ราชวงศ์โรมานอฟ หรือ ‘The House of Romanov’ เป็นราชวงศ์ที่มีความเก่าแก่มากเพราะเป็นราชวงศ์ที่ปกครองรัสเซียนานถึง 304 ปี ซึ่งพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 (Nicholas II) เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์โรมานอฟ และถือเป็นจุดจบระบอบราชานิยมในประเทศรัสเซีย

ในปี 1894 รัสเซียสูญเสียพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ในวัย 49 พรรษา ส่งผลให้พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ต้องขึ้นครองราชย์ในเวลาอันรวดเร็ว นักประวัติศาสตร์ต่างพูดถึงพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ว่าทรงเป็นกษัตริย์ที่ไม่ค่อยดีนัก ขาดความเด็ดขาด ไม่มีความเป็นผู้นำ ตัดสินใจพลาดหลายครั้ง และนำรัสเซียเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1

พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงอภิเษกกับจักรพรรดินี อเล็กซานดรา เฟโดโอรอฟนา (Alexandra Feodorovna) และให้กำเนิดแกรนด์ดัชเชส 4 พระองค์ การให้กำเนิดพระธิดา 4 พระองค์ในเวลาไล่เลี่ยกันส่งผลให้เกิดความเครียดต่อครอบครัวเป็นอย่างมากเนื่องจากขาดผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์ ท้ายที่สุด ทั้งสองก็มีพระโอรสนามว่า อเล็กเซย์ (Alexei) แต่ภายหลังตรวจพบว่าพระโอรสป่วยเป็นโรคฮีโมฟีเลีย (hemophilia) หรือโรคเลือดไหลไม่หยุด ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมของราชวงศ์ยุโรป ขณะที่เพศหญิงมักจะเป็นพาหะโรคเท่านั้น

การที่อเล็กเซย์ป่วยเป็นโรคเลือดไหลไม่หยุดทำให้ครอบครัวนี้ตกอยู่ในความมืดและทุกข์ระทมอีกครั้ง เนื่องจากแกรนด์ดยุคเกือบเสียชีวิตเพราะหกล้มและเลือดไหลไม่หยุดมาหลายต่อหลายครั้ง ดังนั้นราชวงศ์โรมานอฟจึงตัดสินใจเก็บเรื่องนี้เป็นความลับและขังองค์รัชทายาทอยู่ในวัง โดยมีข้ารับใช้คอยดูแลตลอดเวลาเพื่อไม่ให้หกล้มได้รับบาดเจ็บหรือมีรอยฟกช้ำ

ต่อมา จักรพรรดินีอเล็กซานดราได้รู้จักกับนักบวชนาม กริกอรี รัสปูติน (Grigori Rasputin) ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของหายนะราชวงศ์โรมานอฟ และมีอิทธิพลต่อจักรพรรดินีอเล็กซานดราเป็นอย่างมาก เพราะเขาเป็นคนเดียวที่สามารถบรรเทาอาการป่วยของรัชทายาทได้ หลังจากพระเจ้าซาร์อนุญาตให้รัสปูตินเข้ามาอาศัยในวัง นับจากวันนั้นราชสำนักก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปเพราะราวกับว่าราชสำนักถูกผูกขาดการตัดสินใจไว้ในมือของจักรพรรดินีอเล็กซานดราและรัสปูติน โดยพระเจ้าซาร์แทบไม่สามารถควบคุมหรือตัดสินใจอะไรเองได้แม้กระทั่งยามสงคราม นอกจากนี้จักรพรรดินีอเล็กซานดรายังควบคุมพระเจ้าซาร์ผ่านทางจดหมายโดยอ้างคำสั่งจากรัสปูตินอีกด้วย

ขณะนั้นเองเป็นช่วงเวลาที่รัสเซียทำสงครามกับญี่ปุ่น และพ่ายแพ้ต่อญี่ปุ่น ประชาชนต้องอยู่ในสภาวะสงคราม ประกอบกับสภาพอากาศที่ย่ำแย่ จึงเกิดความทุกข์ยากลำบากเป็นอย่างมาก ในปี 1905 จึงเกิดการปฏิวัติของประชาชน ที่พากันมารวมตัวในวันอาทิตย์เพื่อเสนอข้อเรียกร้องต่อพระเจ้าซาร์ แต่พระเจ้าซาร์กลับให้ทหารยิงปืนใส่ประชาชน ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวถูกเรียกว่า ‘Bloody Sunday’

หลังจากการตัดสินใจผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าของพระเจ้าซาร์ และการที่พระองค์ตัดสินใจนำประเทศรัสเซียเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ส่งผลให้ประชาชนขาดอาหาร อดอยาก และสภาพอากาศที่เลวร้ายส่งผลต่อการทำเกษตรกรรม ในขณะที่คนในราชวงศ์ และเจ้าขุนมูลนายต่างๆ ต่างสุขสบาย ไม่ขาดอาหารการกิน แต่ประชาชนกลับต้องอดอยากและล้มตายลงเรื่อยๆ นอกจากนี้คนในราชสำนักยังเชื่อฟังนักบวชอย่างรัสปูตินเป็นอย่างดี จนภายหลังมีผู้อาสากำจัดรัสปูตินให้แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ที่เลวร้ายได้

ในปี 1917 การปฏิวัติได้ก่อตัวขึ้นโดยมี วลาดีมีร์ เลนิน (Vladumir Lenin) จากพรรคบอลเชวิค (BolSevic) เป็นผู้นำทำการปฏิวัติประเทศโดยเปลี่ยนจักรวรรดิรัสเซียมาเป็น ‘สหภาพโซเวียต’ และปกครองโดยระบบคอมมิวนิสม์ มีค้อนและเคียวเป็นสัญลักษณ์แทนความยากจน และการถูกกดขี่ของประชาชน

หลังจากการชุมนุมขับไล่พระเจ้าซาร์และราชวงศ์โรมานอฟ ส่งผลให้พระเจ้าซาร์ประกาศสละราชบัลลังก์ และถูกนำตัวไปคุมขังที่ คฤหาสน์อิปาเตียฟ (Ipatiev House)

17 กรกฎาคม 1918 กลางดึกคืนนั้น มีคำสั่งประหารชีวิตทั้งครอบครัวของพระเจ้าซาร์ที่ห้องใต้ดิน โดยจักรพรรดินีอเล็กซานดราและแกรนด์ดัชเชสล้วนใส่เครื่องเพชรเย็บติดกับชุด โดยหวังว่าจะเป็นเงินใช้จ่ายยามที่หลบหนีได้ แต่เครื่องเพชรเหล่านี้ได้กลายเป็นเกราะสะท้อนกระสุน ดังนั้นจึงเกิดการกระหน่ำกระสุนยิงซ้ำ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนเสียชีวิตแล้วจริงๆ วันดังกล่าวจึงถือเป็นจุดสิ้นสุดระบอบราชานิยมในประเทศรัสเซีย

Tags: , ,