จากสนามบินในเมืองยอร์กยาการ์ตา (Yogyakata) สู่เส้นทางบนเกาะชวากลางที่เลี้ยวลดไปมากลางทิวเขา ใช้เวลาร่วม 1 ชั่วโมงกับระยะทาง 40 กิโลเมตร สองข้างเต็มไปด้วยวิถีชีวิตของหมู่บ้านเล็กๆ สลับกับป่าทิวเขาให้บรรยากาศไม่ต่างจากเดินทางท่องเที่ยวในแถบภาคเหนือของประเทศไทย

ด้วยภูมิประเทศที่เป็นเกาะ ทำให้ภูมิอากาศไม่ต่างจากไทยมากนัก แม้อากาศในช่วงต้นปีจะเย็นกว่าประเทศไทย แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ทำให้ความเย็นที่รับมาจากละอองฝนที่ปรอยลงมาตามสองข้างทางที่ลดเลี้ยวตัดสลับหมู่บ้านกลางป่าที่มีฝนตกลงมา ทำให้ความเขียวขจีของสองข้างทางยิ่งเด่นชัดขึ้น กลายเป็นความสวยงามที่ทำให้การเดินทางไม่มีคำว่าเบื่อเลยแม้แต่น้อย

ขณะที่กำลังเพลิดเพลินกับวิวสองข้างทาง เราก็เดินทางมาถึงเมืองมาเกอลัง (Magelang) เมืองขนาดย่อม แต่สองข้างทางกลับเต็มไปด้วยร้านรวงที่ทันสมัย โดยเฉพาะร้านที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือ คงเป็นเพราะเมืองแห่งนี้เต็มไปด้วยโบราณสถานน้อยใหญ่ จึงทำให้นักท่องเที่ยวจากนานาประเทศต่างเดินทางกันมาไม่ขาดสาย

ใช้เวลาจากตัวเมืองไม่นานเราก็เดินทางถึง มหาสถูปบุโรพุทโธ (Borobudur Temple) ศาสนสถานทางพระพุทธศาสนาขนาดใหญ่ สร้างขึ้นในรัชสมัยกษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์ เชื้อสายราชวงษ์กษัตริย์แห่งชวา ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8-9 ที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และได้รับอิทธิพลจากอาณาจักรศรีวิชัย รวมถึงการเดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนาจากอินเดียในเส้นทางสุวรรณภูมิที่พาดผ่านคาบสมุทรต่างๆ จรดดินแดนบนเกาะสุมาตรา จึงทำให้ในอดีตประเทศอินโดนีเซียเป็นดินแดนที่นับถือศาสนาพุทธ-พราหมณ์ เป็นหลัก

มหาสถูปบุโรพุทโธเป็นอาคารพุทธสถานในลักษณะศิลปะแบบฮินดูชวา ผสมผสานระหว่างศิลปะแบบอินเดียกับอินโดนีเซียเข้าด้วยกัน สถูปมีลักษณะเป็นรูปทรงดอกบัวหงาย สื่อถึงสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา สร้างขึ้นจากหินลาวาหรือหินแอนดีไซต์ (Andesite) หินภูเขาไฟขนาดใหญ่นับพันก้อน วางเรียงรายในลักษณะขั้นบันไดแบบพีระมิดบนฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ลดหลั่นลงมา หินกว่าพันก้อนแกะสลักอย่างประณีตและงดงาม เพื่อบอกเล่าถึงการบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติของพระโพธิสัตว์ก่อนตรัสรู้ รวมไปถึงการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร

บริเวณมหาสถูปบุโรพุทโธมีพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 5.5 พันตารางเมตรสร้างบนความสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 15 เมตร ทำให้เรียกสถานที่แห่งนี้ว่า บุโรพุทโธ มีความหมายว่า วัดบนเขาสูง ในแต่ละด้านมีบันไดและซุ้มประตูขึ้นสู่มหาเจดีย์ทั้งหมด 10 ชั้น ชั้นที่ 1-6 มีเป็นลานสี่เหลี่ยม ส่วนชั้นที่ 7-10 เป็นลานทรงกลม มีเจดีย์ทรงระฆังคว่ำจำนวน 72 องค์ แต่ละองค์บรรจุพระพุทธรูปตั้งเรียงรายอยู่ 3 ระดับ โอบล้อมสถูปที่ตั้งอยู่บนลานวงกลมชั้นสูงสุด เปรียบได้กับการมุ่งสู่เส้นทางแห่ง ‘ปรินิพพาน’

ในอดีต สถานที่แห่งนี้ถูกทิ้งร้างกลายเป็นเพียงกองหินขนาดใหญ่ไม่มีความสำคัญในด้านศาสนา เนื่องจากในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมา พระพุทธศาสนาในแถบหมู่เกาะชวาเริ่มเสื่อมถอยลง พร้อมกับการเข้ามาของศาสนาอิสลาม กษัตริย์ชวามีความเลื่อมใสศรัทธาศาสนาอิสลาม จึงทำให้ประเทศอินโดนีเซียหันมานับถือศาสนาอิสลามจนถึงปัจจุบัน

