ก.ศ.ร., ก.ส.ร. กุหลาบ หรือ กุหลาบ ตฤษณานนท์ เป็นปัญญาชนชั้นไพร่ที่ถูก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลบ้า แบบไม่มีกำหนดจนกว่าจะหาย และเป็นต้นกำเนิดคำว่า ‘เรื่องกุ’ เพราะเขาได้เขียนและตีพิมพ์ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ที่ขัดแย้งกับที่ทางพระราชสำนักเผยแพร่ ทั้งเรื่องขนบธรรมเนียมและความรู้ต่างๆ ซึ่งแต่ก่อนมักผูกขาดอยู่ในมือคนชั้นสูง ระบบราชการ หรือระบบอำมาตย์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
“กุละนี้เป็นศัพท์แผลงใช้กัน หมายความว่า ทำฤๅกล่าวเกินจริงไป ศัพท์นี้มาจากชื่อ นายกุหลาบ ซึ่งเป็นคนแต่งหนังสือตามใจชอบตนเอง ไม่มีความกริ่งเกรงว่าจะเกินจริงไป ฤๅไม่มีความจริงเลย ตัดชื่อนั้นให้สั้นเข้า ใช้ว่า กุละ ฤๅ กุ ก็เข้าใจได้เหมือนกัน” พระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5 จากหนังสือ ก.ส.ร. กุหลาบ ของ มนันยา ธนะภูมิ
ก.ศ.ร. กุหลาบเป็นใคร?
กุหลาบ มีพ่อชื่อแสง แม่ชื่อตรุศ เมื่อโตขึ้นได้ถวายเป็นบุตรบุญธรรมในพระองค์เจ้ากินรี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 3 เมื่ออายุครบ 13 ปี ได้บวชเณร แล้วจึงสึกออกมา ภายหลังบวชเป็นพระได้ฉายาว่า ‘เกศโร’ ภายหลังสึกออกมา จึงนำอักษรย่อฉายามาใช้นำหน้าชื่อและกลายเป็น ‘ก.ศ.ร. กุหลาบ’ จนทุกวันนี้ ดังนั้น ก.ศ.ร. กุหลาบจึงถือเป็นปัญญาชนชั้นไพร่ แต่มีโอกาสได้ศึกษามากกว่าไพร่ทั่วไปมาก เช่น วัฒนธรรม จารีตตะวันตก และภาษาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย, ภาษาขอม, พระปริยัติธรรม, ภาษาลาติน, ภาษาฝรั่งเศส และภาษาอังกฤษ หลังจากสึกเขาได้ทำงานเป็นเสมียนตามห้างฝรั่งมีรายได้ที่ดี แต่หลังจากทำงานเป็นเสมียน เขารู้สึกไม่ใช่ตัวเอง จึงหันมาทำงานด้านสื่อสิ่งพิมพ์
ช่วงทศวรรษที่ 2440 กุหลาบออกหนังสือพิมพ์รายเดือนชื่อ ‘สยามประเภท’ ซึ่งนำเสนอเนื้อหาประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่น่าสนใจ และมักเป็นเรื่องที่แปลกไปจากประวัติศาสตร์ที่คนชั้นสูงเผยแพร่อยู่ ดังนั้นเรื่องราวของเขาจึงได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก แต่ผู้อ่านบางส่วนก็เริ่มตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้ว กุหลาบนำข้อมูลจากไหนมาเผยแพร่?
