‘สงบ หยุดพัก ดำดิ่งสู่โลกอีกใบ’ 

ท่ามกลางสังคมที่บีบคั้นให้ผู้คนแบกความฝัน ความหวัง และความรู้สึกมากมาย การหลบหนีความวุ่นวายเพื่ออยู่กับตนเอง จึงเป็นเรื่องดีไม่ใช่น้อย เมื่อนิทรรศการ ‘พาใจกลับบ้าน’ (Homecoming) กลับมาจัดอีกครั้งที่ MMAD – MunMun Art Destination ซีคอนสแควร์ศรีนครินทร์ หลังประสบความสำเร็จล้นหลามในปี 2567 ด้วยยอดผู้เข้าชมถึง 4 หมื่นคนภายใน 30 วัน 

นอกจากพัฒนาการและความแปลกใหม่ที่ Eyedropper Fill ทีมงานผู้จัดทำ นำโดยหัวเรือหลักอย่าง นัท-นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล Project Director & Managing Director และเบสท์-วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย Creative Director & Co-Founder ตั้งใจเปลี่ยนแปลงและเก็บครบทุกรายละเอียดตั้งแต่ ‘เสียงนกร้อง’ จนถึง ‘พื้นผิวของหิน’ ที่ผู้เข้าชมต้องย่างเหยียบในงาน

พาใจกลับบ้านยังก้าวกระโดดไปอีกขั้นในฐานะ ‘นิทรรศการถาวร’ ภายใต้วิสัยทัศน์อันกว้างไกลของ อู๋-นริศ วุฒิสกนธิ์ Project Director ของ MMAD ที่เล็งเห็นว่า งานศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ พร้อมทั้งเปิดประตูต้อนรับให้คนรุ่นใหม่ ปลดปล่อยศักยภาพเชิงสร้างสรรค์อย่างเต็มรูปแบบ

“เราอยากทำให้พาใจกลับบ้านเป็นพื้นที่ถาวร ทุกคนอยากมาเมื่อไรก็ได้ เหมือนการไปยิมเพื่อออกกำลังกาย แต่นี่คือการออกกำลังใจ”

นันทวัฒน์ หนึ่งในทีมผู้พัฒนา ให้คำนิยามกับ The Momentum ถึงพาใจกลับบ้านที่เป็นมากกว่านิทรรศการ แต่เปรียบดัง ‘พื้นที่บำบัด’ (Therapeutic Space) เยียวยาจิตใจ และโอบอ้อมผู้มาเยือนในทุกความรู้สึก

‘พาใจกลับบ้าน 2567’ กับหมุดหมายใหม่บน Community Space ทางตะวันออกของเมืองหลวง

หากพูดถึงจุดกำเนิดของพาใจกลับบ้าน ต้องย้อนกลับไปในปี 2562 เมื่อสุขภาพจิตกลายเป็นวาระสำคัญระดับนานาชาติ หลังทุกฝ่ายต่างพูดถึงการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ในแง่วิทยาศาสตร์ จนถึงการผลักดันให้เป็นสวัสดิการทางสังคมในภาคประชาสังคม

นันทวัฒน์เล่าว่า ขณะนั้น เขาติดตามประเด็นดังกล่าว ทั้งจากอาชีพการงานและความสนใจส่วนตัว จึงเริ่มสร้างนิทรรศการทดลองในชื่อ ‘อารามอารมณ์’ ภายใต้รูปแบบ Interactive Installation Art ทว่าระหว่างหนทางพัฒนาต่อยอด ทีมงาน Eyedropper Fill ต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงักลงกลางคัน

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวในช่วงการล็อกดาวน์จากโรคระบาดถึง 2 ปี ผสมผสานประสบการณ์ที่งอกเงยตามกาลเวลา ทำให้ทีมผู้จัดทำสามารถพัฒนาองค์ประกอบในนิทรรศการให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น โดยเริ่มจากการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย นับตั้งแต่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญ รวมถึง อิม-พชร สูงเด่น ในฐานะ Content Curator ผู้ตั้งชื่อนิทรรศการว่า พาใจกลับบ้าน 

พาใจกลับบ้านจึงกลายเป็นนิทรรศการระยะสั้นในปี 2566 โดยมีระยะเวลาจำกัด 1 เดือน แต่กลับได้รับเสียงตอบรับมหาศาล ที่การันตีด้วยจำนวนผู้เข้าชมถึง 4 หมื่นชีวิต ทั้งยังกลายเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์ หลังวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับนิทรรศการมียอดวิวสูงถึง 10 ล้านครั้ง

