เมื่อพูดถึงนิทรรศการศิลปะ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงคิดว่า ผลงานที่จัดแสดงภายในงานคงมาจากศิลปินมีชื่อเสียง รวยประสบการณ์ และผลงานที่เต็มไปด้วยความหมายลึกล้ำจับต้องยาก จนคนธรรมดาได้แค่ยืนชมผลงาน แต่อาจจะไม่เข้าใจความหมายหรือรู้สึกร่วมกับมันจริงๆ

ทว่าในวันที่ตบเท้าก้าวขึ้นไปบนชั้น 7 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ที่กำลังจัดแสดงผลงานศิลปะจาก ‘โครงการบ่มเพาะและสร้างเครือข่ายศิลปินรุ่นใหม่ ครั้งที่ 8’ หรือในชื่อที่คนศิลปะเรียกกันติดปากว่า ‘Early Years Project (EYP) #8’ กลับให้ความรู้สึกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อเทียบกับการไปดูงานศิลป์อื่นๆ

งานศิลปะที่จัดแสดงใน Early Years Project (EYP) #8 ไม่ใช่ผลงานที่ต้องอาศัยการตีความมากมายอะไร แต่มันเป็นเพียงผลงานศิลปะที่สร้างจากมุมมองต่อปัญหาสังคมหลายด้านของศิลปินหน้าใหม่ทั้ง 8 คนที่เชื่อว่า ใครก็ตามที่ได้เชยชมคงเข้าใจเจตนารมณ์ ที่ศิลปินต้องการสื่อสารผ่านเทคนิคศิลปะที่หลากหลาย จนคนธรรมดาอย่างเราๆ เกิดความรู้สึกร่วมกับผลงานนั้นไปด้วย

ก่อนจะเริ่มเดินสำรวจผลงานทั้ง 8 ชิ้น The Momentum อยากชวนผู้อ่านทำความรู้จักโครงการ Early Years Project เสียก่อน โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการคือ สนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัย ด้วยการพัฒนาทักษะ ความรู้ และเสริมประสบการณ์ ผ่านการเวิร์กช็อปกับผู้เชี่ยวชาญของโครงการ เพื่อสร้างคอนเนกชันระหว่างศิลปินหน้าใหม่กับคนในแวดวงศิลปะ พร้อมทั้งผลักดันศิลปินสู่ระดับสากล ผ่านโปรแกรม Residency และ Internship

ด้านคุณสมบัติของผู้สมัคร ต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป ไม่จำกัดการศึกษา วิชาชีพ และสัญชาติ (สื่อสารภาษาไทยได้) ขอเพียงมีใจรักศิลปะ และพร้อมเปิดรับความเห็นหรือคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญตลอดการเวิร์กช็อป เพราะมันถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ศิลปินต้องเผชิญ เมื่อก้าวเข้าสู่สังคมศิลปะที่เต็มไปด้วยคำวิจารณ์และความคิดเห็นมากมาย จากผู้ชมที่หลากหลายในสังคม

The Momentum ได้มีโอกาสคุยกับ ปู-เพ็ญวดี นพเกตุ มานนท์ หัวหน้าฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปกรุงเทพฯ ที่มาเล่าให้เราฟังถึงโครงการ Early Years Project โดยครั้งนี้เป็นการผลิตศิลปินหน้าใหม่สู่สังคมเป็นปีที่ 8 แล้ว และสะท้อนความหมายของแนวคิด ‘Be Your Own Island ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน’ ซึ่งเป็นธีมหลักของโครงการในปีนี้ที่เธอมองว่า มันคือสิ่งที่ศิลปินทุกคนในสภาวะสังคม ณ วันเวลานี้ ควรเข้าใจและคำนึงถึง

“การเมืองโลก สังคมโลกมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ด้วย ถ้าศิลปะไม่สอดคล้องกับสังคมโลก ศิลปินก็อยู่ยาก แต่ไม่ได้แปลว่าต้องตามกระแสสังคม แค่ต้องทันกระแสสังคม หมายความว่า โลกกําลังเปลี่ยนไปสู่ยุคที่เราไม่เคยเจอมาก่อน ไม่มีใครหลีกหนีได้

