ในวัย 60 ปี คุณคิดว่า ตนเองยังมีแรงกระหายออกเดินทางไปในที่พื้นที่แห่งไกล และเต็มไปด้วยสถานการณ์ไม่แน่นอนได้หรือไม่?

ไม่ว่ามุมมองของแต่ละคนเป็นอย่างไร แต่สำหรับ วินัย ดิษฐจร ช่างภาพเชิงสารคดีอิสระ ที่ผ่านสมรภูมิมาทุกรูปแบบ ตั้งแต่ม็อบเสื้อแดงปี 2553, ม็อบ กปปส.ปี 2557, ม็อบเยาวชนคนรุ่นใหม่ปี 2563-2564 และล่าสุดเขาตัดสินใจออกเดินทางในต่างแดนด้วยมอเตอร์ไซค์ เพื่อค้นหาร่องรอย ‘สงครามลับในลาว’ เป็นเวลาร่วมเดือนตามลำพัง ถือเป็นการตอบคำถามดังกล่าวว่า ‘ใช่’ อย่างไม่ลังเล

แม้เรื่องราวของสงครามลับในลาว ผลพวงจากสงครามเย็นจะไม่ใช่เรื่องน่าสนใจสำหรับใครหลายคน แต่เหตุการณ์ดังกล่าวกลับฝังแน่นในความทรงจำของวินัยตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งเริ่มจากการได้ยินเรื่องราวในสงครามเวียดนาม การทิ้งระเบิดฝูงบิน B-25 ที่สนามบินอู่ตะเภาสู่ลาวและเวียดนาม หรือแม้แต่การได้สัมผัสบรรยากาศในสนามบินดอนเมือง และเครื่องบินอย่างใกล้ชิด เพราะพื้นเพของครอบครัวชายคนนี้ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับสนามบินเป็นทุนเดิม

แม้ผู้เป็นบิดาจะหันเหเข้าสู่วิถีชีวิตเกษตรกร และย้ายไปรกรากที่ อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ กะทันหัน ทว่าบรรยากาศคุกรุ่นจากความขัดแย้ง ก็ยังคงติดอยู่ในใจของช่างภาพอาวุโสตราบจนถึงปัจจุบัน

ทั้งภาพอันคุ้นชินของบรรดาทหาร ตำรวจตรวจชายแดน ผู้บาดเจ็บ และเฮลิคอปเตอร์ที่ขนส่งเสบียงหรืออาวุธบริเวณรอบบ้าน ไม่รวมถึงกิจกรรมในรั้วโรงเรียนอย่างการปลุกสำนึกรักชาติด้วยเพลงหนักแผ่นดิน ผสมผสานกับเพลงฮิตติดหูแห่งยุคสมัยคือ อส. รอรัก โดย ศักดิ์สยาม เพชรชมภู ตามด้วยเสียงจากคลื่นวิทยุถึงการ ‘ปราบปราม’ กลุ่มคอมมิวนิสต์ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

นอกจากนี้ การเติบโตมากับภาพยนตร์หลายเรื่อง โดยเฉพาะ ผมไม่อยากเป็นพันโท (2517) ที่กำกับโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ว่าด้วยเรื่องราวของสายลับไทยที่สวมรอยเป็นทหารลาว หรือเรื่องราวของนักบินใน Air America (1990) ยิ่งกระตุ้นความสงสัยใคร่รู้ของวินัยต่อสงครามลับในลาว ซึ่งเต็มไปด้วยเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงความโหดร้าย แต่ยังคงเป็นปริศนารอคอยการเปิดเผยจากใครหลายคน

จากความทรงจำในวัยเด็กที่เติบโตมากับความขัดแย้งในช่วงสงครามเย็น วันนี้วินัยพร้อมกับมอเตอร์ไซค์คู่ใจ พาทุกคนตามรอยสงครามลับในลาว ผ่านนิทรรศการภาพถ่าย Biker’s Journal of the Secret War in Laos