แม้จะภาคภูมิไม่น้อยที่พาใจกลับบ้านสร้างปรากฏการณ์หน้าใหม่ในวงการศิลป์ไทย แต่ Eyedropper Fill มองการณ์ไกลไปกว่านั้นว่า นิทรรศการนี้เป็นได้มากกว่าเทรนด์บนโลกโซเชียลฯ แต่นี่คือพื้นที่ที่คนต้องการ ‘ใช้เวลา’ อยู่ด้วยมากที่สุด

“นอกจากการที่คนมาล้นหลาม ผมได้ฟีดแบ็กที่เยี่ยมมาก คือพวกเขาต้องการพื้นที่แบบนี้ โดยที่ไม่มีระยะเวลาจำกัดชั่วคราว หรือต้องย้ายตามไปไหน พาใจกลับบ้านควรจะตั้งอยู่กับที่ และรอให้ผู้คนที่สะดวกเดินทางมา” นันทวัฒน์ถ่ายทอดความคิดเห็นของเขา

ไม่นานนัก ความคิดข้างต้นจึงถูกสานต่อภายใต้วิสัยทัศน์ของนริศ ชายผู้มุ่งหมายปลุกปั้นให้ MMAD – MunMun Art Destination กลายเป็น ‘Community Space’ และ ‘หมุดหมายด้านศิลปะฝั่งตะวันออก’ ของเมืองหลวง เมื่อเขาเห็นฝีไม้ลายมือของทีมงาน Eyedropper Fill ในนิทรรศการครั้งนี้

นริศเผยที่มาที่ไปของจุดเริ่มต้นว่า เพราะ MMAD เติบโตขึ้นมาด้วยความคิดว่า ‘ศิลปะคือส่วนหนึ่งของชีวิต’ ตนจึงพยายามตามหาศิลปะหลายแขนง มาเสริมสร้างศักยภาพของพื้นที่ จนกระทั่ง เขานึกถึงทีมพาใจกลับบ้าน ทั้งจากการร่วมงานในอดีต และการเป็น ‘แฟนตัวยง’ ของนิทรรศการ ที่ทำให้เขารู้สึกอินจน ‘กอดต้นไม้ร้องไห้’ ในงานครั้งก่อนมาแล้ว

 จากการพูดคุยเพื่อดึงจุดเด่น ปิดข้อจำกัด โดยเฉพาะด้านระยะเวลา ท้ายที่สุดพาใจกลับบ้านก็กลับมาอีกครั้งในรูปแบบนิทรรศการระยะยาวถึง 1 ปีเต็ม ตั้งแต่ 12 กรกฎาคม 2567-30 กรกฎาคม 2568 โดยมีซีคอนสแควร์ทำหน้าที่สนับสนุนให้ศิลปินปลดปล่อยศักยภาพแบบ 100% ในงานครั้งนี้ 

“ความแตกต่างที่สำคัญของพาใจกลับบ้านคือ การทำนิทรรศการดึงผู้ชมเป็นส่วนหนึ่งในฐานะพื้นที่เยียวยาทางจิตใจ เราจึงรู้สึกว่า นี่คือนิทรรศการที่หยิบศิลปะและเรื่องราวหลายอย่างมารวมกัน” นริศระบุ

เพราะเป็นมากกว่านิทรรศการ: กลับมาครั้งใหม่ ใส่ใจ และเปิดกว้างกว่าเดิม

นอกจากการพัฒนาข้อจำกัดด้านระยะเวลา วรรจธนภูมิ Creative Director ของพาใจกลับบ้านยังลงรายละเอียดเชิงลึกกับ The Momentum ว่า เขาตั้งใจออกแบบองค์ประกอบของนิทรรศการให้ละเอียดขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะด้านโปรดักชัน นับตั้งแต่การมีอยู่ของบุคลากรระดับหัวกะทิ เช่น ฝ้าย-กันตพร สวนศิลป์พงศ์ นักจิตวิทยาการปรึกษา ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรจาก MasterPeace หรือเบิร์ด-เฉลิมรัฐ กวีวัฒนา ผู้ออกแบบเสียง จนถึงการคำนึงถึงฟังก์ชันของพื้นที่