“ยิ่งคุณอยู่ในวงการศิลปะ ที่มันแทบจะไม่มีการซัพพอร์ตอยู่แล้ว ถ้าคุณไม่แข็งแรงด้วยตัวเอง ยืนอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ พึ่งพาตัวเอง ไม่ได้ ยืดหยุ่นไม่เป็น คุณก็ต่อยอดไม่ได้”

ประโยคข้างต้นคือสิ่งที่เธอบอกเรา เมื่อถามถึงที่มาของแนวคิดโครงการในปีนี้ เธอมองว่าการที่ศิลปินจะสามารถ ‘ยืนระยะ’ อยู่ในวงการได้ยาวนานนั้น ควรเริ่มจากการที่ต้องถูกบ่มเพาะ ให้เป็นส่วนหนึ่งกับชิ้นงานศิลปะได้ด้วยตัวเองเสียก่อน

นับตั้งแต่เริ่มคิดชิ้นงาน, นำเสนอผ่าน Proposal, รับฟังความเห็นกรรมการ, ปรับปรุงตามคำแนะนำ มาจนถึงติดตั้งผลงานด้วยตัวเอง ซึ่งกระบวนการข้างต้นคือ สิ่งที่เหล่าศิลปินหน้าใหม่ในโครงการได้สัมผัสในช่วงเวิร์กช็อป

“ถ้าเราไม่สร้างภูมิคุ้มกันให้ศิลปินสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ศิลปินที่มีโอกาสน้อยอยู่แล้ว ก็จะยิ่งเดินต่อยาก เพราะฉะนั้นเราถึงได้ใช้ชื่อ Be Your Own Island เพราะอยากให้ศิลปินฝึกที่จะเป็นตัวของตัวเอง พึ่งพาตัวเองและสามารถยืนอยู่ได้”

โดยเธอหยิบยกถึงอีกหนึ่งคีย์เวิร์ดหลักของโครงการคือ ‘ความยืดหยุ่น’ หรือ ‘Resilient’ ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดและรากฐานสำคัญที่คณะกรรมการมองหาในตัวศิลปิน 20 คนสุดท้าย ที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกและได้เข้าร่วมเวิร์กช็อป จนคัดเหลือเพียง 8 คนสุดท้าย

หลังจากพูดคุย ปูทำให้เราเข้าใจว่า ในบรรดา 20 ศิลปิน แต่ละคนล้วนมีเอกลักษณ์และเสน่ห์ที่แทรกซึมอยู่ในผลงานของพวกเขาทั้งสิ้น เพียงแต่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถปรับตัวระหว่างที่กำลังเดินอยู่บนเส้นทางการบ่มเพาะศิลปินของโครงการได้ นั่นเองคือเหตุผลที่ผลงานทั้ง 8 ชิ้น ที่จัดแสดงภายในนิทรรศการนี้ ล้วนมาจากฝีมือและความตั้งใจของศิลปินที่ได้รับการยืนยันแล้วว่า สามารถสะท้อนแนวคิด ‘Be Your Own Island ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน’ ได้มากที่สุด 

เมื่อได้รู้ถึงที่มาของโครงการและความตั้งใจของคนเบื้องหลังที่ต้องการสร้างและผลักดันศักยภาพของศิลปินหน้าใหม่หลายๆ คนที่ต้องการใช้พื้นที่แห่งนี้ในการสร้างชื่อ สะท้อนสังคม และเป็นกระบอกเสียงเพื่อปัญหาบางอย่างที่ไม่เคยได้รับการพูดถึงมาก่อน ก็ถึงเวลาสมควรที่ The Momentum จะพาผู้อ่านออกเดินสำรวจผลงานศิลปะที่สร้างขึ้นผ่านสายตาคนรุ่นใหม่แล้ว

01

ใต้คลื่นวิกฤต: บทสะท้อนชีวิตจากความผิดปกติในดินแดนปลายด้ามขวาน

เริ่มที่ผลงานจาก ‘นิติธร หนูกลิ่น’ ศิลปินชายวัย 25 ปี จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่มาพร้อมผลงาน ‘กัมมะพันธุ’ แอนิเมชัน ความยาว 10.46 นาที, ‘ไม่มีชื่อ (2567), วิดีโอจัดวาง ความยาว 4.47 วินาที, ‘ไม่มีชื่อ (2568)’ วิดีโอจัดวาง ความยาว 10 วินาที, และผลงานประติมากรรม ‘NEW species’

