สัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศรายงานถึง ‘อาการไอเรื้อรัง’ ของ โจโค วิโดโด (Joko Widodo) หรือโจโควี (Jokowi) ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางความรุนแรงของมลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้นในกรุงจาการ์ตา

“ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด ได้ขอให้มีขั้นตอนรูปธรรมเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศภายใน 1 สัปดาห์ เขาไอแบบนี้มาเกือบ 4 สัปดาห์ และบอกผมว่า ไม่เคยรู้สึกแบบนี้มาก่อนเลย” ซานดิเอกา อูโน (Sandiaga Uno) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์อินโดนีเซีย ถ่ายทอดเรื่องราวกับสาธารณชน หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อหารือเรื่องมลพิษทางอากาศในวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา 

โจโควี (ที่มา: AFP)

อูโนเสริมว่า แพทย์กำลังวินิจฉัยอาการไอของโจโควี ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับคุณภาพอากาศที่แย่ลงของเมืองหลวง และต้องรอดูสถานการณ์ต่อไป

มีการเปิดเผยเนื้อหาการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ว่า โจโควีกล่าวโทษต้นตอของปัญหามลพิษทางอากาศ คือการใช้ยานพาหนะบนท้องถนนที่มากเกินไป ฤดูแล้งอันยาวนาน การใช้พลังงานจากถ่านหิน และออกคำสั่งให้หน่วยงานอื่นๆ เร่งสร้างพื้นที่สีเขียวมากขึ้น รวมถึงนโยบายทำงานจากที่บ้านเพื่อลดการเดินทาง สอดคล้องกับข้อมูลจาก IQAir แอปพลิเคชันวัดคุณภาพอากาศจากสวิตเซอร์แลนด์ที่ระบุว่า เมืองหลวงของอินโดนีเซียมีสภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในโลก 

“คุณภาพอากาศในกรุงจาการ์ตาแย่มาก เพราะฤดูแล้งที่ยืดเยื้อในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาทำให้ระดับมลพิษรุนแรงขึ้น 

“หากมีความจำเป็น เราจะสนับสนุนระบบการทำงานแบบผสมผสาน ทั้งการทำงานในออฟฟิศและการทำงานจากที่บ้าน” โจโควีกล่าว โดยนโยบายข้างต้นมีการประกาศใช้เมื่อวานนี้ (21 สิงหาคม 2023) จนถึงเดือนตุลาคม

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียระบุว่า ตลอดทั้งเดือนสิงหาคม มีพลเมืองที่อาศัยอยู่ในจาการ์ตากำลังเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนถึง 6 แสนคน

ทั้งนี้ โจโควีคือผู้นำขวัญใจชาวอินโดนีเซียอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ช่วงต้นปี 2023 ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ระดับความพึงพอใจการทำงานต่อหมู่ประชาชนพบว่า พลเมืองถึง 76.2% ประทับใจกับการทำงานของเขา โดยเฉพาะการรับมือวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา 

ทว่าประชาชนและผู้เชี่ยวชาญบางส่วนก็แสดงความคิดเห็นเชิงเหน็บแนมว่า โจโควีได้รับผลกรรมจากการกระทำของเขาเอง เพราะภาครัฐอินโดนีเซียเพิกเฉยต่อการจัดการมลพิษทางอากาศตลอดในช่วงที่ผ่านมา แม้จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในคดีฟ้องร้องเรื่องนี้ก็ตาม

(ที่มา: AFP)

“นี่มันน่าเศร้ามากใช่ไหมล่ะ รัฐบาลเพิ่งตระหนักต่อปัญหาและวุ่นวายกับมัน เมื่อประธานาธิบดีไอมาตลอดทั้งเดือน

“มีกี่คนที่ป่วยและตายเพราะมลพิษทางอากาศในช่วงสองปีที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลปฏิเสธแก้ไขปัญหา?” เอลิซา ซูตานูจาจา (Elisa Sutanudjaja) แสดงความคิดเห็นกับสำนักข่าวอัลจาซีรา (Al Jazeera) เธอเผยว่า ไม่รู้สึกตื่นเต้นสักนิดกับการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อจัดการปัญหาคุณภาพทางอากาศ

ซูตานูจาจาเป็นหนึ่งใน 35 พลเมืองที่ยื่นฟ้องประธานาธิบดีและเจ้าหน้าที่รัฐต่อประเด็นการจัดการมลพิษทางอากาศในปี 2021 และได้รับชัยชนะในคดีนี้ หลังศาลตัดสินว่า โจโควีพร้อมด้วยรัฐมนตรี 3 คน และผู้ว่าราชการจังหวัด 3 คน ละเลยมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศ และต้องรับผิดชอบต่อสภาวะนี้ด้วยการดำเนินนโยบายปรับปรุงคุณภาพอากาศ รวมถึงแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศของภาครัฐ เพื่อเอื้ออำนวยนโยบาย