“ในด้านจิตวิทยา เราขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญผ่านทฤษฎี เพื่อทำให้พื้นที่ตรงนี้เข้มข้นขึ้น ด้านโปรดักชันทำงานร่วมกับดีไซเนอร์ ขณะที่วัสดุอุปกรณ์ เราออกแบบอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นหินที่เหยียบ ผ้าที่ใช้กอด หรือแม้แต่ดอกไม้ในงาน

“ตอนแรกเราวางคอนเซปต์ไว้ว่า เราอยากให้ผู้เข้าชมได้ยินเสียงนกที่คุ้นชิน จึงดึงคุณเบิร์ดเข้ามาช่วย คือเราเชื่อว่า คนที่มาอยู่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด เราอยากให้เขาได้ยินเสียงที่คุ้นเคย เพราะบางคนอาจไม่ได้กลับบ้าน หรือแม้แต่เสียงนกอาจทำให้เขาหวนนึกถึงความทรงจำ ที่เกี่ยวกับครอบครัวหรือวัยเด็ก ซึ่งแต่ละคนก็ให้ความหมายคำว่า ‘บ้าน’ ไม่เหมือนกัน”

วรรจธนภูมิอธิบายต่อว่า การออกแบบพื้นที่ในงานยังต้องคำนึงถึงผู้ชม 2 ประเภทคือ คนที่ไม่มีความเครียดกับผู้ที่กำลังกับเผชิญภาวะดังกล่าว โดยสำหรับคนทั่วไป พื้นที่แห่งนี้จะเปรียบเสมือน ‘การชาร์จแบต’ ให้กับหัวใจในวันที่เหนื่อยล้า และพร้อมออกไปเผชิญโลกภายนอกเมื่อได้รับพลังงานบวก ขณะที่กลุ่มที่เผชิญภาวะความเครียด สามารถเรียนรู้วิธีจัดการอารมณ์ของตนเองในทุกรายละเอียด ผ่านการตั้งคำถามกับข้อความบนกำแพง ซึ่งเป็นคำถามของนักจิตวิทยาในห้องให้คำปรึกษาจริง

“เราจึงอยากจะเรียกว่า ที่นี่ไม่ใช่แค่นิทรรศการ แต่นี่เป็น Theraphetic Space หรือพื้นที่เชิงบำบัดด้วยศิลปะ” Creative Director ของพาใจกลับบ้าน นิยามความหมายพื้นที่แห่งนี้

นอกจากนี้ เสน่ห์สำคัญของพาใจกลับบ้านคือ การ ‘เปิดกว้างและให้อิสระ’ กับผู้ชมว่า ทุกคนไม่จำเป็นต้องรู้สึกตรงกันกับคนอื่น โดยทีม Eyedropper Fill ย้ำว่า แต่ละคนจะรู้สึก ‘ไม่ชอบ’ จนถึง ‘อินมาก’ ก็ไม่ผิด เพราะต่างคนต่างมีประสบการณ์และความคิดไม่เหมือนกัน ซึ่งอารมณ์ดังกล่าวคล้ายคลึงกับการเสพผลงานศิลปะทั่วไป

นันทวัฒน์ย้ำว่า พาใจกลับบ้านเต็มไปด้วย ‘Easter Eggs’ มากมายที่ทิ้งไว้ในทุกซอกทุกมุม โดยผู้เข้าชมสามารถตีความได้ตามใจชอบ ไม่ต้องรอให้ทีมผู้จัดทำเฉลยทั้งหมด รวมถึงเชื่อว่า ในอนาคต นิทรรศการนี้จะเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับผู้คน โดยเฉพาะการแสดงศักยภาพที่แท้จริงคือ การทำให้คนรู้สึก ‘ใจดีกับตนเอง’ (Self-Compassion) มากขึ้น

ขณะที่นริศในฐานะตัวแทน MMAD และซีคอนสแควร์ทิ้งท้ายว่า การไม่จำกัดความคิดระหว่างเข้าชม เช่น ปักป้ายบอกว่าสิ่งนี้คืออะไร จะทำให้ผู้ชมได้เห็นนิทรรศการในมุมอื่นที่หลากหลาย และเหนือสิ่งอื่นใด ความสำเร็จของพาใจกลับบ้านอย่างถ่องแท้ คือผู้มาเยือนเข้าใจผลงาน ศิลปินและได้ใช้เวลากับตนเองจริง