ผลงานนี้หลอมรวมแรงบันดาลใจจากวิกฤตสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นในดินแดนปลายด้ามขวานของไทยที่เขามองเห็น เริ่มจากป่าดิบชื้นที่ถูกแทนที่ด้วยพืชเชิงเดี่ยว เกิดเป็นการเสียสมดุลของระบบนิเวศ ไปจนถึงท้องทะเลที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสีฟ้าคราม แต่ปัจจุบันกลับเต็มไปด้วยมลพิษ อันนำมาสู่การเดินทางมาถึงของความล่มสลายทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับพะยูน ปะการัง และเต่าทะเล สัตว์ซึ่งล้วนเป็นสัญลักษณ์แห่งท้องทะเลใต้

โดยนำเสนอปัญหาผ่านผลงานที่ถูกย้อมด้วยสีสันสดใส ฉูดฉาด ซึ่งในมุมหนึ่งอาจจะสามารถมองได้ว่า เป็นการเพรียกหาความสนใจจากผู้คนในสังคม ให้มองมาที่ปัญหาอันดำมืดที่กำลังก่อตัวในภาคใต้

ผลงานนี้สะท้อนถึงความพยายามของธรรมชาติ ในการตอบโต้และทวงคืนดุลยภาพด้วยความรุนแรง อันเกิดจากเงื้อมมือมนุษย์ ที่หากเรายังคงเฉยเมยต่อสถานการณ์ตรงหน้า ไม่ช้านานก็ทุกคนคงต้องรับสภาพความเป็นไป พร้อมดิ้นรนค้นคว้าทางรอดในโลกที่พังสลายไปในที่สุด

02

หน้ากาก ตัวตน และบทสนทนาระหว่างโลกภายนอกและความปรารถนาภายในใจ

เมื่อเดินต่อมาจะพบกับผลงาน ‘Persona’ ของ ‘พิพัฒน์พงศ์ ศรีเพ็ง’ ศิลปิน LQBTQIA+ วัย 25 ปี จากกรุงเทพฯ กับผลงานชื่อ ‘ตุ๊กตา 33 ตัว’ ที่ทำจากสิ่งทอ เปเปอร์มาเช่ และสิ่งของเหลือใช้ และผลงานสื่อผสมอื่นๆ เช่น ภาพวาดฝาผนัง งานวาดเส้น หน้ากาก และเสื้อผ้าตุ๊กตา ที่มาพร้อมกับ ‘Haunting’ เสียงความยาว 5.50 นาที ที่เปิดคลอท่ามกลางผลงานทั้งหลาย

แม้ว่าในภาษาเขียน สิ่งของต่างๆ ในผลงานนี้ อาจจะดูน่ารักชวนฝัน แต่จริงๆ ผลงานนี้มันกำลังชวนเราไปสำรวจการเดินทางของจิตวิญญาณของศิลปินจากครอบครัวชนชั้นกลาง-ล่าง ผู้ต้องกดทับเพศวิถีและตัวตนที่แท้จริง รวมถึงความอับอายจากโรคตาบอดสีและโรคหลงผิด ด้วยการสวมสิ่งที่ศิลปินนิยามว่า ‘หน้ากากบุคลิกภาพ’ นานนับหลายปี เนื่องจากมันเป็นหนทางเดียวของการอยู่รอดในสังคมที่ศิลปินเติบโตมา จนกระทั่งถึงจุดที่เขาไม่สามารถเสแสร้ง แกล้งสวมบทเป็นเด็กดี และทำตัวเป็นผู้ชายที่แข็งแกร่งไร้ความอ่อนไหว งานศิลปะจึงเป็นตัวเลือกในการปลดปล่อยความอึดอัดที่สะสมมานาน 

ศิลปินใช้ตุ๊กตาที่ผ่านการเย็บปะของผ้าหลายชิ้น หลากแพตเทิร์น มากสีสัน ในขณะเดียวกันมันกลับถูกดึงความสนใจด้วย หน้ากากสีน้ำตาล หน้าตาอมทุกข์ที่อยู่ข้างกาย ซึ่งศิลปินใช้เป็นเกราะป้องกันความเจ็บปวดจากสังคมที่ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ เป็นวัตถุทดแทน (Proxy Object) คอยทำหน้าที่เป็นดั่ง ‘ร่างทรง’ หรือ ‘มาสคอต’ ตามคำบรรยายผลงาน เพื่อบอกเล่าถึงความขัดแย้งระหว่างภาพลักษณ์ภายนอกกับความรู้สึกภายในจิตใจของศิลปิน ทำให้ผู้ที่ได้เห็นการเดินทางจากความมืดมิดสู่แสงสว่างแห่งการยอมรับตนเอง และบทสนทนาระหว่างตัวตนในอดีต ปัจจุบัน และความหวังในอนาคตของคนคนหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่ายังมีคนอีกมากมายบนโลกที่ต้องเผชิญความรู้สึกเช่นนี้