ข้อกล่าวหาต่อกุหลาบมีอะไรบ้าง? จนส่งผลให้เขาถูกส่งไปโรงเลี้ยงบ้าถึง 33 วัน
ข้อกล่าวหาของกุหลาบมีหลายข้อ ในที่นี้ผู้เขียนขอยกมา 2 ประเด็นคือ
แก้ไข ดัดแปลง แต่งพงศาวดารสุโขทัย และเผยแพร่เนื้อหาบางส่วนว่า ‘พระปิ่นเกษ’ สวรรคตแล้ว พระราชโอรสทรงพระนามว่า ‘พระจุลปิ่นเกษ’ เสวยราชย์ ไม่มีความสามารถจึงเสียบ้านเสียเมือง เนื้อหาดังกล่าวถูกนำไปตีความว่าเป็นความ ‘บังอาจ’ ของกุหลาบที่ใช้พระนามพระจอมเกล้าฯ กับพระจุลจอมเกล้าฯ ไปแปลเป็นพระปิ่นเกษและพระจุลปิ่นเกษ
อีกหนึ่งข้อกล่าวหาคือ เผยแพร่รูป ‘ภาพกากเดาเขียน’ ในหนังสือสยามประเภท ซึ่งเป็นรูปอดีตกษัตริย์ 4 พระองค์ คือ พระเจ้าปราสาททอง, พระเพทราชา, พระนารายณ์ และพระเจ้าเสือ โดยรัชกาลที่ 5 กล่าวถึงรูปนี้ว่าเป็นรูปภาพกากเดาเขียน ซึ่ง บุญพิสิฐ ศรีหงส์ เจ้าของหนังสือเรื่อง ‘แกะปมจินตภาพ นาย ก.ศ.ร. กุหลาบแห่งกรุงสยาม’ กล่าวถึงข้อกล่าวหาเรื่องนี้ว่า ภาพที่กุหลาบนำมาเผยแพร่นั้น เป็นรูปที่รัชกาลที่ 5 สั่งห้ามไม่ให้มีการเผยแพร่ เพราะขัดต่อหลักธรรมเนียมการวาดรูปกษัตริย์ในอดีตอย่างรุนแรง เนื่องจากเหมือน ‘มนุษย์’ ทั่วไปจนเกินไป ในอดีต ภาพของเหล่ากษัตริย์มักถูกวาดออกมาในรูปแบบเหนือคน ‘เสมือนเทพ’ ต้องวาดเป็นเทวดา ซ้ำกุหลาบยังจำที่มาของต้นฉบับภาพที่คัดลอกวาดไม่ได้ เนื่องจากลอกมานานแล้ว ดังนั้นภาพที่กุหลาบวาดจึงกลายเป็นภาพกาก เพราะวาดเหมือนคนธรรมดาจนเกินไป
ธงชัย วินิจจะกูล ได้เขียนบทความเรื่อง ‘กุ ลอบ ลอก แต่งแบบไพร่ๆ ความผิด ก.ศ.ร. กุหลาบ ที่ตัดสินโดยนักประวัติศาสตร์อำมาตย์’ ว่า ความผิดของกุหลาบที่ไม่มีการประกาศคือผิดที่เป็นไพร่ แต่กลับอวดรู้ในสิ่งที่เขาไม่สมควรจะรู้ และการอวดรู้ไม่ใช่สมบัติของคนเป็นไพร่
“กุหลาบเป็นสามัญชนคนแรกๆ ในสังคมไทยที่เข้าร่วมเป็นผู้ผลิตและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีและประวัติศาสตร์ผ่านทางสิ่งพิมพ์สู่สาธารณะ ซึ่งเป็นความรู้และการผลิตที่อยู่ในมือชนชั้นสูงในระบบราชการ หรือ ‘อำมาตย์’ ทั้งหลายตลอดมา แถมกุหลาบมีภูมิและความสามารถพอจะเทียบเคียงกับพวกอำมาตย์ได้เสียด้วย เขาเห็นคุณค่าหนังสือเก่าและมีไว้ในครอบครองในยุคที่มีขุนนางเจ้านายเพียงไม่กี่คนสนใจ นักเลงของโบราณมีแต่ผู้ดีมีตระกูลและฝรั่งทั้งนั้น กุหลาบเผยแพร่ความรู้และเอกสารเก่าสู่สาธารณะโดยไม่ผ่านกลไก หรือความเห็นชอบของวงวิชาการของชนชั้นสูง เขาสร้างเครือข่ายและกลไกของเขาเอง เขาละเมิดการผูกขาดครอบครองความรู้แขนงดังกล่าวโดยชนชั้นอำมาตย์” ธงชัยกล่าว
ที่มา:
บุญพิสิฐ ศรีหงส์. แกะปมจินตนภาพ นาย ก.ศ.ร. กุหลาบแห่งกรุงสยามกรุงเทพฯ: มติชน, 2560
https://thepeople.co/ksr-kulap-intellectual-commoner…/
Tags: On This Day, The Momentum On This Day, ก.ศ.ร. กุหลาบ