1

แม้คำว่า สงครามเย็นเป็นดังสัญญะแทนสถานการณ์ของการต่อสู้ระหว่างสองมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียต ที่ไร้การเผชิญหน้าโดยตรง แต่ความร้อนระอุกลับปะทุในหลายพื้นที่ของโลกในรูปแบบของสงครามตัวแทน ดังหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นสงครามเวียดนาม สงครามในกัมพูชา หรือสงครามกลางเมืองในลาว ที่ถูกขนานนามว่า ‘สงครามลับ’ ก็ตาม

สงครามลับในลาวเริ่มขึ้นในปี 1959 ถือเป็นผลลัพธ์จากความขัดแย้งภาพใหญ่ หลังสหรัฐฯ ผู้นำโลกเสรีเชื่อว่า ลาวคือจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถป้องกันการรุกคืบของลัทธิคอมมิวนิสม์ (Commuism) ภายใต้ทฤษฎีโดมิโน (Domino Theory) จากเวียดนามที่ได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูจากมหาอำนาจอย่างจีนและรัสเซีย 

ขณะที่ไทยพันธมิตรชาติสำคัญของสหรัฐฯ ต่างก็เห็นพ้องต้องกัน โดยมองลาวที่มีความสำคัญในทางภูมิรัฐศาสตร์ในฐานะ ‘เมืองน้อง’ ว่า จะถูกกระแสคอมมิวนิสต์กลืนกินจนกระทบต่อความมั่นคงของชาติไม่ได้

ทว่าครั้นจะเข้าไปตั้งฐานทัพโดยตรงเหมือนในหลายประเทศ สหรัฐฯ อาจต้องเผชิญกับเสียงประณามจากโลกนานาชาติ และเสียความชอบธรรมในฐานะผู้นำโลกเสรี ซ้ำร้ายคือทำผิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศเสียเอง หลังลาววางตัวเป็นกลางตามสนธิสัญญาเจนีวา 1962 โดยชาติมหาอำนาจ มีหน้าที่เพียงสนับสนุนการตัดสินใจของทางเลือกประชาชนลาวเท่านั้น 

นั่นหมายความว่า วิธีการที่ดีที่สุดสำหรับสหรัฐฯ ในการยับยั้งภัยคอมมิวนิสต์ในลาว คือ การให้ความช่วยเหลือแบบลับ ผ่านการเสริมสร้างกำลังคนในท้องถิ่น ซึ่งขณะนั้นลาวแตกเป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ เจ้าสุวรรณภูมา ผู้นำฝ่ายกลาง, เจ้าสุภานุวงศ์ หรือ ‘เจ้าชายแดง’ ผู้นำฝ่ายซ้าย และ พูมี หน่อสะหวัน ผู้นำฝ่ายขวา ลูกพี่ลูกน้องของ จอมพล สฤษดิ์ ชนะรัชต์ ก่อนที่ภายหลัง สหรัฐฯ จะสนับสนุน นายพล วัง เปา (Wang Pao) ผู้นำชาวม้ง เพราะมีความเข้มแข็งและชาญฉลาดมากกว่า

เหตุการณ์ทั้งหมดนำมาสู่ข้อตกลงลับระหว่างไทยกับสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (CIA) ในการให้ความช่วยเหลือกองกำลังม้งในลาว ภายใต้ปฏิบัติการสำคัญ เช่น ปฏิบัติการ Project Momentum, ปฏิบัติการเสือเหล็ก (Operation Steel Tiger), ปฏิบัติการลับทิ้งลูกไฟ (Operation Barrel Rolling) ทว่าในปี 1975 ทุกอย่างจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายขวาในลาว และสหรัฐฯ นับเป็นจุดสิ้นสุดสงครามที่กินเวลาทั้งหมด 16 ปีถ้วน

2

จากประวัติศาสตร์ในวันนั้นกลายมาเป็นห้วงความทรงจำในนิทรรศการภาพถ่าย Biker’s Journal Secret War of Laos ที่ตั้งอยู่ VS Gallery ย่านใจกลางเมืองอย่างสาทร โดยมีวินัย ช่างภาพเชิงสารคดีอาวุโสของวงการสื่อมวลชน ชายที่ใครหลายคนเรียกเขาติดปากว่า ‘พี่วินัย’ เป็นเจ้าของผลงานดังกล่าว