 03

ภาชนะแห่งจินตนาการและการเดินทางข้ามกาลเวลา 

ถัดมาที่ผลงานของ ภาพิมล หล่อตระกูล ศิลปินหญิงวัย 35 ปี จากกรุงเทพฯ กับผลงานศิลปะที่ชวนเรามองภาชนะเป็นดั่งเครื่องบรรจุความต้องการของมนุษย์ และชวนเราคิดต่อว่า หากอารยธรรมเป็นเสียงกระซิบข้ามกาลเวลา ภาชนะก็เปรียบเสมือนภาษาที่มนุษย์ใช้สื่อสารกับอนาคต

ผลงานชุด ‘Vessel’ นำเสนอภาชนะ 6 ใบ ขนาดเล็กใหญ่ต่างกันไป บางอันเป็นเพียงก้อนเล็กๆ ขณะที่บางอันเป็นภาชนะขนาดใหญ่ที่มีแผ่นเสียงไวนิลสีเหลืองสดหมุนวน สะท้อน 6 จินตนาการถึงโลกอนาคต ที่ภาชนะไม่เพียงแต่เป็นวัตถุจับต้องได้ แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความปรารถนาอันไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์ ตั้งแต่การมีชีวิต ความทรงจำ ความหวัง ความฝัน และการใคร่ครวญ

การเลือกวัสดุที่หลากหลาย ตั้งแต่เซรามิกดั้งเดิม ไปจนถึงซิลิโคนสมัยใหม่ และสื่อผสม เป็นการสร้างเส้นทางวิวัฒนาการของวัสดุและเทคโนโลยี สะท้อนการเปลี่ยนผ่านจากอดีต ปัจจุบัน สู่อนาคตอันไม่แน่นอน

แม้ว่ารูปลักษณ์ของภาชนะ 6 ใบ อาจดูเกินจริงและหลุดโลกสำหรับใครบางคน แต่เมื่อลองเปรียบเทียบกับความคิดและความเชื่อของมนุษย์ ตั้งแต่กล่องแพนดารา (Pandora’s Box) ภาชนะตามตำนานเทพปกรณัมกรีก ว่าด้วยกล่องที่บรรจุความชั่วร้ายทั้งหมดของโลก ที่เมื่อเปิดออก ความทุกข์โศกจะแพร่กระจาย จนถึงจอกศักดิ์สิทธิ์ (Holy Grail) ภาชนะสุดท้ายที่พระเยซูใช้ในมื้ออาหาร ตามตำนานยุโรปและศาสนาคริสต์ อันเป็นสัญลักษณ์ของความอยู่รอดและชีวิตนิรันดร์ ซึ่ง ณ เวลาหนึ่ง ดูเป็นสิ่งที่เกินจินตนาการ แต่ด้วยความสามารถในการเชื่อมโยงความเป็นไปได้และสร้างสถานการณ์ต่างๆ ของมนุษย์ ทำให้เรามองว่า ภาชนะทั้ง 6 ใบเหล่านั้นดูไม่ไกลเกินเสียเท่าไร

ผลงานนี้จึงเปรียบเสมือนกระจกสะท้อนให้เราได้เห็นว่า ทุกการกระทำในตอนนี้คือ เมล็ดพันธุ์ความรู้แห่งโลกอนาคต และภาชนะที่ถูกสร้างขึ้นในวันนี้ อาจกลายเป็นวัตถุความทรงจำที่บอกเล่าเรื่องราวของเราในอีกหลายพันปีข้างหน้า

04

ความผันแปรของวิถีปฏิบัติ ในวันที่สื่อมีอำนาจเหนือความคิด

เดินต่อมาอีกนิดจะเจอทางเดินที่รายล้อมไปด้วยทีวี 7 จอ ที่ภายในแสดงคลิปข่าว สถานการณ์ ภาพเหตุการณ์หลากหลายที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จนยากจะรู้ได้ว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าคืออะไร เพราะไม่กี่วิมันก็แปรเปลี่ยนเป็นสิ่งอื่น ซึ่งนั่นเองคือผลงาน ‘Hyper Inter Me’ ของ ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ ศิลปินชายวัย 27 ปี จากจังหวัดสุโขทัย

