วันที่ 17 เมษายนที่จะถึงนี้ จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย แต่เพียงแค่เดือนเดียวก่อนจะถึงการเลือกตั้งประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อินโดนีเซียก็ออกมาบอกว่า มีแฮกเกอร์จากรัสเซียและจีนพยายามที่จะ ‘ควบคุมและปรับเปลี่ยน’ ข้อมูลการเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่า 187 ล้านคน

แฮร์รี่ ซูเฟห์มี (Harry Sufehmi) คณะทำงานด้านการรักษาความปลอดภัยไอทีของกกต. บอกว่า ความพยายามในการเจาะระบบถูกทำให้ดูเหมือนว่ามาจากจีน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา แต่จริงๆ แล้วเกือบทั้งหมดมาจากในประเทศ “เกือบทั้งหมดน่าจะเป็นแฮกเกอร์ในประเทศ ที่ทำเหมือนว่ามาจากประเทศอื่นๆ เพื่อปกปิดตัวตน”

รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นประเด็นที่น่ากังวลสำหรับการเลือกตั้งของอินโดนีเซียมาตลอด ในอินโดนีเซีย ‘บัตรผี’ และความผิดปกติอื่นๆ กลายเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งไปแล้ว โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดเมื่อปี 2014 ศาลรัฐธรรมนูญยกฟ้องในคดีที่ปราโบโว ซูเบียโต ผู้สมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่แพ้การเลือกตั้งอ้างว่ามีการปลอมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ที่อินโดนีเซีย ความพยายามในการเจาะระบบฐานข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้งถูกมองว่าเป็นเรื่อง ‘ปกติ’ แฮกเกอร์ที่สามารถเจาะระบบนี้ได้จะถูกยกย่องว่ายอดเยี่ยมมาก จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครทำสำเร็จ แม้จะกลัวการแทรกแซงจากต่างชาติและแฮกเกอร์พยายามโจมตีระบบการเลือกตั้ง

แต่ทีมไอทีบอกว่า ความถี่และแหล่งที่มาของการแฮกฐานข้อมูลรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ต่างไปจากปี 2014 มีความพยายามโจมตีเฉลี่ย 10-20 ครั้งต่อวัน แต่ก็เป็นปกติ ซึ่งไม่ใช่แฮกเกอร์ที่มุ่งโจมตีระบบโดยเฉพาะ เท่าที่รู้ก็คือ ส่วนใหญ่เป็นบุคคล ไม่ใช่ตัวแทนจากรัฐ เป็นแค่คนธรรมดาที่อยู่ในอินโดนีเซีย มีรูปแบบและวิธีการเหมือนกับที่เคยพบตั้งแต่ปี 2014  ทีมงานเชื่อว่าระบบที่มีอยู่ปลอดภัยมากพอ แต่ก็ยังกังวลว่าจะมีการล้วงเอาข้อมูลด้วยวิธีการอื่นๆ

นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสงสัยต่อรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่าถูกต้องหรือไม่ และมีความสับสนอย่างมาก พรรคฝ่ายค้านกล่าวหาว่า มีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 17.5 ล้านคนที่น่าสงสัย ซึ่งกกต. อ้างว่ากำลังตรวจสอบอยู่ เมื่อต้นเดือน กกต.ถอดรายชื่อชาวต่างชาติ 101 รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกไป โดยเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พบว่ามีชื่อของชาวสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาอยู่ในรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ชวาตะวันตก รวมถึงรายงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่พบว่าผู้ถือสัญชาติจีนและผู้ที่พำนักเป็นการถาวรในอินโดนีเซียก็อยู่ในรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ความสับสนนี้มาจากบัตรแสดงตนที่สับสนระหว่างผู้พำนักถาวรกับพลเมืองอินโดนีเซีย

ความหวาดกลัวการแทรกแซงการเลือกตั้งจากต่างประเทศของอินโดนีเซียยังปรากฏอยู่ในการจัดการข่าวปลอมด้วย ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด กล่าวหาว่า พรรคฝ่ายค้านใช้ประโยชน์จากการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับรัสเซีย เพื่อปล่อยข้อมูลผิดๆ (misinformation) เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่จะมาถึง เฟซบุ๊กก็ได้ปิดกั้นโฆษณาการเลือกตั้งจากต่างประเทศด้วย ส่วนในเดือนมกราคม ก็มีข่าวลือแพร่กระจายบอกว่ามีตู้คอนเทนเนอร์ 7 ตู้ขนบัตรเลือกตั้งมาจากประเทศจีน และถูกนำไปเก็บที่ท่าเรือในกรุงจาการ์ตา แต่กกต.ออกมาปฏิเสธข่าวลือนี้

ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2019/mar/19/indonesia-election-mired-in-claims-of-foreign-hacking-and-ghost-voters

https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/indonesian-polls-under-attack-by-foreign-hackers-official

https://www.usnews.com/news/world/articles/2019-03-13/indonesia-says-cyber-attacks-wont-disrupt-elections

Tags: , ,