“ฉันพยายามดิ้น เอาชนะอย่างไรก็ไม่สามารถหลุดจากหลุมดำนั้นไปได้”  

ส่วนหนึ่งของข้อความบนแผ่นกระดาษที่มีเจ้าของเป็นศิลปิน ซึ่งหลายคนรู้จักเขาในนาม ก้องกาน-กันตภณ เมธีกุล ศิลปินผู้สร้างชื่อทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศผ่าน Teleport Art ผลงานแห่งมิติเวลาและอวกาศ อันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเขา

เช่นเดียวกันกับนิทรรศการ No Heart Here ที่ยังคงความเป็น Teleport Art อย่างเข้มข้น หลุมดำบนอกซ้ายที่ (ควรจะ) เป็นตำแหน่งของหัวใจบนตัวละคร ได้กลายเป็นจุดเด่นของทุกตัวละครบนภาพวาด ซึ่งศิลปินตั้งใจให้ผู้ชมผลงานได้สำรวจสิ่งที่อยู่ภายในตัวละคร เปิดเปลือกการนึกคิด การสื่อสารที่ขัดแย้งระหว่างภายในกับภายนอก ผสานองค์ประกอบโดยรอบของชิ้นงาน เช่น ท้องฟ้า ทุ่งหญ้า และสภาพอากาศ

The Momentum จึงขอพาผู้อ่านชมนิทรรศการ ภาพวาดไร้หัวใจ No Heart Here ผลงานศิลปินชาวไทย ที่รับแรงบันดาลใจจากจินตนาการและความทรงจำ

เดินทางสู่วงกตแห่งฝัน Maze of Dreams

‘ความงุนงงและความอลหม่าน ยุ่งเหยิง อันเกิดจากประสบการณ์ในแต่ละช่วงชีวิต ที่กลั่นกรองออกมาเป็นความฝันที่หลุดพ้นจากมันได้ยาก’

คอนเซปต์ดังกล่าว เมื่อถูกถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะ ทำให้โซนการแสดงนี้ก้องกานตั้งใจใช้ความเป็น Installation Art สร้างพื้นที่เสมือนแห่งความทรงจำ ฉายภาพความอลหม่าน ลึกลับ และซับซ้อนของมนุษย์ 

ในวงกตยังเปิดพื้นที่ให้ผู้เยี่ยมชมได้ขีดเขียนสิ่งที่อยู่ภายในอย่างอิสระ เพื่อปลดปล่อยตนเอง ท่ามกลางความทรงจำที่บางครั้งอาจขัดขวางให้เราเป็นตัวเองได้อย่างไม่เต็มที่

อย่างไรก็ตาม ก้องกานพยายามประกอบสร้างแต่ละห้องในวงกตแห่งฝัน จากความทรงจำที่เขาผ่านมาในแต่ละช่วงวัย ทั้งวัยเรียน วัยทำงาน และวัยเด็ก ที่มีเรื่องราว อารมณ์ และบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน บางห้องอาจประกอบไว้ให้รู้สึกเศร้าและโดดเดี่ยวจนต้องการกำลังใจ ในขณะที่บางห้องอาจเห็นชัดถึงความวุ่นวาย จากการจัดวางที่สะเปะสะปะ แต่นั่นก็เป็นภาพจำในช่วงหนึ่งของชีวิต ซึ่งท้ายที่สุดแล้วตัวเราเองต้องเป็นคนหาทางออกจากวงกตนี้ เพื่อปลดปล่อยตนเองจากสิ่งที่กักขังเราเอาไว้ให้ได้

Let It Go ปลดปล่อยให้ลอยไป

ในห้องสี่เหลี่ยมกว้าง มีเพียงเด็กชาย ยืนทำท่าทางเหมือนปล่อยอะไรบางอย่างจากมือล่องลอยไป เป็นความตั้งใจของศิลปินที่ต้องการให้ห้องนี้เป็นสถานที่ปลดปล่อยภาระอันหนักอึ้ง ที่เกิดจากการแบกความคิดและความลับภายในใจ การเขียนบางสิ่งที่เป็นสิ่งไม่ดี ช่วงเวลาอันเลวร้ายบนลูกโป่ง ก่อนจะปล่อยให้มันลอยล่องไปด้านบน คงเปรียบเสมือนวิธีการปลดเปลื้องความคิดและหัวใจของเราให้เบาลง เตรียมพร้อมรับสิ่งใหม่ที่จะเข้ามาในอนาคต 