อย่างที่กล่าวข้างต้นว่า ภาพในจอเต็มไปด้วยเหตุการณ์มากมาย ที่ไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรเป็นอะไร ซึ่งมันเป็นหัวใจหลักของผลงานนี้ ที่ต้องการพูดถึงสภาวะสังคมปัจจุบันที่ข้อมูลข่าวสารเคลื่อนไหวเร็วกว่าแสง เสียง รวมถึงความคิด พร้อมชวนเรามองความสัมพันธ์ของมนุษย์ ที่ ณ เวลานี้มักถูกนิยามผ่านหน้าจอ นำไปสู่ความเลือนรางระหว่างเส้นแบ่งความเป็นส่วนตัวกับสาธารณะ ที่ทำให้ชีวิตชาวเน็ตกลายเป็นการแสดงที่ไม่มีวันปิดม่าน

เมื่อได้ยืนดูผลงานสักพัก ผู้เขียนก็เข้าใจถึงสิ่งที่เขาต้องการจะนำเสนอ เพราะทำให้ผู้เขียนคิดถึงวิถีแห่งการรับรู้ข้อมูลที่เปลี่ยนไปของมนุษย์ส่วนใหญ่ ที่แต่เดิมการเสพข้อมูลข่าวสารต้องทำอย่างระมัดระวังและลึกซึ้ง สู่การกลืนกินเนื้อหาที่มอบความสุขเพียงฉับพลัน แต่ไม่ได้หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณหรือนำไปสู่การคิดวิเคราะห์อย่างเป็นแบบแผน อีกทั้งยังชวนมองวิถีปฏิบัติอันตื้นเขินของมนุษย์อินเทอร์เน็ต (รวมถึงผู้เขียนเองด้วย) ที่สมยอมนำชีวิตส่วนตัวไปปักหมุดในแผนที่ดิจิทัล เพื่อสร้างตัวตนเสมือนที่บางครั้งก็ใกล้เคียงความจริง บางครั้งก็เป็นเพียงความฝันถึงสิ่งที่ปรารถนาจะเป็น ด้วยความหวังว่า จะช่วยสร้างตัวตนในโลกออนไลน์ได้ไม่มากก็น้อย

ผลงานนี้จึงไม่เพียงเป็นการบันทึกการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ศิลปินต้องการนำเสนอ แต่ยังเป็นการเตือนสติผู้ชมทุกคนให้ตระหนักถึงอำนาจในยุคดิจิทัล ที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกออนไลน์ ที่บางครั้งตัวตนและตรรกะกำลังถูกควบคุมจากโลกภายนอกที่มองไม่เห็น

05

การค้นพบความงามท่ามกลางสภาวะที่ถูกหมางเมิน 

ต่อมาที่ผลงานจาก อภิสรา ห่อไพศาล ศิลปินหญิงวัย 26 ปี จากกรุงเทพฯ เธออธิบายจุดประสงค์ของงานไว้ว่า “หวังว่าจะทำให้ผู้ชมใช้เวลามองชิ้นงาน ตั้งคำถามถึงที่มาที่ไปของวัสดุ เทคนิค ผ่านมุมมองเดียวกับการมองสิ่งที่ไม่เคยตั้งใจสังเกตเห็นในชีวิตประจำวัน เช่น มองพื้น กำแพง สิ่งที่ถูกสร้างขึ้น และเห็นความเชื่อมโยงที่ซ่อนอยู่ในทุกสิ่งรอบตัว เพื่อค้นพบความเป็นไปได้ที่ซ่อนอยู่ภายใต้กรอบความคิดเดิม”

ผลงานศิลปะภายใต้การสร้างของเธอ จึงเต็มไปเป็นความแปลกใหม่จากวัตถุที่คุ้นหน้าค่าตา เช่น ต้นไม้สีเขียวขนาดเล็กๆ เพียง 1 ต้น บนอิฐบล็อกหมุนได้ หรือหนอนที่เกิดจากการร้อยเรียงด้วยกระดาษจากวัชพืชทรงกลมเข้าด้วยกัน ซึ่งในโลกความเป็นจริงเราไม่มีโอกาสได้เห็นภาพเช่นนี้เป็นแน่

