฉันใด แม้สามัคคีเล่า ก็เป็นไปไม่ได้เพราะเหตุอย่างอื่น นอกจากยุติธรรม ฉันนั้นฯ” ก็เป็นอีกหนึ่งเทศนาที่ยังใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย
ผู้เขียนได้แต่คิดอยู่ในใจว่า หากไม่มีใครสนใจคัมภีร์ใบลานผูกเล็กๆ เหล่านี้ เราในฐานะผู้เข้าชมคงไม่มีวันได้เห็นการบันทึกประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้นๆ ไว้ก็ได้
แม้ไม่ได้มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ไทยมากนัก แต่การได้เข้ามาชมที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็ถือว่าเป็น ‘บุญตา’ ไม่น้อย ทั้งสิ่งของที่หาชมยากหรือบางชิ้นก็มีแค่ที่นี่ที่เดียว สิ่งของจัดแสดงแต่ละชิ้นถูกจัดวางอย่างดี เป็นระเบียบ และเข้าใจง่าย ให้ผู้ชมอย่างเราได้ขยับสายตาเข้าไปดูใกล้ๆ อย่างไม่หวงของ
ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นครั้งที่ 2 ได้เห็นบรรยากาศที่มีผู้คนเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมเรื่อยๆ ไม่ได้เงียบเหงาอย่างที่พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ในไทยเป็น
ณ ห้องจัดแสดงคัมภีร์ใบลาน อาจารย์อ๊อดนั่งอยู่บนเก้าอี้ประจำตำแหน่งอาสาสมัครคอยบรรยายเกี่ยวกับเอกสารโบราณทั้งหมดอย่างคนที่รู้จริง ชนิดที่ฟังกี่ครั้งก็เพลินอย่างบอกไม่ถูก
ก่อนจากกัน อาจารย์อ๊อดจะเขียนชื่อของผู้ชมด้วยอักษรขอม ภาษาไทยไว้บนบัตรเข้าชมของแต่ละคนเพื่อให้ไว้เป็นที่ระลึก ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในคนที่ต่อแถวอย่างใจจดใจจ่อ ก่อนจะนั่งปลื้มปริ่มกับชื่อตัวเองที่เขียนเป็นตัวอักษรขอมอย่างบรรจงด้วยลายเส้นที่ตวัดกำลังพอดีของอาจารย์อ๊อด
หากสิ่งของมีความรู้สึกนึกคิด คงดีใจไม่น้อยที่ได้เผยโฉมให้ผู้เข้าชมในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้เห็น และถูกจัดแสดงอย่างสวยงามในฐานะสิ่งของที่มีทั้งคุณค่าทางศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์
และพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายของผู้เขียนที่หากวันไหนว่างๆ คงได้มาเยี่ยมเยียนอีกเป็นแน่
ข้อมูลอ้างอิง
หนังสือพิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร)
Fact Box
พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) เปิดให้เข้าชมทุกวันศุกร์-อาทิตย์ เวลา 09.30-16.30 น. ค่าเข้าชมสำหรับคนไทย 50 บาท