กระทั่ง เซอร์โทมัส สแตนฟอร์ด ราฟเฟิลส์ (Sir Thomas Stamford Raffles) นักเดินเรือชาวดัตช์และนักบริหารคนสำคัญของเมืองสิงคโปร์ ค้นพบบุโรพุทโธในสภาพที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง หลังจากนั้นเป็นต้นมา บุโรพุทโธจึงเริ่มเปิดเผยสู่สายตาชาวโลก และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ผ่านการร่วมแรงร่วมใจของชาวพุทธในหลายประเทศทั่วโลกร่วมกับองค์การยูเนสโก (UNESCO)

จนในที่สุดปี 1991 การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 15 เมืองคาร์เทจ (Carthage) ประเทศตูนิเซีย มหาสถูปบุโรพุทโธได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรม จาก 3 เหตุผลหลักประกอบด้วย การเป็นตัวแทนแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์ การเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีอิทธิพลยิ่งใหญ่ ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆ ของโลกที่ทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม และสุดท้ายคือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์ ทำให้จากแรงศรัทธาบุโรพุทโธจึงกลายเป็นมรดกโลกแห่งเอเชียในที่สุด

ทว่าการเดินทางเพื่อขึ้นไปมหาสถูปบุโรพุทโธในวันแรกกลับเต็มไปด้วยความผิดหวัง เนื่องจากเราเดินถึงวันจันทร์ซึ่งเป็นวันปิดทำการ ทำให้ในวันแรกเราได้เพียงมองความงดงามของศาสนสถานแห่งนี้จากระยะไกลเท่านั้น

วันต่อมาเราตัดสินใจเดินทางไปมหาสถูปบุโรพุทโธให้เร็วขึ้นเพื่อทำเรื่องซื้อตั๋วขึ้นไปยอดสถูป แน่นอนว่าการที่สถานที่แห่งนี้ได้รับการดูแลภายใต้องค์การยูเนสโกจึงมีระเบียบและข้อห้ามที่เคร่งครัด อย่างหนึ่งคือเราจำเป็นต้องเปลี่ยนรองเท้าและใช้ถุงผ้าที่เจ้าหน้าที่เตรียมให้ เพื่อไม่ให้การเดินของเราไปทำลายพื้นหินของบุโรพุทโธ รวมถึงห้ามมิให้แตะหรือสัมผัสกับพื้นผิวโดยไม่จำเป็นอีกด้วย อีกทั้งเวลาในการเดินขึ้นยอดสถูปจำกัดเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้นและจำเป็นต้องเดินลงมาทันที

รอบวิหารบุโรพุทโธเต็มไปด้วยหินสลักนูนต่ำมากมาย ในแต่ละชั้นต่างซ่อนความหมายและแสดงคติธรรมทางพระพุทธศาสนาไว้มากมาย ในชั้นแรกบริเวณฐานราก เป็นชั้นที่มีรูปสลักส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร เปรียบดั่งมนุษย์ที่ยังคงใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับ กิเลส ตัณหา และกามราคะ

ต่อมาคือชั้นที่แสดงภาพของกลุ่มคนที่ได้รับการสั่งสอนจากพระพุทธเจ้าถึงการละต่อกิเลส แต่ยังคงเป็นบัวที่เพิ่งโผล่พ้นน้ำ มีภาระกิเลสอยู่บ้าง ส่วนในชั้นถัดไป คือชั้นที่แสดงภาพพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าในทุกภพชาติกว่า 1,400 ภาพ และสุดท้ายบนยอดของมหาสถูป คือสถูปขนาดใหญ่ที่ปลายยอดพังลง เป็นสถูปเพียงองค์เดียวที่ข้างในไม่ได้ประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ อาจสื่อถึงความว่างเปล่านั่นเอง

ภาพสลักกว่า 2,600 ชิ้น และรูปสลักพระพุทธรูป 504 องค์ มีโดมกลางล้อมรอบด้วยรูปสลักพระพุทธรูป แต่ละองค์อยู่ภายในสถูปเจาะรูปสี่เหลี่ยมที่ล้อมรอบสถูปประธาน และด้านบนสุดมีภาพสลักหินเล่าเรื่องที่แสดงถึงชีวิตของพระพุทธเจ้า และข้อความทางพุทธศาสนาถึง 1,460 ชิ้น ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาในดินแดนชวาในอดีต

เมื่อยืนอยู่ต่อหน้าความยิ่งใหญ่ของมหาสถูปบุโรพุทโธ จึงรับรู้ได้ทันทีว่า ‘ความศรัทธา’ ของมนุษย์คือพลังที่ยิ่งใหญ่ เชื่อได้ว่าการสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่เช่นนี้ ย่อมต้องใช้เวลาในการออกแบบและสร้างนานหลายปี อาศัยทั้งแรงใจและแรงศรัทธาของชาวชวาในอดีต จึงไม่แปลกใจที่บุโรพุทโธกลายเป็นสัญลักษณ์ความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนในอดีตอย่างแท้จริง

Tags: , , ,