เธอชุบชีวิตสิ่งที่คนอื่นพยายามกำจัด อย่างวัชพืชให้กลายเป็นวัตถุดิบทางศิลปะ ผ่านการทดลองทำกระดาษด้วยมือของเธอเอง เพื่อสะท้อนนัยสำคัญเชิงสัญลักษณ์ ตั้งแต่วัชพืช ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมไม่ต้องการ ถูกนำมาทำให้มีคุณค่าอีกครั้ง จนถึงกระบวนการผลิตกระดาษเอง เป็นการแสดงออกถึงความพยายามเข้าใจวัสดุอย่างลึกซึ้ง แทนที่จะใช้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป

ผลงานชุดนี้แสดงให้เห็นถึงการสลายขั้วระหว่างสิ่งที่มีคุณค่าและสิ่งที่ถูกละเลย เพราะเมื่อสิ่งที่ถูกมองข้ามและเหยียบย่ำ ถูกปฏิบัติด้วยความเข้าใจและการยอมรับ ของไร้ความหมายเหล่านั้นก็กลับมามีคุณค่าอีกครั้ง พร้อมทั้งเชื้อเชิญให้เขยิบระยะห่างระหว่างมนุษย์กับสิ่งของธรรมดาให้ใกล้กันมากขึ้น เพื่อค้นพบความสัมพันธ์ที่มีคุณค่าซึ่งกันและกัน

06

เย็บบาดแผลจากความทรงจำด้วยเส้นด้ายศิลปะ

เมื่อเดินต่อมาอีกนิดก็ต้องสะดุดตากับวัตถุขนาดใหญ่ที่ถูกปกคลุมด้วยผ้าหลากชนิดสีชมพูอ่อน ซึ่งเรามารู้ที่หลังว่ามันคือ ห้องน้ำหรือพวงมาลัยรถ ที่ถูกเย็บด้วยผ้าลูกไม้สีขาวแซมด้วยสีน้ำตาลเหมือนสีสนิมเปื้อนผ้า มุมหนึ่งเหมือนสีเลือดที่เจออากาศนานจนแปรสภาพเป็นสีน้ำตาล และวัตถุมากมาย ทั้งตะปู ไม้แขวนเสื้อ หมอน ซึ่งล้วนห่อหุ้มด้วยผ้าสวยๆ หลากชนิด

วัตถุข้างต้นล้วนเป็นอนุสรณ์ความเจ็บปวดจากอดีตของ พิชชาภา หวังประเสริฐกุล ศิลปินอายุ 26 ปี จากกรุงเทพฯ ที่เธอถ่ายทอดผ่านผลงาน ‘Things Left to Forget’ ว่าด้วยความทรงจำอันเจ็บปวด ที่ถูกปฏิเสธและบอกให้ ‘ลืม’ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเธอเมื่อครั้งอายุ 21 ในบ้านที่เธอเกิดและเติบโตขึ้น แม้ว่าร่างกายของเธอยังคงจดจำไว้ในทุกอณู ทั้งจากการกัดฟันยามค่ำคืน ภาพฝันถึงบ้านหลังเก่า และความกลัวที่คับแคบ ภาษาแห่งความทรงจำที่ปากไม่อาจเอ่ย ความทรงจำเหล่านี้ไม่เพียงคงอยู่ในใจ แต่ได้สลักลงในเนื้อหนังดุจรอยจารึกที่ไม่อาจลบเลือน ทำให้เธอเลือกเผชิญหน้ากับอดีตด้วยการสร้างสรรค์แทนการลบเลือน

เธอแปรเปลี่ยนวัตถุแห่งความรุนแรงในวัยเด็ก ด้วยกระบวนการตัดเย็บอันประณีต ทำให้วัตถุที่เคยทำร้ายเธอในวันนั้น ถูกนำมาสร้างใหม่ด้วยมือของผู้ถูกกระทำ เป็นการยึดคืนอำนาจและควบคุมความเจ็บปวดด้วยตัวเอง เธอไม่เพียงเปลี่ยนรูปลักษณ์วัสดุ แต่ยังให้นิยามความหมายใหม่กับสิ่งของที่เคยสร้างบาดแผลให้เธอ 

