ย้อนกลับไปเช้าตรู่วันที่ 28 มิถุนายน 1969 ณ สโตนวอลล์อินน์ (Stonewall Inn) บาร์เกย์ในย่านกรีนิชวิลเลจ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกเข้าตรวจค้นโดยอาศัยกฎหมายเกี่ยวกับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และตรวจสอบสิ่งผิดกฎหมายอื่นๆ และได้ทำการตรวจค้นคนในบาร์ ให้คนที่แต่งตัวเป็นผู้หญิงเข้าไปในห้องน้ำ ถ้าพบว่าไม่ใช่ผู้หญิงแต่กำเนิดก็จะทำการจับกุมในข้อหาแต่งกายไม่เหมาะสมตามเพศ แน่นอนว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นการปฎิบัติโดยไม่ชอบ นำไปสู่การขัดขืนของผู้คนในวันนั้น จนนำไปสู่ความรุนแรงและเหตุจลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots) อันเป็นต้นกำเนิดของขบวน Gay Pride ในเวลาต่อมา

ส่วนสาเหตุที่ตำรวจทำเช่นนั้น สืบเนื่องมาจากในช่วงทศวรรษที่ 1960s ได้มีการออกกฎหมายห้ามไม่ให้ประชาชนแต่งตัวผิดกับเพศสภาพ รวมไปถึงย่านกรีนิชวิลเลจ เป็นที่ตั้งของผับบาร์จำนวนมากที่ควบคุมกิจการโดยกลุ่มมาเฟีย ซึ่งมักถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมลูกค้าและหาเรื่องอยู่บ่อยครั้ง สโตนวอลล์อินน์จึงเป็นบาร์ที่ถูกตำรวจเพ่งเล็งเป็นพิเศษทั้งในฐานะ บาร์ในย่านมาเฟีย และเป็นแหล่งสังสรรค์ของกลุ่ม LGBTQ+

กลับมาที่เหตุจลาจล จุดพลิกผันที่นำไปสู่ความรุนแรงคือเมื่อเจ้าหน้าที่เริ่มนำคนในร้านออกไปข้างนอก และตำรวจตีศีรษะของลูกค้าผู้หญิงคนหนึ่งที่แต่งตัวเป็นผู้ชาย หลังเธอประท้วงว่ากุญแจมือแน่นเกินไป การกระทำรุนแรงของตำรวจกลายเป็นชนวนเหตุให้คนที่เห็นเหตุการณ์เข้าขว้างปาสิ่งของตอบโต้ตำรวจ ก้นบุหรี่ กระป๋องเบียร์ ที่ลอยมากกระแทกเจ้าหน้าที่ ทำให้ทางเจ้าหน้าที่เองจึงได้เรียกกำลังเสริมมาอีกกว่า 500 นาย เพื่อเข้าควบคุมมวลชน เหตุการณ์จึงบานปลายส่งผลให้ผู้คนที่ไม่ได้อยู่ในสโตนวอลล์ มาร่วมขบวนก่อจลาจลและต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐในครั้งนี้เกิดเป็นการชุมนุมขนาดใหญ่ที่กินเวลานานถึง 6 วัน ก่อนเหตุการณ์จะยุติลง

การชุมนุมในครั้งนั้น ส่งผลให้กลุ่ม LGBTQ+ เริ่มเคลื่อนไหว แสดงจุดยืนกันอย่างจริงจัง โดยในปีต่อมาได้มีการจัดวันแห่งการปลดปล่อยที่ถนนคริสโตเฟอร์ (Christopher Street Liberation Day) บริเวณถนนคริสโตเฟอร์ อันเป็นที่ตั้งของร้านสโตนวอลล์อินน์ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา และต่อยอดให้เกิดการออกมาเรียกร้องในสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ หลากหลายประเทศทั่วโลก จนทำให้เดือนมิถุนายนกลายเป็นช่วงเดือนแห่งการเฉลิมฉลองและรณรงค์ถึงสิทธิของกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ (Pride Month) เรื่อยมา

สำหรับเหตุจลาจลสโตนวอลล์ ในปี 2019 เจมส์ พี. โอนีลล์ (James P. O’Neill) อธิบดีกรมตำรวจของมหานครนิวยอร์ก ได้ออกมาแถลงขอโทษอย่างเป็นทางการ ในนามของกรมตำรวจนิวยอร์ก สำหรับการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นตัวจึดชนวนในเหตุจลาจลสโตนวอลล์เมื่อปี 1969 ซึ่งกินเวลานานกว่า 50 ปี กว่าจะมีการขอโทษถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในคืนวันนั้น ณ สโตนวอลล์อินน์

Tags: , , , ,