ก่อนจะเล่าเรื่องในภาพถ่ายให้เราฟัง วินัยเริ่มเล่าเรื่องความทรงจำวัยเด็กของเขาที่บ่มเพาะความสนใจของเขาต่อสงครามลับในลาว โดยเฉพาะการได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ ซึ่งส่วนหนึ่งคือ ผมไม่อยากเป็นพันโท (1974) และ Air America (1990) 

“หนังผมไม่อยากเป็นพันโท สร้างจินตนาการและทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เกิดอะไรขึ้นที่ประเทศลาว ส่วน Air America ให้ภาพชัดเจนกับชีวิตนักบินรับจ้างที่ทำงานอยู่ในลาว” 

วินัยเล่าก่อนเสริมว่า ความทรงจำในวัยเด็กที่ใกล้ชิดกับเครื่องบิน ทำให้เขามองว่า ยานพาหนะดังกล่าวคือ สัญลักษณ์ในการนำพาเรื่องราว และสร้างแรงบันดาลใจในการรับรู้เรื่องราวจากแดนไกล

สำหรับหมุดหมายแรกของนิทรรศการครั้งนี้ต้องย้อนกลับไปที่ปี 2016 วินัยตัดสินใจเดินทางไปประเทศลาวตามลำพัง ด้วยการขี่มอเตอร์ไซค์พร้อมสัมภาระทั่วประเทศ แม้จะมีความกลัวในใจ เช่น ความปลอดภัย และเงื่อนไขสำคัญคือ ‘ห้ามป่วย ห้ามเจ็บ ห้ามตาย’ เพราะความทุรกันดารของภูมิประเทศ แต่เขาก็ทำสำเร็จ โดยเดินทางจากทุ่งไหหิน, เวียงไซ, หลวงพระบาง ก่อนจะกลับเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาว รวมทั้งสิ้นเป็นระยะเวลา 20 กว่าวัน

“จำได้ว่า ตอนนั้นไปช่วงวาเลนไทน์ เราขี่มอเตอร์ไซค์ตอนกลางคืนคนเดียว มีพระจันทร์เป็นเพื่อน บางทีขับอ้อมไปอ้อมมาตามหุบเขา เหมือนดวงจันทร์วิ่งซ้ายวิ่งขวา เป็นเพื่อนตามเรา ให้ความรู้สึกกึ่งน่ากลัว โรแมนติก และผจญภัย”

ภาพ: วินัย ดิษฐจร

ช่างภาพวัย 60 ปีเล่ากับ The Momentum ว่า การไปครั้งนั้นเปรียบเสมือนการไปดูงานครั้งแรก เขามีโอกาสได้เห็นภาพรวมของผู้คน สังคม และภูมิประเทศ และถือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจครั้งสำคัญว่า ตนสามารถทำได้ ก่อนจะสานต่อโปรเจกต์นี้อย่างเต็มรูปแบบในปี 2024 ถึง 2 ครั้งคือ เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม และเดือนมิถุนายนตามลำดับ หลังมีผู้ให้ความสนใจและสนับสนุนผลงานของเขา

“การไปครั้งนี้เหมือนเก็บชิ้นจิ๊กซอว์ได้มากกว่าที่เราคิด คือเราตั้งเป้าหมายระดับหนึ่ง เพราะก็อาจมีการแก้ปัญหาระหว่างทาง เช่น รถเสีย หรือความกลัวบางอย่าง แต่สุดท้ายสรุปว่า สิ่งที่เราได้มาคือ มากกว่า 2 เท่าที่คิดไว้ 

“ต้องยอมรับอย่างคนวัยนี้ไม่ค่อยออกจากบ้านว่า เราอายุ 60 ปีแล้ว ซึ่งส่วนมาก แต่สำหรับเรา ถ้าไม่ไปที่ไหน หรือไม่ทำอะไรเลย เราก็จะหยุดอยู่นิ่ง สุดท้ายทุกอย่างก็จะฝ่อ เราต้องการเพื่อปลุกตัวเรา สานต่อตัวเรา

“เราต้องต่อสู้กับสัมภาระ น้ำหนัก ระยะทาง และสมาธิ เหมือนเราต้องคุมสิ่งต่างๆ ให้สมดุลเพื่อนำมาซึ่งความสำเร็จ”

ภาพ: วินัย ดิษฐจร

นอกจากนี้ Biker’s Journal of the Secret War in Laos ยังเติมเต็มสงครามลับในลาวให้ครบถ้วนทุกมิติ ด้วยภาพของมนุษย์ผู้ได้รับผลกระทบคือ ผู้อพยพชาวม้งในประเทศไทย ที่ค่ายห้วยน้ำขาว จังหวัดเพชรบูรณ์ตั้งแต่ 15 ปีก่อน หลังพวกเขาต้องเผชิญการประหัตประหารจากรัฐบาลลาว สืบเนื่องผลพวงของสงคราม ทั้งความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ และข้อกล่าวหาก่อการร้าย ยิ่งตอกย้ำจุดประสงค์ของนิทรรศการในครั้งนี้คือ การบอกเล่าเรื่องราวและผลกระทบของสงคราม ตั้งแต่ร่องรอยของสงคราม ผู้คนธรรมดา ผู้ลี้ภัย จนถึงผู้ที่ไม่สามารถหนีออกจากความขัดแย้งได้ 

“ภาพนี้เราเจอตอนมานั่งแก้ไขรูป เป็นเรื่องของเวลาล้วนๆ เหมือนเราเจอจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายทำให้งานแข็งแรง มีชีวิต เชื่อมโยงกับชะตากรรม ซึ่งตรงกับธรรมชาติงานของเราที่ผ่านมา”

3

นิทรรศการของวินัยไม่ได้เรียงตามระยะเวลาการถ่าย หากแต่คำนึงถึงการจัดวางในแกลเลอรี โดยเน้นไปที่การมีส่วนร่วมของผู้เข้าชมเป็นหลัก เห็นได้จากภาพหนึ่งหน้าทางเข้าประตู ที่วินัยต้องการให้ผู้เข้าชมรู้สึกเหมือนได้ยืนในเหตุการณ์จริง

แต่หากให้จำแนกพื้นที่ตามเรื่องราวและความรู้สึกในฐานะผู้เข้าชม ภาพถ่ายทั้งหมดแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ เริ่มจากส่วนแรกที่อยู่ทางเข้าประตู ซึ่งกินพื้นที่บริเวณรอบกำแพงจุด A, B, C ที่ระบุไว้ในสูจิบัตร ขณะที่ส่วนที่ 2 กินพื้นที่ราวจุด D และ E ปิดท้ายด้วยส่วนสุดท้ายคือ F และ G

เริ่มจากจุดแรกเป็นภาพของผู้อพยพชาวม้งในค่ายห้วยน้ำขาว จังหวัดเพชรบูรณ์ในปี 2008 โดยขณะนั้น วินัยเพิ่งลาออกจากการทำงานประจำสำนักแพร่ข่าวแห่งยุโรป (European Pressphoto Agency: EPA) และตัดสินใจเดินทางลงพื้นที่ในฐานะช่างภาพข่าวอิสระ หลังจากกระแสซาจากหน้าสังคมไปได้ 1 สัปดาห์

ช่างภาพอาวุโสเล่าเบื้องหลังของการเดินทางครั้งนั้นว่า หลังเจอชาวม้ง บางส่วนรีบวิ่งกรูเข้ามาหาและ ‘คุกเข่า’ ต่อหน้าเขาราวกับเป็นฮ่องเต้ ขณะที่พรรณนาความอดอยากเป็นบทเพลงว่า ต้องกินหัวเผือก หัวมัน และหัวกลอย เพื่อรอคอยการช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมโลก 

“คือเขาก็มีความหวัง เขาอพยพหนีตาย หนีการไล่ล่า มาพร้อมกับหลักฐาน เพื่อขอผ่านการตรวจสอบคัดกรองลี้ภัยไปสหรัฐฯ แต่บางคนก็ไม่สามารถไปได้ ด้วยอะไรหลายอย่าง”

วินัยอธิบายว่า ตนรู้สึกเคยชินจากการทำงานก็จริง แต่ในฐานะมนุษย์ก็ยังมีความเมตตาอุเบกขาเป็นสำคัญ ซึ่งปรากฏว่า ชาวม้งจำนวนหนึ่งนำเอกสารเป็นตั้งมาให้เขา บางคนเล่าว่า ตนเคยทำงานให้กับ CIA พร้อมเผยหลักฐานรูปถ่าย ขณะที่คนอื่นเคยทำงานให้กับราชอาณาจักรลาว สะท้อนจากรูปภาพเอกสารราชการภาษาลาว ที่อยู่ไม่ห่างกันมากนัก 

แต่ภาพที่สะดุดตาที่สุด คงหนีไม่พ้นรูปของ ‘เด็กหญิงชาวม้ง’ ที่แขนขาด และมีรอยยิงบริเวณต้นแขน แม้ดวงหน้าของเธอดูเฉยเมย ทว่าแววตากลับเต็มไปด้วยความเศร้าหมอง ราวกับจะบอกว่า สงครามและความขัดแย้ง ไม่เคยปรานีต่อมวลมนุษยชาติ

ช่างภาพชื่อดังเล่าให้ฟังต่อว่า ปัจจุบันไม่มีใครทราบชะตากรรมของผู้อพยพเหล่านี้ หลังในปี 2009 รัฐบาลของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่งตัวชาวม้งกลับประเทศลาว โดยอ้างเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย แม้มีโอกาสสูงที่อาจจะถูกประหัตประหารจากรัฐก็ตาม 

จากความรู้สึกเศร้าหมองแปรเปลี่ยนไปสู่ความน่าทึ่ง เมื่อเดินมาสู่โซนที่ 2 ของนิทรรศการ ซึ่งเป็นภาพถ่ายจากประเทศลาวในช่วงปี 2024 ที่เต็มไปด้วยร่องรอยและอนุสรณ์สถานจากสงคราม เช่น ภาพหลุมซากระเบิดที่ถูกทิ้งจากเครื่องบิน B-25, ทุ่งไหหิน, สถานีเรดาร์ลับ Lima Site 85, สนามบินลับล่องแจ้ง ฐานที่มั่นของนายพลวัง เปา และกองกำลังม้ง โดยไฮไลต์ของนิทรรศการคือ รถถังของโซเวียตในทุ่งไหหิน ที่เคยมีร่างไร้วิญญาณของทหารเวียดนามเหนือถูกล่ามโซ่อยู่

วินัยเริ่มบรรยายทีละรูป โดยเริ่มจากหลุมซากระเบิดขนาดใหญ่ สถานีเรดาร์ลับ Lima Site 85 ที่ถูกเวียดนามทำลายทิ้ง จนสหรัฐฯ ต้องหนีด้วยเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีบุคคลสำคัญของไทยอย่าง จำลอง ศรีเมือง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อยู่ในเหตุการณ์ คอยให้ความช่วยเหลือถ่วงเวลาอพยพผู้คน

เมื่อมาถึงภาพของสนามบินลับล่องแจ้ง วินัยเล่าว่า เขาได้ยินชื่อสนามบินนี้ตั้งแต่เด็ก เมื่อก่อนคึกคักมาก เพราะเป็นฐานที่มั่นไม่ห่างจากกรุงเวียงจันทน์ โดยใช้เวลาเดินทางราว 2 วัน ขณะที่สหรัฐฯ กับไทย ก็เคยส่งเสบียง และฝึกชาวม้งขับเครื่องบิน T-28 ซึ่งต่อมา กลายเป็นชื่อถนนในเวียงจันทน์อีกด้วย 

ช่างภาพอาวุโสค่อยๆ ชี้ไปที่บ้านของนายพลวังในมุมล่างของภาพ ซึ่งมีห้องนอนถึง 8 ห้อง หมายถึงจำนวนภรรยาทั้ง 8 คน ก่อนจะอธิบายว่า การที่มีผู้นำมีภรรยาเยอะไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะการมีทายาทถือเป็นเรื่องจำเป็นในการสืบทอดผู้นำอีกอย่างหนึ่ง และหันไปที่ภาพรถถังขนาดใหญ่ พร้อมเริ่มบรรยายว่า 