ผลงานนี้ไม่เพียงสะท้อนการเดินทางของศิลปินในการประจันหน้ากับบาดแผล แต่ยังวิพากษ์สังคมไทยที่มองความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องธรรมดาที่ควรเก็บซ่อน ในขณะที่วัตถุสามัญในบ้านที่ถูกใช้เป็นอาวุธกลับตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ที่เดิม ไม่เคยถูกโยกย้ายหรือทำลายทิ้ง

ผลงานชิ้นนี้จึงเป็นทั้งบันทึกความทรงจำเลวร้ายและเสียงสะท้อน ให้เราหันมาใส่ใจกับความรุนแรงที่สังคมมักเลือกจะลืม แม้ร่องรอยของมันยังคงปรากฏอยู่ในชีวิตของผู้เป็นเหยื่อ เธอใช้กระบวนการทางงานศิลปะสร้างภาษาใหม่ เพื่อสื่อสารประสบการณ์ที่คำพูดไม่อาจบรรยาย

07

การโยกย้ายของบ้านท่ามกลางความเปราะบางของชีวิตบนพื้นที่ชายขอบ

เมื่อมองออกไปอีกนิดก็จะเจอผลงาน ‘กว่าจะพบกันอีก (Till We Meet Again)’ จาก ลลิตา สิงห์คำปุก ศิลปินหญิงวัย 29 ปี จากจังหวัดเชียงราย ที่โดดเด่นด้วยฟุตเทจจริงของการดีดบ้านไม้ ผสานเข้ากับวิดีโอจากความทรงจำของบ้านที่ถูกยกสูงขึ้น พร้อมโครงสร้างจำลองบ้านไม้ที่โน้มเอียงและถูกค้ำจุน ซึ่งผู้ชมสามารถนั่งทับได้เพื่อชมฟุตเทจความยาว 5.20 นาที ที่กำลังเล่นวนลูปบนจอ และ ‘Goodbye for now’ ระเบียงไม้สีเขียวที่ติดอยู่กับกำแพงอาคาร ที่ผู้ชมต้องเงยหน้าดู และกรอบรูปภาพ 2 อัน แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของบ้าน ผ่านระดับความสูงของวัตถุและโคลนที่กองอยู่ที่ฐานกรอบรูป

สิ่งที่ผู้เขียนตกตะกอนได้จากการเดินสำรวจผลงานที่กระจัดกระจายรอบบริเวณคือ ชีวิตของคนในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมาร์ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่แขวนอยู่บนความไม่แน่นอนใน 3 ระดับ เริ่มจากระดับที่ 1 คือการเผชิญกับธรรมชาติที่แปรปรวนจากการกระทำของมนุษย์ ทำให้บ้านที่ต้อง ‘ดีด’ ให้สูงขึ้นกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดไม่รู้จบ ระดับที่ 2 คือความเปราะบางของบ้านเกิดเธอ ที่เส้นแบ่งไม่เคยชัดเจน ทั้งทางกายภาพและความรู้สึกเป็นเจ้าของ และระดับที่ 3 คือการหวนคิดถึงความทรงจำและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่กำลังจมหายไปพร้อมกับโคลนตมจากภัยพิบัติน้ำท่วม ดินถล่ม และน้ำป่าไหลหลาก ที่เกิดซ้ำซากบนดินแดนชายขอบ

ผลงานของเธอไม่เพียงเป็นการบันทึกวิธีการรับมือกับภัยธรรมชาติในท้องถิ่น แต่ยังชวนคิดว่าขีดจำกัดในการปรับตัวของมนุษย์ชายขอบ ท่ามกลางธรรมชาติที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงจะเป็นเช่นไรต่อไป เมื่อใดที่การยกบ้านให้สูงขึ้นจะไม่เพียงพออีกต่อไป เมื่อใดที่การค้ำจุนจะไม่สามารถรับน้ำหนักได้อีก และเมื่อถึงจุดนั้น เราจะ ‘พบกันอีก’ ในรูปแบบไหน

08

ตำนานโบราณผ่านมิติจินตนาการและจักรวาลพุทธ-ฮินดู

เดินทางมาจนถึงผลงานสุดท้ายกับ ‘The Elephant Cosmology: Fossils and Civilizations’ ของ ธนวัฒน์ นุ่มเจริญ ศิลปินวัย 29 ปี จากจังหวัดศรีสะเกษ ผู้ถักทอตำนานช้างเผือกแห่งบ้านเกิดเข้ากับจักรวาลวิทยาพุทธ-ฮินดู ผ่านการสร้างสรรค์หลากมิติทั้งภาพวาด ประติมากรรม และภาพพิมพ์