ขณะที่ อานีส บาสวีดัน (Anies Baswedan) ผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตาในช่วงเวลาดังกล่าว ยืนยันว่า จะไม่อุทธรณ์คำตัดสินและขอเดินหน้าลงมือแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ทว่าโจโควีและรัฐมนตรีหลายราย กลับยื่นอุทธรณ์คำตัดสินต่อศาลในปี 2022 ซึ่งก็จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของเขาอีกครั้ง และในปี 2023 พวกเขาก็ยังไม่ลดละความพยายามเพื่อขออุทธรณ์ครั้งสุดท้าย โดยกำลังอยู่ในขั้นตอนระหว่างการพิจารณา

“ฉันรู้สึกรำคาญเมื่อเห็นว่า รัฐบาลกลางทำได้แค่ผลักภาระความรับผิดชอบให้ประชาชน พวกเขาได้แต่คาดหวังว่า ผู้คนจะใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ถึงแม้ระบบขนส่งมวลชนของประเทศจะแย่มากก็ตาม

“รัฐบาลเพิกเฉยต่อการมีอยู่ของโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า และหันกลับมาเอาแต่ตำหนิประชาชนในเรื่องการสร้างมลพิษเท่านั้น” ซูตานูจาจาแสดงความคิดเห็นถึงนโยบายของโจโควี

“นี่เป็นภาวะฉุกเฉิน และต้องจัดการอย่างเร่งด่วน รัฐไม่จำเป็นต้องรอให้เป็นที่ฮือฮาในโลกออนไลน์ ก่อนจะลงมือทำอะไรสักอย่าง” บอนดัน อันดริยานู (Bondan Andriyanu) ผู้รณรงค์ปัญหาด้านสภาวะอากาศและสิ่งแวดล้อมของกรีนพีซ (Greenpeace) อินโดนีเซีย กล่าวกับอัลจาซีรา

ขณะเดียวกัน รัฐบาลอินโดนีเซียระบุว่า กำลังเดินหน้าแก้ไขปัญหาครั้งนี้อย่างยิ่งใหญ่ ด้วยการ ‘ย้ายเมืองหลวง’ ไปยัง ‘นูซันตารา’ (Nusantara) ซึ่งอยู่ในกาลิมันตันตะวันออก (East Kalimantan) ของเกาะบอร์เนียว (Borneo)

แผนการสร้างเมืองหลวงใหม่ของอินโดนีเซีย (ที่มา: AFP)

แผนการย้ายเมืองหลวงของโจโควีเปิดเผยในช่วงวันประกาศอิสรภาพของอินโดนีเซียปี 2019 และได้รับการการันตีว่า เป็น ‘การยกเครื่อง’ เพื่อทลายวิกฤตของประเทศมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจราจรที่ติดขัด ความแออัดของชุมชน หรือแม้แต่ความเสี่ยงเมืองจมน้ำถาวร เพราะการขุดน้ำบาดาลอย่างไร้ทิศทาง

อย่างไรก็ดี ก็มีกระแสตอบโต้จากกลุ่มเคลื่อนไหวและนักวิชาการที่มองว่า การย้ายเมืองหลวงไม่ใช่การแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง 

“การย้ายเมืองหลวงใหม่เป็นเพียงการชะลอปัญหาชั่วคราวเท่านั้น ผลกระทบด้านสุขภาพจากมลพิษทางอากาศในอินโดนีเซีย มีความร้ายแรงและไม่ควรประมาทเป็นอันขาด” บริดเจต เวลช์ (Bridget Welsh) จากมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม (University of Nottingham) แสดงความคิดเห็นกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN)

“การย้ายเมืองหลวงเป็นเพียงข้อแก้ตัว พวกเขาแค่ยกปัญหาไปไว้ที่อื่นเท่านั้น” ซูตานูจาจาแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายย้ายเมืองหลวงของรัฐบาล

 

อ้างอิง

https://www.aljazeera.com/news/2023/8/18/indonesias-president-has-a-cough-air-pollution-could-be-the-culprit

https://www.reuters.com/world/asia-pacific/indonesian-president-jokowis-approval-rating-all-time-high-poll-2023-01-22/

https://www.aljazeera.com/news/2021/9/15/ninth-time-lucky-hopes-for-decision-in-jakarta-filthy-air-case

https://edition.cnn.com/2023/08/16/asia/indonesia-pollution-jokowi-cough-intl-hnk/index.html

https://edition.cnn.com/2023/08/21/asia/indonesia-civil-servants-wfh-jakarta-air-pollution-intl-hnk/index.html

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , ,