มนุษย์มีวัฒนธรรมการต้มและดื่มเบียร์มามากกว่า 4,000 ปีก่อนคริสตกาลแล้ว ความนิยมในการผลิตและดื่มเบียร์นั้นกระจายออกไปในหลายภูมิภาคทั่วโลก อาทิ ยุโรป อเมริกาเหนือ ตะวันออกกลาง และเอเชีย ในปัจจุบัน เทรนด์การดื่มเบียร์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ‘คราฟต์เบียร์’ เบียร์ทำเองที่ใช้วัตถุดิบและส่วนประกอบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตอิสระรายย่อย โดยตลาดคราฟต์เบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้แก่ประเทศจีน ขณะที่เวียดนามเป็นประเทศที่ตลาดคราฟต์เบียร์ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สิ่งที่ชวนให้คิดคือตลาด ‘คราฟต์เบียร์ไทย’ เป็นอย่างไร
ในปี 2559 คราฟต์เบียร์จากสหรัฐอเมริกานำเข้ามาขายในประเทศไทย ใช้เวลาไม่นานความนิยมของคราฟต์เบียร์ก็เพิ่มสูงขึ้น เพราะกลิ่นและรสชาติที่แตกต่างจากเบียร์ไทยในท้องตลาด ทำให้ผู้คนหันมาสนใจและมีความคิดอยากผลิตคราฟต์เบียร์สัญชาติไทยเป็นของตัวเอง แต่ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย ทำให้ผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดเล็กไม่สามารถเปิดโรงงานเพื่อผลิตและจำหน่ายภายในประเทศได้ จึงต้องเปิดโรงงานในต่างประเทศแล้วนำเข้ามาจำหน่ายแทน ส่งผลให้คราฟต์เบียร์ไทยมีต้นทุนที่สูงขึ้นและเข้าถึงผู้บริโภคได้น้อยลง
ด้วยเหตุนี้จึงมีกลุ่มคนที่เล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ในการผลักดันคราฟต์เบียร์ ทั้งในแง่ธุรกิจและวัฒนธรรมการดื่มให้เติบโตและเสรีมากยิ่งขึ้น หนึ่งในนั้นคือ เบนซ์-ธนากร ท้วมเสงี่ยม ผู้ก่อตั้งเพจและกลุ่ม ‘ประชาชนเบียร์’ กลุ่มนักกิจกรรมที่มุ้งเน้นและผลักดันการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
เบนซ์พูดคุยกับ The Momentum และชวนคิดตามว่าประเทศไทยมีคนที่ผลิตเบียร์เก่งอยู่เยอะมาก แต่ผู้คนเหล่านี้ไม่ได้รับพื้นที่และโอกาสในการแสดงศักยภาพ เพราะกฎหมายชี้ว่าสิ่งที่พวกเขาทำมันผิด พวกเขาไม่มีสิทธิแม้กระทั่งต้มเบียร์ดื่มเอง ซึ่งโดยปกติแล้วควรเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้
“ผมมองว่าเบียร์ไม่ต่างจากอาหาร ไม่ต่างจากเครื่องดื่มทั่วไป ทุกคนมีสิทธิที่จะปรุงและดื่มอย่างไรก็ได้”
นอกจากเรื่องการผลักดันในด้านของกฎหมายแล้ว เบนซ์และกลุ่มประชาชนเบียร์ยังพยายามสื่อสารกับผู้คนให้รับรู้เรื่องคราฟต์เบียร์มากขึ้น ไม่ว่าจะผ่านการประชาสัมพันธ์ทางเพจประชาชนเบียร์ หรือการจัดอีเวนต์และเวิร์กช็อปต่างๆ
“สิ่งที่จะทำให้คราฟต์เบียร์ไทยประสบความสำเร็จได้คือผู้คน ในเรื่องของกฎหมาย ถ้าไม่มีคนสนับสนุน รัฐก็ไม่เห็นสิ่งที่เราทำ ในเรื่องของธุรกิจ ถ้าไม่มีใครดื่มมันก็เปล่าประโยชน์ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือผู้คนที่รักในการดื่มเบียร์” เบนซ์กล่าวเสริม
เมื่อวันที่ 28-29 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ประชาชนเบียร์ร่วมมือกับ ‘The Jam Factory’ จัดงานคราฟต์เบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ‘Beer Days’ งานรวมพลคนรักคราฟต์เบียร์ โดยรวบรวมแบรนด์คราฟต์เบียร์มากกว่า 100 ร้านให้ผู้คนได้เลือกชิม นอกจากนี้ยังมีแบรนด์สุราชุมชนให้ลิ้มลองอีกด้วย ซึ่งนับเป็นปีที่ 2 แล้ว หลังจากการจัดงานในปีแรกได้รับผลตอบรับดีเกินคาด
บรรยากาศภายในงานมีบูธแบรนด์คราฟต์เบียร์ สุรากลั่นชุมชน และสาโท อาทิ ‘Mahanakhon Brewery’ คราฟต์เบียร์แบรนด์ไทยที่มีชื่อเสียงโด่งดังและได้รับความนิยมจนสามารถเปิดโรงงานในประเทศไต้หวัน หรือจะเป็นแบรนด์สุราชุมชนอย่าง ‘สุราม้าแก้วมังกร’ สุราชุมชนจากจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ใช้สับปะรดจากพื้นที่ตำบลห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งถือว่าเป็นสุราชุมชนที่ได้รับความนิยมอีกแบรนด์หนึ่ง
นอกจากนี้ยังมีแบรนด์คราฟต์เบียร์และสุราชุมชนอื่นๆ อีกมากมายที่มีผู้คนสนใจเลือกซื้อและเลือกชิมกันตลอดทั้งงาน ไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้นที่อุดหนุนคราฟต์เบียร์ไทย ชาวต่างชาติก็ให้ความสนใจไม่แพ้กัน ซึ่งภายในงานเราจะเห็นได้ว่ามีชาวต่างชาติที่เป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ
เบนซ์เผยว่าจุดประสงค์ในการจัดงานเบียร์เดย์ไม่เพียงแต่เป็นการทำให้คราฟต์เบียร์เป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่เป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์และขยายแนวร่วมให้ผู้คนรับรู้ว่ากฎหมายเหล้าเบียร์ในไทยตอนนี้เป็นอย่างไร เพราะเหตุใดศักยภาพในการปรุงเบียร์ของคนไทยที่เก่งขนาดนี้ถึงยังไปไม่ถึงไหนในระดับสากล จึงนำความคิดนี้ไปปรึกษา ส.ส. เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร จากพรรคก้าวไกล อดีตนักศึกษาที่เคยถูกจับเรื่องต้มคราฟต์เบียร์ภายในบ้าน จนนำมาสู่การผลักดัน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า และดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและเจ้าของ The Jam Factory .
“ความคิดแรกของผมคืออยากจัดงานที่คนทำเบียร์ได้โชว์ของ และคนทั่วไปได้ดื่มเบียร์รสชาติดีในราคาถูก เลยนำเรื่องนี้ไปปรึกษาพี่เท่า (เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร) กับพี่ด้วง (ดวงฤทธิ์ บุนนาค) ทั้ง 2 คนเห็นด้วยและมีความคิดร่วมกันว่า อยากทำให้คราฟต์เบียร์เป็นที่รู้จักมากขึ้น พวกเราจึงร่วมกันจัดงานนี้ขึ้นมา”
ก่อนหน้านี้มีประเด็นที่เป็นข้อเรียกร้องเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดถูกผูกขาดการผลิตจากนายทุนรายใหญ่ เนื่องจากพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ที่กำหนดปริมาณการผลิตขั้นต่ำ 1 แสน ลิตรต่อปี และต้องมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นการปิดกั้นผู้ผลิตรายย่อย ด้วยเหตุนี้ เท่าพิภพจึงเสนอร่าง ‘พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า’ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายย่อยสามารถขอใบอนุญาตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ รวมถึงกลุ่มประชาชนเบียร์ที่ช่วยกันดันเพดานจากการแสดงเชิงสัญลักษณ์และการประชาสัมพันธ์เรื่องคราฟต์เบียร์ให้เป็นที่สนใจมากยิ่งขึ้น ก่อนที่ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า จะถูกคว่ำร่างกฎหมายด้วยคะแนนเสียงไม่เห็นด้วย 196 ต่อ 194 เสียง