“มีบทสัมภาษณ์ของคนหนึ่งว่า เขากลัวรถถังมาก เขาไปเจอศพทหารเวียดนามเหนือในรถถังที่ถูกล่ามโซ่ เพื่อป้องกันไม่ให้หนีทัพ ตรงนี้มันสะท้อนว่า สงครามลับในลาวเต็มไปด้วยความโหดร้าย เพราะขึ้นชื่อว่าลับ คุณจะทำอะไรก็ได้ ไม่มีใครรู้ ไม่ต้องกลัวอะไร ซึ่งอันที่จริงวิธีการนี้เป็นสิ่งที่เราอ่านเจอในงานเขียนของ สยุมภู ทศพล ด้วยเหมือนกัน

“สงครามในชีวิตจริงไม่ได้เท่ หรูหราแบบในหนัง เขาต้องสู้กับความอดอยาก การขาดแคลนเสบียงอาหาร หรือภูมิประเทศ”

วินัยค่อยๆ พาเล่าเหตุการณ์ให้เราฟังทีละภาพ จนมาสู่โซนสุดท้ายของนิทรรศการ ซึ่งเป็นเศษซากความทรงจำและอนุสรณ์ของการปฏิวัติในลาว เขาเก็บภาพทั้งหมดนี้ได้ทั้งในปี 2016 และ 2024 ไม่ว่าจะเป็นภาพจรวด SAM ของโซเวียตในเมืองอัตปือ ตามมาด้วยเมืองเวียงไซ ฐานบัญชาการใหญ่ของขบวนการปฏิวัติลาว โดยมีห้องหนึ่งคาดว่า น่าจะเป็นที่พักอาศัยของ ไกสอน พมวิหาน เลขาธิการพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และนายกรัฐมนตรีคนแรกของลาวในยุคสาธารณรัฐประชาชนประชาธิปไตย

ขณะที่ภาพถัดมาคือ บ้านของนายพลวังที่ชัดขึ้น และบรรยากาศภายในบ้าน โดยมีไฮไลต์คือ ชานระเบียงที่มองเห็นวิวทิวทัศน์ที่เนินสกายไลน์, เครื่องบินรบ MiG 21, วัดเพียว (Wat Phia Wat) ในเมืองโพนสะหวัน ที่สะท้อนการประนีประนอมระหว่างวิถีพุทธกับระบอบการปกครองคอมมิวนิสม์อย่างแยบยล, สุสานทหารเวียดนามในเมืองกาสี ปิดท้ายด้วยถ้ำปิว (Piu) อนุสรณ์ความตายของ 374 ชีวิต หลังสหรัฐฯ ยิงจรวดเข้าไปในถ้ำ คร่าชีวิตผู้คนในพริบตา

4

นอกจากประวัติศาสตร์และร่องรอยของสงครามลับในลาว วินัยยังถ่ายทอดประสบการณ์ในลาวอย่างจริงจังปนติดตลกว่า การทำงานครั้งนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก ไม่ได้สวยงามเหมือนการถ่าย Vlog ทั่วไปในโลกออนไลน์ เพราะเขาต้องคุมแสงและบรรยากาศ โดยมีคำว่า ‘การรอคอย’ เป็นจังหวะสำคัญ ดังเช่นภาพของชาวบ้านที่เดินผ่านรถถังโซเวียต 

“ถ้าเรา ‘บูชายัญ’ ตัวเองด้วยความตั้งใจ หรือสู้กับตนเองด้วยความเหนื่อยยาก พระเจ้าหรืออะไรสักอย่างจะประทานอะไรมาให้ แต่เราต้องมีวินัยและสมาธิให้พร้อมต่อการรับมือที่มันจะโผล่ขึ้นมา มันไม่ใช่ว่าเราแค่ถ่ายให้ติด แต่ภาพต้องงดงาม มีความหมาย มีพลัง

“เช่น ลุงคนนี้โผล่มาตรงนี้ช่วงตอนเย็นกับกองใบไม้บนหลัง ไอ้เราก็เฮ้ย คุณมาจากไหน แล้วใบไม้เหมือนขนนกด้วย ดูไปดูมาคล้ายปกอัลบั้มของวงดนตรีร็อก Led Zeppelin อัลบั้ม The Song Remains the Same ที่มันมีเพลงดังๆ และมีคนขนฝืนข้างหลัง