สำหรับห้องจัดแสดงผลงานนี้ ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมโดยการเขียนสิ่งต่างๆ ลงบนลูกโป่งและปล่อยให้ลอยไปบนเพดาน ร่วมปลดปล่อยภาระที่หนักหนาได้ในแบบของคุณ

ภาพวาดที่ไร้ดวงใจใน Painting Room

ภาพวาดของก้องกานมีแรงบันดาลใจจาก เรอเน มากริต (René Magritte) ศิลปินวาดภาพเหนือจริงชาวเบลเยียม เจ้าของผลงาน The Son of Man ที่ได้นำเอาภาพลวงตาในชีวิตประจำวันมานำเสนอให้เห็นความขัดแย้งกันระหว่าง 2 วัตถุที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกัน ซึ่งสอดคล้องกับภาพวาดของก้องกานภายในโซน Painting Room ที่ได้รับอิทธิพลผลงานของเรอเนเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ก้องกานผู้ผ่านประกอบกับประสบการณ์ทำงานด้านการออกแบบโฆษณาและสตรีตอาร์ต (Street Art) จึงรังสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างทันสมัย ขณะที่ช่วงชีวิตหนึ่งที่ได้เติบโตพร้อมกับการ์ตูนโทรทัศน์ยุค 90s จึงเป็นส่วนผสมผสานในการสร้างพัฒนาตัวละครจากจินตนาการ เพื่อเป็นตัวแทนในการเล่าเรื่องที่เป็นปัจจุบันของศิลปิน 

สี เป็นอีกองค์ประกอบของภาพที่สำคัญ ก้องกานพยายามดึงโทนของภาพวาด ผ่านรากฐานของศิลปะในวัยเด็กที่เต็มไปด้วยความไร้เดียงสา ปลอบโยนผู้คนและอิสรภาพ ความสดใสของภาพวาดก็เป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของเขา ที่ต้องการดึงชีวิตในวัยเด็กในอุดมคติที่มีแต่สีสันขึ้นมานำเสนอ

สำหรับหลุมดำที่ปรากฏบนผลงานภายในห้องจัดแสดง ก็มีที่มาจากจินตนาการของเขาถึงการข้ามมิติ (Teleportation) ก้าวข้ามทั้งขีดจำกัดของเวลาและพื้นที่อันเป็นแก่นสำคัญของภาพวาดแต่ละชิ้นภายใน Painting Room

After the Rain ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสเสมอ

เชื่อว่า หลายคนคงเคยได้ยินประโยคปลอบประโลมใจนี้มาแล้วเป็นส่วนใหญ่ และหากมารับชมนิทรรศการ No Heart Here ก็จะเป็นอีกหนึ่งครั้งที่คุณได้สัมผัสกับความสดใสหลังฝนตกอย่างใกล้ชิด 

สำหรับ After the Rain เป็นห้องที่ใช้ศิลปะการจัดวาง เพื่อดึงพลังบวกของผู้เยี่ยมชมและมีกำลังในการกระตือรือร้นที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า ความพิเศษของห้องนี้คือ ตัวเด็กชายถูกจัดวางให้อยู่ในท่านอน โดยมีสายรุ้งทะลุผ่านหลุมดำ ท่ามกลางรอบข้างที่มีฝนตกโปรยปราย ในส่วนนี้ศิลปินได้แสดงให้เห็นถึงความหวังในปาฏิหาริย์ภายในใจ 

เปรียบเสมือนวันใดวันหนึ่งที่เรารู้สึกทนไม่ไหว เมื่อนั้นจะมีทางออกและอนาคตที่สดใสรอเราอยู่เสมอ

Fact Box

  • นิทรรศการ No Heart Here เปิดให้รับชมได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2567 สามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ห้องซื้อบัตรพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย (MOCA Bangkok) และเข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. ทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ (ปิดทุกวันจันทร์)

Tags: , , ,