ผลงานชุดนี้มองช้างในฐานะศูนย์กลางจักรวาล เป็นทั้งผู้แบกโลก และประจักษ์พยานแห่งการเกิดขึ้นและล่มสลายของอารยธรรมมนุษย์ เขาหลอมรวมเรื่องเล่าท้องถิ่นเกี่ยวกับการไล่ล่าช้างเผือกที่นำไปสู่การสถาปนาเมืองศรีสะเกษ กับประวัติศาสตร์อาณาจักรขอมโบราณ เป็นการหยิบข้อเท็จจริงมาผสมผสานกับจินตนาการ ผ่านรูปแบบการจัดแสดงผลงานแบบพิพิธภัณฑ์โบราณคดี ทำให้คนดูเหมือนหลุดไปในห้องเรียนประวัติศาสตร์ แม้จะอยู่ในนิทรรศการศิลปะ

ผลงานชิ้นนี้ไม่เพียงมอบความสุขทางตาเมื่อได้ชม แต่ยังท้าทายสมองของเราเมื่อพูดถึงเรื่องประวัติศาสตร์ เพราะกำลังตั้งคำถามกับโครงสร้างความรู้แบบตะวันตกที่แยกมนุษย์ออกจากสัตว์และธรรมชาติ และมองธรรมชาติเป็นเพียงทรัพยากรให้มนุษย์ใช้สอย ในขณะที่จักรวาลวิทยาแบบพุทธ-ฮินดู มองความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอย่างเชื่อมโยงและเคารพซึ่งกันและกันมากกว่า พร้อมตอกย้ำว่า ประวัติศาสตร์ไม่ใช่สิ่งตายตัว แต่เป็นวัตถุดิบที่สามารถถูกตีความใหม่ได้เสมอ

เสียงคนรุ่นใหม่ ในวันที่ต้องใส่ใจโลก

หลังจากเดินสำรวจผลงานอยู่พักใหญ่ก็ได้เวลากลับมาคิดว่า ผลงานแต่ละชิ้นมีจุดร่วมเดียวกันตรงไหนบ้าง ซึ่งเรามองว่า ผลงานในนิทรรศการนี้กำลังทำหน้าที่การเป็นกระจกสะท้อนความจริง และตีแผ่ประเด็นสังคมที่บางครั้งเราเลือกมองข้าม ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตสิ่งแวดล้อม การถูกกดทับอัตลักษณ์ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความรุนแรงในครอบครัว และการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมในแต่ละยุคสมัย

 ศิลปินแต่ละคนสร้างงานศิลปะพิเศษที่เป็นมากกว่าการนำเสนอความงามทางสุนทรียศาสตร์ แต่เป็นตัวแทนแห่งการตั้งคำถามต่อโลกที่กำลังแปรเปลี่ยน นิทรรศการนี้จึงไม่เพียงเป็นพื้นที่แสดงผลงาน แต่เป็นเวทีแห่งการสนทนาระหว่างศิลปินรุ่นใหม่ ผู้ชม และสังคม พร้อมย้ำเตือนใจเราว่า ศิลปะยังคงเป็นเครื่องมือทรงพลังในการกระตุ้นสำนึก และอาจเป็นเข็มทิศนำทางสู่อนาคตที่เราปรารถนาจะสร้างร่วมกัน

“เราเห็นโลกหนึ่งใบที่กําลังหมุนไปผ่านสายตาเด็ก เด็กรุ่นใหม่เขากำลังสะท้อนมุมมองบางอย่างที่เรานึกไม่ถึง ถ้าคุณได้มาดู ก็อาจเห็นโลกของเขา เพื่อที่จะสะท้อนความคิดบางอย่างกลับไปที่โลกของพวกคุณอีกทีหนึ่ง จริงๆ อันนี้น่าจะเป็นไฮไลต์ของโชว์ครั้งนี้เลย” ปูกล่าว

 



Fact Box

นิทรรศการ Early Year Project #8 เปิดให้เข้าชมฟรีจนถึง 29 มิถุนายน 2568 เปิดทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00-20.00 น. (ปิดทำการวันจันทร์) ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)

Tags: , , , , , , , , , , , ,