5 ห้อง 5 คอนเซปต์ 5 เรื่องราว: เปิดโลกอีกใบของพาใจกลับบ้าน

เมื่อเข้าไปถึงนิทรรศการ โซนข้างในทั้งหมดแบ่งออกเป็น 5 ห้องภายใต้คอนเซปต์ ‘พื้นที่บำบัด’ ที่มี ‘ธรรมชาติ’ เป็นศูนย์กลาง โดยวรรจธนภูมิอธิบายว่า แนวคิดทั้งหมดนี้ผ่านการปรึกษากับนักจิตวิทยาในเชิงทฤษฎีว่า พื้นที่บำบัดต้องปลอดภัย มีความเป็นส่วนตัว และที่สำคัญคือ ทำให้ผู้เข้าชมไม่รู้สึก ‘ถูกตัดสิน’ ซึ่งทำให้เขานึกถึงธรรมชาติ ในฐานะสิ่งที่ไร้การปรุงแต่ง และเป็นดังรากเหง้าของมนุษย์ จึงตัดสินใจหยิบยกมาเป็นธีมหลักของนิทรรศการ

สำหรับขั้นตอนการเข้าชมนิทรรศการ ทุกคนต้องเตรียมร่างกายตนเองให้ ‘พร้อม’ ด้วยการเก็บสัมภาระในล็อกเกอร์ ถอดถุงเท้า รองเท้า ก่อนจะ ‘ล้างเท้า’ เพื่อทำความสะอาด โดยทีมผู้จัดทำอธิบายว่า นี่คือขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นมาในนิทรรศการภายหลัง ซึ่งเปรียบเสมือนพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ หรือการแสดงความเคารพต่อพื้นที่เหมือนการเข้าวัด หรือสถานที่สำคัญทางศาสนาอีกรูปแบบ

หลังจากเปิดม่านสีดำที่กั้นแบ่งโลกความเป็นจริง ผู้เข้าชมจะอยู่ในห้องแรกของนิทรรศการคือ ‘ห้องสำรวจ’ เพื่อใคร่ครวญและทำความเข้าใจกับตนเองว่า ที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง โดยทุกคนต้องตอบคำถามผ่านกงล้ออารมณ์ (Emotional Wheel) เครื่องมือของนักจิตวิทยาว่า อะไรคือความรู้สึกเบื้องลึกในจิตใจ ขณะที่มีมุมสแกนร่างกายที่มีนัยทางจิตวิทยา คือการฟังสัญญาณของร่างกายว่า มีส่วนไหนผิดปกติ เพราะร่างกายมักจะเชื่อมโยงกับจิตใจเสมอ เช่น ความเครียดทำให้ปวดหัว หรืออาการแพนิกทำให้มือเหงื่อออก และหัวใจเต้น

นอกจากนี้ บนฝาผนังของห้องสำรวจยังมีสถิติที่แสดงให้เห็นว่า ผู้เข้าชมมีความรู้สึกอย่างไร ซึ่งในอีกนัยหนึ่ง วรรณจภูมิอธิบายว่า นี่คือกุศโลบายที่สะท้อนว่า ในโลกนี้ไม่ได้มีเราคนเดียวที่รู้สึกแย่ ทั้งยังได้มองเห็นความรู้สึกผู้อื่นภายใต้ Community Space เดียวกัน

ขณะที่เดินผ่านเพื่อไปสู่ห้องที่ 2 ผู้ชมจะต้องเหยียบหินระหว่างทาง ซึ่งผู้เขียนยอมรับตามตรงว่า เดินลำบากจนรู้สึกตะหงิดใจเล็กน้อย แม้จะสวมรองเท้าสลิปเปอร์ก็ตาม แต่ภายหลังทีม Eyedropper Fill เฉลยว่า พวกเขาต้องการให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกถึง ‘ความเจ็บปวด’ หรือ ‘ความยากลำบาก’ ผ่านหิน เหมือนกับชีวิตที่อาจจะต้องเผชิญความเจ็บปวดเล็กน้อยไปจนถึงมากก็ตาม

เมื่อเดินมาถึง ‘ห้องโอบรับ’ ที่เต็มไปด้วยต้นไม้และรากจำลอง (ที่นิ่มมาก) แผ่ขยายปกคลุมไปทั่วห้อง รอคอยให้ผู้เข้าร่วมโอบกอด หรือหยุดพักเพื่อนอนลง โดยห้องดังกล่าวพูดถึงความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต หลังผู้คนในสังคมมักรู้สึกว่า ‘ฉันไม่ดีพอ’ กับบางสิ่งบางอย่าง ทว่าห้องนี้จะสื่อสารกับทุกคนว่า ความไม่สมบูรณ์แบบคือเรื่องปกติของชีวิต และโปรดจงโอบรับมันเสียเหมือนกับที่โอบกอดต้นไม้ ขณะที่มี ‘ชิงช้าผ้า’ ที่คล้ายกับรังดักแด้ ให้ทุกคนนั่งสงบสติอารมณ์