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่กฎกระทรวงการผลิตสุราฉบับใหม่ ปี 2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป โดยยกเลิกการใช้กฎกระทรวงการผลิตสุรา ปี 2560 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านของกฎหมาย และเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายย่อยเพิ่มขึ้น โดยข้อกฎหมายหลักที่เปลี่ยนไป คือไม่กำหนดปริมาณการผลิตขั้นต่ำ แต่ต้องมีเครื่องจักรที่ได้มาตรฐานตามที่กำหนดและไม่กำหนดทุนจดทะเบียน
ถึงแม้กฎกระทรวงการผลิตสุราจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามข้อเรียกร้อง แต่เป็นไปเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะยังมีข้อเรียกร้องบางข้อที่ยังไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลง หรือไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้อง เช่น โรงงานผลิตสุราขาวยังต้องมีปริมาณการผลิตขั้นต่ำ 9 หมื่นลิตรต่อวัน หรือการผลิตสุราเพื่อบริโภคเองที่ต้องขอใบอนุญาตต่ออธิบดี แต่อนุญาตเพียง 200 ลิตรต่อปี ซึ่งพรรคก้าวไกลมองว่าการออกกฎกระทรวงผลิตสุราก่อนหน้าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นเพียงกุศโลบายเพื่อคว่ำร่างกฎหมายเท่านั้น
“ผมอยากอัปเดตเรื่องกฎการผลิตให้มันเข้าสู่ยุคปัจจุบันมากขึ้น ในตอนนี้ใบอนุญาตที่สุราชุมชนมีคืออนุญาตให้ทำแต่เหล้าขาวเท่านั้น ซึ่งมันเป็นปัญหากับผู้ประกอบการที่สามารถผลิตเหล้าชนิดอื่นออกมาได้แต่ถูกจำกัด จึงอยากให้ผลักดันเรื่องการทำสุราสี สุราพิเศษ สุราผสมพิเศษ เพราะคนไทยมีความสามารถที่ทำได้ แต่ไม่สามารถทำให้ถูกกฎหมายได้” ทวีชัย ทองรอด เจ้าของสุราชุมชนแบรนด์สังเวียน กล่าวเกี่ยวกับความต้องการในเรื่องกฎหมายสุราชุมชน
นอกจากนี้ทวีชัยยังพูดเสริมว่าหากกฎหมายเรื่องสุราเอื้อต่อผู้ประกอบการรายย่อยมากเท่าใด ก็เป็นประโยชน์กับเกษตรกรมากเท่านั้น เพราะเหล้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ผลผลิตทางการเกษตรเยอะมาก ยกตัวอย่างจากการผลิตเหล้าของแบรนด์สังเวียนนั้นถ้าใช้อ้อย 3 ตัน นำมากลั่นเป็นเหล้าได้เพียง 100-200 ลิตร เท่ากับว่าในการผลิตเหล้าในปริมาณที่มากขึ้น ต้องใช้ผลผลิตทางการเกษตรในจำนวนที่มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งถือว่าเป็นการส่งเสริมภาคการเกษตรด้วย
“มันเปลี่ยนแปลงไปในเชิงของผู้บริโภคที่รู้จักคราฟต์เบียร์มากขึ้น และเปิดใจยอมรับที่จะลอง แต่ในแง่ของกฎหมายผมมองว่ามันยังไม่เปลี่ยนขนาดนั้น ซึ่งกฎหมายใหม่มันไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยทำแล้วขายง่ายขึ้น” น้ำเชี่ยวเผย
อย่างไรก็ตาม งาน ‘Beer Days’ ไม่เพียงแต่แสดงถึงศักยภาพของคนทำคราฟต์เบียร์ในประเทศไทย แต่ยังแสดงถึงความแข็งแรงทางธุรกิจที่สามารถต่อยอดและส่งเสริมในหลายด้านได้ในอนาคต หากพวกเขามีพื้นที่ในการประกอบอาชีพได้อย่างอิสระ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาครัฐว่าจะมีนโยบายหรือแนวทางในการสนับสนุนอย่างไร
Tags: Out and About, ประชาชนเบียร์, Beer Days, สุราประชาชน, คราฟต์เบียร์