“บางครั้ง การทำงานบางอย่างเกือบจะใช่ แต่อาจจะยังไม่ถึงขั้นว้าว แต่ถ้าอดทน เดี๋ยวสักพักมันจะมีอะไรโผล่ขึ้นมา” 

ภาพ: วินัย ดิษฐจร

ช่างภาพเล่าอย่างภาคภูมิใจ ก่อนจะเสริมต่อว่า การถ่ายภาพครั้งนี้มีอุปสรรคค่อนข้างเยอะ เพราะเขาต้องรักษาอารมณ์ของภาพให้เข้ากับเทคนิคที่ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการเก็บสัญญะที่เกี่ยวข้องกับสงคราม ความขัดแย้ง หรือการสร้างอารมณ์ร่วมด้วยความมืดสลัว เพื่อทำให้บรรยากาศดูเหมือนอยู่ในยุค 1970-1980s ในช่วงสงครามเย็น ซึ่งบางครั้งต้องรอให้ถึงเวลาโพล้เพล้ จึงจะลงมือถ่ายได้

สำหรับในเรื่องความปลอดภัย วินัยยอมรับว่า ตนเองก็กลัวไม่น้อยกับทริปครั้งนี้ โดยเฉพาะเรื่องโจรที่จะดักปล้นหรือทำร้ายร่างกายระหว่างทาง แต่ก็ถือว่าโชคดีที่รอดหวุดหวิดจากหลายเหตุการณ์มาได้ ซึ่งหากไม่นับการถูกกระสุนยิงถึง 4 ครั้ง ขณะทำข่าวม็อบในประเทศไทย เหตุการณ์ ‘สายคลัชขาด’ หลังกลับจากทริปถ้ำปิวก็ถือเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อีกอย่าง ทว่าโชคดีที่เขาถึงที่พักแล้ว ประกอบกับไหวพริบและประสบการณ์โชกโชน วินัยจึงเอาตัวรอดได้ในท้ายที่สุด 

ภาพ: วินัย ดิษฐจร

ช่างภาพวัย 60 ปีบอกว่า ทริปครั้งนี้ให้อะไรมากกว่าแค่ประวัติศาสตร์สงคราม แต่ยังได้เห็นมุมมองของลาวอีกด้านในปัจจุบัน โดยเฉพาะการรุกล้ำของทุนนิยมจากต่างชาติ จนทำลายทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของผู้คน ก่อนทิ้งท้ายว่า ในอนาคตนับจากนี้ เขาก็ยังมีแผนจะออกผจญภัยเพื่อเก็บเรื่องราวผ่านรูปภาพ 

‘กล้าหาญ’ หรือ ‘บ้าบิ่น’

อาจจะเป็นคำถามในใจของใครหลายคน เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้ แต่ไม่ว่าคุณจะมองผู้ชายคนนี้อย่างไร ผู้เขียนกลับเห็นแววตาที่เปี่ยมไปด้วยไฟในการทำงาน และพลังขับเคลื่อนสังคม ไม่แพ้คนรุ่นใหม่ตลอดการพูดคุย ราวกับจะบอกเป็นนัยสำคัญว่า อายุเป็นเพียงแค่ตัวเลข และอุปสรรคใดก็ตาม ไม่อาจเอาชนะความแข็งแกร่งภายในจิตใจของตัวเขาได้

และนี่น่าจะเป็นคำตอบว่า ทำไมวินัยจึงยังคงยืนเด่นในวงการสื่อมวลชน แม้อายุจะล่วงเลยในวัย 60 ปีแล้วก็ตาม

อ้างอิง

พวงทอง ภวัครพันธุ์, การต่างประเทศไทยในยุคสงครามเย็น, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ครั้งที่ 2 (2565).

https://www.voathai.com/a/a-47-2009-01-27-voa1-90652544/923066.html

https://www.voathai.com/a/a-47-2009-12-29-voa1-90647724/922448.html

Fact Box

-Biker's Journal of the Secret War in Laos เปิดให้เข้าชมที่ VS Gallery ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 22 กันยายน 2024 ทุกวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 12.30-18.00 น. https://maps.app.goo.gl/meiorzM5VC8nD74dA

Tags: , , , , , , , , , , , , , ,