หลังจากนั้น มาสู่ห้องที่ 3 หรือ ‘ห้องเฝ้าดู’ โดยมีไฮไลต์สำคัญคือสระสีดำกลางห้องที่เต็มไปด้วยลูกบอลสีขาวแทรกสีน้ำเงิน ชวนให้ผู้เขียนหวนนึกถึงความทรงจำ ‘บ้านบอล’ ในวัยเด็ก จนตัดสินกระโดดลงไปนอนลงและหลับตาเงียบๆ ในสระ ซึ่งทางทีม Eyedropper Fill เล่าให้ฟังว่า ความตั้งใจของพวกเขาคือการให้ผู้ชมได้เฝ้าดูกระแสน้ำ (หรือลูกบอล) ซึ่งเชื่อมโยงกับกระแสจิตใจของตนเองว่า มีความคิดหรือคำพูดใดที่ลอยอยู่ในหัวบ้าง โดยมี Easter Eggs คือ ‘ข้อความให้กำลังใจ’ บนลูกบอลสีน้ำเงิน ซึ่งผ่านการปรึกษาจากนักจิตวิทยา 

ขณะที่ห้องถัดมาคือ ‘ห้องข้ามผ่าน’ เป็นพื้นที่เปิดกว้างให้ทุกคนนั่ง ‘ฟัง’ เรื่องราวอันน่าเจ็บปวดของคนอื่นผ่านหูฟังครอบหู โดยมีโซฟาขนาดเล็กให้นั่งมอง ‘ไฟจำลอง’ ที่ตั้งอยู่กลางห้องระหว่างฟังเรื่องเล่า ทำให้นึกถึงเปลวเพลิงช่วงเข้าค่ายลูกเสือ-ทัศนศึกษาในยามเยาว์วัย ขณะที่บทเพลงคลอไปตามจังหวะของประกายไฟ 

“เราอยากให้ทุกคนฟังว่า ทุกคนอาจจะเผชิญภาวะตะกุกตะกัก แต่จะผ่านมันไปได้ หากคอยให้กำลังใจกันและกัน” วรรจธนภูมิอธิบาย โดยแนะนำว่า หลังจากฟังเรื่องราวแล้ว หากผู้ชมมีความรู้สึกอย่างไร สามารถเขียนระบายบนกำแพงได้ตามใจชอบ

ปิดท้ายด้วย ‘ห้องตกผลึก’ ห้องสุดท้ายของนิทรรศการที่เต็มไปด้วยทรายและหิน พร้อมคำถามวัดใจบนผนังกำแพง ที่หลายคนไม่กล้าแม้แต่จะตอบในยามปกติ โดยทีมพาใจกลับบ้านใช้วัสดุดังกล่าวในฐานะเครื่องมือสื่อสาร เพื่อให้ทุกคนขีดเขียนคำตอบ นอกเหนือจากการตอบคำถามในใจ ซึ่งหากใครรู้สึกทัชใจเป็นพิเศษ ผู้จัดงานย้ำว่า สามารถนำหินกลับไปบ้านได้อีกด้วย

หากใครที่สนใจอยากลองสัมผัสบรรยากาศของนิทรรศการสุดแปลกใหม่ ที่ไม่ได้พบเห็นมากนักในประเทศไทย สามารถเดินทางมาที่ซีคอนสแควร์ศรีนครินทร์ชั้น 2 MMAD – MunMun Art Destination ตั้งแต่ 11.00-20.00 น. โดยไม่มีการแบ่งรอบและจำกัดเวลาในการเข้าชม 

Fact Box

พาใจกลับบ้านตั้งอยู่ที่ซีคอนสแควร์ศรีนครินทร์ชั้น 2 MMAD - MunMun Art Destination ตั้งแต่ 11.00-20.00 น บัตรเข้าชมราคา 200 บาท และสามารถเดินทางโดยใช้รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลงที่สถานีสวนหลวง ร.9

Tags: , , , , , , , , , , , , ,